“วิบูลย์ เข็มเฉลิม” ครูธรรมชาติผู้ปลูกต้นไม้ในใจคน
นำเกษตรกรไทยหลุดพ้นความยากจนด้วย “วนเกษตร”
ความสำเร็จของคนๆหนึ่ง อาจวัดด้วยตัวเลขในบัญชีที่ขยับตัวสูงขึ้น หรือวัดจากสมบัติสะสมมูลค่ามากมายมหาศาล แต่ความสำเร็จของ “ผู้ใหญ่บุ๊น” วิบูลย์ เข็มเฉลิม อดีตผู้ใหญ่บ้านห้วยหิน ต.ลาดกระทิง อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ผู้เป็นต้นแบบความคิดด้านการพึ่งพาตนเองนั้นอยู่ที่การได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ในการพึ่งพาตัวเองโดยใช้วิถีเกษตรอันเป็นรากเหง้าของคนไทยมาเป็นหนทางนำพาชีวิตเกษตรกรไทยนับหมื่นนับแสนคนให้หลุดพ้นความยากจนสู่การมีอยู่มีกินแบบยั่งยืน
ย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีก่อน ผู้ใหญ่วิบูลย์ต้องมีหนี้ล้นพ้นตัว เพราะมุ่งมั่นทำเกษตรเชิงธุรกิจที่ใช้การลงทุน การจ้างงาน และใช้ปุ๋ยเคมีเร่งผลผลิต ปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่างมันสำปะหลังเพื่อหวังร่ำรวย แต่ผลที่ได้กลับตรงกันข้าม คิดว่าจะรวยกลับล้มละลาย ที่ดินทำกินที่เคยมีกว่า 300 ไร่ ต้องขายใช้หนี้จนเหลือแค่ 10 ไร่เท่านั้น
เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ผู้ใหญ่วิบูลย์เปลี่ยนแนวคิด หันมายึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้ชีวิตแบบเกษตรพึ่งพาตัวเองบนพื้นฐานของความรู้ความเข้าใจทรัพยากรรอบตัว ใช้สิ่งรอบข้างเป็นครูและนำความรู้จากพ่อที่เคยเป็นหมอพื้นบ้านมาปรับใช้ นำเรื่องการทำบัญชีครัวเรือนมาใช้ จนทำให้มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น
“ปัญหาที่เกิดนั้นทำให้เราได้กลับคิดวิเคราะห์ทบทวนตัวเอง ทำให้เห็นว่า เกษตรกรทุกวันนี้เมื่อมีผลผลิตเท่าไรก็จะเอาไปขายทั้งหมด แล้วค่อยเอาเงินไปซื้อกิน ชีวิตเกษตรกรถึงอยู่ไม่ได้ แต่ถ้าเราจะทำแค่อยู่ ไม่เอาเรื่องเงินเลย เราก็อยู่ไม่ได้เช่นกัน ชีวิตมันจึงเหมือนกับถูกแขวนไว้บนสายพานเครื่องจักรโรงงานอุตสาหกรรม จนเราไม่สามารถเลือกเส้นทางชีวิตของเราได้”
“จากสิ่งที่ได้เจอมา ทำให้ผมได้ข้อสรุปว่า ถ้าผมยังไม่ออกนอกสายพาน ผมก็จะไม่สามารถปลดเปลื้องหนี้สินหรือมีชีวิตที่ดีได้ ผมจึงต้องเปลี่ยนจากเกษตรธุรกิจมาเป็นแบบการพึ่งตนเองทำเพื่อกินอยู่ในครอบครัวก่อน หากมีเหลือแล้วค่อยขาย ชีวิตเราจะเป็นอิสระจากระบบการตลาดและอิทธิพลของเงิน วิธีการนี้ทำให้ชีวิตดีขึ้น ร่างกายแข็งแรงมากขึ้น มีกิน มีใช้มากขึ้น ทำให้เห็นว่า ถ้าคนเราเปลี่ยนวิธีคิดได้ ชีวิตของเราก็จะเปลี่ยน”
แม้เกษตรแบบพึ่งพาตัวเองจะเป็นทิศทางในการดำเนินชีวิตที่ดี แต่จะดีไปกว่า ถ้าจะทำให้วิถีเหล่านี้จะสามารถอยู่ในชีวิตได้แม้อายุอานามจะมากขึ้น ผู้ใหญ่จึงคิดหาที่วิธีทำงานให้น้อยลงขณะเดียวกับที่ยังมีกินมีใช้ได้เหมือนเดิม และจึงพบว่า “วนเกษตร” คือ วิถีที่ยั่งยืน
“วนเกษตร” เป็นการนำระบบการอาศัยหลักการเกื้อกูลกันของป่าธรรมชาติที่มีพืชต่างกัน 7 ระดับมาใช้เป็นแนวทางการปลูกพืช โดยให้ความสำคัญกับการปลูกไม้ยืนต้น ไม้ผล และไม้ใช้สอยเป็นองค์ประกอบหลัก ผสมผสานกับพืชขนาดเล็กที่ลดหลั่นกันลงมา รวมถึงพืชคุลมดิน พืชใต้ดิน และในน้ำด้วย ซึ่งสามารถใช้ดินน้ำอากาศและปุ๋ยร่วมกัน กลายองค์ประกอบที่สมบูรณ์ สร้างวงจรชีวิตทางธรรมชาติแบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน
