banner website

รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เปิดโครงการเล่าเรื่องด้วยหัวใจจากศิษย์ถึงครู ชวนลูกศิษย์ทั่วประเทศบอกเล่าเรื่องราวผ่านคลิปชิงรางวัลกว่าแสนบาท คุณหญิงกษมาชี้มีบทบาทสำคัญต่อการพลิกเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษา เปิดเรื่องราวครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงชีวิต “ดร.กองขยะ” ได้ดีเพราะมีครู จากเด็กต้นทุนติดลบ – “ครูมล” ชี้ระบบการศึกษามุ่งผลิตคนกลุ่มมากส่งผลเด็กแพ้คัดออก ชี้ครูมีส่วนสำคัญของการแก้ปัญหาจากต้นทาง

เมื่อวันที่ 12 มกราคม ที่สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ในงานแถลงข่าวโครงการเล่าเรื่องด้วยหัวใจจากศิษย์ถึงครู ในโครงการรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี โดยคุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา คณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กล่าวว่า บทบาทของครูมีส่วนสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษา จากผลการศึกษาของ John Hattie ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยที่มีข้อมูลทางการศึกษามากที่สุดของโลกพบว่า หัวใจสำคัญที่จะมีผลต่อการยกระดับการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนคือ ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูกับเด็กในชั้นเรียน รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี จึงเป็นรางวัลพระราชทานให้แก่ครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในชีวิตลูกศิษย์และยังส่งผลต่อคุณูปการแก่วงการศึกษา เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพฯในวโรกาสพระชนมายุครบ 60 พรรษา รางวัลนี้จึงไม่ใช่แค่การคัดเลือกครูเพื่อได้รับรางวัล แต่หวังสร้างแรงกระเพื่อมต่อสังคมไทยและในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวม 11 ประเทศ ในการเห็นคุณค่ายกย่องครู ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการคัดเลือกครูของแต่ละประเทศเพื่อรับพระราชทานรางวัลในวันที่ 2 ตุลาคม

20150113-pmca05
คุณหญิงกษมา กล่าวว่า เพื่อให้เกิดการตื่นตัวในสังคมไทยจึงเกิดโครงการเล่าเรื่องด้วยหัวใจจากศิษย์ถึงครู โดยเชิญชวนลูกศิษย์ทั้งนักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วประเทศร่วมบอกเล่าเรื่องราวของครูที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับชีวิต โดยถ่ายทอดเรื่องราวในรูปแบบของคลิปวีดีโอ ความยาวไม่เกิน 5 นาที สมัครได้ทีมละไม่เกิน 5 คน ชิงรางวัลกว่า 100,000 บาท ร่วมส่งผลงานภายในวันที่ 15 มีนาคม โดยจะมีการตัดสินและประกาศผลในเดือนเมษายน 2558 ซึ่งเป็นเดือนแห่งการครบรอบ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพฯ ดูรายละเอียดได้ที่Facebook.com/PrincessMahaChakriAward และfacebook.com/TVburabha

