“ทิพย์ภาพร เนตรแก้ว” แม่ครูของเด็กผู้พิการ
ปิดทองหลังพระ มุมานะสร้างคนดีกลับคืนสู่สังคม
ในสภาวการณ์ปัจจุบันของชีวิตของคนปกติ ที่ครบ 32 หรือไม่มีความบกพร่องทางร่างกายใดๆ ยังต้องใช้ความมุมานะ บากบั่น อดทน ต่อสู้ อยากเหนื่อยยากเพื่อที่จะดำเนินชีวิตให้มีความสุข แต่จะเป็นอย่างไร ถ้าเราไม่มีแขนไว้คอยหยิบจับของ ไว้กอดคนที่เรารัก แล้วจะเป็นอย่างไร ถ้าเราไม่มีขาทั้งสองข้างไว้ยืน หรือเดินเหินไปไหนมาไหน
คำถามต่อมาก็คือว่า…หากเราต้องอยู่ในสภาวะพิการช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เราจะต้องใช้พลังกายพลังใจ ความอดทนมากขนาดไหนที่จะใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างปกติโดยพึ่งพาผู้อื่นให้น้อยที่สุด? ซึ่งการที่จะทำให้ผู้พิการสามารถยืนหยัดในสังคมได้อย่างเข้มแข็ง นอกจากต้องได้รับกำลังใจอันเต็มเปี่ยมจากครอบครัวแล้ว ทักษะความรู้และความสามารถต่างๆ ที่ได้รับจากสถานศึกษาที่ดูแลผู้พิการก็เป็นหัวใจสำคัญจะช่วยทำให้พวกเขาเหล่านั้นสามารถนำความรู้ ความสามารถมาช่วยเหลือดูแลตัวเอง และสังคมได้อย่างภาคภูมิใจ
“ครูโป้” หรือ “ทิพย์ภาพร เนตรแก้ว” ครูผู้ดูแลเด็กพิการด้านแขนขาและกล้ามเนื้ออ่อนแรงจาก โรงเรียนศรีสังวาลย์ มูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการ ในพระราชูปถัมภ์ ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ผู้มุ่งมั่นดูแลลูกศิษย์ที่ด้อยโอกาสด้านร่างกาย จนเป็นหนึ่งในผู้ได้รับการเสนอชื่อครูผู้สมควรได้รับพระราชทาน “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” และผ่านการพิจารณาให้ได้รับรางวัลในระดับ “ครูยิ่งคุณ” ประจำปี 2558 ของ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา และกระทรวงศึกษาธิการ
“สมเด็จย่าทรงเป็นครูแห่งชีวิต” ครูโป้เล่าถึงแรงบันดาลใจจนเป็นจุดหักเหของชีวิตในการเป็นครู พร้อมกับเล่าย้อนชีวิตวัยเด็กว่า “ตอนเด็กๆ เป็นคนไม่เอาถ่าน เกเร ไม่ชอบเรียนหนังสือ เรียนจบปวช. ก็ถูกส่งมาฝึกงานที่โรงเรียนศรีสังวาลย์ ก็ทำไปตามหน้าที่แบบไม่มีจุดหมายในชีวิต จนวันหนึ่งได้เข้าไปในห้องสมุดตามลำพัง และได้เห็นพระฉายาลักษณ์ของสมเด็จย่าฯ ที่ทรงกำลังก้มหยิบว่าวหรืออะไรสักอย่างในมือเด็กพิการ ในวินาทีนั้นทำให้เราคิดว่า ขนาดพระองค์มีภาระมากมาย ท่านยังให้ความรักความสนใจดูแลเด็กพิการอย่างดี แล้วทำไมเราถึงจะทำไม่ได้”
วินาทีนั้น “ครูโป้” ตั้งปณิธานไว้อย่างหนักแน่นว่า จะทำตัวให้เป็นประโยชน์ จะตั้งใจทำงาน และจะต้องเป็นครูที่ดีให้ได้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยเหลือพระองค์ท่านไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ตอนนั้นทำให้ตัดสินใจเรียนต่อด้านวิชาชีพครู และสอบชิงทุนเรียนต่อระดับปริญญาโทด้านจิตวิทยาการศึกษาพิเศษ เพื่อนำวิชาความรู้เหล่านั้นมาใช้กับเด็กพิการให้เกิดประโยชน์สูงสุด