“วิธีนี้ทำให้เรามีกิน จากต้นไม้ที่ปลูกเพียงครั้งเดียวแต่มีกินตลอดเช่น ไม้ผลหรือผักพื้นบ้านที่แตกยอดใหม่ให้กินได้เรื่อยๆ ปลูกที่ชอบกินเป็นหลัก มีพืชผักสวนครัวอยู่รอบบ้าน มีนาปลูกข้าวไว้สำหรับกิน มีสมุนไพรเพื่อเป็นอาหารเป็นยา เรามีใช้จากไม้ที่เราปลูกเพื่อการใช้สอยทำประโยชน์โดยไม่ต้องไปตัดไม้ในป่า และเรายังมีหลักประกัน จากไม้ใหญ่ที่ปลูกเราไว้เป็นทุนสะสมไว้ใช้ยามฉุกเฉินหรือเมื่ออายุมากขึ้นจนทำงานไม่ไหว”
ผลจากการสรุปบทเรียนของชีวิต ทำให้ผู้ใหญ่วิบูลย์ตั้งใจจะส่งผ่านความรู้ในการดำรงชีวิตให้อยู่ได้อย่างมีความสุขอย่างพอเพียงให้กับผู้คนที่สนใจ โดยไม่ยึดรูปแบบหรือกรอบการเรียนรู้เน้นในเรื่องการจัดสมดุลของชีวิตตามรูปแบบที่เหมาะสมกับตนเอง รู้จักการวางแผนแก้ปัญหา สร้างแนวทางชีวิต จัดการทรัพยากรที่มีอยู่ และควรทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย เพื่อตัดรายจ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็น
ในบริเวณบ้านของผู้ใหญ่ นอกจากจะมีพันธุ์ไม้ต่างๆ แล้ว ยังมีบ้านไทย 100 ปี ที่ใช้เก็บและแสดงเครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้าน วัตถุโบราณ และยังปรับเป็นพื้นที่ค่ายเยาวชนเพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ถึงภูมิปัญญาและเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ
นอกจากนั้นยังสร้าง “เครือข่ายวนเกษตร” โดยการเปิดพื้นที่ให้สมาชิกได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องการทำวนเกษตร การคัดลอกตำรายาและทดลองทำ รวมทั้งการสนับสนุนให้สมาชิกได้รู้จักแปรรูปผลผลิตของตัวเองเป็นอาหาร ยาสมุนไพร และของใช้ที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น สบู่ แชมพู เมื่อเหลือใช้ก็สามารถนำไปจำหน่ายได้ ทั้งร้านค้าทั่วไป ตามงานแสดงสินค้าต่างๆ หรือหน้าบ้านผู้ใหญ่ที่เปิดพื้นที่ทุกวันเสาร์-อาทิตย์เพื่อเป็นร้านค้าและเป็นที่พบปะพูดคุย โดยผู้ใหญ่วิบูลย์จะคอยให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด
“ผมพบว่าสิ่งที่ชาวบ้านขาดคือ การเรียนรู้ ดังนั้นผมจึงหาวิธีที่จะทำอย่างไรให้คนรู้จักพึ่งตัวเอง จึงนำประสบการณ์ที่ทำมาถ่ายทอดให้พวกเขา ผมไม่มีหลักสูตรแต่จะต่อยอดจากความรู้เดิมกระตุ้นให้เกิดความคิดที่สามารถนำไปวางแผนชีวิตในรูปแบบใหม่ ๆ มันจึงเป็นการศึกษาตลอดชีวิต เป็นการเรียนรู้ที่ไม่มีวันสิ้นสุด”
ผู้ใหญ่วิบูลย์ยังขวนขวายหาความรู้อย่างไม่หยุดนิ่ง มีการศึกษา ดูงาน แลกเปลี่ยนความรู้กับบุคลากร หน่วยงานต่างๆ อยู่เสมอ และนำความรู้ที่ได้รับไปเผยแพร่ผ่านการบรรยาย สัมมนา ในเวทีต่างๆ ทั้งชุมชน ท้องถิ่น ระดับประเทศและนานาชาติ จนได้รับการยกย่องให้เป็น “ครูธรรมชาติ” เป็น “ปราชญ์ชาวบ้าน” ที่ สามารถสร้างให้คนคิดเป็น ทำดี พูดดี มีหลักประกันที่มั่นคงยั่งยืนบนวิถีแห่งการเกษตร
นายสมชาย จันทราภิรมย์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอสนามชัยเขต กล่าวถึง ผู้ใหญ่วิบูลย์ว่า “ทำเล่นๆ แต่เอาจริงๆ” “ผลในการลงมือทำนั้นแสดงให้เห็นว่า ผู้ใหญ่เป็นเกษตรกรนักคิด เป็นผู้เปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนวิถีชีวิต และสามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้จริง”
