จาก “มีดแกะสลัก” สู่การอนุรักษ์ภูมิปัญญา พัฒนารายได้

“นภากูล ธาตุ”  แกะความรัก สลักความคิด ผลักดันชีวิตเด็กด้อยโอกาส

 

20150907-14_pmca007

นภากูล ธาตุ

“ถ้าสอนอย่างต่อเนื่อง งานแกะสลักผักผลไม้ จะไม่ได้อยู่แค่จัดการเรียนการสอนอย่างเดียว มันจะเข้าไปสู่งานอนุรักษ์ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมไทย ทำยังไงให้ยั่งยืน ทำให้เด็กเห็นคุณค่าของมรดกทางภูมิปัญญาไทย ทำยังไงให้ไปต่อยอดที่เข้าไปสู่วิถีการดำเนินชีวิตได้”  

เป็นคำกล่าวของ “นางสาวนภากูล ธาตุ” ครูผู้ทุ่มเทสอนเด็กแกะสลักผักและผลไม้ด้วยใจรัก แห่ง โรงเรียนบ้านช้างคับ อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร  ที่สร้างชื่อเสียงจากการส่งนักเรียนเข้าประกวดและคว้ารางวัลแกะสลักระดับประเทศมากมาย  หนึ่งในผู้ได้รับการเสนอชื่อครูผู้สมควรได้รับพระราชทาน “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” และผ่านการพิจารณาให้ได้รับรางวัลในระดับ “ครูยิ่งคุณ” ประจำปี 2558 ของ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา และ กระทรวงศึกษาธิการ

เมื่อ 50 ปีที่แล้ว “ครูนภากูล” นับเป็นเด็กผู้หญิงคนแรกของหมู่บ้านหนองเต่าทอง จังหวัดกำแพงเพชร ที่ได้ออกไปเรียนในระดับมัธยมที่ตัวจังหวัด ณ ที่แห่งนี้เองที่ทำให้เด็กหญิงนภากูลได้รู้จักกับการแกะสลักผลไม้ จนเกิดความสนใจ รัก และฝึกฝนเรียนรู้ด้วยตนเองเรื่อยมา จนกระทั่งได้มาเป็นครูที่โรงเรียนบ้านช้างคับ ในพื้นที่ทุรกันดาร ครูนภากูลก็ได้ใช้ฝีมือแกะสลักที่ตนเองชื่นชอบ มาเป็นเครื่องมือในการแกะความรัก สลักความคิด ผลักดันชีวิตเด็กด้อยโอกาสในพื้นที่ห่างไกลให้ได้พบกับโลกใหม่และโอกาสทางการศึกษา

สภาพโดยรอบของบ้านช้างคับในสมัยแรกนั้นคือไร่มันสำปะหลังกลางป่า ที่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นไร่มันกลางดง มีถนนเข้าถึงแต่ก็ยังนับเป็นพื้นที่ห่างไกล ชาวบ้านมีฐานะยากจน มีปัญหาหนี้สิน และยาเสพติด ในวันแรกที่เข้ามาถึง ครูนภากูล สอนเด็กๆ ให้แกะสลักผักผลไม้ในยามว่าง เกิดเป็นความสุขเล็กๆ ของเด็กๆ และความดีใจของผู้ปกครองที่เห็นลูกหลานใช้เวลาว่างเป็นประโยชน์ และกลายความภูมิใจของคนทั้งชุมชนเมื่อเห็นผลงานสวยงามของลูกหลานตกแต่งประดับประดาอยู่ตามงานบุญประเพณีต่างๆ

ต่อมาทางโรงเรียนได้ส่งเด็กไปแข่งขันแกะสลักได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศ ซึ่งเกินความคาดหมายของชุมชนเล็กๆ อันห่างไกล ผลจากความสำเร็จดังกล่าวบรรดาผู้ปกครองในชุมชนจึงยินยอมพร้อมใจให้เด็กๆ ได้มาเรียนวิชาแกะสลักกับครูนภากูล จนกระทั่งการสอนแกะสลักผักผลไม้กลายเป็นอัตลักษณ์ของโรงเรียนบ้านช้างคับ และต่อยอดกิจกรรมยามว่างไปสู่การสร้างหลักสูตรการเรียนการสอนในรายวิชาเพิ่มเติมงานแกะสลักตั้งแต่ชั้นระดับประถมปีที่ 4 จนถึงระดับมัธยมต้น

จากการสอนมายาวนานจนสามารถสร้างเป็นหลักสูตร ตกผลึกเป็นองค์ความรู้ ครูนภากูลพบว่า การแกะสลักไม่เพียงแต่จะเป็นการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมไทยเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังสามารถต่อยอดเข้าไปสู่วิถีการดำเนินชีวิต เพื่อสร้างรายได้และอาชีพได้

