“ครูสกล ธรรมวงศ์”  Lab Boy ผู้สอนคิดด้วย “หุ่นยนต์”

พัฒนาการเรียนรู้ บูรณาการ “ชีวิต” ด้วย “ประสบการณ์”

 

20150907-12_pmca015

ครูสกล ธรรมวงศ์

“คุณจะต้องไม่เป็นครู คือเป็นครูไม่ได้ ถ้าเป็นครูแล้วมันจะตัดความคิดของเด็ก เพราะทันทีที่ครูพูด เด็กจะเชื่อเลย ไม่ว่าจะผิดหรือถูก พอพูดไปแล้วเด็กจะเชื่อหมด เพราะเด็กเชื่อถือและศรัทธาครู ดังนั้นถ้าเราไม่แสดงความคิดเห็น หรือไม่ลงไปเฝ้าดู เขาก็จะมีแต่ความคิดของเขา ครูไม่เห็นว่าอะไร ก็แสดงว่าทำได้ ครูไม่พูดก็แสดงว่าทำแบบนี้ได้ หลังจากทำเสร็จครูก็ไม่เห็นว่าอะไร ไม่เห็นพูดอะไร ก็แสดงว่าต้องทำแบบนี้ได้”  

เป็นรูปแบบการสอนที่แปลกและแตกต่างของ “สกล ธรรมวงศ์” หรือ “ครูสกล” ของเด็กๆ จาก โรงเรียนชัยภูมิภักดีชุมพล ครูผู้เชี่ยวชาญประจำ “ศูนย์พัฒนาการเรียนรู้เทคโนโลยีหุ่นยนต์” อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นครูผู้สมควรได้รับพระราชทาน “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” และผ่านการพิจารณาให้ได้รับรางวัลในระดับ “ครูยิ่งคุณ” ประจำปี 2558 ของ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา และ กระทรวงศึกษาธิการ

ย้อนกลับไปในวัยเด็ก “ครูสกล” เป็นลูกครูบ้านนอกที่เห็นแม่สอนนักเรียนมาตั้งแต่เล็ก มีความฝันเหมือนกับเด็กทั่วไปในสมัยนั้นว่าเมื่อโตขึ้นขอทำงานอะไรก็ได้ที่ได้เงินมากๆ แต่แล้วก็สิ่งที่คิดฝันก็ต้องหักเห เมื่อมีโอกาสได้ไปสอนเด็กเล็กๆ ในโรงเรียนบ้านนอกจึงเกิดความประทับใจและแรงบันดาลใจให้อยากเป็นครู

ด้วยความชอบและสนใจใฝ่รู้ในเรื่องต่างๆ มากมายเป็นทุนเดิม “สกล ธรรมวงศ์” จึงเริ่มสร้างกิจกรรมมากมายหลายอย่างขึ้นในโรงเรียน ตั้งแต่ชักชวนเด็กมีปัญหาทางการเรียนและยาเสพติดมาเล่นดนตรี ทำโครงงานวิทยาศาสตร์ จัดตั้งชมรมดูดาวที่นักเรียนสามารถสร้างกล้องดูดาวเองได้ ส่งผลงานจากแต่ละกิจกรรมเข้าร่วมประกวดประชันผลงานของนักเรียน คว้างรางวัลมาแล้วมากมายนับไม่ถ้วนตามประสาครูนักคิดนักประดิษฐ์

แต่แล้วจุดเปลี่ยนที่สำคัญก็เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เมื่อ “ครูสกล” มีโอกาสได้ไปดูงานการแข่งขันหุ่นยนต์ในเมืองหลวง ทำให้เห็นความแตกต่างในการเข้าถึงเทคโนโลยีระหว่างเด็กในเมืองหลวงและเด็กในชนบท ที่กลายเป็นแรงบันดาลใจที่จะพาลูกศิษย์ของตัวเอง ที่ถูกมองว่าเป็น “เด็กบ้านนอก” เข้าสู่โลกของการศึกษาด้านเทคโนโลยีให้มีโอกาสและความรู้ทัดเทียมกับนักเรียนในเมืองใหญ่ด้วยการเรียนรู้จาก “หุ่นยนต์”