นายโชคดี ปรโลกานนท์ เจ้าของ “สวนลุงโชค” แห่ง อ.วังน้ำเขียว และเป็นแกนนำในการฟื้นฟูป่าเขาแผงม้า กล่าวว่า “ผมเคยเป็นเกษตรกรธุรกิจที่มุ่งหวังกำไร ใช้แต่การลงทุนเครื่องทุ่นแรง เครื่องจักรในการทำงาน จนทำให้ขาดทุน จนเมื่อมีโอกาสได้เข้ามาอบรมดูงานด้านวนเกษตรกับผู้ใหญ่ทำให้ผมสามารถพลิกฟื้นชีวิตขึ้นมาได้ ผมจึงนำแนวคิดของผู้ใหญ่มาเผยแพร่ต่อโดยการจัดตั้งเป็นเครือข่ายศูนย์การเรียนรู้ เพื่อสร้างจิตสำนึกให้ชาวบ้านและเยาวชนด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอีกด้วย”
น.ส.ฉวีวรรณ พิมพัฒน์ สมาชิกชมรมเด็กรักป่าตะวันออก ปัจจุบันรับหน้าที่เลขานุการมูลนิธิวนเกษตรเพื่อสังคม กล่าวว่า “ลุงผู้ใหญ่เป็นแรงบันดาลใจในการทำงานเพื่อชุมชนและสังคม เป็นแบบอย่างในการใช้ชีวิตที่เรียบง่ายบนพื้นฐานของความพอเพียง ที่พวกเราสามารถนำความรู้และแนวคิดที่ได้จากลุงผู้ใหญ่ไปปรับสมดุลของชีวิตได้อย่างมีความสุข และนำมาจัดเป็นกิจกรรมร่วมให้กับทั้งคนไทยและชาวต่างชาติได้”
จากความมุ่งมั่นทำงานหน้าที่ครูผู้สอนชีวิตด้วยหลักธรรมชาติมาตลอดทั้งชีวิต ทำให้ผู้ใหญ่วิบูลย์ได้รับยอมรับอย่างกว้างขวางจากทั้งในและต่างประเทศ ทำให้เป็นหนึ่งในผู้ได้รับการเสนอชื่อครูผู้สมควรได้รับพระราชทาน “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” และผ่านการพิจารณาให้ได้รับรางวัลในระดับ “ครูยิ่งคุณ” ประจำปี 2558 ของ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา และ กระทรวงศึกษาธิการ
ผู้ใหญ่วิบูลย์ยังได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า ตนเองเชื่อมั่นและให้ความสำคัญกับแนวทางการศึกษาที่มีกระบวนการเรียนรู้สอดคล้องกับวิถีชีวิต วัฒนธรรมและความเป็นอยู่ของคนในชาติโดยมีหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทาง ซึ่งเป็นหนทางที่จะทำให้สังคมและเกษตรกรไทยเกิดความสุขอย่างยั่งยืน
“การได้รับเสนอชื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลนี้ นับเป็นรางวัลอันทรงคุณค่า ที่ส่งเสริมขวัญและกำลังใจที่จะทำให้ผมและครอบครัวปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี และจะมุ่งมั่นถ่ายทอดความรู้ให้คนสามารถนำไปเป็นแนวทางจัดการตัวเองได้อย่างเหมาะสม สามารถพึ่งพาตัวเองและพัฒนาชุมชนรอบข้างได้อย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรมต่อไป”
รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี นับเป็นรางวัลระดับนานาชาติเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระปรีชาด้านการศึกษา โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชานุญาตตั้งนาม“รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติครูผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตลูกศิษย์ สร้างคุณประโยชน์ต่อการศึกษาในประเทศต่างๆภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวม 11 ประเทศ ประเทศละ 1 รางวัล โดยจัดมอบรางวัลในทุก 2 ปี ซึ่งจะพระราชทานรางวัลครั้งแรกในวันที่ 2 ตุลาคม 2558.
แผนปฏิบัติการ | 4. คณะกรรมการคัดเลือกส่วนกลาง | 4.1 การปฐมนิเทศการประชุมเชิงปฏิบัติการ พิจารณากลั่นกรองคัดเลือกครู | 4.2 การประชุมเชิงปฏิบัติการพิจารณา กลั่นกรองคัดเลือกครู | 4.3 การคัดเลือกส่วนกลาง