“จุฑามาศ จันทวงษ์วานิชย์” แม่ครูผู้ใช้ “ใจ” สอนชีวิต
แก้ปัญหา “อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้” ด้วยเทคนิคการ “จับคู่”
“เด็กที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ปัญหาจริงๆ อยู่ตรงไหน ถ้าจำพยัญชนะกับสระไม่ได้ ก็อ่านไม่ได้ ประสมคำไม่ได้ ทำอย่างไรเด็กถึงจะจำพยัญชนะได้แต่ส่วนสระจำไม่ยาก สำหรับตัวครูได้ค้นพบว่าการจะจำพยัญชนะเราจะต้องเล่นบ้าง ร้องเพลงบ้าง เต้นบ้าง แล้วก็ทำซ้ำๆ ทำบ่อยๆ เด็กก็จะจำได้แล้ว การนั่งเป็นวงกลมเด็กจะเห็นกันและกัน เขาก็จะเห็นและจะรู้ด้วยว่าเพื่อนทำถูกหรือทำผิด ถ้าเพื่อนทำผิดแล้วเขาบอกว่าผิด นั่นก็เป็นแสงสว่างให้เราเห็นแล้วว่าเด็กเริ่มจำได้แล้ว”
เป็นเทคนิคที่การจับคู่และเรียนเป็นกลุ่มเพื่อพัฒนาการอ่านของเด็กประถมของ “ครูมาศ” นางจุฑามาศ จันทวงษ์วานิชย์ แห่ง โรงเรียนบ้านโพธิ์ดอนหวาย อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ หนึ่งในผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นครูผู้สมควรได้รับพระราชทาน “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” และผ่านการพิจารณาให้ได้รับรางวัลในระดับ “ครูยิ่งคุณ” ประจำปี 2558 ของ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา และ กระทรวงศึกษาธิการ
จิตวิญญาณแห่งความเป็นครูของ “ครูมาศ” นั้นถูกถ่ายทอดมาจากพ่อและแม่ซึ่งเป็นครู โดยได้เรียนรู้การทำงานที่มุ่งมั่นทุ่มเทในการสอนของทั้งสองท่านมาตั้งแต่ยังเล็กๆ และด้วยเหตุที่ “พ่อครูปรีชา” และ “แม่ครูสมร” ได้รับอุปการะเด็กๆ ที่อยู่ห่างไกลจากโรงเรียนมาอาศัยอยู่ด้วยเพื่อสะดวกในการเล่าเรียนต่อในตัวจังหวัด ครูมาศจึงได้สืบทอดเจตนาของทั้งสองท่านด้วยการรับอุปการะเลี้ยงดูเด็กด้อยโอกาสมาจนถึงปัจจุบัน
จากความไม่สะดวกด้านการเดินทางมาเรียนในยุคก่อน เด็กในอุปการะของ “ครูมาศ” ในปัจจุบันกลับมีสภาพปัญหาที่ต่างออกไป ด้วยบ้านโพธิ์ดอนหวายเป็นหมู่บ้านชานเมืองที่ประชากรมีฐานะยากจนเป็นส่วนใหญ่ เด็กที่รับอุปการะไว้มักจะมีปัญหาครอบครัวแตกแยก ผู้ปกครองไปทำงานต่างจังหวัด มีปัญหาถูกคุกคามทางเพศ ปัญหาปู่ย่าตายายที่เลี้ยงดูไม่สามารถรับภาระค่าใช้จ่าย หรือมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ ผู้ปกครองของเด็กเหล่านี้จึงนำเด็กมาฝากให้ “ครูมาศ” อบรมบ่มนิสัยประหนึ่งว่าเป็นลูกหลานของครู
“ชอบทำอาหาร เวลาครูสอนทำอาหารหนูสนุกมาก” “น้องเฟิร์น” ด.ญ.จิตรทิวา ทองเงิน ชั้นป.3 กล่าวขณะที่พี่สาว “น้องมี่” ด.ญ.วิมลมณี แอนสำโรง ชั้น ป.6 บอกว่า “สนุกมากเวลาช่วยครูทำสื่อการเรียนการสอน”
