“วีระยุทธ เพชรประไพ” พ่อครูแห่งครอบครัวศิลปะเสิงสาง

ศิลปะสร้างทักษะชีวิต แต้มสีเติมฝัน เปิดโลกกว้างการเรียนรู้

20150907-13_pmca019

วีระยุทธ เพชรประไพ

“นักเรียนที่เข้ามารวมกลุ่ม ‘ครอบครัวศิลปะ’ ถือว่าเป็นกิจกรรมที่ได้มากกว่าการเรียนศิลปะ เป็นกิจกรรมเสริมสร้างทักษะชีวิตให้กับเด็กนักเรียน เพราะครอบครัวศิลปะนั้นจำลองความเป็นครอบครัวมาอยู่ที่โรงเรียน เด็กก็จะใช้วิถีชีวิตมีพ่อมีแม่มีพี่มีน้อง การอยู่ร่วมกันของนักเรียนเพื่อปรับตัวเข้าหาซึ่งกันและกัน และเขาได้มีเวลาในการทำกิจกรรมที่นอกเหนือจากการทำงานศิลปะ เช่น การทำกับข้าว ซักเสื้อผ้า หรือช่วยงานที่เป็นจิตสาธารณะ สิ่งเหล่านี้เป็นประสบการณ์ตรงที่เกิดขึ้นกับเด็กนักเรียนกลุ่มนี้ ถือว่าเป็นประสบการณ์ชีวิตที่เขาได้มากกว่าคำว่าศิลปะ

เป็นคำอธิบายของ “อาจารย์พ่อ” หรือ “วีระยุทธ เพชรประไพ” ครูวิทยฐานะเชี่ยวชาญแห่ง โรงเรียนเสิงสาง อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา หนึ่งในผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นครูผู้สมควรได้รับพระราชทาน “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” และผ่านการพิจารณาให้ได้รับรางวัลในระดับ “ครูยิ่งคุณ” ประจำปี 2558 ของ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา และ กระทรวงศึกษาธิการ

พ.ศ. 2525 จากวันที่ชายหนุ่มผู้มีอุดมการณ์มาสอนยังอำเภอเสิงสางบ้านป่าที่อยู่ในฐานะอำเภอใหม่บนพื้นที่สีชมพู  สภาพของเสิงสางในตอนนั้นเป็นชุมชนผู้อพยพมาตั้งถิ่นฐานมีฐานะยากจน ลูกหลานคือแรงงานในไร่ที่เพิ่งบุกเบิก การมองเห็นความสำคัญของการศึกษายังมีน้อยกว่าเรื่องของปากท้อง การส่งเด็กมาเรียนในโรงเรียนมัธยมประจำจังหวัดซึ่งเปิดใหม่ๆ มีเพียงอาคารเรียนชั่วคราวเป็นเรื่องไกลตัว ยิ่งกับการเรียนศิลปะ ยิ่งดูเหมือนเป็นวิชาที่เกินเลยความจำเป็น แต่เมื่อ “ครูวีระยุทธ” มาถึง ความตื่นเต้นของการมีครูศิลปะในโรงเรียนที่เปิดใหม่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้สามารถดึงความสนใจของเด็ก จนสามารถจัดการเรียนการสอนและกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง

ผมพยายามที่จะเอากิจกรรมศิลปะเข้ามาเสริมนอกหลักสูตรนอกเวลาเรียน เช่น พาเด็กมาทำรูป มาเขียนรูป ทำงานปั้น ฯลฯ แต่ตอนช่วงแรกๆ ปรากฏว่าเด็กก็ยังไม่สนใจเท่าไรนัก ผู้ปกครองก็ไม่ค่อยสนับสนุนเพราะทำงานนอกเวลา ต้องมารับเด็กมาที่โรงเรียนตอนเย็นค่ำ หรือเสาร์อาทิตย์ และกลัวว่า หนึ่ง ครูเอาไปแล้วดูแลลูกเขาได้ไหม ไปกินเหล้า สูบบุหรี่ หรืออะไรอย่างนี้ และสอง พอพูดถึงศิลปะแล้วนึกถึงเต้นกินรำกิน เขียนป้ายโรงหนัง อะไรแค่นั้น ครูวีระยุทธเล่าทัศนคติของผู้ปกครองในอดีตและจุดเริ่มต้นของครอบครัวศิลปะ

อาจจะแตกต่างจากภาพลักษณ์ที่คุ้นชินของครูสอนศิลปะ ด้วยบุคลิกภาพมีระเบียบ เรียบร้อย สะอาดสะอ้าน ไม่กินเหล้าเมายาของ “ครูวีระยุทธ” จึงได้รับความไว้ใจจากผู้บริหารให้ดูแลเด็กในการจัดกิจกรรมนอกเวลา ซึ่งในสมัยนั้นเน้นการทำงานศิลปะ เล่นดนตรี และการแสดงต่างๆ ควบคู่กันไปในลักษณะชุมนุมศิลปะและดนตรี เกิดการแสดงโชว์และแสดงผลงานต่างๆ ในชุมชน ทำให้ทั้งเด็กและผู้ปกครองเห็นคุณค่าจึงไว้ใจให้ลูกหลานมาอยู่ด้วยจึงเป็นจุดเริ่มต้นของครอบครัวศิลปะ