“ในการทำงานจะคิดอยู่เสมอว่า จะทำอย่างไรให้คนพิการเหล่านี้ได้ใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างเป็นสุข โดยไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น ไม่เป็นภาระต่อสังคมและประเทศชาติ ดังนั้นการสอนเด็กเหล่านี้ไม่ใช่มุ่งแต่จะให้วิชาความรู้แต่จำเป็นต้องพัฒนาพฤติกรรมและศักยภาพของเขาควบคู่กันไปด้วย”
ในการสอนของครูโป้มีวิธีการประเมินผลเด็กๆ เป็นรายบุคคลตามศักยภาพที่และความแตกต่างของเด็กๆ เพราะแต่ละคนจะมีความผิดปกติที่แตกต่างกัน จึงต้องค้นคว้าหาเทคนิค อุปกรณ์ นวัตกรรมใหม่ๆ มาปรับใช้เพื่อความเหมาะสม และต้องสอนย้ำทวนซ้ำๆ เพื่อให้เด็กจดจำและนำไปปฏิบัติได้
“ลูกศิษย์ทุกคนเป็นครูที่ดีของเรา เป็นแบบฝึกหัดที่ดีที่ทำให้ครูต้องทำการบ้านอย่างหนักก่อนทำการสอน ทำให้เราต้องพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ เราจะได้หาวิธีการถ่ายทอดให้พวกเขาเข้าใจและปฏิบัติได้ง่ายที่สุด”
อย่างลูกศิษย์คนหนึ่งของครูโป้ “ถนิมพัสตร์ วิสารทนันท์” ที่มีความบกพร่องค่อนข้างมาก พูดไม่ชัด มือเท้าเกร็ง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ตัวเด็กเองก็เครียดเพราะสื่อสารกับใครไม่ได้ ครูโป้ก็เลยสอนให้พิมพ์ดีดโดยใช้ด้ามแปรงสีฟันมาพันกับนิ้วด้วยเทปกาว แล้วให้หัดพิมพ์ทีละตัว ทำบ่อยๆ ซ้ำๆ จนผสมเป็นคำ เป็นประโยค เป็นบรรทัด จนเขาสามารถสื่อสารกับคนอื่นและเรียนจบมัธยมด้วยการสื่อสารแบบนี้
“ปัจจุบันถนิมพัสตร์ เรียนจบระดับปริญญาตรี ไปทำอาชีพเป็นครูสอนคอมพิวเตอร์ ให้กับเด็กพิการทางภาคเหนือ ครูภูมิใจมากที่ลูกศิษย์เติบโต ประสบความสำเร็จ และนำความรู้ตามความสามารถไปพัฒนาต่อยอดเพื่อใช้ชีวิตได้อย่างปกติ และเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น”
นอกจากสอนหนังสือแล้ว ครูท่านนี้ก็ยังทำหน้าที่เป็นหมอคอยดูแลฝึกให้เด็กทำกายภาพบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพ และยังเป็นนักจิตวิทยาที่คอยดูแลแก้ไขปัญหาเพื่อปรับพฤติกรรม พร้อมยังจัดทำ “โครงการศรีสังวาลย์สร้างคนดีสู่สังคม” ออกแบบพัฒนากิจกรรมเสริมเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเด็กๆ อาทิ นิทานสนามหญ้า ที่เปิดโอกาสให้เด็กได้ฝึกพูด กล้าแสดงออกต่อที่สาธารณะ ธนาคารโรงเรียน ฝึกให้เด็กออมเงิน ตลาดนัดอาชีพ ฝึกค้าขายไม่อายทำกินอย่างซื่อสัตย์สุจริตด้วยลำแข้งตัวเอง รวมไปถึง โครงการธนาคารจิตประภัสสร ฝึกให้เด็กรู้จักแบ่งปัน โดยการนำของเหลือใช้ หรือที่ได้รับบริจาคมาไปมอบให้กับนักเรียนที่ด้อยโอกาส ที่ทำให้เด็กๆ ได้รู้ว่ายังมีคนที่ลำบากกว่าตนเองอีกมากมายที่ต้องการการช่วยเหลือ
ปัจจุบันลูกศิษย์ของครูโป้หลายรุ่นเติบโตไปใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข หลายคนประสบความสำเร็จเป็นนักวิชาการในมหาวิทยาลัย เป็นโปรแกรมเมอร์ เป็นนักออกแบบ เป็นครู ไปจนถึงเป็นนักกีฬาระดับชาติอย่าง “สายชล คนเจน” นักกีฬาวีลแชร์เรซซิ่งทีมชาติไทย เล่าว่า ครูพาเราไปซ้อม ไปแข่งขัน ให้กำลังใจ และบอกเสมอว่า คนพิการอย่างพวกเราต้องมานะ อดทน ท้อได้แต่อย่าถอยไ
