สมเด็จพระเทพรัตนฯ ชื่นชมครูผู้อุทิศตนแก่ลูกศิษย์ ทรงย้ำการศึกษามีความหมายต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ปี 2560 แก่สุดยอดครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงแก่ชีวิตศิษย์และมีคุณูปการต่อวงการศึกษา 11 ประเทศในอาเซียนและติมอร์- เลสเต
เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นประธานพิธีมอบรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี รางวัลพระราชทานระดับนานาชาติเพื่อเชิดชูเกียรติครูดีเด่นในอาเซียนและติมอร์-เลสเต 11 ประเทศ และเพื่อเทิดพระเกียรติเจ้าฟ้านักการศึกษา ผู้ทรงพระปรีชาและทรงมีคุณูปการต่อการศึกษาทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ดำเนินการโดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ร่วมกับคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) และหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า ครูที่ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ทั้ง 11 ท่าน เป็นครูที่มีความมุ่งมั่นและทุ่มเท อุทิศตัวให้กับลูกศิษย์เพื่อให้มีโอกาสทางการศึกษาและเป็นแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ ซึ่งการศึกษามีความหมายต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศ ในฐานะที่ครูเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการเรียนรู้ ทักษะและประสบการณ์การเรียนรู้จะช่วยให้นักเรียนประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง ครูจึงจำเป็นต้องปรับปรุงตัวเองอยู่เสมอและแสวงหาความรู้ใหม่ เพราะในปัจจุบันเราอยู่ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วหากครูไม่ได้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นรอบ ๆ ตัว ครูก็ไม่สามารถติดตามการพัฒนาของนักเรียนได้ ครูที่มีคุณภาพต้องสร้างคนที่มีคุณภาพ ซึ่งต้องใช้เวลาในการส่งเสริมและปลูกฝังเยาวชนคนรุ่นใหม่ ในฐานะสมาชิกของชุมชนทั่วโลก
ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กล่าวว่า ครูผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี มาจากการคัดเลือกของกระทรวงศึกษาธิการในอาเซียนและติมอร์-เลสเต ทั้ง 11 ประเทศ โดยมีคุณสมบัติเป็นครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงแก่ชีวิตของลูกศิษย์และมีคุณูปการต่อวงการศึกษา ประเทศละ 1 คน ซึ่งจะมีการคัดเลือกสุดยอดครู 2 ปีครั้ง โดยของพระราชทานรางวัล ประกอบด้วย เหรียญรางวัล ประกาศนียบัตร โล่ เข็มเชิดชูเกียรติทองคำ และเงินรางวัล รางวัลละ 10,000 เหรียญสหรัฐ โดยมีประวัติที่น่าสนใจของครูแต่ละประเทศดังนี้
- เนการาบรูไนดารุสซาลาม มาดามลิม ซง โงว ครูสอนวิชาเคมี ระดับ A-level ที่ วิทยาลัยดูไลเพนกิรัน มูด้า อัล-มูตาดี บิลลา (Duli Pengiran Muda Al-Muhtadee Billah College) ครูผู้ดึงศักยภาพลูกศิษย์ทำให้ทุกคนมีตัวตนในชั้นเรียนและเปิดใจที่จะเรียนรู้จนมีคะแนนในระดับที่สูง และยังเป็นครูพี่เลี้ยงแก่ครูในระดับประเทศ ทำให้ได้รับรางวัลเกียรติยศจากสุลต่านแห่งบรูไนดารุสซาลาม
- ราชอาณาจักรกัมพูชา นางดี โส พอน ครูสอนภาษาอังกฤษ โรงเรียนประถมคุมร็อกร่อง (Kumroukrong) ครูผู้สร้างบรรยากาศการสอนให้เป็น “ห้องเรียนแห่งความสุข” พร้อมกับดึงครอบครัว โรงเรียน และชุมชนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้เพราะเชื่อว่าการศึกษาจะช่วยสร้างอนาคตของลูกศิษย์และประเทศ ผลสำเร็จจากเป็นครูมา 20 ปี จึงได้รับรางวัลสมเด็จเดโช ในปี 2560
- สาธารณรัฐอินโดนีเซีย นายเอนชอน ระมัน ครูสอนวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และสังคมศึกษา โรงเรียนประถมศึกษาเมกาวังงี (Mekarwangi Public Elementary School) นับเป็นครูนักพัฒนาการศึกษาของอินโดนีเซีย ในฐานะผู้ฝึกอบรมโรงเรียนระดับมาตรฐานของประเทศ เป็นผู้เขียนตำราเรียนระดับประถมศึกษา จนเป็นแรงบันดาลใจแก่ครูในชวาตะวันตก และได้รับรางวัลครูผู้สอนดีเด่นในระดับชาติ
- สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว นางคูนวิไล เคนกิติสัก ครูใหญ่โรงเรียนประถมศึกษาทองคัง (Thongkang school) กรุงเวียงจันทร์ นักบริหารจัดการโรงเรียนยอดเยี่ยม บริหารโรงเรียนขนาดเล็กอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการหลอมรวมการมีส่วนร่วมของครูและชุมชน ส่งผลการพัฒนานักเรียนอย่างมีคุณภาพ
- ประเทศมาเลเซีย มาดามฮัจญะห์ ซารีปะ บินตี เอิมบง ครูสอนทักษะชีวิต คณิตศาสตร์ เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ โรงเรียนมัธยมอิมเทียส ยายาซัน ทีแรงกานู (ImtiazYayasan Terengganu High School) นับเป็นครูผู้สร้างนักนวัตกรรมรุ่นใหม่ ด้วยการดึงความรู้ในห้องเรียนสู่การออกแบบนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน จนผลงานของลูกศิษย์ได้รับรางวัลทั้งในระดับชาติและนานาชาติ
- สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา นายทัน ทุม ครูสอนภาษาอังกฤษและหลักสูตรร่วมระดับมัธยมโรงเรียน เมืองยัวดายี แคว้นซาเกรง ได้รับรางวัลการสอนดีเยี่ยมในการส่งเสริมเด็กระดับ 9 สอบผ่านภาษาอังกฤษทั้งระดับรัฐและภูมิภาคเป็นประจำทุกปี ด้วยวิธีการสอนที่ใช้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ควบคู่กับการปลูกฝังทักษะชีวิตและคุณธรรม
- สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ดร. เฮซุส อินสิลาดา เจ้าหน้าที่ด้านการศึกษา โรงเรียนมัธยมแห่งชาติอัลคาเด กูสทีโล(Alcarde Gustilo Memorial National High School) ผู้สร้างการเรียนรู้แบบองค์รวมบนวิถีทางวัฒนธรรม และนักประพันธ์ภาษาถิ่น เพื่อปลุกความภูมิใจในความเป็นคนฟิลิปปินส์ท้องถิ่น
- สาธารณรัฐสิงคโปร์ มาดามสะรับจิต คอร์ บุตรี ฮาร์ดิปซิงห์ ครูสอนวิทยาศาสตร์ โรงเรียนประถมแอนเดอสัน ผู้ปลดปล่อยศักยภาพเด็กหลังห้อง สู่การมีทัศนคติการเรียนรู้เชิงบวกความเป็นครูผู้อุทิศตน สนใจความต้องการของเด็กทั้งการเรียนและพฤติกรรม จึงเข้าถึงจิตใจเด็ก ผู้ปกครองและเพื่อนร่วมงาน และได้รับยกย่องในรางวัล Excellent Service Award ปี 2557
- สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต นางลีโอโปลดีนา โจอานา กูเตเรส ผู้อำนวยการโรงเรียนศูนย์กลางประถมศึกษาเซนโฮเซ (S.Jose Basic Education Central School) ซึ่งมีโรงเรียนสาขาอีก 7 แห่งนับเป็นครูนักบริหารจัดการทรัพยากรเป็นเลิศ โดยการเชื่อมประสานการสนับสนุนจากภายนอก ทำให้ความห่างไกล ไม่ใช่อุปสรรคของการพัฒนาโรงเรียน
- สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม นางฟาน ถิ หนือ ครูสอนภาษาอังกฤษ และหัวหน้าหมวดประชาสัมพันธ์และความสัมพันธ์ต่างประเทศโรงเรียนมัธยมชั้นนำเลอกวิดง (Le Quy Don Gifted School) เมืองดานัง นับเป็นครูภาษาอังกฤษและนักเชื่อมความสัมพันธ์ต่างประเทศ ผู้สร้างโอกาสเปิดพรมแดนการเรียนรู้ของลูกศิษย์ในต่างแดน
- ประเทศไทย นายจิรัฏฐ์ แจ่มสว่าง ครูเชี่ยวชาญ กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยนนทบุรี จ.นนทบุรี ครูผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล บุกเบิกการสอนไอซีทีและนวัตกรรมหุ่นยนต์ในโรงเรียนมากว่า 32 ปี และเป็นผู้ให้โอกาสแก่เด็กกลุ่มเสี่ยงด้วยใจรัก จนลูกศิษย์ประสบความสำเร็จทั้งในเวทีระดับชาติและนานาชาติ
บันทึกการถ่ายสดสถานีโทรทัศน์ NBT เวลา 09.00-10.00 น.
กำหนดการพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 2 ปี 2560 |
ประวัติย่อครูผู้ได้รับรางวัล 11 ประเทศ | ภาพบรรยากาศพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 2 ปี 2560