“เด็กสองคนนี้เป็นพี่น้องกัน แม่ฝากไว้กับป้า ตอนอยู่บ้าน ป้าจะทำงานเอง เพราะรำคาญที่หลานทำไม่ถูกใจ หลานก็ไม่ได้หัดทำอะไรเลย พอมาอยู่กับครูเลยให้ช่วยครู งานบ้านต้องช่วยกัน แล้วก็ทำอาหารก็ต้องช่วยกัน กินด้วยกัน ผัดนั่นแกงนี่ ซักรีดเสื้อผ้า โดยบอกกับเด็กว่า ถ้ากลับไปอยู่กับป้าต้องช่วยป้าทำนะ” “ครูมาศเล่าเรื่องราวของเด็กที่รับอุปการะ ซึ่งเหมือนกับเด็กคนอื่นๆ ในบ้านที่มาฝึกฝนทั้งการใช้ชีวิต ทั้งความรู้และมาช่วยครูทำสื่อการสอน ซึ่งทั้งเด็กทั้งครูต่างก็สนุกสนานและทุ่มเทกับสื่อเหล่านี้มาก
และจากสภาพปัญหาทางสังคมของบ้านโพธิ์ดอนหวาย ซึ่งเด็กๆ ส่วนใหญ่จะถูกฝากเลี้ยงอยู่กับญาติผู้ใหญ่ ซึ่งส่วนไม่พร้อมที่จะดูแลอย่างใกล้ชิด ได้ส่งผลให้เด็กนักเรียนมีปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ รวมไปถึงมีเด็กที่บกพร่องทางการเรียนรู้เรียนร่วมด้วย “ครูมาศ” ซึ่งสอนนักเรียนในชั้นประถมปีที่ 1 ซึ่งเป็นต้นทางของการเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้นไปนับจากนี้ จึงต้องทุ่มเทกับการพัฒนาอ่านของเด็กมากขึ้นเป็นพิเศษ โดยได้พัฒนาสื่อและพัฒนากระบวนการสอนที่เน้นรายบุคคลเพื่อช่วยให้เด็กอ่านออกเขียนได้
“สื่อจะเน้นเป็นรายบุคคล แต่เวลาการสอนจะต้องสอนเป็นกลุ่ม คือจะเน้นให้เพื่อนช่วยเหลือเพื่อน หรือเอาผู้ที่ความสามารถใกล้เคียงกันจับคู่กัน แล้วครูจะต้องดูแลอีกทีหนึ่ง ครูจะศึกษาปัญหาก่อนว่าเด็กแต่ละรุ่นแต่คนมีปัญหาอะไร อันไหนใกล้เคียงกันจะแก้ตรงนั้น แล้วก็ผลิตสื่อมาแก้ที่จุดนั้น”
“ครูมาศ” อธิบายถึงวิธีการสอนเด็กให้อ่านได้นั้น ไม่ใช่เพียงแค่มีสื่อ แต่ครูจะต้องออกแบบกระบวนการสอนที่สนองตอบแก่เด็กที่มีความสามารถไม่เท่ากัน โดยที่สื่อชิ้นเดียวกันจะใช้ได้ทั้งการสอนกลุ่มใหญ่ และการสอนย้ำซ้ำทวนเป็นกลุ่มย่อย รวมไปถึงการเน้นย้ำด้วยเทคนิคพิเศษที่ถูกพัฒนาขึ้นมาที่เรียกว่า “เทคนิคจับคู่”
“การสอนย้ำโดยครูกับนักเรียนเดี่ยวๆ จะมีปัญหา เด็กที่อ่านหนังสืออ่านไม่ออกจะยิ่งอาย เหมือนกับถูกจับมาตอกย้ำว่าเขาอ่านไม่ได้ เขียนไม่ได้ จึงเอาเด็กมาจับคู่ คนเก่งจะจับคู่กับคนเก่ง คนอ่อนจับคู่กับคนอ่อนไปตามลำดับให้ไล่เลี่ยกัน มาอ่านกับครูทีละคู่ และครูก็จะฟังความถูกต้องและแนะนำเพิ่ม” ครูมาศอธิบายวิธีการจับคู่ ที่เป็นกระบวนการสอนย้ำซ้ำทวน
โดยได้ระบุว่าข้อดีของการจับคู่ คือ เด็กจะไม่อายและกล้าแสดงออก กล้าเปล่งเสียงออกมาดังๆ และด้วยระดับความสามารถที่ใกล้เคียงกัน เด็กจะแข่งกัน ทำให้อ่านได้เร็วขึ้น และมีความรู้ในการอ่านอย่างถูกต้องด้วยการเห็นการอ่านที่ถูกและผิดของเพื่อน
ดังนั้นบรรยากาศการเรียนการสอนของ “ครูมาศ” กับเด็กๆ จึงเต็มไปด้วยความสนุกสนาน เป็นการสอนประกอบสื่อ ที่มีทั้งเล่น ทั้งร้องรำ ทำเพลง ประหนึ่งชั่วโมงเรียนสันทนาการ แต่ทั้งหมดล้วนถูก “ครูมาศ” ออกแบบขึ้นมาเพื่อสนองตอบกับความสามารถของเด็กที่แต่ละห้องแต่ละชั้นเรียนที่แตกต่างกัน
