“ณัชตา ธรรมธนาคม” แม่ครูผู้ใช้นาฎศิลป์เปลี่ยนชีวิต

30 ปี ขุดเพชรในโคลนตม บ่มเพาะ สร้างคนดีด้วย “หัวใจ”

 

ณัชตา ธรรมธนาคม

ณัชตา ธรรมธนาคม

คุณสมบัติทั่วไป

นางณัชตา ธรรมธนาคม เกิดเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2506 อายุ 52 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรีคุรุศาสตร์บัณฑิต (นาฏศิลป์) วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันสอนและจัดกระบวนการเรียนรู้ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานมาเป็นระยะเวลา 31 ปี ปัจจุบันเป็นครูชำนาญการพิเศษ กลุ่มสารการเรียนรู้ศิลปะ ดนตรี นาฏศิลป์ โรงเรียนศูนย์รวมน้ำใจ สำนักงานเขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร ลูกศิษย์ที่เป็นศิษย์เก่าเป็นผู้เสนอชื่อต่อคณะกรรมการคัดเลือกครูผู้สมควรได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กรุงเทพมหานคร

ความโดดเด่นที่แสดงถึงคุณสมบัติเฉพาะ

ครูณัชตา มีความตั้งใจและมุ่งมั่นในการทำงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ มีความอดทนสูงมากที่เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนเด็กในชุมชนคลองเตย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ถือว่ามีความเสี่ยงต่อกับปัญหายาเสพติด และการค้ามนุษย์ ครูณัชตาทำให้เด็กในชุมชนคลองเตยมีทางเลือกในการทำกิจกรรมสร้างสรรค์ แม้ว่ากำลังความสามารถจะไม่ช่วยเด็กและเยาวชนในพื้นที่ได้ทั้งหมดแต่ครูณัชตาระลึกอยู่เสมอว่า “คนทุกคนมีคุณค่าและมีความหมาย การได้ช่วยเหลือดูแลคนแม้แต่เพียงคนเดียวให้รอดพ้นจากภัยได้ก็เป็นความดีที่ยิ่งใหญ่”

ครั้งแรกที่มาทำงานที่โรงเรียนศูนย์รวมน้ำใจถูกเด็กนักเรียนขโมยกระเป๋าเงินไปครูณัชตาก็ยิ่งตะหนักถึงความต้องการความช่วยเหลือของเด็กในชุมชนแห่งนี้จากครูผู้ที่ถือว่าเป็นพ่อ แม่ คนที่สองของเด็กนักเรียนทุกคน  จากความช่วยเหลือทำให้ลูกศิษย์หลายคนได้ค้นพบตนเองในด้านศิลปะการแสดง จนสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ โรงเรียนศูนย์รวมน้ำใจจึงเป็นเสมือนด่านสกัดภัยทางสังคม โดยเฉพาะพื้นที่กลุ่มเสี่ยงยาเสพติดในสลัมซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศชาติ ครูณัชตาผู้ใช้ศิลปะการแสดงเป็นกำแพงป้องกันภัยให้แก่เด็กและเยาวชนน่าจะเป็นแบบอย่างในการทำงานเพื่อต่อสู้กับเรื่องดังกล่าวด้วยวิธีการสร้างสรรค์ อนุรักษ์และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม

