“สังคม ทองมี” ครูผู้เปิดโลกกว้างการเรียนรู้ด้วย “ศิลปะ”

ต่อยอด “ความงดงาม”  ในงานศิลป์ พัฒนาสู่คุณค่าใน “ตัวคน”

20150907-11_pmca006

สังคม ทองมี

“ผมอยู่ในช่วง 14 ตุลา ที่ตอนนั้นในคณะคุรุศาสตร์มีคำกล่าวที่ว่า go up country when you are young ไปชนบทเถอะ ในขณะที่คุณยังเป็นหนุ่มสาว ก็เลยตัดสินใจมานี่ ในปี พ.ศ. 2521 มีสอบอยู่คนเดียว ก็มาเป็นครูที่โรงเรียนศรีสงครามวิทยา วังสะพุงตอนนั้นเป็นอำเภอใหญ่ นักเรียนเยอะมาก เป็นศูนย์กลางที่เด็กพันกว่าคนต้องเดินทางมายี่สิบสามสิบกิโลจากหมู่บ้านเพื่อมาเรียน

เป็นคำบอกเล่าถึงแรงบันดาลใจของ  “ครูสังคม ทองมี” ผู้อำนวยการศูนย์ศิลป์สิรินธร อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ครูผู้เป็นต้นรากแห่งแรงบันดาลใจของวงการศิลปศึกษาในยุคปัจจุบัน อดีตครูสอนศิลปะของ โรงเรียนศรีสงครามวิทยา ที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในแวดวงศิลปะจากการส่งผลงานศิลปะของเด็กๆ เข้าประกวดจนได้รับรางวัลทั้งในระดับประเทศและในระดับนานาชาติมากมาย

จากความทุ่มเทมาตลอดทั้งชีวิตในการนำศิลปะมาพัฒนาการเรียนรู้และเปิดโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กด้อยโอกาส ทำให้ “ครูสังคม” ได้รับการเสนอชื่อเป็นครูผู้สมควรได้รับพระราชทาน “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” และผ่านการพิจารณาให้ได้รับรางวัลในระดับ “ครูยิ่งคุณ” ประจำปี 2558 ของ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา และ กระทรวงศึกษาธิการ

“ครูสังคม ทองมี” จบการศึกษาระดับบัณฑิต และมหาบัณฑิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้รับปริญญาดุษฏีบันฑิตกิตติมศักดิ์ และรางวัลเชิดชูเกียรติจากสถาบันต่างๆ มากมาย จนสามารถใช้คำนำหน้าว่า “ดอกเตอร์” ได้อย่างเต็มภาคภูมิ แต่ก็ยินดีและพอใจที่จะให้ใครต่อใครเรียกว่า “ครูสังคม” เหมือนตั้งแต่ในวันแรกที่เลือกที่จะมาเป็น “ครู” ณ บ้านเกิดในโรงเรียนห่างไกล

ทั้งๆ ที่ตอนนั้นสถานะนักเรียนทุน AFS ที่ LAGUNA BLANCA SCHOOL แคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นผู้เข้าร่วมโครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์ ไปประเทศสมาคมอาเซียนและญี่ปุ่น และเป็นนิสิตทุน American woman club ผู้จบการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีโอกาสทั้งการไปศึกษาต่อและทำงานที่ต่างประเทศหรือเลือกงานดี เงินเดือนดี ในเมืองหลวงก็ได้
          “ผมมองเห็นว่าโอกาสมีไม่มากนักสำหรับเด็กชนบท สังคมไม่มีค่านิยม ไม่มีทัศนคติที่ดี มองไม่เห็นคุณค่าศิลปะ เป็นความเหลื่อมล้ำของโอกาสทางการศึกษา นี่ก็คือประเด็นใหญ่ที่ทำให้ผมเลือกมาที่นี่”

“ และประเด็นที่สอง ผมอยากพิสูจน์ความคิดของผมว่า เด็กที่ขาดโอกาสไม่มีอะไรสักอย่าง ไม่มีพื้นฐานทางความรู้ ไม่มีวัสดุอุปกรณ์ อยู่ในครอบครัวที่ขาดแคลน จะสามารถมีความคิดสร้างสรรค์ทางด้านศิลปะหรือไม่” ครูสังคมเล่าย้อนถึงความคิดและจุดเปลี่ยนของการตัดสินใจ