จากวิชาศิลปะในห้องเรียนที่เรียนตามหลักสูตร เพิ่มเติมเป็นกิจกรรมชุมนุม เพื่อให้เด็กที่สนใจมาทำงานศิลปะเพิ่มเติมนอกเวลาเรียน เช่นช่วงวันหยุด เสาร์-อาทิตย์ หรือช่วงปิดภาคเรียน ถ้าเด็กสนใจพิเศษมากขึ้น อยากจะเรียนต่อด้านศิลปะ  หรืออยากจะมีความรู้ความสามารถเอาไปสู่การประกอบอาชีพ หรือเข้าร่วมเวทีการประกวด ผมก็จัดกิจกรรมต่อยอดให้เด็กกลุ่มนี้โดยเปิดเป็นครอบครัวศิลปะ มาอยู่มากินมานอนอยู่ที่โรงเรียน ก็จะใช้เวลานอกเหนือจากการเรียนการสอนในช่วงวันหยุดกลางคืน ก็ได้ฝึกงานศิลปะกันต่อ ครูวีระยุทธอธิบาย

รุ่นแล้วรุ่นเล่าของลูกศิษย์ที่ทุ่มเท “ครูวีระยุทธ” ซึ่งได้รับเรียกขานจากเด็กในครอบครัวศิลปะและใครต่อใครต่างเรียกด้วยความเคารพนับถือว่า “อาจารย์พ่อ” สร้างคนในครอบครัวศิลปะอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงความรู้ทางศิลปะ แต่สิ่งสำคัญของครอบครัวศิลปะคือการสอนใช้ชีวิต โดยในครอบครัวศิลปะมีพ่อคือ “ครูวีระยุทธ” มีแม่คือ “ครูปราณี” คู่ชีวิตที่สอนที่โรงเรียนเดียวกันเป็น “อาจารย์แม่” คอยดูแลเรื่องเด็กผู้หญิง และนักเรียนต่างรุ่นก็เป็นพี่น้องดูแลกันเป็นทอดๆ โดยมีกติกาของครอบครัว ทั้งการเรียนรู้วิถีชีวิตที่บ้านจะต้องสะอาดเรียบร้อย แบ่งหน้าที่กันทำ ตั้งแต่อาหาร ความสะอาด จนถึงที่อยู่หลับนอน เป็นวิถีชีวิตดังครอบครัวปกติ และดูแลด้านพฤติกรรมที่อยู่ร่วมกันโดยใช้วินัยของโรงเรียนเป็นข้อปฏิบัติ

เด็กที่จะมาอยู่ที่นี่ต้องมีความพร้อมที่จะปรับให้เป็นพฤติกรรมที่ดี ไม่ใช่มาเรียนศิลปะแล้วต้องอยู่แบบเซอร์ๆ ติสท์ๆ สไตล์ของผมไม่ใช่ จะต้องเอาวินัยก่อน เป็นการปรับจากข้างในจิตใจ เด็กวัยรุ่นมัธยมต้องเอาให้อยู่ และเมื่ออยู่ด้วยกันก็มีแบบอย่างที่ดีจากรุ่นพี่ และเกรงใจครูที่เหมือนพ่อแม่ โอกาสที่จะประพฤตินอกลู่นอกทางก็จะลดน้อยลง ครูวีระยุทธบอกเทคนิคการดูและในฐานะ “อาจารย์พ่อ” ของครอบครัวศิลปะ

การทำงานต่อเนื่องของครูยุทธในครอบครัวศิลปะ ทำเด็กในครอบครัวศิลปะประสบความสำเร็จไปรุ่นแล้วรุ่นเล่า ด้วยทักษะทางศิลปะที่ติดตัว หลายคนมีความสมารถระดับประกวด ได้ทั้งเงินรางวัลและชื่อเสียงเป็นหนทางต่อยอดทั้งการศึกษาและอาชีพ ผลงานเชิงประจักษ์ถึงฝีมือทางศิลปะของลูกศิษย์มีมากมายและเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ สร้างความภูมิใจให้แก่โรงเรียนและท้องถิ่น จึงมีการจัดตั้ง หอศิลป์เสิงสาง ขึ้นเพื่อเชิดชูเกียรติครูวีระยุทธและเด็กนักเรียนที่ประสบความสำเร็จ และเป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านศิลปะที่สำคัญของภาคอีสานตอนล่าง