การอบรมดูแลเด็กที่มีต้นทุนทางสังคมที่เป็นศูนย์หรือบางคนอาจติดลบจึงต้องเอาใจใส่ใกล้ชิด และให้คำแนะนำเพื่อให้เด็กได้รู้จักมีความคิด มีมารยาททางสังคมที่เหมาะสม กล้าแสดงออกในทางสร้างสรรค์ และสร้างความมั่นใจให้แก่เด็ก จนทำให้เด็กในชุมชนคลองเตยมีโอกาสไปแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในต่างประเทศเป็นประจำเกือบทุกปี ครูณัชตาจึงเป็น Chang Agent ที่ดีเยี่ยมให้แก่เด็กที่ด้อยโอกาส โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กในชมรมนาฏศิลป์ เพราะลูกศิษย์หลายคนเปลี่ยนแปลงทัศนคติต่อสังคมที่ตนเองอาศัยอยู่ ไม่คิดว่าตนเองเป็นเด็กสลัมหรือต่ำต้อยกว่าใครๆ ทำให้เด็กรู้และเห็นคุณค่าของตนเองได้อย่างดีเยี่ยมดังคำที่ลูกศิษย์ได้ยินจากครูณัชตาอยู่เสมอว่า “ชาติกำเนิดไม่ใช่อุปสรรคในการเป็นคนดี คนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่ก็เลือกที่จะเป็นคนดีได้” ซึ่งครูณัชตาสามารถมองเด็กแต่ละคนที่ตนดูแลได้ทะลุว่าควรจะทำอะไรเพื่ออนาคตที่ดีของตนเอง โดยเฉพาะทางด้านศิลปะการแสดง ให้โอกาสโดยใช้พื้นที่ของห้องเรียนนาฏศิลป์ให้เด็กได้แสดงศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่ สร้างสรรค์ความดีงามความภูมิใจให้แก่ตนเอง ผู้ปกครอง ชุมชน และประเทศชาติ จนเป็นที่พึ่งของครอบครัวและรุ่นน้องในโรงเรียนต่อมาจากรุ่นสู่รุ่น

นอกจากการสอนวิชาและทักษะด้านการแสดงที่ทำให้เด็กมีรายได้ตั้งแต่ยังเรียนหนังสืออยู่นั้น ครูณัชตายังสอนและฝึกให้เด็กรู้จักการวางแผนอนาคตด้วยการออมเงินอย่างเป็นระบบ เด็กในชมรมทุกคนจะมีสมุดเงินฝากธนาคาร (ไทยพาณิชย์ สาขาท่าเรือ) ทำให้เด็กชมรมนาฏศิลป์ทุกคนมีเงินเก็บเป็นจำนวนไม่น้อยเมื่อเรียนจบ (ประมาณ 20,000 – 25,000 บาท/คน) หลายคนนำเงินไปใช้เป็นทุนเรียนต่อหรือบางคนก็นำไปเป็นทุนประกอบอาชีพของตนเองได้ นอกจากนี้ครูณัชตายังเอื้อเฟื้อเครื่องมือแก่ลูกศิษย์ในการไปต่อยอดทางด้านศิลปะการแสดงอยู่เสมอ นอกจากนี้ยังมีการสร้างครูที่เป็นตัวแทนตนเองในการสืบสานงานชมรมด้วย

“คลองเตย” แหล่งเสื่อมโทรมขึ้นชื่อของเมืองกรุงที่น้อยคนนักจะยอมลงไปสัมผัส เข้าใจ และใกล้ชิด แต่สำหรับ “ณัชตา ธรรมธนาคม” หรือ “ครูจิ๋ม” กลับทุ่มเทแรงกาย แรงใจ และกำลังทรัพย์ ให้กับลูกศิษย์รุ่นแล้วรุ่นเล่ามาตลอดชีวิตการทำงานมาเกือบ 30 ปี  ที่โรงเรียนศูนย์รวมน้ำใจแห่งนี้

หลังเรียนจบจากโรงเรียนนาฏศิลป์ได้เข้าไปทำงานเป็นครูสอนเด็กอนุบาลในโรงเรียนเอกชนประมาณ 2 ปี สอนทุกวิชา รวมทั้งผลิตสื่อการเรียน-การสอน จนเมื่อ 2530 จึงได้เข้ารับราชการเป็นครูที่โรงเรียนศูนย์รวมน้ำใจ ที่เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร

“สภาพแวดล้อมตอนนั้นโรงเรียนอยู่ในแหล่งเสื่อมโทรม นักเรียนขาดการเอาใจใส่ดูแลจากทางครอบครัว ในชุมชนมีเรื่องลักเล็กขโมยน้อยเกิดขึ้นเป็นประจำ แต่ด้วยความที่ครูเพิ่งจบใหม่ ไฟยังแรงก็เลยมานั่งคิดว่า จะทำอย่างไรถึงจะช่วยเด็กๆ เหล่านี้ให้ห่างไกลจากความเสี่ยงที่อยู่แวดล้อมตัวพวกเขาได้บ้าง”

