ผู้บริหารหัวใจครูนักพัฒนา “ผอ.สุพิทยา เตมียกะลิน”
“ครูใหญ่” ผู้เป็นแบบอย่าง สร้างการศึกษา “ชุมชนมีส่วนร่วม”
“กว่าจะดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ รู้สึกว่าเกือบจะท้อแท้เหมือนกัน แต่ก็เป็นไปได้ด้วยดี ให้เกียรติเขา ขอให้เขามาเป็นเจ้าของ เวลาเราประชุมเรื่องต่างๆ เราก็เชิญชาวบ้าน เชิญคณะกรรมการ ให้ความสำคัญกับเขา และลูกหลานเขา พูดอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่มียศ ไม่มีศักดิ์ศรี ถือว่าเราก็เป็นชาวบ้านคนหนึ่ง เข้าหาเขา มีอะไรก็แบ่งปัน มีอะไรก็ขึ้นไปหา เป็นการให้ นานวันก็ดีขึ้นดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมได้”
เป็นคำบอกเล่าของนักบริหารที่แสนจะติดดินผู้สามารถดึงคนในชุมชนชายขอบเขตแดนไทยพม่าให้เข้ามาสนใจการศึกษาและความรู้สึกในการมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของโรงเรียน “ครูป้าอึ่ง” หรือ “นางสาวสุพิทยา เตมียกะลิน” ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเพียงหลวง ๑๑ (บ้านสล่าเจียงตอง) อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ผู้ได้รับการเสนอชื่อครูผู้สมควรได้รับพระราชทาน “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” และผ่านการพิจารณาให้ได้รับรางวัลในระดับ “ครูยิ่งคุณ” ประจำปี 2558 ของ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา และ กระทรวงศึกษาธิการ
“สล่าเจียงตอง” หมู่บ้านชายแดนแม่ฮ่องสอน ชื่อแปลกหูแต่เป็นที่รู้จักและที่ใฝ่ฝันของชาวออฟโรดผู้ต้องการพิชิตเส้นทางยาวไกลบุกป่าลุยน้ำขึ้นเขายาวกว่า 90 กิโลเมตรให้ได้สักครั้งในชีวิตด้วยรถคู่ใจ ด้วยเสียงเล่าลือถึงเส้นทางอันทุรกันดารครบรสชาติ
เมื่อยี่สิบปีก่อนที่หมู่บ้านแห่งนี้ “ครูอึ่ง” ได้รับการบรรจุเป็น “ครูใหญ่” ของโรงเรียนประจำหมู่บ้านต้องเดินเท้าปีนเขาลุยน้ำข้ามห้วยบนเส้นทางนี้ ค้างแรมในหมู่บ้านกลางป่าสามวันสองคืนจากแม่สะเรียงกว่าจะถึงโรงเรียน และตลอดยี่สิบปี “ครูอึ่ง” หรือบางคนเรียกว่า “ครูใหญ่” ตามตำแหน่ง ต้องเดินทางขึ้นลงแม่สะเรียง-บ้านสล่าเจียงตอง ด้วยรถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้ออย่างน้อยที่สุดเดือนละหนึ่งครั้งเพื่อจัดหาเสบียงอาหารมาให้แก่เด็กนักเรียนและครูรวมกว่าร้อยชีวิตที่อยู่ประจำที่โรงเรียน เคยประสบกับเหตุการณ์ตื่นเต้นเสี่ยงตายบนเส้นทางสายนี้นับไม่ถ้วน แม้กระทั่งเคยติดอยู่ในรถที่ไหลไปตามสายน้ำป่าขณะข้ามลำน้ำเชี่ยวกรากกลางฤดูฝนเพื่อจะรีบกลับไปดูแลนักเรียนที่กลับมาเข้าเรียนตาม “ปฏิทินดอย”