ตัวอย่างเรื่องเล่าด้วยหัวใจจากศิษย์ถึงครู ดร.กุลชาติ จุลเพ็ญ หรือ “ดร.กองขยะ” อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กล่าวว่า ตนเติบโตมาไม่มีต้นทุนทางบ้านทั้งฐานะทางเศรษฐกิจและการอบรมสั่งสอนเพราะพ่อแม่แยกทางกันในช่วงป.3-4 และเป็นเด็กเกเรไม่สนใจเรียนจึงใช้ชีวิตเร่ร่อนขาดเรียนเป็นประจำ ครูจึงมีบทบาทสำคัญมากที่มาคอยเติมเต็มชีวิตที่ขาดหายไปจนประสบความสำเร็จในทุกวันนี้ เริ่มจากครูใหญ่สมัยเรียนประถมได้หยิบยื่นโอกาสให้ศึกษาต่อโรงเรียนประจำจังหวัดในโควต้านักเรียนเรียนดีทั้งที่ยังมีเด็กเรียนดีกว่าตนกลับไม่ได้รับ  ครูคณิตศาสตร์ในโรงเรียนมัธยมที่ให้แง่คิดเรื่องความรับผิดชอบต่อการเรียนเมื่อต้องติด ร. โดยสอนให้รู้ว่าเมื่อไม่รับผิดชอบจะเจอกับอะไรและรู้จักเอาชนะกับสิ่งที่ไม่ชอบให้ได้ ครูประจำชั้นที่สอนวิชาช่างในสมัยมัธยมที่รู้ว่าตนเก็บขยะขายก็คอยเรียกไปบีบนวดเพื่อแลกกับเงินเพราะท่านไม่ต้องการให้เงินโดยตรง จึงรู้สึกดีกับวิชาสายช่างและเลือกเรียนต่อในวิทยาลัยเทคนิค ซึ่งก็ได้พบกับครูประจำชั้นที่คอยเปิดโอกาสให้ได้ฝึกฝนอย่างเต็มที่ และเมื่อครูรู้ว่าทางบ้านมีฐานะลำบากท่านก็หางานพิเศษให้ทำโดยไม่ต้องขอเงินแม่เรียน และยังให้โอกาสด้วยการเสนอโควต้าเรียนต่อปวส.

20150113-pmca06“สำหรับครูชลิตต์ มธุรสมนตรี อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ ถือว่าเป็นครูที่ผมไม่มีวันลืมเพราะท่านเป็นมากกว่าครูและมากกว่าครูที่ปรึกษา แต่เป็นเหมือนพ่อคนหนึ่ง ซึ่งผมไม่เคยได้รับความรู้สึกของความเป็นพ่อมาตั้งแต่เด็ก โดยครูคอยสอน คอยแก้ไขปัญหา ให้คำชี้แนะ ให้ความรักและการเอาใจใส่จึงเปรียบเมือนผู้ปกครองคนหนึ่ง ซึ่งครูได้เปิดโอกาสให้ผมได้สอน คอยให้คำแนะนำเรื่องการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นทั้งป.โทและป.เอก และยังเป็นแบบอย่างในการดูแลเด็กอย่างเสมอต้นเสมอปลาย เช่น การจัดทำชั่วโมงโฮมรูมพบอาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งในระดับป.ตรี จะไม่มีกันแล้ว แต่ครูใช้สำหรับติดตามเด็กที่มีผลการเรียนตกเพื่อช่วยวางแผนการเรียน และหาสาเหตุว่าเด็กมีปัญหาอะไรโดยไม่รู้สึกกดดัน ดังนั้นระบบการศึกษาของไทย ครูถือเป็นผู้มีบทบาทสำคัญของการสร้างชีวิตเด็ก เพราะผมไม่มีทั้งต้นทุนทางเศรษฐกิจและการอบรมเลี้ยงดูจากทางบ้าน แน่นอนครูจะเหนื่อยมากที่ต้องเสียสละ แต่ถ้าครูช่วยกันมันจะเหนื่อยแค่ช่วงแรกในการปูพื้นฐาน เหมือนกับการสอนให้เราหัดเดิน แต่เมื่อเราเข้มแข็งและสามารถลุกยืนได้ด้วยตัวเอง คนๆนั้นจะมีส่วนสำคัญต่อการถ่ายทอดการได้รับไปสู่คนอื่นๆต่อไป เพราะทุกคนถือว่าเป็นครูด้วยกันทั้งนั้น ทั้งบทบาทพ่อแม่หรือหัวหน้างานก็ตาม”ดร.กุลชาติ กล่าว