จากแนวคิดนั้น จึงทำให้ครูจิ๋มตั้งใจใช้ความสามารถด้านนาฎศิลป์และความรักในด้านการแสดง การร้องรำทำเพลงและการเล่นดนตรี นำมาเป็นส่วนหนึ่งในการเรียน-การสอน โดยเริ่มชักชวนและรวบรวมเด็กๆ ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง มารวมกลุ่มกันทำกิจกรรมหลังเลิกเรียนและในวันหยุด โดยตั้งเป็นชมรมนาฏศิลป์ขึ้น นอกจากที่เด็กๆจะได้เรียนรู้ในเรื่องการร้อง เล่น เต้น รำ ที่ครูได้สร้างสรรค์ขึ้นโดยคงแบบแผนท่ารำที่ถูกต้องของนาฏศิลป์ไทยเอาไว้ อาทิ การแสดงชุดอะเมซิ่งไทยแลนด์, การแสดงชุดช้าง เป็นต้น ครูยังพยายามสอดแทรกเรื่องการปฏิบัติตัวที่ดีในสังคม มารยาท คุณธรรม จริยธรรม ให้เด็กๆ ได้ซึบซับอยู่เสมอ

“ที่สำคัญคือ ครูจะทำให้เด็กๆ ได้เห็นความสามารถของตัวเอง และเน้นย้ำให้พวกเขาได้รู้จักภูมิใจ รู้จักคุณค่าของตัวเอง”

อาจเป็นเพราะชีวิตจริงของเด็กเหล่านี้ถูกแวดล้อมไปด้วยสิ่งมอมเมา อบายมุข สิ่งเสพติด ปัญหา ครอบครัวแตกแยก อัตคัดขัดสนทางการเงิน  ดังนั้นครูจึงจะมีความสุขทุกครั้งที่ได้สอน ได้กล่อมเกลาใกล้ชิด สร้างความดีงามและความสุขเล็กๆ เข้าไปในใจของเด็กๆ แม้จะมีเวลาวันละไม่กี่ชั่วโมงในโรงเรียนก็ตาม

“มีครั้งหนึ่งท้อมาก แต่เด็กๆ ก็มาบอกว่า ครูอย่าเลิกนะ ถ้าครูเลิก พวกหนูไม่รู้จะไปไหน ตรงนี้ทำให้ครูมีแรงสู้ ทิ้งไม่ได้ และไม่เคยคิดจะทิ้งอีกเลย อยากจะบอกว่า ครูไม่เคยเบื่อ ไม่เคยรำคาญ ไม่เคยรังเกียจ ครูรักลูกศิษย์ทุกคนจากใจ ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมรักและห่วงได้ขนาดนี้”

จากแนวทางในการสอนและการจัดตั้งชมรมนาฏศิลป์จนมีผลงานเป็นที่ประจักษ์  จึงทำให้ครูณัชตาและคณะครูของโรงเรียนศูนย์รวมน้ำใจ คลองเตย ได้รับการคัดเลือกจากสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานครให้เป็นครูแกนนำในการจัดทำ “หลักสูตรนาฏศิลป์และการแสดงโรงเรียนศูนย์รวมน้ำใจ” ในปี 2530-2549  และได้คิดค้น “ท่ารำนาฎยศัพท์” ขึ้นและได้กลายเป็นสื่อการเรียนการสอนให้กับนักเรียนระดับประถมศึกษาของโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร โดยได้รับการพิมพ์ซ้ำถึง 3 ครั้ง และมีการแปลเป็นภาษาอังกฤษด้วย