ความยากลำบากในการเดินทางของบรรดาครูโรงเรียนบ้านสล่าเจียงตองอาจจะดูน่าตื่นเต้นและน่าสนใจ แต่ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นคือโรงเรียนเล็กๆ ที่ไปถึงยากลำบากแห่งนี้นั้นกลับมีคุณภาพการศึกษาสูงมาก ผ่านเกณฑ์มาตรฐานในการประเมินของ สมศ.ทั้งสามครั้งที่ผ่านมาด้วยระดับคะแนนดีและผ่านเกณฑ์ในรอบแรกทุกครั้ง แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการบริหารจัดการทั้งการศึกษา การบริหารครู และความสัมพันธ์กับชุมชนของ “ครูป้าอึ่ง” ได้เป็นอย่างดี
“โรงเรียนบ้านสล่าเจียงตองเป็นโรงเรียนที่อยู่บนเขา อยู่ในพื้นที่ห่างไกล แต่สามารถผ่านเกณฑ์ของ สมศ. ครูทำเองไม่ได้ น้องๆ ครูรุ่นหลังก็เก่งกันทุกคน สามารถที่จัดการเรียนการสอนได้อย่างมีคุณภาพ และได้รับคำชมเชย เป็นโรงเรียนต้นแบบในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง และเป็นโรงเรียนดีประจำตำบลด้วย ก็เป็นขวัญกำลังใจให้น้องๆ เขาให้ตั้งใจสอนและทำงาน”
คำบอกเล่าของครูอึ่งบ่งชัดว่า ผู้อำนวยการโรงเรียนคนนี้เป็นผู้บริหารที่สามารถจัดการคนได้เป็นอย่างดีเยี่ยม และถือความสำเร็จที่ได้รับเป็นของทีมมิใช่ของตนเพียงคนเดียว
“ท่าน ผอ.สุพิทยา ให้คำปรึกษาดูแลในเรื่องการปฏิบัติงานอย่างดี ไม่ค่อยพูดอะไรมาก แต่จะเป็นตัวอย่างในการกระทำ ไม่ว่าจะเป็นการสอน บางครั้งก็ลงมือสอนเป็นตัวอย่าง เวลานิเทศก์ ก็ให้คำแนะนำให้คำปรึกษา ทำให้มีกำลังใจในการปฏิบัติงาน ส่วนเรื่องการทำงานด้านอื่นๆ ของโรงเรียน ส่วนมากครูใหญ่จะไม่ค่อยพูด ลงมือทำด้วยตนเองเสียส่วนมาก เป็นผู้นำของทั้งครูและเด็ก เด็กจะทำตาม แล้วก็ทำอย่างมีความสุข” “ธีรพันธ์ กันหม่อง” หรือ “ครูต้น” เล่าให้ฟังถึงวิธีการบริหารแบบทำให้ดูเป็นตัวอย่างของครูป้าอึ่ง
แม้ว่าจะเป็นผู้บริหารสูงสุดในตำแหน่งผู้อำนวยการ แต่ “ครูป้าอึ่ง” ก็ไม่ยอมให้ใครๆ เรียกตังเองว่า “ผอ.” แต่จะให้เรียกว่า “ครูใหญ่” แทน ดังนั้นเด็กๆ และครูรุ่นใหม่จะเรียก “ครูใหญ่” ส่วนลูกศิษย์รุ่นก่อนและคนในชุมชนเรียกว่า “ครูอึ่ง” หรือ “ครูป้าอึ่ง” โดยจะเก็บคำว่า “ผอ.” ไปใช้เฉพาะเวลาไปประชุมในเมืองเท่านั้น
“ยังไงแล้วความเป็นมนุษย์มันน่าจะดีกว่าที่เราจะถือค่าของเกียรติยศและศักดิ์ศรี เกียรติยศเราก็มีเอาไว้ในใจ เมื่อเราอยู่กับชาวบ้าน ชาวบ้านเขาก็เป็นชาวบ้านที่มีชีวิตจิตใจ ครูว่ามันน่าจะดีกว่าที่เรามัวแต่จะถืออะไรที่มันฉาบฉวย” คือเหตุผลของ “ครูป้าอึ่ง”
นอกจากครองใจครูและนักเรียน “ครูป้าอึ่ง” ยังเป็นที่รักของชาวบ้านอีกด้วย แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ ก็ต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการเข้าถึงชาวบ้าน ให้เข้าใจในสิ่งที่ครูทำอยู่ ด้วยการจัดการเรียนการสอนแบบอยู่ประจำ เพราะนักเรียนแทบทั้งหมดมาจากหมู่บ้านห่างไกล ต้องมากินมานอนที่โรงเรียน กลับบ้านแค่เดือนละครั้ง การจัดซื้ออาหารสำหรับครูและนักเรียนก็ยากลำบาก