20150113-pmca07นางทิชา ณ นคร หรือครูมล ผู้อำนวยการสถานพินิจเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า ไม่มีใครในโลกนี้เกิดมาตั้งใจจะชั่ว เวลาคนทำผิดมันมีปัจจัยหนึ่งในชีวิตของเขาและบริบททางสังคม ซึ่งปัจจัยร่วมที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เด็กก้าวพลาดคือการศึกษาที่ตอบโจทย์เด็กกลุ่มใหญ่มากกว่า เด็กที่อ่อนแอเจ็บป่วยทางใจจึงไม่ตอบโจทย์ชีวิตเขา เขาจึงกลายเป็นผู้แพ้ทางการศึกษา เมื่อเรารู้ว่าเขาคือผู้แพ้ทางการศึกษามาก่อนการออกแบบการเรียนการสอนในบ้านกาญจนาฯจึงไม่ซ้ำเติมการเป็นผู้แพ้ เช่น เรียนหนังสือให้น้อยลงเพราะเป็นสิ่งที่เขาแพ้มาตลอด เติมเรื่องการคิดวิเคราะห์ เพิ่มในสิ่งที่เคยพร่องในระบบการศึกษาที่เขาไม่เคยได้รับ พร้อมกับดึงด้านสว่างออกมา เช่น ให้เขียนเรื่องราวดีๆที่ได้ทำกิจกรรมแล้วกระตุ้นด้านสว่างให้กลับมีพลังขึ้นมาอีกครั้ง

“ไม่มีใครเกิดมาแล้วอยากเป็นคนเลว แต่ตัวช่วยของเขาไม่มี ทำให้เดินผิดทาง เมื่อเราเชื่อแบบนี้เลยต้องทำหน้าที่ดึงเมล็ดพันธุ์ด้านดีในตัวเขาให้เติบโต และจากประสบการณ์วัยเด็กที่เคยถูกกระทำให้เป็นผู้แพ้ทางการศึกษา เพราะในวัยเด็กสอบได้คะแนนต่ำสุดของห้อง ครูจึงประกาศคะแนนด้วยน้ำเสียงเน้นย้ำให้เพื่อนทั้งห้องได้รับรู้ จนเพื่อนทั้งห้องหัวเราะเยอะ ความรู้สึกในขณะนั้นคืออับอายว่าครูไม่ควรทำแบบนี้ ซึ่งครูอาจคิดว่าการลงโทษเด็กคนหนึ่งเพื่อเป็นบทเรียนให้เด็กส่วนใหญ่ แต่ยังมีวิธีอื่นๆอีกมากที่ไม่ฆ่าเด็ก 1 คนที่เหลือ ซึ่งระบบการศึกษาปัจจุบันพยายามรักษาคนกลุ่มใหญ่ในห้องเรียนโดยฆ่าใครก็ได้สักคนเพื่อรักษาคนกลุ่มใหญ่เอาไว้ ดังนั้นโรงเรียนจึงเป็นพื้นที่สาธารณะและมีเงื่อนไขเหมาะสมมากที่จะแสดงความรักต่อกันและเป็นต้นทางสำคัญที่จะปกป้องเด็กไม่ให้หลุดออกมาถึงปลายทางอย่างบ้านกาญจนา ผู้ทำหน้าที่เป็นครูจึงไม่ควรด่วนสรุปในทุกปรากฎการณ์ที่เด็กแสดงออกมา หน้าที่ของเราคือตอบสนองอย่างมีบทเรียนเพราะการที่คน 1 คน ถูกทำให้ไม่มีตัวตนมันบาดเจ็บ ครูจึงต้องเห็นเด็กทุกคน ไม่ว่าเขาจะงดงามเรียนเก่งหรือไม่ฉลาดเลยก็ตาม” นางทิชา กล่าว

ดาวน์โหลด  รายละเอียดการประกวด เล่าเรื่องด้วยหัวใจ  “จาก ศิษย์ ถึง ครู”  โครงการประกวดคลิปเรื่องเล่าจากลูกศิษย์ถึงคุณครู    ในโครงการรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี

รายละเอียดการประกวด เล่าเรื่องด้วยหัวใจ  “จาก ศิษย์ ถึง ครู”  โครงการประกวดคลิปเรื่องเล่าจากลูกศิษย์ถึงคุณครู    ในโครงการรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี
141.8 KiB
1365 Downloads
Details

 

20150113-pmca03
20150113-pmca02 20150113-pmca01

                              20150113-pmca08 20150113-pmca04

 

Comments are closed.