“มลิวัลย์ ธรรมแสง” ครูผู้อุทิศตนเพื่อคนพิการทางการได้ยิน

เปิดประตูโลกเงียบสู่โลกกว้าง สร้างโอกาสและความเท่าเทียมในสังคม

 

ครูมลิวัลย์ ธรรมแสง

ครูมลิวัลย์ ธรรมแสง

ตัวเลขจากกรมส่งเสริมคุณภาพและพัฒนาชีวิตคนพิการพบว่า ประเทศไทยมีจำนวนคนผู้พิการทางการได้ยินมากถึง 284,249 คน (ข้อมูล ณ กรกฎาคม 2558)  หากจะนำมาเทียบกับจำนวนประชากรไทยที่พุ่งทะลุไปมากกว่า 65 ล้านคนแล้ว คนจำนวนหลักแสนเหล่านั้นจึงมักถูกมองข้ามไป

การอยู่ท่ามกลางโลกเงียบไม่สามารถได้ยินเสียงต่างๆ ไม่สามารถสนทนาพูดคุย จึงไม่ได้เป็นแค่เพียงอุปสรรคในการดำรงชีวิต แต่ยังเป็นเสมือนกำแพงที่ปิดกั้นความเท่าเทียมจากโอกาสการศึกษา และการทำงาน

ปัญหานี้ทำให้ “ดร.มลิวัลย์ ธรรมแสง” อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนเศรษฐเสถียร ในพระราชูปถัมภ์  มุ่งมั่นที่จะทำลายกำแพงเงียบเพื่อเปิดพื้นที่ทางสังคมให้กับผู้พิการทางการได้ยินได้มีที่ยืนอยู่ในสังคมอย่างเต็มภาคภูมิมากว่า 45 ปีจนถึงปัจจุบัน ทำให้เป็นหนึ่งในผู้ได้รับการเสนอชื่อครูผู้สมควรได้รับพระราชทาน “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” และผ่านการพิจารณาให้ได้รับรางวัลในระดับ “ครูยิ่งคุณ” ประจำปี 2558 ของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา และกระทรวงศึกษาธิการ

ดร.มลิวัลย์  เล่าว่า “มีความใฝ่ฝันตั้งแต่เด็กที่อยากจะเป็นครู เพราะในต่างจังหวัดครูเป็นที่นับหน้าถือตาในท้องถิ่น อีกทั้งยังมีแรงบันดาลใจเพราะได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวและพ่อ  ดังนั้นเมื่อมีโอกาสได้เรียน จึงเลือกเรียนด้านครุศาสตร์ และได้รับทุน กพ. ไปเรียนต่อด้านวิชาการศึกษาพิเศษ สาขาการศึกษาสำหรับคนหูหนวก ที่สหรัฐอเมริกา ตอนเริ่มสอนไม่ได้ลำบากมากนัก เพราะครูรุ่นก่อนได้วางรากฐานสำหรับการเรียนการสอนให้แก่ผู้พิการทางการได้ยินไว้เป็นอย่างดี  จะยากตรงที่เราเรียนภาษามือแบบอเมริกันมา ยังงงไม่รู้จักภาษามือแบบไทยก็ต้องมาฝึกมาเรียนใหม่ มีใช้ปนๆ กันบ้างเหมือนเด็กนอกที่พูดไทยคำอังกฤษคำ”

ในระหว่างที่กำลังปรับตัว ครูมิลวัลย์ได้รับความเมตตาจากบรรดาครูรุ่นพี่เป็นอย่างดีโดยเฉพาะคุณหญิงกมลา ไกรฤกษ์ ผู้คิดค้นประดิษฐ์อักษรด้วยการสะกดนิ้วมือเป็นคนแรก ซึ่งเป็นอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนเศรษฐเสถียร ฯ สมัยนั้นให้การสนับสนุนชี้แนะ เปิดโอกาสและเป็นแบบอย่างที่ดี ทำให้ครูเกิดความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาการเรียนการสอน ทำให้มีผลงานต่างๆ ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติมากมาย

การเป็นครูเด็กพิเศษโดยเฉพาะเด็กหูหนวกจำเป็นต้องให้ความใส่ใจและทุ่มเทเป็นพิเศษ ต้องรู้จักเด็กเป็นรายบุคคล เพราะปัญหาการได้ยินของแต่ละคนมีลักษณะพิเศษแยกย่อยไม่เหมือนกัน ครูจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะจะช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพของเด็กได้ ทั้งด้านการฝึกพูด ฟัง อ่าน เขียน  รวมถึงการจัดหาสื่อการเรียนการสอนให้เหมาะสม เช่น การจัดหาเครื่องช่วยฟัง การจัดหาอุปกรณ์ เงินทุนในการผ่าตัดประสาทหูเทียม จัดทำแบบเรียน ก. ไก่ สำหรับภาษามือ เป็นต้น ดังนั้นการฝึกครูรุ่นใหม่จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก

“ในฐานะผู้บริหารโรงเรียนและเป็นครูรุ่นพี่มาตลอดการทำงานเกือบ 45 ปี  เห็นได้ว่า ครูด้านการศึกษาพิเศษเป็นหน้าที่ที่สำคัญมาก ครูจึงอยากผลักดันเพื่อสร้างครูรุ่นใหม่ๆให้เกิดขึ้น โดยสนับสนุนให้พวกเขาได้มีส่วนร่วมในทุกด้าน โดยทางเราพร้อมที่จะช่วยเหลือ ให้กำลังใจ และสามารถถ่ายทอดความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกันอย่างไม่มีเงื่อนไข”

จากความตั้งใจนี้ ไม่ว่าจะมีหมายเชิญจากหน่วยงานหรือครูมลิวัลย์จะต้องออกทุนเองก็ตามในเวทีงานสัมมนาทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ จะมีครูไทยรุ่นใหม่ๆ เข้าร่วมประชุมอย่างสม่ำเสมอ ทั้งหมดเป็นความตั้งใจที่จะให้ครูทั้งหลายได้นำความรู้ที่ได้รับมาสร้างประโยชน์และช่วยเหลือให้คนหูหนวกมีโอกาสได้เรียนในระดับสูงมากขึ้นและเพิ่มโอกาสที่จะทำให้เด็กเหล่านี้มีงานทำ มีรายได้จนสามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้  นอกจากการผลักดันสร้างครูรุ่นใหม่แล้ว ครูมลิวัลย์ยังสร้างผลงานด้านวิชาการต่างๆ มากมาย อาทิ การพัฒนาภาษามือไทยที่เป็นมาตรฐานในการเรียนการสอนทุกระดับของประเทศ พัฒนาอาชีพล่ามภาษามือจนเป็นที่รู้จักและมีการนำมาใช้ในวงการโทรทัศน์ของไทยในทุกวันนี้ อีกทั้งยังผลักดันให้มีคำบรรยายภาษาไทยในรายการโทรทัศน์เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อคนหูหนวก

รวมทั้งยังเป็นผู้ผลักดันนโยบายเพื่อคนพิการหูหนวกให้ขึ้นไปถึงระดับชาติ โดยรณรงค์ให้ภาครัฐ-เอกชน สนับสนุนและอนุเคราะห์ทารกที่มีภาวะหูหนวกได้รับบริการทางการแพทย์ในการผ่าตัดฝังอุปกรณ์ประสาทหูเทียม เพื่อช่วยให้เด็กได้ยิน สามารถพูดและสื่อสารได้เหมือนเด็กปกติ จนเป็นยอมรับในฐานะผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านคนหูหนวกในระดับประเทศ ระดับนานาชาติ โดยได้มีโอกาสทำงานร่วมกับ UNICEF ในฐานะที่ปรึกษาด้านการศึกษาพิเศษสำหรับคนหูหนวก ประจำองค์กร CBM ตั้งแต่ปี 2539 จนถึงทุกวันนี้

นอกจากนี้ครูมลิวัลย์เป็นผู้ร่วมก่อตั้งโรงเรียนหูหนวกของรัฐบาลในราชอาณาจักรภูฎาน และร่วมพัฒนาภาษามือให้กับโรงเรียนสอนคนหูหนวกประเทศเนปาลและเมียนมาร์ และร่วมออกแบบอักษรสะกดนิ้วมือในภาษาพม่าเป็นครั้งแรก อีกทั้งยังได้ฝึกอบรมครูการศึกษาพิเศษให้แก่กัมพูชาอีกด้วย

“การได้ร่วมงานกับนานาชาตินั้นนับเป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่า ทำให้เราได้มีโอกาสเรียนรู้และถ่ายทอดความรู้ไปพร้อมๆ กับสร้างผลงานที่ภาคภูมิใจ สมกับที่ตั้งปณิธานไว้ว่าจะปฏิบัติตนสนองพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี  โดยการทำงานอนุเคราะห์คนหูหนวกในพระบรมราชินูปถัมภ์อย่างเต็มความสามารถและพยายามจะสร้างเครือข่ายขยายแนวความคิดในการพัฒนาคนพิการ คนหูหนวกให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”