“เราพัฒนาไปสู่งานผลิตภัณฑ์สร้างรายได้ระหว่างเรียนในเรื่องของการแกะสลักที่จะมาให้เด็ก จากผักผลไม้ มาสู่งานแกะสลักสบู่ให้เป็นผลิตภัณฑ์ แล้วก็เอาไปต่อยอดในเรื่องของอาชีพ เสริมรายได้ให้กับครอบครัว เป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทย เห็นคุณค่า เมื่อเด็กรู้แล้ว แกะสลักเป็นแล้ว และก็ใช้ความสามารถที่ตนเองทำเป็นให้เป็นอาชีพ ทำให้เป็นการพัฒนาและการอนุรักษ์ที่ต่อเนื่อง” ครูนภากูลกล่าว

“บ้านหนูไม่ได้กินหมูมาหลายเดือนแล้ว” เสียงใสซื่อของลูกศิษย์คนหนึ่งที่มาเบิกเงินที่สะสมไว้จากการแกะสลักเพื่อไปซื้ออาหารให้กับครอบครัวสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า เงินได้ที่บางคนอาจมองว่าน้อยนิดก็ช่วยเหลือจุนเจือครอบครัวได้

และไม่เพียงเท่านั้น “น้องแนน” พรประภา ก้อนนาค ลูกศิษย์ครูนภากูลซึ่งปัจจุบันศึกษาต่อในระดับมัธยมปลาย ซึ่งอาศัยอยู่กับย่าโดยที่พ่อแม่แยกทางกันและไม่ได้อยู่ที่หมูบ้านช้างคับ เปิดเผยว่า ด้วยการแกะสลักสบู่เธอสามารถส่งตนเองเรียนได้และมีเงินเก็บถึง 7,000 บาท

“หนูเอาเงินไปช่วยจ่ายค่าไฟ ค่าหมู ค่ากับข้าว ช่วยให้มีรายได้ระหว่างเรียน และเป็นเงินเก็บไปเรียนต่อ” น้องแนนเล่าให้ฟังเกี่ยวกับรายได้ที่มาจากการแกะสลัก

“ช่วยลดค่าใช้จ่ายให้ที่บ้านค่ะ” และ “หนูเอาไปซื้ออุปกรณ์การเรียนค่ะ” เป็นคำพูดของลูกศิษย์สองพี่น้องฝาแฝด จันจิรา-จันทมาส มั่งจีน ที่ใช้ฝีมือแกะสลักลดภาระให้ทางบ้าน โดยทั้งสองเล่าว่า ใช้เวลาว่างหลังเลิกเรียนในการแกะสลัก สามารถทำรายได้ให้ตัวเองได้ถึงคนละอย่างน้อยสามร้อยบาทต่อสัปดาห์

นอกจากสร้างรายได้ ครูนภากูลยังเล่าให้ฟังถึงข้อดีของการฝึกแกะสลักอีกประการหนึ่งคือ ช่วยทางด้านสมาธิแก่เด็กนักเรียน “การแกะสลักยังช่วยในการเรียนรู้แก่เด็กสมาธิสั้น หรือมีปัญหาทางการเรียนรู้ (Learning Disorder) ซึ่งเป็นปัญหาต่อการเรียนการสอนด้วย การฝึกแกะสลักช่วยสร้างสมาธิ และจะเป็นอาชีพให้แก่เด็กด้อยโอกาสเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี และเด็กที่มีปัญหาทางการเรียนหลายคนสามารถทำได้อย่างดีถึงขั้นได้รับรางวัลที่หนึ่งในการประกวดแกะสลักระดับชาติ”

“เวลาระหว่างช่วงที่แกะ จะมีสมาธิ เด็กจะได้ฝึกสมาธิ มีความตั้งใจ ตาไป มีดต้องประสานสัมพันธ์ จดจ่ออยู่ที่ชิ้นงาน เด็กจะได้สมาธิในการทำ” ครูนภากูลเล่า

“ได้ฝึกสมาธิ ถ้าใจไม่เย็นทำไม่ได้หรอกค่ะ” หัสดี รำสันเทียะ ศิษย์เก่าโรงเรียนวัดช้างคับที่มีรายได้เสริมในการแกะสลักถึงสัปดาห์ละเกือบพันบาทระบุ และถึงแม้จะย้ายไปเรียนในระดับมัธยมปลายที่โรงเรียนวังไทรวิทยาคมแล้ววิชาการแกะสลักก็ยังสามารถนำไปใช้ในการต่อยอดทางการศึกษาได้ “ความรู้ในการแกะสลักอาจได้ใช้ในเวลาหนูเรียนต่อ ซึ่งก็สนใจสาขาหัตถกรรมที่ราชภัฏกำแพงเพชรอยู่ค่ะ”

