“สมหมาย สำราญบำรุง” ครูผู้สอนชีวิตด้วย “เพศศึกษา”
เปิดพื้นที่สร้างเครือข่ายเฝ้าระวังป้องกัน “โรคเพศสัมพันธ์”

20150907-5_pmca007

สมหมาย สำราญบำรุง

“สอนวิชาสุขศึกษาอยู่ มีเด็กนักเรียนคนหนึ่งป่วยเป็นโรคเอดส์ เราไม่มีความรู้ หลังจากนั้นเขาก็เสียชีวิต เกิดความเสียใจมาก ไม่รู้จะช่วยเด็กอย่างไร จึงไปเข้ารับการอบรมเกี่ยวกับเรื่องของครูผู้จัดกระบวนการเรียนรู้เพศศึกษารอบด้าน ได้ความรู้มา จึงเป็นแรงบันดาลใจที่อยากจะนำความรู้ด้านเพศศึกษาเข้ามาสอนเด็กๆ นักเรียน”

คำบอกเล่าถึงความเศร้าสะเทือนใจที่สูญเสียลูกศิษย์ ที่ก่อให้เกิดความมุ่งมั่นสนใจเรื่อง “เพศศึกษา” เพื่อที่จะช่วยทำให้เด็กๆ พ้นจากปัญหา จนกระทั่งประสบความสำเร็จของ “นายสมหมาย สำราญบำรุง” หรือ “ครูสมหมาย” ของเด็กๆ แห่ง โรงเรียนพิบูลย์รักษ์วิทยา อำเภอพิบูลย์รักษ์ จังหวัดอุดรธานี ผู้ได้รับการเสนอชื่อครูผู้สมควรได้รับพระราชทาน “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” และผ่านการพิจารณาให้ได้รับรางวัลในระดับ “ครูยิ่งคุณ” ประจำปี 2558 ของ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา และ กระทรวงศึกษาธิการ

“สอนเพศศึกษาไม่ได้สอนเพศสัมพันธ์” ครูสมหมายพูดติดตลกระหว่างเล่าถึงความไม่เข้าใจของทั้งบรรดาครูและผู้ปกครองในระยะแรกของการเริ่มเผยแพร่ความรู้ แต่จากจุดเริ่มต้นของการเริ่มสอนในวิชาสุขศึกษามาถึงการตั้งชมรม จนเปิดเป็นวิชาเพิ่มเติมในหลักสูตร กว่าจะฝ่าฟันผ่านพ้นความไม่เข้าใจของทั้งเพื่อนครูและผู้ปกครองมาได้ ครูสมหมายถึงกับต้องเปิดจัดอบรมทั้งครูและผู้ปกครองโดยเชิญแพทย์มาเป็นวิทยากร
“พวกเขาบอก มันเป็นอย่างนี้เอง นึกว่าเป็นเพศสัมพันธ์ ที่จริงเพศศึกษามีหลายมิติ เขาเลยเข้าใจ ทีนี้ภาพลบมันไม่มีแล้ว ก็เรียกว่าเป็นการจัดการแรงต้าน จัดความเข้าใจ ผู้บริหารมาใหม่ก็สร้างความเข้าใจ คุณครูย้ายมาใหม่ก็สร้างความเข้าใจ” ครูสมหมายเล่า

ความสำเร็จของ “ครูสมหมาย” มิได้อยู่แต่เพียงในชั้นเรียนเท่านั้น เนื่องจากตัวอำเภอพิบูลย์รักษ์และพื้นที่ใกล้เคียงมีผู้ป่วยเอดส์จำนวนมากและส่วนใหญ่เป็นเด็กวัยรุ่น กิจกรรมให้ความรู้ทางด้านเพศศึกษาของชมรมในโรงเรียนพิบูลย์รักษ์ในนาม “ชมรมเห็ดขอนขาว” ที่ประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยม จึงเริ่มก้าวออกนอกรั้วโรงเรียนไปให้ความรู้สู่ชุมชนในวงกว้าง