ด้วยเหตุนี้สื่อและกระบวนการต่างๆ ในการสอนของ “ครูมาศ” จึงมีมากมายและหลากหลาย เช่นการเริ่มต้นด้วยการ “อ่านออกเสียงพยัญชนะ”ก่อนเข้าห้อง, ล้อมวง “ท่องกลอนสอนจำพยัญชนะ”, “ท่องเร็วจำเร็ว” ด้วยการท่องไปเต้นไป หรือการ “ตีพยัญชนะ” ที่ทำได้ง่ายๆ ด้วยสื่อแค่ฝาขวดน้ำ กับกระดาษที่มีตัวอักษรในช่อง ทำให้เด็กจะเล่นไปเรียนไปด้วยความสนุกสนาน
สื่อต่างๆ ของครูมาศไม่ได้ใช้วัสดุอุปกรณ์ราคาแพงเลย อย่างเช่น “ตะกร้าผสมคำ” ก็ทำง่ายๆ และใส่มาในกระเช้าของขวัญ ที่ใช้สอนผสมคำได้ง่ายมาก โดยให้เด็กเลือกไปใช้ทบทวนเป็นกลุ่มย่อยและจับคู่ได้ตามใจชอบ หรือ “แผ่นเลื่อนผสมคำ” ที่เด็กๆ ชอบมาก เพราะสามารถนำกลับไปบ้านให้ผู้ปกครองเป็นผู้สอนได้ ซึ่งนอกจากจะได้ทบทวนความรู้แล้ว ยังเป็นกิจกรรมสร้างสัมพันธ์ในครอบครัวอีกด้วย
“แผ่นเลื่อนผสมคำ ให้เด็กคล้องคอกลับบ้านไปได้เลย เด็กสามารถสัมผัสจับต้องได้ สามารถนำไปใช้กับผู้ปกครองได้ด้วย ก็จะเกิดความภาคภูมิใจความประทับใจโดยการฝึกอ่านฝึกเขียนกับผู้ปกครอง ทำให้พ่อแม่ชื่นชมว่าลูกอ่านหนังสือได้เร็ว” ครูมาศอธิบาย
ทั้งการรับอุปการะเด็กและการสอนที่ทุ่มเทอย่างเต็มที่และประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยม ครูมาศบอกเคล็ดลับสำคัญที่สุดคือ ต้องทำด้วย “ใจ”
“ปัญหาเด็กอ่านเขียนไม่ได้ บางครั้งเราไปเอาวิธีการคนอื่นมาใช้ไม่ได้ ต้องใช้ใจ ครูต้องมีความมุ่งมั่นอยากจะแก้ปัญหานี้จริงๆ ทุ่มเทกับเด็ก แก้ปัญหาให้ผ่านให้ได้ ไม่ให้เป็นภาระของคุณครูคนอื่นต่อ ต้องมีความมุ่งมั่น มีความตั้งใจ พอมีปัญหา เราจะรู้เลยว่าวิธีแก้จะแก้อย่างไร เช่นเดียวกับการอุปการะเด็ก ก็ใช้ใจ ถ้ามีใจรักเด็ก การที่เด็กไปอยู่กับเรา เขาเคยอยู่อีกครอบครัว ได้รับอบรมสั่งสอนมาแบบหนึ่ง มาอยู่กับเราต้องหลอมมาเป็นอยู่ในครอบครัวเรา ต้องจ้ำจี้จ้ำไชกับเด็กมันก็เหนื่อย ต้องใช้ใจที่รักที่ผูกพัน พอเราเห็นเด็กเขาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเราจะภูมิใจ” ครูมาศฝากข้อคิดถึงคุณครูรุ่นใหม่ๆ ให้ใช้ใจในการแก้ปัญหาต่างๆ
สำหรับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี นับเป็นรางวัลระดับนานาชาติเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระปรีชาด้านการศึกษา โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชานุญาตตั้งนาม“รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติครูผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตลูกศิษย์ สร้างคุณประโยชน์ต่อการศึกษาในประเทศต่างๆ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวม 11 ประเทศ ประเทศละ 1 รางวัล โดยจัดมอบรางวัลในทุก 2 ปี ซึ่งจะพระราชทานรางวัลครั้งแรกในวันที่ 2 ตุลาคม 2558.
แผนปฏิบัติการ | 4. คณะกรรมการคัดเลือกส่วนกลาง | 4.1 การปฐมนิเทศการประชุมเชิงปฏิบัติการ พิจารณากลั่นกรองคัดเลือกครู | 4.2 การประชุมเชิงปฏิบัติการพิจารณา กลั่นกรองคัดเลือกครู | 4.3 การคัดเลือกส่วนกลาง