“สะเทื้อน นาคเมือง” ครูผู้ใช้ “ลิเก” สร้างโอกาสการศึกษา
ต่อยอดการเรียนรู้ “ร้อง-รำ-เล่น” พัฒนา “คนดี-คิดดี-ทำดี”

สะเทื้อน นาคเมือง

สะเทื้อน นาคเมือง

“ลิเกเป็นเพียงสิ่งที่ดึงคนมาอยู่ด้วยกัน แต่สิ่งที่ผมสอนจริงๆ คือการสอนการดำเนินชีวิต การอยู่ในสังคม”  

เป็นความสรุปที่ “สะเทื้อน นาคเมือง” หรือที่ใครๆ เรียกกันว่า “ครูเผ” ครูสอนศิลปะการแสดงพื้นบ้านที่ทุ่มเทชีวิตให้แก่เด็กด้อยโอกาสได้มีโอกาสที่จะมีข้าวกินอิ่ม มีที่อยู่ มีรายได้ และมีโอกาสทางการศึกษา แห่งอำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับพระราชทาน “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” โดยผ่านการพิจารณาให้ได้รับรางวัลในระดับ “ครูยิ่งคุณ” ประจำปี 2558 ของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา และกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในชีวิตลูกศิษย์ สร้างคุณประโยชน์ต่อการศึกษา

จากเรื่องราวของชีวิตจริงในหนหลังที่แสนรัดทดของเด็กกำพร้าขาดพ่อ เด็กชายสะเทื้อน ที่เรียกได้เต็มปากเต็มคำว่าเป็น “เด็กด้อยโอกาส” ขาดแคลนทุกด้านรวมทั้งความอบอุ่นจากครอบครัว แต่ได้โอกาสจากครูแนะแนวโรงเรียนมัธยมให้เข้าไปอยู่ด้วยในบ้านทั้งส่งเสียเลี้ยงดูจึงเป็นประกายชีวิตและแบบอย่างให้เด็กชายสะเทื้อนมุ่งเป้าชีวิตไปเป็นครู เพื่อให้โอกาสแก่เด็กตามแบบอย่างที่ตนเองได้รับมา

แต่เมื่อโชคชะตาพลิกผันไม่อาจเป็นครูได้ดังหวัง ก็พลิกผันชีวิตมาเล่นลิเกเป็นสัมมาชีพตามแบบอย่างแม่ ที่ใช้หารายได้ส่งตนเองเรียนจบอนุปริญญา และระหว่างการตระเวนเล่นลิเกนั้นเอง จิตวิญญาณแห่งความเป็นครูก็สว่างขึ้นในใจ สะเทื้อน ตลกลิเก ได้ชักชวนเด็กที่ขาดโอกาสทางการศึกษาให้เข้ามาหัดลิเก ด้วยเห็นเป็นหนทางแห่งรายได้แก่เด็กด้อยโอกาสเหล่านั้น

หลังจากนั้นชื่อ “ครูเผ” ก็เกิดขึ้นในฐานะผู้สอนศิลปะการแสดงพื้นบ้านให้แก่เด็กด้อยโอกาส และจากการเริ่มต้นอย่างเลือนรางก็ชัดเจนมาขึ้นเมื่อครูเผได้เป็น “เจ้าโผ” หรือหัวหน้าคณะลิเก “คลองขลุงบำรุงศิลป์” และมาปักหลักตั้งฐานอยู่ที่อำเภอคลองขลุง เปิดบ้านรับเด็กเข้ามากินอยู่ หัดลิเกไปพร้อมๆ กับเรียนรู้การใช้ชีวิต เป็นการดึงเด็กที่ด้อยโอกาส มีปัญหาทางกายภาพ หรือประสบปัญหาชีวิต ให้เข้ามาอยู่ในสายตาพร้อมทั้งหยิบยื่นโอกาสให้แก่เด็กเหล่านั้นเหมือนกับที่ตนเองเคยได้รับมา