ในปี 2521 “ครูสังคม” เปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนวิชาศิลปะ จากวิชาที่มีคะแนนแค่เพียง 10 คะแนนซึ่งไม่มีใครสนใจ เปลี่ยนการสอนโดยออกจากห้องเรียนคับแคบ สู่ห้องเรียนในทุกพื้นที่ๆ กว้างใหญ่และสนุกสนาน ไม่ต้องจำเจอยู่กับการนั่งโต๊ะและการท่องจำ มีการสอนพิเศษด้านศิลปะในช่วงเย็น และวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เงินเดือนครูอันน้อยนิดที่ได้รับมาในแต่ละเดือนหมดไปกับค่าอุปกรณ์ทางการสอนศิลปะสำหรับเด็กยากจนที่อยู่ห่างไกลในชนบทที่เดินทางกลับบ้านไม่สะดวก นั่นจึงเป็นที่มาของการรับเด็กนักเรียนเข้ามาพักในโรงเรียนและฝากเด็กๆ เหล่านี้ไว้กับตามบ้านของเพื่อนครู

ไม่ใช่แค่สอนศิลปะแค่นั้น สำหรับเด็กที่มาพักค้างและเรียนพิเศษที่โรงเรียน “ครูสังคม” จะสอนวิชาภาษาอังกฤษ และวิชาสามัญอื่นๆ เพื่อให้เด็กมีพื้นฐานความรู้ที่ดียิ่งขึ้น ทำให้นักเรียนกลุ่มที่ชอบวิชาศิลปะบางคนสามารถทำคะแนนได้ยอดเยี่ยมได้เกรด 4 ทุกวิชา และสอบได้ที่ 1 หรือลำดับต้นๆ ของโรงเรียน ซึ่งสร้างความดีใจและภูมิใจให้แก่ทั้งตัวของเด็กนักเรียนและผู้ปกครองเป็นอย่างยิ่ง

ในปี 2523 “ครูสังคม” นำผลงานศิลปะของเด็กๆ โรงเรียนศรีสงครามวิทยา เข้าประกวดใน งานแสดงศิลปะเด็กแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1 ปรากฏว่าลูกศิษย์ของครูสังคมกวาดทั้งรางวัลยอดเยี่ยม รางวัลดีเด่น และรางวัลสร้างสรรค์ รวมแล้วหลายสิบรางวัล ท่ามกลางความตื่นตะลึงของบรรดาครูผู้สอนศิลปะทั่วประเทศ ต่างถามกันเป็นเสียงเดียวว่า โรงเรียนนี้อยู่ที่ไหน? วังสะพุงอยู่ตรงไหนของประเทศไทย? และจากนั้น ชื่อของเด็กศิลปะศรีสงครามก็สร้างชื่อเสียงมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงระดับนานาชาติ

“จากเด็กๆ ที่ไม่กล้าแสดงออกแม้แต่จะพูด เขาสามารถที่จะพัฒนาทางด้านความคิดสร้างสรรค์ ถ่ายทอดออกมาเป็นภาพผลงานทางด้านทัศนศิลป์ ทางด้านพฤติกรรมก็กล้าแสดงออกมากขึ้น ในเชิงจิตวิทยาก็คือ มีความมั่นใจ เด็กสังคมชนบทอย่างพวกเขาได้รับการยอมรับจากสังคม และตัวผลงานก็มีคุณค่าด้านทัศนศิลป์ เราพัฒนาจนถึงระดับเป็นที่ยอมรับระดับประเทศและนานาชาติภายใน 3 ปี ตรงนี้ถือว่าประสบความสำเร็จในเชิงรูปธรรม”