“แต่พอเรียนจบ ผมทิ้งการเล่นกีฬาและประสบปัญหาชีวิตหลายอย่างอดมื้อกินมื้อไม่มีงานทำ ไม่กล้าเข้าสังคม จนครูมาเจอผมขายลอตเตอรี่ และชวนผมกลับมาสู่วงการกีฬาอีกครั้ง และกำชับว่า ห้ามเลิกเล่นกีฬาโดยเด็ดขาด ตอนนี้ผมจบเรียนปริญญาตรี มีงานทำที่มั่นคง มีครอบครัว และที่สำคัญผมเป็นนักกีฬาวีลแชร์เรซซิ่งทีมชาติ และอยู่ในอันดับ 1 ของโลก ถ้าไม่มีครูโป้วันนี้ผมคงเป็นแค่ขอทานไปแล้ว”
ทุกความสำเร็จที่ลูกศิษย์ได้เติบโตไปในทางที่ดีจะเป็นพลังที่ทำให้ครูโป้มีแรงกายแรงใจที่จะผลักดันคนรุ่นใหม่ให้ก้าวเดินตามรอยรุ่นพี่ต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ ยิ่งเห็นลูกศิษย์รุ่นแล้วรุ่นเล่ามีความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น มีชีวิตที่คุณค่า ไม่เป็นภาระครอบครัวและสังคม จะยิ่งเพิ่มความภูมิใจให้ครูมากยิ่งขึ้น
ครูโป้ยังได้อธิบายแนวคิดหรือหัวใจของการทำงานกับผู้พิการจากประสบการณ์ 28 ปีในการบูรณาการองค์ความรู้ทุกด้านเพื่อช่วยเหลือลูกศิษย์ทุกคนอย่างต่อเนื่องว่า “สิ่งสำคัญคือ เราต้องสร้างให้พวกเขาเข้มแข็ง คิดดี มีจิตใจดี ภูมิใจในตัวเอง เพราะความพิการของเด็กๆ นั้นเกิดอยู่ที่ร่างกาย แต่ใจของพวกเขาไม่ได้พิการไปด้วย เด็กทุกคนมีความสามารถในตัวอยู่แล้ว เพียงแค่เปิดโอกาสให้เขา ซึ่งเขาก็รู้ว่า กว่าที่จะถึงวันนั้นได้ เขาจะต้องใช้ความพยายามมากกว่าคนปกติหลายร้อยเท่า และถ้าเขาทำได้พวกเขาจะสามารถมีความสุขและประสบความสำเร็จได้เหมือนกับคนทั่วๆ ไป”
“บางคนบอกครูโป้ทำงานปิดทองหลังพระ ซึ่งครูคิดเสมอว่า ถ้าไม่มีใครช่วยปิดทองหลังพระแล้ว พระจะสวยสมบูรณ์ได้อย่างไร และจะตั้งใจปิดทองหลังพระไปแบบนี้จนกว่าชีวิตจะหาไม่ เพราะค้นพบแล้วว่า การที่ได้มีโอกาสดูแลทำให้เหล่านนี้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นี่คือความสุขอย่างแท้จริง” ครูทิพย์ภาพร กล่าวทิ้งท้าย
รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี นับเป็นรางวัลระดับนานาชาติเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระปรีชาด้านการศึกษา โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชานุญาตตั้งนาม“รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติครูผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตลูกศิษย์ สร้างคุณประโยชน์ต่อการศึกษาในประเทศต่างๆภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวม 11 ประเทศ ประเทศละ 1 รางวัล โดยจัดมอบรางวัลในทุก 2 ปี ซึ่งจะพระราชทานรางวัลครั้งแรกในวันที่ 2 ตุลาคม 2558.
แผนปฏิบัติการ | 4. คณะกรรมการคัดเลือกส่วนกลาง | 4.1 การปฐมนิเทศการประชุมเชิงปฏิบัติการ พิจารณากลั่นกรองคัดเลือกครู | 4.2 การประชุมเชิงปฏิบัติการพิจารณา กลั่นกรองคัดเลือกครู | 4.3 การคัดเลือกส่วนกลาง