น.ส.ญาดา ชินะโชติ  ลูกศิษย์หูหนวกรุ่นแรกและเป็นคนแรกที่เรียนจบปริญญาตรี และกลับมาทำงานเป็นครูร่วมกับครูมลิวัลย์ที่โรงเรียนเศรษฐเสถียรจนเกษียณอายุ เล่าถึงครูมลิวัลย์ว่า เป็นผู้ทุ่มเท เสียสละ เอาใจใส่เด็กๆ มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาด้านการศึกษาเพื่อให้คนหูหนวกได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพ เพื่อให้เขาได้เรียน ได้ทำงาน มีโอกาสในชีวิตเหมือนกับคนปกติ และนำศักยภาพที่มีมาพัฒนาตนเอง สังคม และประเทศชาติ

“ครูคือต้นแบบและแรงบันดาลใจที่ทำให้ดิฉันเชื่อมั่นและเห็นความสำคัญของการศึกษาสำหรับคนพิการหูหนวก ดิฉันเป็นลูกศิษย์ที่ครูมองเห็นความสามารถคอยชี้แนะสนับสนุนมาโดยตลอด เป็นผู้ผลักดันทำให้ดิฉันได้มีโอกาสก้าวออกมาจากโลกเงียบมาอยู่ร่วมกับคนปกติได้อย่างภาคภูมิใจ เป็นประสบการณ์อันล้ำค่าที่ดิฉันนำมาพัฒนาตัวเองและถ่ายทอดให้กับลูกศิษย์ให้เขาสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณค่าและเหมาะสมต่อไป”

ผศ.กานดา โต๊ะถม หัวหน้าศูนย์การศึกษาพิเศษ โรงเรียนสาธิตลอออุทิศ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต กล่าวว่า ในฐานะลูกศิษย์ ครูมลิวัลย์เป็นครูที่ดิฉันให้ความเคารพรัก ในฐานะเพื่อนร่วมงานครูจะให้เกียรติเพื่อนร่วมงาน ด้วยจิตใจที่เปิดกว้างรับฟังความคิดเห็น และพร้อมจะช่วยเหลือสนับสนุนการทำงานของทุกคน

“ท่านพูดเสมอว่า การที่เราเป็นครู เราต้องไม่หวังสิ่งตอบแทน เรามีหน้าที่ให้ และต้องให้สิ่งที่ดีที่สุดแก่ศิษย์ สนับสนุนลูกศิษย์ทุกคนให้มีความก้าวหน้า ควบคู่ไปกับคุณธรรม และจริยธรรม ท่านมีความเมตตาเปี่ยมล้นไปด้วยคุณธรรมแห่งการเป็นครู และเป็นผู้ให้อย่างแท้จริง สิ่งที่ครูทำนี้ดิฉันเองได้นำมาเป็นพลังและเป็นแบบอย่างเพื่อช่วยเหลือบุคคลที่ด้อยโอกาสในสังคมต่อไป”

วันนี้ “ครูมลิวัลย์ ธรรมแสง” ในวัย 73 ปี ยังดูกระฉับกระเฉงคล่องแคล่วเต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง และยังคงมุ่งมันทำหน้าที่เปิดประตูพาผู้คนจำนวนมากจากโลกเงียบ ให้ก้าวเดินออกไปยืนอยู่ในสังคมเคียงข้างกับคนปกติได้อย่างมั่นใจ  โดยดำรงตำแหน่งเป็น ผู้อำนวยการหลักสูตรครุศาสตร์มหาบัณฑิต (การศึกษาพิเศษ)  มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต  และประธานฝ่ายวิชาการ มูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวก ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เพื่อช่วยผลักดันให้ประตูบ้านนี้ได้เปิดกว้างและสร้างการยอมรับจากสังคมด้วยหัวใจของความเป็นครูที่มุ่งมั่นทำหน้าที่นี้ไปตลอดชีวิต

รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี นับเป็นรางวัลระดับนานาชาติเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระปรีชาด้านการศึกษา  โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชานุญาตตั้งนาม“รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติครูผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตลูกศิษย์ สร้างคุณประโยชน์ต่อการศึกษาในประเทศต่างๆภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวม 11 ประเทศ ประเทศละ 1 รางวัล โดยจัดมอบรางวัลในทุก 2 ปี ซึ่งจะพระราชทานรางวัลครั้งแรกในวันที่ 2 ตุลาคม 2558.

 

แผนปฏิบัติการ แผนปฏิบัติการ | 4. คณะกรรมการคัดเลือกส่วนกลาง | 4.1 การปฐมนิเทศการประชุมเชิงปฏิบัติการ พิจารณากลั่นกรองคัดเลือกครู | 4.2 การประชุมเชิงปฏิบัติการพิจารณา กลั่นกรองคัดเลือกครู 4.3 การคัดเลือกส่วนกลาง