จากจุดเริ่มต้นด้วยการลองผิดลองถูก เพียงไม่นานชื่อของโรงเรียนชัยภูมิภักดีชุมพล ก็เรียกเสียงฮือฮาจากผู้เข้าร่วมแข่งขันหุ่นยนต์ ที่เกือบทั้งหมดเป็นตัวแทนจากโรงเรียนในเมืองหลวงหรือในระดับจังหวัดใหญ่ๆ ที่มีความพร้อมทั้งทางด้านการเงินและความรู้ในด้านเทคโนโลยี

“งานแข่งขันของ สสวท. เราเข้ารอบ 4  ทีมสุดท้าย พอเขาประกาศชื่อโรงเรียนชัยภูมิภักดีชุมพล ได้ยินคนหนุ่นสาวที่นั่งข้างๆ บอกโรงเรียนอะไรชื่อบ้านนอกมาก อยู่ส่วนไหนของประเทศไทย ความรู้สึกตอนนั้นมันจี๊ดมาก ตอกย้ำว่าเราจะต้องทำให้โรงเรียนในภูมิภาคทัดเทียมกับในเมืองหลวงให้ได้ บอกให้ใครต่อใครได้รู้ว่าผมก็ทำได้  แล้วปีนั้นเราก็ได้ที่หนึ่งเป็นแชมป์ จากโรงเรียนบ้านนอกโนเนม หลายๆ คนก็เริ่มรู้จักโรงเรียนชัยภูมิภักดีชุมพลในด้านหุ่นยนต์” ครูสกลเล่าถึงความหลังฝังใจที่กระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจในการทำงาน

จากแชมป์ระดับประเทศสู่ชัยชนะในระดับนานาชาติ ความสำเร็จของโรงเรียนชัยภูมิภักดีชุมพลทางด้านหุ่นยนต์เป็นที่รู้จักกันไปทั่ว ดึงสู่ความสนใจของเหล่านักเรียนและผู้ปกครอง และพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่จนกระทั่ง “ครูสกล” สามารถเปิดเป็นหลักสูตรของโรงเรียนได้ โดยมีกลุ่มเด็กสนใจสามระดับคือ หนึ่งสนใจเรียนเป็นวิชาเลือกในชั้นเรียน สองเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มในบางครั้ง และสามกลุ่มชุมนุมที่ตั้งใจมุ่งมั่นเพื่อการแข่งขันหุ่นยนต์โดยเฉพาะ

ซึ่งเด็กนักเรียนทั้งสามกลุ่มต่างก็ได้ประโยชน์จากจัดกระบวนการเรียนรู้ และเข้าร่วมกิจกรรมในหลายๆ ด้าน ที่เห็นได้ชัดเจนคือกลุ่มชุมนุม และกลุ่มสนใจเป็นวิชาเลือก จะใช้ความรู้ความสามารถทางด้านหุ่นยนต์เป็นความสามารถพิเศษไปใช้ในการศึกษาต่อได้โดยตรง

“ถ้าถามว่าเรียนหุ่นยนต์ได้อะไร มันจับฉ่ายมาก อย่างการอยู่ร่วมกันทำงานร่วมกันคือสังคมวัฒนธรรม ได้ใช้ภาษา ฝึกการทำงานเป็นทีม มันจะบูรณาการหลายๆ อย่าง

“ครูสกล” อธิบายถึงการประยุกต์หลายๆ ทฤษฏีมาใช้ เช่น การจัดการเรียนรู้ตามทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ (Constructivist Theory) ทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการ (Maslow’s hierarchy of needs) รวมไปถึงการสอนสอนเด็กที่มีความสามารถพิเศษ การเน้นความแตกต่างระหว่างบุคคล ระหว่างกลุ่ม โดยให้เด็กเป็นศูนย์กลาง ฯลฯ

แต่แนวคิดที่น่าสนใจที่สุดของ “ครูสกล” ในการสอนคือ “การปล่อยให้เด็กได้คิด โดยไม่แนะนำ”

เพราะเชื่อมั่นว่าการเรียนรู้ด้วยตัวเองของเด็กนักเรียนคือ การฝึกความกล้าคิด กล้าตัดสินใจ และการแก้ปัญหาโดยกระบวนการกลุ่ม ซึ่งการเรียนรู้นี้นักเรียนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ชีวิตจริง ซึ่ง “ครูสกล” บอกว่า ในห้องปฏิบัติการตัวของเขาเองนั้นเป็นแค่ Lab Boy ไม่ใช่ครู