ครูสังคมชี้ให้เห็นว่า ผลสำเร็จในการทำงานของตนเองนั้น มิใช่แค่การทำให้เด็กๆ ได้รับรางวัล แต่เป็นการสร้างโอกาสของเด็กด้อยโอกาสในจังหวัดห่างไกลที่จะได้การยอมรับจากสังคม และเปิดโอกาสในการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นด้วยทุนเล่าเรียนจากความสามารถพิเศษทางด้านศิลปะ

“ผมไม่ได้สอนแค่วิชาศิลปะ หรือสอนเด็กเพื่อส่งงานเข้าประกวด แต่ผมมองมิติเรื่องความเหลื่อมล้ำ เท่าที่เห็นมามีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โอกาสทางการศึกษามันหายไปเพราะไม่มีเงินมาเรียน ไม่มีเงินเสียค่าเทอม ไม่มีเงินค่ารถมาเรียน เด็กจึงหายไป การที่เด็กได้รางวัลไม่ใช่เรื่องหลัก แต่ทุนและโอกาสทางการศึกษาที่เขาจะได้หลังรับรางวัลเป็นเรื่องสำคัญ เป็นการเปิดโอกาสให้เขา”

แม้ว่า “ครูสังคม” จะพูดเสมอว่า รางวัลที่มากกว่า 3,000 รางวัลจากทั่วโลกเป็นของเด็ก ไม่ใช่รางวัลของตนเอง แต่รางวัลเหล่านี้ย่อมแสดงให้เห็นถึงความสามารถของครูสังคมเป็นอย่างดี จนได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรทางด้านศิลปศึกษาในหลายระดับทั้งราชการและเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นประธานคณะกรรมการบริหารศูนย์บ่มเพาะ และพัฒนานักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษด้านทัศนศิลป์ และผู้อำนวยการศูนย์ศิลป์สิรินธร จังหวัดเลย อีกด้วย

ทั้งๆ ที่มีความสามารถและเป็นที่ต้องการของทุกหน่วยงาน จากวันแรกที่เรียนจบจนถึงวันสุดท้ายของอาชีพข้าราชการ “ครูสังคม” ก็ยังยินดีที่จะทำหน้าที่ “ครู” สอนศิลปะตามอุดมการณ์มิเคยเปลี่ยนแปลง โดยอุทิศทั้งเวลา แรงกาย และแรงใจในการเป็นวิทยากรทางด้านศิลปะให้แก่หน่วยงานต่างๆ ตลอดมา

“ลักษณะของการทำงานของผมก็อาจจะเป็นตัวอย่างได้บ้างในบางมิติ แต่โดยรวมก็คือ มีความตั้งใจจริงในการที่เป็นครู ครูต้องมีความรู้ ต้องมีการพัฒนาให้ทันโลกตลอดเวลาไม่ว่าสาขาวิชาใด และต้องรู้และเข้าใจจิตวิทยาพัฒนาการของเด็กแต่ละวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านศิลปะ ถ้ามีความเข้าใจและได้นำมาใช้ มาทดลองกับตัวเอง จะสร้างความมั่นใจให้กับคุณครูที่จะสอนศิลปะทั้งหลายได้เป็นอย่างดี” ครูสังคมกล่าวฝากข้อคิดในการทำงานถึงครูผู้สอนศิลปะรุ่นใหม่ๆ

สำหรับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี นับเป็นรางวัลระดับนานาชาติเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระปรีชาด้านการศึกษา  โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชานุญาตตั้งนาม“รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติครูผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตลูกศิษย์ สร้างคุณประโยชน์ต่อการศึกษาในประเทศต่างๆ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวม 11 ประเทศ ประเทศละ 1 รางวัล โดยจัดมอบรางวัลในทุก 2 ปี ซึ่งจะพระราชทานรางวัลครั้งแรกในวันที่ 2 ตุลาคม 2558.  

 

แผนปฏิบัติการ แผนปฏิบัติการ | 4. คณะกรรมการคัดเลือกส่วนกลาง | 4.1 การปฐมนิเทศการประชุมเชิงปฏิบัติการ พิจารณากลั่นกรองคัดเลือกครู | 4.2 การประชุมเชิงปฏิบัติการพิจารณา กลั่นกรองคัดเลือกครู 4.3 การคัดเลือกส่วนกลาง