“อารีย์ จู่จุ้ยเอี่ยม” ครูผู้เปลี่ยนวิธีคิด สอน “ภาษาอังกฤษ” ใกล้ตัว

ใช้เทคนิค “3 H” บูรณาการสอน เชื่อมโยงวิถีท้องถิ่นสู่ทักษะชีวิต

 

อารีย์ จู่จุ้ยเอี่ยม

อารีย์ จู่จุ้ยเอี่ยม

“ถ้าไม่มีโรงเรียนขยายโอกาสเด็กพวกนี้จะไม่ได้มาโรงเรียนอีกเลย พวกเขาเรียนไม่เก่ง ภาษาไทยก็ไม่แข็งแรงเพราะใช้ภาษาถิ่นถึงสามภาษา คือ เขมร ลาว ส่วย เพราะฉะนั้นพอครูแทรกภาษาอังกฤษเข้าไปมันเป็นภาษาที่สี่หรือห้า ทำให้เขาต้องคิดหลายขั้นตอนซับซ้อน การพัฒนาทางภาษาจึงยาก ครูต้องอดทน ต้องพยายามจัดการเรียนการสอนให้ตรงเนื้อหา ตรงตัวชี้วัด ตรงหลักสูตรเพื่อวัดผลสัมฤทธิ์ตามนโยบายกระทรวง แต่ในเมื่อพื้นความรู้ของเด็กไม่ดีนัก ปัญหาด้านภาษาจึงกลายเป็นตัวแปรสำคัญ”  

เป็นคำอธิบายถึงพื้นฐานของเด็กนักเรียนจังหวัดชายแดนซึ่งแม้จะอยู่ในตัวเมือง แต่ก็มีความหลากหลายทางด้านภาษาของ  “อารีย์ จู่จุ้ยเอี่ยม” หรือ “ครูรี” ของเด็กๆ ครูวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ แห่งโรงเรียนหนองโตง “สุรวิทยาคม” อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ หนึ่งในผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นครูผู้สมควรได้รับพระราชทาน “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” และผ่านการพิจารณาให้ได้รับรางวัลในระดับ “ครูยิ่งคุณ” ประจำปี 2558 ของ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา และ กระทรวงศึกษาธิการ

คงไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่หญิงสาวผู้มุ่งมั่นจะเป็นครูสอนภาษาอังกฤษที่เพิ่งจบการศึกษามาหมาดๆ ต้องเลือกที่จะตัดสินใจระหว่างชายแดนใต้กับชายแดนอีสานติดกับประเทศเพื่อนบ้านกัมพูชา ซึ่งทั้งสองแห่งล้วนแตกต่างทางด้วยภาษาและวัฒนธรรมเมื่อเทียบกับบ้านเกิดที่คุ้นเคย แต่การที่อารีย์เลือกมาบรรจุที่โรงเรียนบ้านตะเคียน ชายแดนจังหวัดสุรินทร์ ยี่สิบกว่าปีของ “อารีย์” หรือ “ครูรี” ในคำเรียกของลูกศิษย์และชาวบ้านที่ปักหลักอยู่ในจังหวัดสุรินทร์จนถึงปัจจุบันไม่เคยย้ายไปที่ไหนพิสูจน์อย่างดีว่าเธอเลือกได้ถูกต้อง

เพียงไม่กี่เดือนหลังปฏิบัติหน้าที่สอนในชั้น ป.5-6 ด้วยความตั้งใจอย่างจริงจัง โดยมีเอกลักษณ์ในการสอนคือ “การเรียนภาษาอังกฤษต้องสนุก” ครูรีก็ได้รับรางวัลครูผู้สอนภาษาอังกฤษดีเด่นประจำอำเภอ เป็นรางวัลแรกของชีวิตและเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าตนเองได้เดินมาถูกทางแล้ว ด้วยจุดประสงค์ที่มุ่งเน้นให้ความรู้ทางภาษาอังกฤษเพื่อศึกษาต่อในระดับสูงขึ้น แม้อยู่ชายแดนห่างไกล “ครูรี” ก็ไม่ได้ย่อท้อ ค้นคว้าหาทางสั่งตำรับตำรามาให้เด็กอ่าน โดยเฉพาะวารสาร Student weekly ที่จัดหามาให้แก่เด็กได้เรียนรู้

“ความยากคือในสมัยนั้นไม่มีเทคโนโลยี ครูหาสื่อมาใช้ตามที่เราจะหาได้ แต่เด็กก็ประสบผลสำเร็จเพราะว่าเขาเชื่อมั่นในตัวเรา โดยเฉพาะการแข่งขัน เราเหมารถพาเด็กไปแข่ง เราเหมารถส่งเด็กไปสอบ เราทำอะไรต่อมิอะไรโดยไม่ได้คิดอะไรเลย เพียงแต่อยากให้สิ่งนี้ไปสนองที่ในสิ่งเขาขาดหายไป” ครูรีเล่าถึงปัญหาในช่วงนั้น