โรงเรียนบ้านสล่าเจียงตองจึงเลี้ยงสัตว์และปลูกผักเพื่อใช้เป็นอาหาร มีทั้งหมู เป็ด ไก่ ปลา กบ และปลูกพืชผักตามฤดูกาลรวมทั้งเพาะเห็ด โรงเรียนจึงต้องมีการก่อสร้างโรงเรือนและแปลงเพาะปลูก ซึ่งงานหลายอย่างเกินความสามารถของครูและเด็ก ซึ่งก็ได้ชาวบ้านมาช่วยเหลือ และทางโรงเรียนก็ตอบแทนน้ำใจของชาวบ้านด้วยผลผลิตทางการเกษตรของโรงเรียน ที่เป็นการสานสัมพันธ์กับชุมชนเป็นอย่างดี
ด้วยเวลาและการทำงานอย่างต่อเนื่อง จากหมู่บ้านที่ไม่ได้เห็นความสำคัญของการส่งลูกหลานเข้ามาศึกษาเล่าเรียน “ครูป้าอึ่ง” สร้างให้ชาวบ้านเห็นประโยชน์ของการเรียน และให้ชุมชนมีส่วนร่วมกับโรงเรียน โดยการจัดคณะกรรมการสถานศึกษาที่มี ชาวบ้าน ชุมชน คณะครู และนักเรียน เข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
ความเพียรพยายามของ “ครูป้าอึ่ง” ในการดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เป็นเจ้าของโรงเรียน และเห็นความสำคัญของการจัดการศึกษาได้ผลดีมาก โดยวัดได้จากชาวบ้านเกือบทั้งหมดส่งเด็กมาเรียนและส่งเสริมลูกหลานให้มีโอกาสได้เรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น และยังให้ช่วยเหลือในกิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียนทุกด้าน
แม้ว่าจะเป็นถึงผู้อำนวยการโรงเรียนทำหน้าที่บริหารสูงสุดดูแลทั้งครูและนักเรียนนับร้อยชีวิตของโรงเรียนบ้านสล่าเจียงตอง แต่ทุกวันนี้ “ครูป้าอึ่ง” หรือ “ครูใหญ่” ในคำเรียกของเด็กๆ ก็ยังเดินเลี้ยงอาหารกบ ปลาดุก และหมู ช่วยเด็กถอนหญ้า ช่วยยกของ และกวาดหอพักเด็ก โดยไม่ถือยศถือตำแหน่งไม่ต่างกับครูคนอื่นๆ เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับครูและเด็กทุกคนที่จะทำตาม
“ผู้บริหารต้องสามารถบริหารจัดการท่ามกลางความยากลำบากให้ประสบผลสำเร็จได้ในระดับหนึ่ง จะต้องมีความมุ่งมั่นทุ่มเท เสียสละ แล้วก็เอาใจลูกน้อง เอาใจเด็กนักเรียน เอาใจชาวบ้าน มาใส่ใจเรา ไม่ใช่เรายิ่งใหญ่อยู่คนเดียว ต้องโน้มไปหาเขา ทำใจให้เป็นกลางในการบริหารจัดการ แล้วก็จะประสบผลสำเร็จ ต้องนึกถึงใจของผู้อื่นก่อนเสมอ อย่าเพิ่งนึกถึงตัวเอง ตัวเองไว้สุดท้าย” “ครูป้าอึ่ง” ฝากข้อคิดแก่ผู้บริหารรุ่นใหม่
สำหรับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี นับเป็นรางวัลระดับนานาชาติเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระปรีชาด้านการศึกษา โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชานุญาตตั้งนาม“รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติครูผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตลูกศิษย์ สร้างคุณประโยชน์ต่อการศึกษาในประเทศต่างๆ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวม 11 ประเทศ ประเทศละ 1 รางวัล โดยจัดมอบรางวัลในทุก 2 ปี ซึ่งจะพระราชทานรางวัลครั้งแรกในวันที่ 2 ตุลาคม 2558.