“เฉลิมพร พงศ์ธีระวรรณ” ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี

ใช้โครงงานวิทย์สอน “คิด” เพื่อปั้น “คน” ให้สะเทือนถึงดวงดาว

12105903_1632877656966284_673518575146183065_n

 

“อาจารย์ครับ วิชาที่อาจารย์สอนนี่ ผมไม่เห็นว่าจะเอาไปใช้ประโยชน์อะไรได้เลย!”

เสียงสะท้อนจากศิษย์เก่าที่ทำเอา “เฉลิมพร พงศ์ธีระวรรณ” ครูวิทยาศาสตร์จาก โรงเรียนสุราษฎร์พิทยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ถึงกับ “อึ้ง” จนต้องกลับไป “คิด” ทบทวนการสอนของตัวเองใหม่อีกครั้ง

“จะทำอย่างไรดีให้วิชาของเรามีความหมายกับนักเรียนที่มาเรียน? ทำอย่างไรให้นักเรียนรู้สึกว่าวิชาที่เราสอนเขาสามารถเอาไปใช้ได้? ทำอย่างไรให้วิชาเหล่านี้มันอยู่ในชีวิตประจำวันของเขา?” ครูเฉลิมพรเล่า

หลายคำถามผุดขึ้นมาในหัว หลากวิธีเริ่มถูกนำมาใช้ ทั้งแนวทางของฝรั่งและไทย แต่ก็ยังไม่ได้ผลอย่างที่คิด จนกระทั่งได้ไปมีโอกาสไปศึกษาดูงานการทำ “โครงงาน” กับ “อาจารย์ประดิษฐ์ เหล่าเนตร์” ที่ “โรงเรียนสตรีนครสวรรค์” แล้วนำกลับมาทดลองใช้กับเด็กๆ เพียงครั้งแรกที่ทำและส่งผลงานเข้าประกวด เด็กนักเรียนจากโรงเรียนสุราฎร์พิทยาก็สามารถคว้ารางวัลอันดับหนึ่งของภาคใต้จากงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์มาได้

“รางวัลในครั้งนั้นเป็นจุดเริ่มต้นและเสริมสร้างกำลังใจอย่างดีว่า เราน่าจะมาถูกทางแล้ว”

ทำให้ปีต่อๆ มา “ครูเฉลิมพร” ก็มีการพัฒนาเรื่องของโครงงานวิทยาศาสตร์ต่อมาเรื่อยๆ แต่ก็ยังต้องประสบปัญหาสำคัญตรงที่เด็กนักเรียนคิดโจทย์ไม่ออก บอกไม่ได้ว่าจะทำโครงงานอะไร

“ปีนี้ทำเรื่องกระดาษไปแล้ว ปีหน้าจะให้นักเรียนทำอะไร ก็พยายามหาว่าทำอย่างไรให้นักเรียนสามารถคิดเรื่องได้เอง ก็ให้นักเรียนไปคิด เขาก็คิดไม่ออกบอกไม่ถูกว่าจะทำเรื่องอะไร เพราะว่านักเรียนมีประสบการณ์น้อยกว่าเรา ขนาดเราเป็นครูมีประสบการณ์มาเยอะ เราเองก็ยังคิดไม่ได้ แล้วเด็กจะคิดได้อย่างไร”

เมื่อคิดได้ดังนั้น “ครูเฉลิมพร” จึงเริ่มค้นหาวิธีการที่จะทำให้เด็กนักเรียนสามารถคิดโครงงานขึ้นได้ โดยที่ครูไม่ต้องออกแรงมาก และเป็นโชคดีที่ได้เป็นเห็นการแข่ง QC ที่อาศัยแผนภูมิก้างปลาเป็นตัววิเคราะห์ปัญหา ซึ่งดูๆ ไปก็คล้ายกับการทำโครงงาน จึงนำเอาวิธีการดังกล่าวมาลองให้เด็กนักเรียนฝึกการคิดวิเคราะห์และปรับประยุกต์ใช้ไปเรื่อยๆ จนตกผลึกกลายเป็น “ก้างปลาคู่ผู้พิชิต” และ “หมวก 6 ใบ”

“ก้างปลาตัวแรกจะเป็นการวิเคราะห์ปัญหาและสาเหตุ ให้เขาเอาปัญหามาไว้ที่หัวปลา และก้างปลาเป็นสาเหตุต่างๆ การที่เขาจะรู้สาเหตุของปัญหา เขาจะต้องไปหามาก่อน ไม่ใช่นึกเอาเองว่าปัญหามาจากไหน เขาต้องไปค้นคว้าจากแหล่งต่างๆเที่เขาพอจะสืบค้นได้ เพื่อที่จะมาตอบก้างปลาแต่ละก้างของเขาให้ได้เยอะที่สุด”