“ในการสอน แม้ครูจะเน้นย้ำวิชาการต้องแม่นยำก็จริง แต่สิ่งสำคัญที่ครูไม่ลืมจะเน้นอีกอย่างคือวิชาคน ทักษะชีวิต วิชาการแม่นแต่ขาดวิชาคนก็เอาตัวไม่รอด สอนความเป็นมนุษย์แม้จะยากกว่าสอนวิชาการแต่เราต้องทำ ต้องเป็นแบบอย่าง”

เป็นแนวคิดของ “ครูรี” ในการจัดการสอนซึ่งแม้จะเป็นวิชาภาษาอังกฤษ แต่ “ครูรี” ก็สอดแทรกความเข้าใจในความเป็นมนุษย์ลงไปในเนื้อหามาโดยตลอด เช่น ความกตัญญู สุขอนามัย การทันต่อข่าวสารบ้านเมือง ฯลฯ สอนให้นักเรียนรักแผ่นดินไทย รักท้องถิ่นของตนเอง รวมทั้งแนะแนวนักเรียนให้รู้จักค้นพบตัวเองแต่เนิ่นๆ เพื่อเลือกทางเดินชีวิตได้อย่างเหมาะสม ซึ่งทั้งหมดนี้แทบไม่น่าเชื่อว่าจะถูกสอดแทรกอยู่ในวิชาภาษาอังกฤษ

The Miracle of Surin” บทเรียนภาษาอังกฤษที่ “ครูรี” พัฒนาขึ้นเป็นสาระการเรียนรู้ท้องถิ่นจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งมีหน่วยย่อย 7 เรื่อง ครอบคลุมเนื้อหาที่น่าสนใจอาทิ ช้าง ข้าวหอมมะลิ ภูมิปัญญาต่างๆ เป็นบทเรียนที่มีประสิทธิภาพยอดเยี่ยม และเป็นต้นแบบให้แก่ครูจากอีกหลายจังหวัดนำไปประยุกต์ใช้ในท้องถิ่นของตนเอง นอกจากนี้การจัดการเรียนการสอนของ “ครูรี” ก็ยังทันสมัยเสมอ เมื่อมีการเปิดประชาคมอาเซียนก็ตั้งเป้าหมายในการสอนและใช้ภาษาอังกฤษที่เกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ของสุรินทร์เชื่อมโยงไปสู่สากล

และเมื่อพูดถึงการสอนภาษาอังกฤษกับโรงเรียนในเมืองหลายคนอาจนึกถึง Sound lab แน่นอน แต่ที่โรงเรียนหนองโตง “สุรวิทยาคม” แม้จะเป็นเพียงโรงเรียนขยายโอกาส แต่ก็มี Sound lab ใช้เช่นกัน และแม้ว่าจะมีงบประมาณจำกัด “ครูรี” ก็ขวนขวายที่จะหาสื่อต่างๆ ที่สื่อทันสมัยและราคาย่อมเยามาให้นักเรียนได้เรียนรู้ ดังนั้นในห้องเรียนวิชาภาษาอังกฤษของ “ครูรี” เราอาจจะได้เห็นทั้งการค้นคว้าข้อมูลจากอินเตอร์เน็ท การดูภาพยนตร์ Soundtrack การร้องรำทำเพลง หรือกิจกรรมการเรียนการสอนง่ายๆ ด้วยการตัดรูปแปะลงบนกระดาษ ซึ่งทั้งหมดเป็นการสอนภาษาอังกฤษบูรณาการเข้ากับการสอนทักษะชีวิต ความรู้รอบตัว และความภูมิใจในวิถีชุมชน

ที่สำคัญห้องเรียนภาษาอังกฤษของ “ครูรี” ไม่ได้อยู่แค่ในรั้วโรงเรียนเท่านั้น แต่ขยายกว้างไปถึงการนำนักเรียนไปเยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ ในสุรินทร์ เช่น นาข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ปราสาทหิน และแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ รวมไปถึงการจัดกิจกรรมพานักเรียนไปแข่งขันทักษะทางวิชาการ การแสดงในงานต่างๆ หรือการแข่งขันพูดสุนทรพจน์ภาษาอังกฤษ ซึ่งประสบความสำเร็จมากได้รับรางวัลมากมาย

