ครูบรูไน

มาดาม ลิม ซง โงว เนการา
ประเทศบรูไนดารุสซาลาม
  

ผู้ค้นหาแววและดึงศักยภาพลูกศิษย์เป็นรายบุคคล เพื่อให้นักเรียนทุกคนมีตัวตนในชั้นเรียน”

ครูลิม วัย 52 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์ เคมีและคณิตศาสตร์ ศึกษาต่อระดับปริญญาโทด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ เริ่มทำหน้าที่เป็นครูสอนวิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป ที่โรงเรียนระดับมัธยมศึกษา 4 แห่งตั้งแต่ปี 2533-2548 และด้วยการสอนที่ส่งผลให้ลูกศิษย์มีผลการเรียนที่ดี จึงได้โอนไปสอนวิชาเคมี ระดับ A-level ที่ Duli Pengiran Muda Al-Muhtadee Billah College ในปี 2549 จนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เป็นครูพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาการพัฒนาบุคลากรด้านวิชาชีพแก่ครูในวิทยาลัย รวมทั้งระดับอำเภอและประเทศ รวมประสบการณ์ทำงาน 27 ปี ด้วยความมุ่งมั่น เสียสละในการสอน และบทบาทที่โดดเด่นในวิชาชีพครู ทำให้ได้รับรางวัล Excellent Service Medal ในปี 2554 และรางวัลเกียรติยศ Excellent Award ในปี 2555 จากสุลต่านแห่งบรูไนดารุสซาลาม

จากประสบการณ์ในวัยเรียนที่เป็นนักเรียนระดับปานกลาง ทำให้ไม่เป็นที่สนใจของครู จนมาวันหนึ่งได้มาพบกับครูที่เห็นคุณค่า “I have value I am somebody.” จึงเป็นจุดเปลี่ยนและตั้งปณิธานว่า จะเป็นครูที่ให้เด็กทุกคนมีตัวตนในชั้นเรียน และด้วยประสบการณ์สอนที่หลากหลายทั้งในระดับม.ต้นและม.ปลาย ทำให้เข้าใจปัญหาเชิงพฤติกรรมของนักเรียนในแต่ละช่วงวัย พร้อมกับให้ความสำคัญกับลูกศิษย์ทุกคน วิชาเคมีจึงกลายเป็นวิชาที่ลูกศิษย์ชื่นชอบและเปิดใจที่จะเรียนรู้ เพราะไม่มีกำแพงระหว่างครูกับศิษย์ นอกจากนี้รูปแบบการสอนของครูลิม เน้นการพัฒนาทักษะความคิดและทักษะทางสังคม จึงให้นักเรียนทำงานเป็นกลุ่มเพื่อให้มีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน แก้ไขปัญหาร่วมกัน รู้จักตั้งคำถาม ซึ่งคุณสมบัติที่ดีของครูคือต้องสามารถประเมินการเรียนรู้ของนักเรียนแต่ละคนและรู้ว่าจะดึงทักษะของเขาออกมาใช้อย่างไร

“มีนักเรียนคนหนึ่งเป็นเด็กเรียนรู้ช้า ดิฉันจัดให้เด็กคนนี้อยู่เกรด ‘อี’ คือมีความยากลำบากในการเรียนรู้ จึงใช้วิธีสอนแบบตัวต่อตัวในช่วง 2-3 เดือนแรก และเด็กคนนี้ก็สร้างความประหลาดใจให้กับทุกคนด้วยการได้เกรด ‘เอ’ ในการสอบ A-level ประสบการณ์นี้ทำให้เรียนรู้ว่า แท้ที่จริงแล้ว เด็กคนนี้ไม่ใช่เด็กที่เรียนช้า การที่เขามีปัญหาอุปสรรคในการเรียนช่วงแรกเพราะเขาไม่มีพื้นฐานที่ดี การช่วยสอนแบบตัวต่อตัวทำให้เขามีพื้นฐานการเรียนที่ดีและเข้มแข็งขึ้น ในฐานะครูจำเป็นต้องค้นหาแววของเด็ก ทำให้เด็กนำทักษะของเขาออกมาใช้”

 

Comments are closed.