“เมื่อรู้สาเหตุของปัญหาแล้ว ก็ให้เขาเลือกสาเหตุที่เห็นว่าสำคัญและสนใจมาหนึ่งสาเหตุ เอาไปใส่ไว้ในหัวปลาตัวที่สอง และก้างปลาตัวที่สองก็จะเป็นวิธีการแก้ เพราะฉะนั้นเขาก็จะหาวิธีการแก้ต่อไปอีกว่า จะแก้ได้โดยวิธีใดบ้าง ตั้งเป็นสมมุติฐานอย่างนั้นอย่างนี้ ที่เกิดขึ้นมาจากความรู้ที่เขาค้นคว้ามาตั้งแต่ต้น แล้วก็สรุปเอาวิธีการแก้ปัญหามารวมกับตัวสาเหตุเขาก็จะได้หัวข้อเรื่องในการทำโครงงาน”

“ส่วนหมวก 6 ใบ เป็นการนำทฤษฏีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของ Dr. Edward de Bono มาใช้ โดยจะเป็นการจัดระเบียบความคิดของนักเรียน  โดยหมวกแต่ละใบนั้นจะทำให้นักเรียนมองในสิ่งที่ต้องการคิดหรือทำนั้นอย่างรอบด้าน และต้องค้นหาข้อมูลอย่างรอบด้านเช่นกัน ทำให้ได้ใช้ทักษะทั้งการค้นคว้า การคิดวิเคราะห์ การเปรียบเทียบข้อดี ข้อเสีย จุดดี จุดเด่น อุปสรรค การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การทำงานเป็นกลุ่ม ที่ทำให้เกิดข้อมูลครบถ้วนทุกด้านก่อนที่จะตัดสินใจทำงาน” ครูเฉลิมพรเล่าถึงกระบวนการสอนคิดผ่านเครื่องมือทั้ง 2 ชนิด

น.ส.ธัญพิชชา พงศ์ชัยไพบูลย์ หรือ “น้องหมิว” ศิษย์เก่าที่ปัจจุบันศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าให้ฟังว่าก้างปลาคู่ผู้พิชิตนั้นเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยจัดลำดับความคิด ให้เราคิดปัญหาจากสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวมาแตกย่อยออกเป็นข้อดีและข้อเสีย ทำให้สามารถคิดหัวข้อโครงงานได้ง่ายขึ้น

“นอกจากก้างปลาคู่ผู้พิชิตแล้ว ยังต้องนำหลักคิดหมวก 6 ใบเข้ามาทำงานร่วมกันด้วย โดยหมวกแต่ละใบเป็นวิธีที่ทำให้เราค้นหาข้อมูลในแต่ละด้านออกมาให้หมด หมวกแต่ละใบจะเป็นตัวไกด์ให้เราว่าจะต้องทำอะไรต่อไป แล้วสุดท้ายก็จะได้ในสิ่งที่เราต้องการออกมา วิธีการคิดแบบนี้ทำให้เจอปัญหาเยอะมากในตอนที่เราทำโครงงาน แต่ในปัญหาที่เราผ่านพ้นไปได้ มันคือสิ่งใหม่ที่เราค้นพบด้วยตัวของเราเอง” น้องหมิวเล่าถึงประสบการณ์ที่เป็นพื้นฐานมาจนถึงการเรียนต่อในสาขาวิทยาศาสตร์ที่ต้องใช้การคิดวิเคราะห์เป็นหลักเช่นกัน

โดยผลงานโครงงานวิทยาศาสตร์เรื่อง “พลาสติกจากเกล็ดปลา” ของ “น้องหมิว” และเพื่อนร่วมทีมที่เกิดจากกระบวนการฝึกคิดและค้นคว้าผ่าน “ก้างปลาคู่ผู้พิชิต” และ “หมวก 6 ใบ” ได้คว้ารางวัลในระดับการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ในระดับชาติมาอย่างมากมาย

และที่สำคัญคือการได้รับรางวัล Inter Foundation Young Scientist Award ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุด ในการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับโลก Intel ISEF 2011 ที่มีผู้แข่งขันเกือบ 2 พันคนจาก 65 ประเทศทั่วโลก โดยผลงานในครั้งนั้นได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย และทำให้ชื่อของเด็กไทยทั้ง 3 คนได้รับเกียรติให้นำไปตั้งเป็นชื่อดาวเคราะห์น้อย 3 ดวงที่พบใหม่ในระบบสุริยะจักรวาล