“จากความด้อยโอกาสที่เคยเป็นเด็กกำพร้ามาก่อนจึงอยากจะช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ จากเด็กด้อยมาเป็นเด็กได้ และจากเด็กได้ เป็นเด็กที่รู้จักให้ สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ครูต้องการให้เด็กได้ และเด็กก็ได้จริงๆ  นั่นคือ จากเด็กที่ไม่เคยคิดอะไรได้ทำอะไรได้ กลายมาเป็นเด็กที่กล้าคิดกล้าทำ กล้าแสดงออกและกล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง ต่อหน้าชุมชนหรือต่อหน้าบุคคลหลายๆ คน เขาก็อาจเป็นผู้นำในวันข้างหน้าได้”

ครูเผตอบคำถามของเหตุผลในการทำงานกับเด็กมาตลอดชีวิต โดยที่เด็กเหล่านี้ก็เสมือนคนในครอบครัวของครูเป็นเสมือนบทวิเคราะห์ตนเองได้เด่นชัดว่า “ปัจจัยแห่งความสำเร็จของครูเผก็คือ การให้โอกาสแก่เด็กทั้งทางตรงและทางอ้อม” โดยให้โอกาสทั้งรายได้ ที่อยู่ที่กิน ที่สำคัญคือโอกาสทางการศึกษา รวมถึงสอนแนวทางการดำเนินชีวิต มิใช่สอนเพียงแต่จะให้ร้องรำเล่นลิเกเพื่อเป็นอาชีพเท่านั้น

ในการใช้ชีวิตอยู่แบบครอบครัว ครูเผได้นำกระบวนการเรียนการสอนแบบพี่สอนน้องเข้ามาใช้ในการสอนศิลปะการแสดง ช่วยให้เกิดการถ่ายทอดความรู้และความผูกพันกันจากรุ่นสู่รุ่นของผู้ที่เข้ามาร่วมใช้ชีวิตด้วยกันในนามคณะลิเก และนอกจากนั้นยังสอดแทรกความรู้ต่างๆ ทางประเพณีวัฒนธรรมและการใช้ชีวิตในสังคมไปด้วยอย่างเป็นธรรมชาติ ตั้งแต่พิธีไหว้ครูไปจนถึงนำคณะนักแสดงออกไปช่วยงานในชุมชนในทุกมิติตั้งแต่งานบวชงานบุญ ไปจนถึงเป็นตัวแทนการแสดงศิลปะพื้นบ้านในระดับท้องถิ่นและจังหวัด หรือแม้กระทั่งการสอนให้เด็กช่วยกันทำขนมไทยออกขายในช่วงเวลาที่ขาดรายได้ไม่มีงานเข้ามา

“แรกๆ พ่อแม่ผู้ปกครองไม่เห็นด้วยที่เด็กๆ มารวมตัวกันที่โรงลิเกของครูเผ หาว่าเป็นแหล่งมั่วสุมของเด็กติดยา แต่หลังจากเวลาผ่านไป ครูเผก็แสดงให้เห็นว่า ครูมีความตั้งใจจริงที่จะทำให้เด็กๆ มีความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางดีจนเป็นที่ยอมรับในหมู่บ้าน”  สิบเอกธนาทิพย์ มิ่งเมือง ลูกศิษย์รุ่นแรกๆ ของครูเผเล่าถึงความหลัง

“หนูอยู่กันแบบครอบครัวใหญ่ประมาณสามสิบคน มีพ่อคือครูเผคนเดียว ครูเผเหนื่อยกับพวกเรามาก ทั้งที่สอนเราก็ไม่ได้สตางค์เลย พอทุกคนสามารถแสดงลิเกได้ ก็แบ่งปันรายได้ให้ไปดูแลครอบครัวของแต่ละคน เหลือนิดหน่อยก็เอาไว้ซื้อกับข้าวกินกัน ไม่รู้ว่าทำไปทำไม ทั้งๆ ที่มีคนมาว่าว่าครูเผเอาเด็กบังหน้าหากิน จริงๆ เด็กๆ ต่างหากที่อาศัยครูเผหากิน หนูสงสารครูมาก บางทีก็โมโหแทน แต่ก็ทำอะไรไม่ได้นอกจากจะขออยู่กับครูเผ ช่วยครูเผตลอดไป”  วาสนา เรืองทิพ ผู้อยู่กับครูเผในปัจจุบันในฐานะผู้ดูแลเครื่องแต่งกายคณะลิเก และกำลังเรียน กศน. ช่วยสะท้อนภาพของครูเผออกมาให้ชัดขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม ครูเผก็มีความชัดเจนที่สุดในเรื่องภารกิจหลักของเด็กในบ้านนั่นก็คือ “การศึกษา” ในวันที่ลูกศิษย์ในบ้านท้อกับคำเย้ยหยันที่ว่า ลิเกคณะของครูเผเป็นลิเกไม่มีคุณภาพ บนหน้าเฟสบุ๊คของครูเผ ก็ปรากฏข้อความพร้อมแท๊กบรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายว่า