“นักเรียนรอเราสั่งงาน เราสั่งเสร็จแล้วจบเลย ไม่สนใจว่าเขาจะเข้าใจไม่เข้าใจ ผมไม่เคยถาม ไม่อธิบายว่าทำไมต้องทำแบบนี้ เขาไปหาเหตุผลเอาเอง แล้วเขาจะรู้เอง ไม่อย่างนั้นจะไม่รู้จักคิด ต้องปล่อยให้เขาคิดเอง ไม่บอก ไม่ให้ถาม ถ้าใครถามต้องโดนเขกหัว (หัวเราะ) ผมบอกใครถามผมจะเขกหัวแล้วตอบ เพราะบางสิ่งบางอย่างเวลาครูตอบไปแล้ว มันง่ายมาก มันง่ายจนเขาบอกใช่ ไม่น่าถามเลยทำไมถึงคิดไม่ได้”

นี่คือกุญแจสำคัญในกระบวนการสอนการสร้างหุ่นยนต์ที่สอนให้เด็ก “คิดเองได้” ของ “ครูสกล”นอกจากนั้น เด็กยังสามารถค้นหาคำตอบได้จากการถามเพื่อน สังเกตุ หรือค้นคว้าข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่างๆ รวมทั้งข้อเสนอแนะที่มีประโยน์โดยตรงจากครู Lab Boy ที่เขียนไว้ให้ในแบบบันทึกความก้าวหน้า
“ครูสกลสอนให้เรารู้จักเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาได้เองค่ะ ทำงานเป็นกลุ่มแบบช่วยกันคิด สิ่งเหล่านี้ช่วยเราได้ในการแข่งขันและเอาไปใช้ในชีวิตจริงได้” “น้องมิลค์” นางสาวพัชรธัญ สุทธิชาติ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่สามารถคว้าเหรียญทองประเภทหุ่นยนต์อัตโนมัติรุ่นอายุไม่เกิน 15 ปี ในเวทีแข่งขันโอลิมปิกหุ่นยนต์ 2012 ที่ ประเทศมาเลเซียเล่าถึงประโยชน์การสอนแบบให้คิดเองทดลองเองของครูสกล

“เราจะไปยุ่งกับเขาก็ต่อเมื่อมองดูแล้วมันอันตรายมาก มันเสียหายมาก ถ้าไม่เสียหายมากมาย ผมก็ยอม เหมือนปล่อยเด็กวิ่ง ผมรู้ว่าเด็กจะล้มถ้าเจอหลุม แต่ถ้าไม่ถึงกับล้มแข้งขาหัก ผมก็ปล่อยให้ล้ม คราวหลังจะได้รู้ รู้ว่าถ้าเธอวิ่งแบบนี้เธอจะล้ม หรืออย่างคนตกน้ำ การกระเสือกกระสนตะเกียกตะกายทำให้เขามีชีวิตรอด ถ้าเขาตกน้ำอีกจะรู้เขาต้องทำแบบนี้ เพราะคราวก่อนทำแล้วเขารอด เป็นการเอาของจริงให้เห็น เอาประสบการณ์ตรงมาสอน มันจะเป็นความจำที่เป็นความรู้ที่ยั่งยืน เพราะคนเราสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวของตัวเอง” ครูสกล ธรรมวงศ์กล่าวสรุป

สำหรับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี นับเป็นรางวัลระดับนานาชาติเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระปรีชาด้านการศึกษา  โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชานุญาตตั้งนาม“รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติครูผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตลูกศิษย์ สร้างคุณประโยชน์ต่อการศึกษาในประเทศต่างๆ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวม 11 ประเทศ ประเทศละ 1 รางวัล โดยจัดมอบรางวัลในทุก 2 ปี ซึ่งจะพระราชทานรางวัลครั้งแรกในวันที่ 2 ตุลาคม 2558.  

 

แผนปฏิบัติการ แผนปฏิบัติการ | 4. คณะกรรมการคัดเลือกส่วนกลาง | 4.1 การปฐมนิเทศการประชุมเชิงปฏิบัติการ พิจารณากลั่นกรองคัดเลือกครู | 4.2 การประชุมเชิงปฏิบัติการพิจารณา กลั่นกรองคัดเลือกครู 4.3 การคัดเลือกส่วนกลาง