ผลจากการทำงานอย่างทุ่มเทเสียสละตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีของ “ครูเฉลิมพร พงศ์ธีระวรรณ” โดยใช้เวลาหลังเลิกเรียน วันหยุดเสาร์อาทิตย์ และในช่วงปิดเทอม เปิด “ชุมนุมโครงงานวิทยาศาสตร์” โดยคิดค้นและออกแบบการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนเกิดทักษะการคิดวิเคราะห์ ผ่านการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ จนมีผลงานเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ได้รับการเสนอชื่อและผ่านการคัดเลือกให้เป็นครูผู้ได้รับพระราชทาน “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” ประจำปี 2558  คนแรกของประเทศไทย จาก มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา และ กระทรวงศึกษาธิการ

“ทุกวันนี้เราเรียนหรือเราสอนกันเพื่อที่จะให้เด็กเอาไปทำข้อสอบ ถ้าเด็กสอบได้ครูก็จะแสดงความยินดีกัน ว่าเด็กคนนี้เก่ง แต่จริงๆ แล้วความรู้ที่ทำให้เขาสอบได้ บางคนไม่สามารถเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ เหมือนกับความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด แต่การทำโครงงานวิทยาศาสตร์เป็นการนำเอาเรื่องราวราวตัวในชีวิตจริงเป็นตัวตั้ง แล้วก็เอาเนื้อหาหรือความรู้เข้าไปจับ นักเรียนจะสามารถเอาความรู้ในห้องเรียนไปประยุกต์ ไปคิดต่อยอดเพื่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ในชีวิตประจำวันของเขาได้ และสามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้” ครูเฉลิมพรเล่าถึงความในใจ

โดยในช่วงเปิดค่ายชุมนุมโครงงานวิทยาศาสตร์ช่วงปิดเทอม จะมีรุ่นพี่ที่จบไปแล้วกลับมาช่วยถ่ายทอดแรงบันดาลใจให้เกิดความหึกเหิม และช่วยน้องๆ ในการฝึกคิดและพัฒนาโครงงานวิทยาศาสตร์เป็นประจำทุกปี จนเรียกได้ว่าเป็นประเพณีไปแล้ว ซึ่งทำให้ชุมนุมโครงงานวิทยาศาสต์ของโรงเรียนแห่งนี้สร้างผลงานที่ประสบความสำเร็จมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน นอกจากนี้ “ครูเฉลิมพร” และคู่ชีวิต “ครูสุวารี” ยังร่วมกันดูแลเด็กๆ ทุกคนอย่างใกล้ชิด ทำให้มีโอกาส “สอนการใช้ชีวิต” นอกเหนือไปจากการสอนคิดวิเคราะห์ผ่านการทำงาน

“สมมุติฐานก็คือสมมุติฐานเวลาที่นักเรียนค้นหามันก็อาจจะไม่ตรงก็ได้ คนเราต้องทำใจไว้ครึ่งหนึ่งกับความผิดหวังที่อาจจะเกิดขึ้น เด็กบางคนรับไม่ได้กับสิ่งที่ทำมาเยอะแล้วผลไม่ออกมาตามที่หวัง เราก็พยายามบอกกับเขาว่า การทำงานมันก็เป็นอย่างนี้แหละ บางทีเราคิดว่ามันดีแล้วแต่ในเมื่อมันออกมาไม่ดีเราก็ต้องยอมรับ และเชื่อว่าเราทำดีที่สุดแล้ว เพราะฉะนั้นเมื่อมันล้มเหลวเราก็ต้องลุกขึ้นให้ไว ไม่ใช่ล้มแล้วฟุบ ฟุบได้แต่อย่าฟุบนาน” ครูเฉลิมพรเล่าถึงหลักคิดบางส่วนในการทำโครงงานที่สามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตจริง พร้อมกับฝากข้อคิดทิ้งท้ายถึงเพื่อนร่วมอุดมการณ์ในวิชาชีพครูว่า

“วันนี้ครูทุกคนควรจะต้องตระหนักว่า วิธีการสอนแบบเดิมๆ นั้นไม่สามารถใช้ได้อีกแล้วในปัจจุบันนี้ ถ้าเรายังใช้วิธีเดิมอยู่ประเทศก็จะหยุดอยู่กับที่ ครูทุกคนจะต้องตระหนักถึงจุดๆ นี้ และร่วมกันหาวิถีทางของแต่ละคน หาวิธีการที่จะทำอย่างไรให้เด็กนักเรียนของตนเองสามารถเรียนรู้และอยู่ในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างมีความสุข”

สำหรับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี นับเป็นรางวัลระดับนานาชาติเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระปรีชาด้านการศึกษา  โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชานุญาตตั้งนาม“รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติครูผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตลูกศิษย์ สร้างคุณประโยชน์ต่อการศึกษาในประเทศต่างๆ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวม 11 ประเทศ ประเทศละ 1 รางวัล โดยจัดมอบรางวัลในทุก 2 ปี ซึ่งจะพระราชทานรางวัลครั้งแรกในวันที่ 2 ตุลาคม 2558.  

 

 

Comments are closed.