“เวลาช่วงแข่งความเป็นเลิศ ในฐานะหัวหน้าสายชั้น หัวหน้าสาระภาษาต่างประเทศ ทำหน้าที่ดูแลเชิงบริหารจัดการ เห็นเด็กเก่งภาษาอังกฤษมาก แต่เขาไม่อยากแข่งภาษาอังกฤษ เขาอยากไปรำ ครูให้ไปรำ ใครอยากแข่งพละ ไปพละเลย ส่วนกลุ่มที่เขาชอบภาษาอังกฤษ มีการแข่งทักษะภาษาอังกฤษที่เขาเข้าแข่งขันได้ เช่น ละครสั้น บางทีไม่ใช่เด็กเก่ง แต่เป็นเด็กที่ต้องมาฝึกออกเสียง ตอนแสดงคนชมว่าทำไมภาษาดีมาก แต่จริงๆ กว่าจะฝึกออกเสียงได้ 3 เดือน นานมาก (หัวเราะ)” ครูอารีย์อธิบายถึงการจัดการเรียนการสอนตาม ทฤษฏีพหุปัญญาของการ์ดเนอร์ (Theory of Multiple Intelligences : Howard Gardner) เพื่อสนับสนุนการเรียนและการทำกิจกรรมไปตามความถนัดและชื่นชอบของเด็ก ซึ่งทำให้ได้ผลลัพธ์ดีกว่าการบังคับ

ซึ่งผลสำเร็จในการสอนภาษาอังกฤษของ “ครูรี” นั้นยืนยันได้จากรางวัลเชิดชูเกียรติต่างๆ ที่ได้รับมาอย่างมากมาย หรือรางวัลที่ได้รับจากการนำเด็กนักเรียนไปแข่งขันทักษะต่างๆ แต่สิ่งที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับ “ครูรีย์” มากกว่ารางวัลที่ได้รับนั่นก็คือ การได้เห็นลูกศิษย์แต่ละคนประสบความสำเร็จในการศึกษาและการทำงาน

โดยมีลูกศิษย์จำนวนไม่น้อยที่ได้ศึกษาต่อถึงระดับปริญญาตรีและโทด้วยการใช้ความรู้ทางภาษาอังกฤษเป็นใบเบิกทาง หลายคนเป็นครูสอนภาษาอังกฤษตาม “ครูรี” ผู้เป็นแบบอย่าง บ้างก็เป็นผู้ประกาศข่าวซึ่งได้ใช้ความรู้ทั้งทางด้านภาษาและการออกเสียง แม้แต่เด็กรุ่นใหม่ที่จบมาแล้วทำงานในท้องถิ่น ก็ได้ใช้ความรู้และทักษะที่ได้รับมาจาก “ครูรี” ทั้งทางความรู้ทั่วไป การกล้าแสดงออก และภาษาอังกฤษ

“ตอนสอน ครูชอบพูดเรื่องต่างๆ เล่าเรื่องไปเที่ยว พวกอาหารการกิน ประมาณนี้ ทำให้เหมือนเราได้ไปเที่ยว มันมีอะไรน่าสนุก เห็นภาพตาม ได้เรียนรู้”  “น้องแอ๋ม” รัตน์ธิชา สาแก้ว ลูกศิษย์ครูรี ที่ปัจจุบันเป็นพนักงานร้านอาหารชื่อดังในเมืองสุรินทร์เล่าถึงประสบการณ์ในวัยเรียนและกล่าวต่อว่า “พื้นความรู้ภาษาอังกฤษ และการสอนให้กล้าแสดงออกของครูรีช่วยในการทำงานในปัจจุบันของหนูได้มาก”

“พัฒนาตนเองเสมอ เสียงดังฟังชัด ออกเสียงสำเนียงแม่น สนุกกับมัน ใช้ 3H : Heart Hand และ Head สใจต้องมี มือต้องมา สมองต้องคิด ใช้ความรักและศรัทธาในสิ่งที่เราทำ สมองต้องคิดว่าจะทำอย่างไร และสุดท้ายต้องลงมือทำให้สำเร็จ” ครูอารีย์ฝากเคล็ดลับการสอนภาษาอังกฤษให้กับครูรุ่นใหม่

สำหรับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี นับเป็นรางวัลระดับนานาชาติเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระปรีชาด้านการศึกษา  โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชานุญาตตั้งนาม“รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติครูผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตลูกศิษย์ สร้างคุณประโยชน์ต่อการศึกษาในประเทศต่างๆ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวม 11 ประเทศ ประเทศละ 1 รางวัล โดยจัดมอบรางวัลในทุก 2 ปี ซึ่งจะพระราชทานรางวัลครั้งแรกในวันที่ 2 ตุลาคม 2558.  

แผนปฏิบัติการ แผนปฏิบัติการ | 4. คณะกรรมการคัดเลือกส่วนกลาง | 4.1 การปฐมนิเทศการประชุมเชิงปฏิบัติการ พิจารณากลั่นกรองคัดเลือกครู | 4.2 การประชุมเชิงปฏิบัติการพิจารณา กลั่นกรองคัดเลือกครู 4.3 การคัดเลือกส่วนกลาง