ไม่เพียงแต่จะปฏิบัติทำหน้าที่ครูในโรงเรียนอย่างมุ่งมั่นตั้งใจแล้ว เมื่ออยู่นอกรั้วโรงเรียนครูณัชตายังอุปการะนักเรียนถึง 11 คนให้มาอยู่ในการดูแล โดยทำหน้าที่เป็น “แม่” อบรมดูแล สั่งสอน และส่งเสียให้การศึกษาจนประสบความสำเร็จในชีวิต เป็นที่ยอมรับและเป็นตัวอย่างที่ดีให้รุ่นน้องทั้งสิ้น อาทิ น.ส.นาทลดา ธรรมธนาคม ยุวทูตกรุงเทพมหานคร รุ่นที่ 1 ปี 2534 นักร้องยุวชนดีเด่นแห่งประเทศไทย ปี 2535 ปัจจุบันเป็นนักร้องโอเปร่ามีผลงานทั้งในระดับประเทศและระดับสากล  นายยุทธนา อัมระรงค์ ยุวทูตกรุงเทพมหานคร รุ่น 4 ปี 2537 ปัจจุบันเป็นอาจารย์พิเศษและประธานบริษัท คิดบวกสิปป์ จำกัด เป็นต้น

“ครูแอน” น.ส.แอนเจอร่า ซีลิ่ง ศิษย์เก่าที่ปัจจุบันกลับมารับราชการครู โรงเรียนศูนย์รวมน้ำใจฯ เล่าว่า เป็นเด็กที่เติบโตอยู่ในครอบครัวที่แตกแยก เข้ามากกรุงเทพพร้อมกับน้องสาวมาอยู่ใต้ทางด่วนกับป้า จนได้เข้าเรียนที่โรงเรียนศูนย์รวมน้ำใจ  และได้รู้จักครูจิ๋มครั้งแรกเพราะอยากเข้ามาในห้องนาฏศิลป์ เพราะเป็นห้องที่สวย สะอาดและดูปลอดภัย ต่อมาครูจิ๋มรับตัวเองและน้องสาวพร้อมกับเพื่อนๆ อีกหลายคนมาเลี้ยงดูเหมือนลูก คอยดูแลส่งเสียจัดการค่าใช้จ่ายของพวกเราทุกคน จนทำให้ตนเองสามารถสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และอยากกลับมาช่วยเหลือคุณครูดูแลน้องๆ เหมือนกับที่ตัวเองเคยได้รับโอกาส

“ชมรมนาฎศิลป์ทำให้รู้สึกว่าปลอดภัยเพราะที่ที่ฉันอยู่มีแต่ภัยยาเสพติดรอบๆชุมชน แม้ว่าเด็กแต่ละคนมือเล็บดำสกปรก แต่ครูไม่เคยรังเกียจกลับจับมือเด็กทุกคน ทำให้ประทับใจถึงคำว่า ครู เพราะครูไม่เคยเลือกเด็ก เป็นทั้งที่ปรึกษาเรื่องการเรียนและเรื่องส่วนตัว ครอบครัว พร้อมทั้งแนะแนวทางแก้ไข และการสอนของครูก็ต่างไปจากครูคนอื่นๆ จนได้รับการยกย่องว่าเป็นโรงเรียนเดียวที่มีหลักสูตรเฉพาะทางนาฏศิลป์และการแสดง เป็นที่ยอมรับทั้งกรุงเทพมหานครในเรื่องการแสดงและคุณภาพ”

 “เล็ก” นส.ดลลดา ธรรมธนาคม นักเรียนรางวัลพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปี 2537 ปัจจุบันเป็นผู้จัดการฝ่ายขายอาวุโส โรงแรมชั้นนำแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ  กล่าวว่า คุณครูเป็นคนแรกที่ฉันกอด ท่านกอดนักเรียนทุกคน ไม่ว่าเด็กนักเรียนที่ชุมชนแออัดจะเป็นอย่างไรก็ตามคุณครูไม่เคยรังเกียจ หากมีลูกศิษย์ที่ทำผิดครูมักจะคอยตักเตือนสั่งสอนอยู่เสมอ ทำให้เรามีความสุขและชอบกลับมาหาครู การสอนของครูจะมีวิธีการสอนที่ไม่เหมือนคนอื่น ทำให้ชั่วโมงนาฏศิลป์ไม่น่าเบื่อ ทั้งเรียนกิจกรรมกลุ่ม ใครที่ไม่ถนัดรำไทยครูก็ให้กำลังใจและสนับสนุนนักเรียนที่มีทักษะ จนตนได้รับรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นยุวทูตกรุงเทพมหานครเดินทางแลกเปลี่ยนที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งนับว่าเป็นการเปลี่ยนชีวิต เปิดโอกาสให้เด็กจากชุมชนแออัดได้มีโอกาสเรียนรู้สู่โลกภายนอก ซึ่งในการแสดงทุกครั้งจะได้เบี้ยเลี้ยงครูจะเปิดบัญชีธนาคารใกล้ๆโรงเรียนไว้ให้ นับว่าเป็นบัญชีแรกในชีวิตที่มีค่ามาก เพราะเป็นบัญชีที่เก็บเงินสำหรับการเรียนต่อในชั้นที่สูงขึ้น