โดยนำเอากระบวนการเรียนรู้ที่วางลำดับขั้นไว้อย่างดี ไปจัดการเรียนรู้ให้ทั้งเด็กในโรงเรียนและผู้ใหญ่ในสังคม โดยใช้ “หมอลำ” ศิลปะพื้นบ้านที่ร้องเป็นภาษาถิ่นเป็นตัวนำเข้าสู่ความสนใจ และกิจกรรมกลุ่มนำเข้าสู่การรับรู้เนื้อหา จนชื่อของครูสมหมายและกลุ่มเห็ดขอนขาวเป็นที่รู้จักในวงกว้าง จนกระทั่งกลุ่มเห็ดขอนขาวซึ่งเป็นแค่เด็กนักเรียนมัธยมสามารถเป็นแกนนำเยาวชนในการสร้างทีมกระบวนกรให้ความรู้ทางด้านเพศศึกษาให้กับโรงเรียนอื่นๆ และเยาวชนในชุมชนต่างๆ ได้

“สิ่งที่ทำเป็นการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์เชิงบวกให้กับสังคม เริ่มจากความรู้ด้านเพศศึกษา จากกลุ่มแก๊งกินเหล้า แก๊งซิ่ง ฯลฯ กลับกลายมาปรับเปลี่ยนเป็นช่วยชุมชน จากกลุ่มต่างๆ ที่เจอกันที่ไหนตีกัน ยิงกัน เมื่อมาอบรม สุดท้ายหันจับมือกัน เป็นพวกนักเลงกลับใจ บอกกับเราว่า ขอบคุณอาจารย์สมหมายกับเห็ดขอนขาวที่ทำให้เขารู้คุณค่าตัวเอง กลับเข้ามาสู่ชุมชน เด็กไม่ได้เรียนก็เข้าไปเรียนหมดแล้วตอนนี้” ครูสมหมายเล่าถึงความสำเร็จของกลุ่มเห็ดขอนขาวในการขยายฐานความรู้สู่ชุมชนในแนวกว้าง

นอกจากการสอนปกติ “ครูสมหมาย” ในฐานะผู้เชี่ยวชาญยังเป็นทั้งวิทยากรและร่วมงานในคณะกรรมการหลายระดับของจังหวัดและภาคทั้งทางด้านการศึกษาและสาธารณสุข เช่นเดียวกันกับนักเรียนในชมรมเห็ดขอนขาว ซึ่งต้องเสียสละออกไปเป็นอาสาสมัครทำงานบริการชุมชน ซึ่งต่างก็ทำหน้าที่ด้วยใจรัก โดยเฉพาะเด็กในชมรมต่างรู้สึกสนุกสนานและรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าในชีวิต และสามารถรับผิดชอบต่อการทำงานด้านต่างๆ มากขึ้นโดยเฉพาะการแบ่งเวลาทำกิจกรรมโดยไม่เสียการเรียน

“นายวสันต์ ศิลาแดง” นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ประธานชมรมเห็ดขอนขาว เล่าว่า ทำงานกับชมรมมาสามปีแล้ว เป็นงานที่รักมาก ช่วยเพิ่มความรู้และประสบการณ์ได้อย่างมากมาย และยังช่วยให้การเรียนดีขึ้นด้วย “แต่ก่อนเป็นคนขี้เกียจ พอมาอยู่ชมรมนี้ก็ต้องมีความขยันเพิ่มขึ้นเป็นคูณสอง และช่วยเพิ่มประสบการณ์ได้ทำอะไรหลายอย่าง ได้ปรับเปลี่ยนนิสัยตัวเอง และจากที่ผมเรียนไม่เก่งเดี๋ยวนี้ก็ดีขึ้น”

โดย “ครูสมหมาย” กล่าวถึงความยั่งยืนของการเรียนการสอนเพศศึกษาในโรงเรียนว่า ขึ้นอยู่กับทั้งตัวครู ผู้บริหาร และนโยบาย สามสิ่งต้องประสานกัน  ปัจจัยความสำเร็จของครูสมหมายเกิดจากโรงเรียนพิบูลย์รักษ์เห็นความสำคัญโดยยกระดับเป็นนโยบายและพันธกิจ และผู้บริหารทุกท่านก็ให้ความสำคัญ
“การใช้บุคลากรที่มีคุณภาพอย่างคุณครูสมหมายนั้น เราแบ่งคาบการสอนโดยการจัดชั่วโมงสอนในวันจันทร์-อังคาร-พุธ ให้สอนและก็ดูแลนักเรียนในโรงเรียนเต็มที่ ส่วนวันพฤหัสและวันศุกร์นั้น เราแบ่งปันเวลาให้ครูสมหมายไปทำกิจกรรมสาธารณะเพื่อบริการสังคม ให้กับทางโรงพยาบาลต่างๆ ทางสาธารณสุข หรือผู้ที่จะมาขอความอนุเคราะห์ ซึ่งได้ทั้งประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมกับโรงเรียนและสังคม” นายประสุข ศรีจันทร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนพิบูลย์รักษ์กล่าว