นอกจากหอศิลป์เสิงสางจะเป็นแหล่งเรียนรู้ทางศิลปะที่สำคัญของภาคอีสานที่มีการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องให้แก่เด็กแล้ว ครูยุทธหรือ “พี่ไก่” ของบรรดาครูสอนศิลปะ ยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับครูสอนศิลปะทั่วเขตอีสานใต้ที่จะต่อยอดความรู้และแนวทางของครูยุทธไปพัฒนากิจกรรมทางศิลปะของโรงเรียนตนเองอีกด้วย

“พี่ไก่จะมีเทคนิคใหม่ๆ อยู่เสมอ ผมได้เทคนิคจากเขาไปใช้สอนมากมาย ที่เยี่ยมมากคือพี่ไก่ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย มี step มีขั้นตอน ด้วยเทคนิคที่พี่ไก่ให้ไว้ เราสอนนักเรียนตามขั้นตอน เด็กจะทึ่ง จากที่ไม่เชื่อว่าเขาทำได้กลายเป็นทำได้อย่างง่ายๆ ความน่านับถือของพี่ไก่อีกอย่าง ก็คือไม่ปิดบัง ไม่กลัวว่าเราจะไปรู้เทคนิค มีอะไรให้หมด ให้แม้กระทั่งให้โอกาสแก่ครูด้วยกัน ผมเคารพในความเป็นครูของพี่ไก่ แกส่งเสริมน้องๆ ทำให้ต่างคนต่างงอก เหมือนเห็ดต่างดอก ดอกไม้ต่างต้น รวมกันเบ่งบานในทุกที่”  “ครูชัวะ” กิตติภูมิ ผลวิเศษสิทธิ์ ครูสอนศิลปะโรงเรียนนางรองพิทยาคม จังหวัดบุรีรัมย์ เล่าถึงจิตใจของเป็นครูที่เต็มเปี่ยมของครูวีระยุทธ

จากกิจกรรมเสริมหลักสูตร สู่ครอบครัวศิลปะ มาจนถึงศูนย์เรียนรู้ศิลปะหอศิลป์เสิงสางที่ถ่ายทอดความรู้และเพิ่มแรงบันดาลใจให้ทั้งเด็กและครูสอนศิลปะ ปัจจุบัน “อาจารย์พ่อ” ของครอบครัวศิลปะเสิงสางกำลังนำพาลูกๆ ทุกคนออกสู่แนวทางจิตอาสาด้วยโครงการ “อาสาศิลป์ แต้มสีเติมฝัน สร้างสรรค์ศิลป์” โดย “ครูวีระยุทธ” และสมาชิกในครอบครัวจะไปตามโรงเรียนประถมห่างไกลที่ไม่มีครูสอนศิลปะ ไปแสดงผลงาน ทำกิจกรรมศิลปะกับเด็กและเลี้ยงอาหารกลางวันโดยใช้ทุนส่วนตัว เพื่อสร้างแรงบันดาลใจทางศิลปะแก่เด็กๆ ที่ขาดโอกาส

แบบอย่างที่ดีมีค่ากับการสอน ครูศิลปะต้องเป็นแม่แบบ เป็นไอดอลให้เด็กในเกือบทุกๆ ด้าน ต้องเป็นต้นแบบในเรื่องความรู้ ความสามารถ ครูศิลปะจะต้องพัฒนาตัวเอง เพราะโลกมีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ศิลปะก็มีการปรับเปลี่ยนมีสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาเรื่อยๆ ฉะนั้นครูสอนศิลปะ ต้องตามให้ทันในเรื่องของความใหม่ในเชิงศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นทางภาคทฤษฎีรวมทั้งในเชิงทักษะ”  ครูวีระยุทธ เพชรประไพอาจารย์พ่อผู้สร้างแรงบันดาลใจฝากข้อคิดไปถึงครูสอนศิลปะรุ่นใหม่

สำหรับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี นับเป็นรางวัลระดับนานาชาติเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระปรีชาด้านการศึกษา  โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชานุญาตตั้งนาม“รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติครูผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตลูกศิษย์ สร้างคุณประโยชน์ต่อการศึกษาในประเทศต่างๆ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวม 11 ประเทศ ประเทศละ 1 รางวัล โดยจัดมอบรางวัลในทุก 2 ปี ซึ่งจะพระราชทานรางวัลครั้งแรกในวันที่ 2 ตุลาคม 2558.  

 

แผนปฏิบัติการ แผนปฏิบัติการ | 4. คณะกรรมการคัดเลือกส่วนกลาง | 4.1 การปฐมนิเทศการประชุมเชิงปฏิบัติการ พิจารณากลั่นกรองคัดเลือกครู | 4.2 การประชุมเชิงปฏิบัติการพิจารณา กลั่นกรองคัดเลือกครู 4.3 การคัดเลือกส่วนกลาง