จากความพยายามมุมานะมาร่วม 30 ปี ถึงวันนี้ชมรมนาฏศิลป์ โรงเรียนศูนย์รวมน้ำใจฯ ได้รับรางวัลทั้งในระดับชุมชน ระดับประเทศ และระดับสากล จากหน่วยงานต่างๆ มาอย่างมากมาย เป็นการยืนยันได้ถึงความมุ่งมั่นของครูณัชตาในการทำงานในฐานะครูมืออาชีพ ครูผู้เป็นแม่ และครูผู้สร้างสรรค์ จนเป็นหนึ่งในผู้ได้รับการเสนอชื่อครูผู้สมควรได้รับพระราชทาน “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” และผ่านการพิจารณาให้ได้รับรางวัลในระดับ “ครูยิ่งคุณ” ประจำปี 2558 ของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา และกระทรวงศึกษาธิการ

            “ครูและเด็กๆ ทุกคน คงมาถึงวันนี้ไม่ได้ถ้าไม่ได้รับความเมตตา ความเข้าใจ ความช่วยเหลือ และการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนในสังคม และที่ขาดไม่ได้คือ ศิษย์รุ่นพี่ที่กลับมาช่วยถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์สู่รุ่นน้องมาอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งที่สร้างความสุขและความภูมิใจให้กับครูได้มากที่สุด คือ การที่เด็กๆ ได้ค้นพบศักยภาพที่ดีงามของตนเอง รู้จักมุ่งมั่นในการทำความดี มีศีลธรรม ตั้งใจเรียนและต้องการที่จะเรียนต่อในระดับสูงขึ้นไปเพื่อที่ได้จะมีหน้าที่การงานและชีวิตที่ดีขึ้น สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะช่วยเหลือตัวเขาเอง ยังสามารถช่วยครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติต่อไปได้”

ก่อนจะกล่าวทิ้งท้ายว่าการที่ได้รับการเสนอชื่อรับรางวัล “ครูเจ้าฟ้ามหาจักรี” ในครั้งนี้ นั้นนับเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูลของตนเองและเด็กๆ ทุกคนของโรงเรียนศูนย์รวมน้ำใจอย่างที่สุด  “ไม่นึกไม่ฝันว่าชีวิตของครูและลูกศิษย์ตัวเล็กๆ เหล่านี้จะได้รับรู้ถึงเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ไม่ว่าจะได้รับรางวัลหรือไม่ ก็จะมุ่งมั่นทำหน้าที่ บำรุงความรู้และความสุขให้แก่ศิษย์ในทุกๆ ทางจนตราบชีวิตจะหาไม่”

รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี นับเป็นรางวัลระดับนานาชาติเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระปรีชาด้านการศึกษา  โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชานุญาตตั้งนาม“รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติครูผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตลูกศิษย์ สร้างคุณประโยชน์ต่อการศึกษาในประเทศต่างๆภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวม 11 ประเทศ ประเทศละ 1 รางวัล โดยจัดมอบรางวัลในทุก 2 ปี ซึ่งจะพระราชทานรางวัลครั้งแรกในวันที่ 2 ตุลาคม 2558.

แผนปฏิบัติการ| แผนปฏิบัติการ | 5. คณะกรรมการวิชาการ | 5.1 การลงภาคสนาม (การคัดเลือกส่วนกลาง) | 5.1.1 นายชาตรี สำราญ ครูรางวัลคุณากร | 5.1.2 นางฌัชตา ธรรมธนาคม ครูรางวัลคุณากร |