ถึงแม้จะมีภารกิจเพื่อสังคมให้ความรู้ทางด้านเพศศึกษามากมาย เป็นคณะทำงานด้านเพศศึกษาให้กับหน่วยงานต่างๆ ของรัฐในระดับท้องถิ่นและจังหวัด รวมไปถึงงานนำความรู้สู่ชุมชนและท้องถิ่นโดยการสร้างทีมวิทยากรกระบวนการเยาวชน แต่ “ครูสมหมาย” ก็ไม่ได้ละทิ้งหน้าที่ของการเป็น “ครู” และหน้าที่ “การสอน”

โดยได้พัฒนารูปแบบการสอนตามปกติให้เป็นการกระบวน การจัดการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ (Experiential Learning) ด้วยการตั้งคำถามปลายเปิด ให้นักเรียนมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันจากการตอบคำถาม ซึ่งพัฒนาไปสู่การสร้างทักษะการคิดและค้นคว้าหาคำตอบด้วยตนเอง ด้วยการมีส่วนร่วมในกระบวนการกลุ่ม ที่สามารถนำไปสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ในทุกสภาวะ

การเปลี่ยนแนวการสอนแบบครูเป็นศูนย์กลางป้อนความรู้ มาเป็นจัดกระบวนการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ของ “ครูสมหมาย” ได้ผลสำเร็จอย่างดียิ่ง ดูได้จากเด็กๆ ในชมรมเห็ดขอนขาวที่สามารถคิดวิเคราะห์และสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในกลุ่ม จนสามารถคิดและจัดกิจกรรมได้โดยครูทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับเด็กๆ เท่านั้น

และจากประสบการณ์ทำงานทางด้านเพศศึกษามายาวนานและต่อเนื่อง “ครูสมหมาย” ฝากถึงเพื่อนครู เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและผู้เกี่ยวข้องที่ทำงานให้ความรู้ทางด้านเพศศึกษาว่า…

“การทำงานเกี่ยวกับเพศศึกษา เป็นเรื่องของการปรับเปลี่ยนทัศนคติ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางเพศของเยาวชน บางครั้งหลายท่านอาจจะมองเห็นว่ามันยาก แต่ความจริงแล้วถ้าเรามีใจที่จะทำงานต่อไป แล้วก็มีความมุ่งมั่นจะทำ ไม่ว่าจะเป็น คุณครู หรือคณะทำงานต่างๆ ทุกคนสามารถที่จะทำได้ ขอให้มีใจและมีความอดทน เพราะว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและปรับเปลี่ยนทัศนคติต้องอาศัยเวลา และความรู้ที่จะสร้างความเข้าใจ” ครูสมหมายกล่าวสรุป

สำหรับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี นับเป็นรางวัลระดับนานาชาติเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระปรีชาด้านการศึกษา  โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชานุญาตตั้งนาม“รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติครูผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตลูกศิษย์ สร้างคุณประโยชน์ต่อการศึกษาในประเทศต่างๆ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวม 11 ประเทศ ประเทศละ 1 รางวัล โดยจัดมอบรางวัลในทุก 2 ปี ซึ่งจะพระราชทานรางวัลครั้งแรกในวันที่ 2 ตุลาคม 2558.  

แผนปฏิบัติการ แผนปฏิบัติการ | 4. คณะกรรมการคัดเลือกส่วนกลาง | 4.1 การปฐมนิเทศการประชุมเชิงปฏิบัติการ พิจารณากลั่นกรองคัดเลือกครู | 4.2 การประชุมเชิงปฏิบัติการพิจารณา กลั่นกรองคัดเลือกครู 4.3 การคัดเลือกส่วนกลาง