“พวกเธอจำได้ไหมว่าครูบอกว่า…สิ่งที่สำคัญที่สุดที่เธอจะต้องทำตอนนี้ก็คือการเรียนเป็นหลัก ส่วนการแสดงลิเกเป็นรอง…เราจะเอาตัวเราไปเปรียบเทียบกับคนอื่นไม่ได้เพราะเราไม่มีสายเลือดลิเก เพียงแต่เราได้มีโอกาสช่วยสืบสานก็ดีแล้วสำหรับกลุ่มผู้ด้อยโอกาสอย่างพวกเรา ไม่ต้องท้อนะครับ ถึงแม้ว่าการแสดงลิเกจะไม่มีคุณภาพเหมือนกับลิเกดังๆ แต่สิ่งสำคัญที่เรามีก็คือคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าคนบางคนที่ใช้เวลาไปแบบไม่มีประโยชน์ คนที่ว่าเราชีวิตเขามีคุณภาพเท่ากับพวกเราหรือไม่ก็ไม่รู้ สู้กันต่อไป”ดีชั่วอยู่ที่ีตัวทำ สูงต่ำอยู่ที่เราทำตัว…ไม่ต้องกลัวนะลูก”

ด้วยผลงานเป็นที่ประจักษ์ จนได้จากรางวัลากองค์กรหน่วยงานต่างๆ มากมาย แม้จะเป็นความภูมิใจให้ครูเผก้าวต่อไปในการช่วยเหลือเด็กให้มีโอกาสมากขึ้น แต่คงไม่เท่ากับความภูมิใจที่เห็นศิษย์ของตนรุ่นแล้วรุ่นเล่าก้าวหน้าไปในสาขาวิชาชีพต่างๆ อย่างเป็นคนดี ซึ่งทำให้ครูเผหายเหนื่อยกับการขวนขวายที่จะช่วยกันหารายได้มาจุนเจือบ้านครอบครัวผู้สืบทอดศิลปะพื้นบ้านที่แม้จะไม่ได้สวยงามยิ่งใหญ่ แต่ก็มีความรักความผูกพันที่ครูเผเรียกว่า “บ้านแห่งการเรียนรู้” บ้านที่มีครูเผเป็นพ่อดูแลลูกๆ ทุกคนเปรียบเสมือนคนครอบครัวเดียวกัน

ฝากถึงทุกคนที่มีหัวใจเดียวกันกับครู คืออยากช่วยเหลือเด็ก อยากจะทำกิจกรรมในส่วนที่เสียสละ เป็นการอุทิศให้เพื่อประโยชน์ส่วนรวม สิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำงานแบบนี้ ก็คือการให้ ให้แล้วอย่าหวังผลอะไรทั้งสิ้น ให้ทุกอย่าง ให้ชีวิต ให้เงิน ให้ทอง ให้ความรู้ ให้ทุกอย่าง แต่ที่สำคัญที่สุดอย่าลืม การให้อภัย การให้อภัยเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ในการที่อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข”

และนี่คือคำทิ้งท้ายถึงผู้ร่วมอุดมการณ์ของ “ครูเผ” นายสะเทื้อน นาคเมือง ตลกลิเกผู้อุทิศตนให้แก่การช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส.

 

แผนปฏิบัติการ แผนปฏิบัติการ | 4. คณะกรรมการคัดเลือกส่วนกลาง | 4.1 การปฐมนิเทศการประชุมเชิงปฏิบัติการ พิจารณากลั่นกรองคัดเลือกครู | 4.2 การประชุมเชิงปฏิบัติการพิจารณา กลั่นกรองคัดเลือกครู 4.3 การคัดเลือกส่วนกลาง