นอกจากรางวัลที่เกี่ยวกับการแกะสลักโดยตรงของเด็กนักเรียนโรงบ้านช้างคับในทุกระดับชั้นอันเป็นผลงานเชิงประจักษ์ของครูนภากูล งานแกะสลักยังขยายต่อเนื่องตามลูกศิษย์ที่ไปเรียนต่อระดับสูงขึ้นในสถาบันต่างๆ ทั้งในระบบและนอกระบบ เช่น ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน และมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร ครูนภากุลยังได้รับทุน “ครูสอนดี” จาก สสค. รวมถึงควักกระเป๋าตนเอง เปิดช่องทางรับซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นผลงานของเด็กๆ ทั้งศิษย์ปัจจุบันและศิษย์เก่าในชุมชนบ้านช้างคับเพื่อมาจัดจำหน่าย เกิดเงินทุนหมุนเวียนเพื่อให้เป็นอาชีพเสริมสร้างรายได้แก่เด็กอย่างยั่งยืน

นอกจากนั้น ครูนภากูลยังพัฒนาต่อยอดงานแกะสลักออกไปเป็นเครื่องใช้เครื่องประดับอีกมากมายเพื่อรองรับเด็กที่ไม่ชำนาญเรื่องแกะสลักเข้ามาทำงานด้านอื่นที่เกี่ยวข้องอีกด้วย เช่น การทำกล่องบรรจุ การทำต่างหูหรือเข็มขัดประดับด้วยงานสบู่แกะ เป็นต้น

ครูนภากูลเผยเคล็ดไม่ลับความสำเร็จที่ทำให้การเรียนการสอนของบ้านช้างคับอบอวลด้วยบรรยากาศการแกะสลักจนกระทั่งเป็นอัตลักษณ์แห่งโรงเรียนและหมู่บ้าน ที่ทุกคนสามารถชื่นชมผลงานและสนับสนุนการศึกษาของเด็กๆ ได้ที่เว็บไซด์ www.kaesalakbanchangkub.com โดยระบุว่า

ในเรื่องของการทำงาน คนที่เป็นครูนอกจากสอนในรายวิชาพื้นฐานแล้ว เราสามารถดึงงานที่เป็นงานอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทย วัฒนธรรมของชาติ เข้ามาสู่ในกระบวนการเรียนการสอน แล้วก็เอามาจัดเป็นรายวิชาเพิ่มเติมได้ แต่สิ่งที่สำคัญคือการทำอย่างต่อเนื่อง เพราะการทำอย่างต่อเนื่องจะทำให้เกิดการพัฒนางานไปเรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้เด็กเกิดความศรัทธา ได้ซึมซับ ได้เรียนรู้ แล้วก็จะง่ายต่อการพัฒนา และสามารถต่อยอดต่อไปได้เรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด”

สำหรับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี นับเป็นรางวัลระดับนานาชาติเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระปรีชาด้านการศึกษา  โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชานุญาตตั้งนาม“รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติครูผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตลูกศิษย์ สร้างคุณประโยชน์ต่อการศึกษาในประเทศต่างๆ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวม 11 ประเทศ ประเทศละ 1 รางวัล โดยจัดมอบรางวัลในทุก 2 ปี ซึ่งจะพระราชทานรางวัลครั้งแรกในวันที่ 2 ตุลาคม 2558.

 

กันยายน 8, 2015
20150907-14_pmca015

นภากูล ธาตุ แกะความรัก สลักความคิด ผลักดันชีวิตเด็กด้อยโอกาส

Follow จาก “มีดแกะสลัก” สู […]
กันยายน 8, 2015
20150907-15_pmca008

เฉลิมพร พงศ์ธีระวรรณ ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี

Follow “เฉลิมพร พงศ์ธีระวร […]
กันยายน 8, 2015
20150907-16_pmca018

จุฑามาศ จันทวงษ์วานิชย์ แม่ครูผู้ใช้ “ใจ” สอนชีวิต

Follow “จุฑามาศ  จันทวงษ์ว […]
กันยายน 8, 2015
20150907-9_pmca004

อารีย์ จู่จุ้ยเอี่ยม ครูผู้เปลี่ยนวิธีคิด สอนภาษาอังกฤษ ใกล้ตัว

Follow “อารีย์ จู่จุ้ยเอี่ […]