ผลการเสวนาออนไลน์ ครั้งที่ 3 เรื่องโรงเรียนวิถีใหม่ (The New Normal School) ว่าด้วยการเตรียมการเปิดโรงเรียนในสถานการณ์ป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ตอนที่ 2

จากการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี จัดดำเนินการเสวนาออนไลน์ THE NEW NORMAL SCHOOL ครั้งที่ 3 เรื่องโรงเรียนวิถีใหม่ ว่าด้วยการเตรียมการเปิดโรงเรียนในสถานการณ์ป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2563 ตั้งแต่เวลา 16.30 – 19.00 น. ด้วยระบบ ZOOM ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิร่วมเสวนา ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ดร.คุณหญิง กษมา วรวรรณ ณ อยุธยา กรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ดร.ทินสิริ ศิริโพธิ์ กรรมการวิชาการ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี นายแพทย์ ศราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย ผศ.ดร.วิมลศิริ ปรีดาสวัสดิ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ดร.ตุลย์ ไตรยสวรรค์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี รศ.ดร.ชวิน จันทเสนาวงศ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

วิทยากรเสวนา ประกอบด้วย ดร.พีรานุช ไชยพิเดช ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลพิบูลเวศม์ ครูพูลศักด์ เสนฤทธิ์  ผู้อำนวยการโรงเรียนกมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ ดร.พิศณุ ศรีพล ผู้อำนวยการโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ธนบุรี ดร.จุฬากรณ์ มาเสถียรวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติ โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วยคณะทำงาน วิทยากร และเครือข่ายครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ทั้งสิ้น 219 คน โดยมี ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เป็นผู้ดำเนินการการเสวนา

ดร.พีรานุช ไชยพิเดช ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลพิบูลเวศม์ นำเสนอแนวปฏิบัติการเปิดสถานศึกษาเพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในส่วนของมาตรการด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยที่โรงเรียนได้ดำเนินการอยู่ ซึ่งทางโรงเรียนได้นำคู่มือจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มาเป็นแนวปฏิบัติสำหรับสถานศึกษาในการการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในส่วนของโรงเรียนที่มีการเตรียมความพร้อมในเรื่องของ 6 มิติของการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน โรงเรียนได้นำมาใช้เป็นกรอบแนวทางในการประเมินสำหรับทางโรงเรียนที่จะเปิดภาคเรียนในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ที่จะถึงนี้ โดยทางโรงเรียนได้นำมาเป็นแบบการดำเนินการ ซึ่งทางโรงเรียนได้ทำคลิปเผยแพร่ให้กับนักเรียนและผู้ปกครองเพื่อทำความเข้าใจก่อนที่จะมาโรงเรียน

ดร.พีรานุช กล่าวว่า 6 ข้อที่ต้องเน้นและเป็นข้อสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการวัดไข้ การสวมหน้ากาก การล้างมือ การทำความสะอาด การเว้นระยะห่าง และการลดความแออัด เป็นสิ่งที่ทางโรงเรียนต้องยึดถือและปฏิบัติให้ได้ทั้ง 6 ข้อนี้ นอกจากนี้โรงเรียนก็มีการสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องของโรคโควิด-19 ให้กับผู้เกี่ยวข้องกับโรงเรียน ตลอดจนผู้ปกครองและนักเรียนให้มีความรู้ความเข้าใจโดยการเผยแพร่สื่อออนไลน์ต่าง ๆ ที่เป็นสื่อที่โรงเรียนสามารถสื่อสารกับทางผู้ปกครองได้และจัดทำคู่มือแนวทางในการป้องกันและการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้กับผู้ปกครอง และเป็นแนวปฏิบัติตั้งแต่ผู้บริหาร ครู บุคลากร ผู้ปกครองและนักเรียน

ครูพูลศักด์ เสนฤทธิ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนกมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ นำเสนอการเตรียมความพร้อมของโรงเรียนกมลาไสยซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมประจำอำเภอ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา มัธยมศึกษาเขตที่ 24 ตั้งอยู่ที่ อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ สำหรับนักเรียนที่มาเรียนที่โรงเรียนกมลาไสย จะมาจากสามอำเภอ ได้แก่ อำเภอกมลาไสย อำเภอคล้องชัย และอำเภอร่องคำ ส่วนการเตรียมความพร้อมของโรงเรียนในช่วงของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตามสภาพพื้นที่และความเป็นจริง โดยคำนึงถึงนักเรียนให้มากที่สุด โดยยึดหลักการเข้าถึงผู้เรียน และให้นักเรียนได้เรียนรู้ มีความปลอดภัยมากที่สุด

สำหรับแนวทางการเตรียมความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนนั้นมี 3 รูปแบบ สำหรับรูปแบบที่ 1 เป็นแบบ On- line 100 เปอร์เซ็นต์นั้น รูปแบบนี้จะใช้ในกรณีที่มีการระบาดรุนแรง และได้สำรวจผู้ปกครองและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องแล้วคือไม่เห็นด้วยและไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากมีปัญหาหลายอย่าง ส่วนรูปแบบที่ 3 เป็นรูปแบบ On-site เป็นการจัดการเรียนการสอนแบบปกตินั้น ถ้ารัฐบาลประกาศให้ดำเนินการสอนได้ถึงจะได้ดำเนินการ ฉะนั้นทางโรงเรียนจึงได้เลือกเอารูปแบบที่ 2 คือ 0n-site และ On-line มาบูรณาการ เพื่อที่จะลดจำนวนคนที่มาเรียนต่อวัน และเป็นการลดโอกาสที่จะติดเชื้อ สิ่งนี้โรงเรียนได้ประชุมวางแผนว่าจะใช้รูปแบบที่ 2 ในการเปิดภาคเรียนในการดำเนินการจัดการเรียนการสอน และได้เตรียมสถานที่ในการเปิดภาคเรียน ทางโรงเรียนได้เตรียมพื้นที่ภายในบริเวณโรงเรียนทั้งหมด ห้องเรียนต่าง ๆ และที่สำคัญคือการจัดห้องเรียนให้นักเรียนนั่งในห้องเรียนนั้นไม่เกิน 20 คน

ส่วนการเตรียมการป้องกัน ทางโรงเรียนได้แจกหน้ากากอนามัยให้กับนักเรียนและบุคลากรทุกคน มีการคัดกรองตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย และเตรียมจุดบริการล้างมือด้วยสบู่ และจัดระยะห่างกันทุกจุด ที่สำคัญทางโรงเรียนได้เตรียมเครื่องฉีดเจลแอลกอฮอล์อัตโนมัติ โดยนักเรียนโรงเรียนกมลาไสยชุมนุมหุ่นยนต์ได้ทำการผลิตและมอบให้โรงเรียนใช้ในโรงเรียน

ก่อนเปิดภาคเรียน ทางโรงเรียนได้ทำความสะอาดพื้นผิวที่ใช้ร่วมกันทุก 2 ชั่วโมง และลดความแออัด ส่วนโรงอาหาร โดยจะให้รับประทานอาหารกลางวันด้วยการแบ่งเป็น 3 ผลัด ๆ ละไม่เกิน 400 คน และจุดที่นักเรียนซื้ออาหารแล้วก็นำไปรับประทานตามจุดต่าง ๆ ตามบริเวณโรงเรียน

ทางโรงเรียนจัดให้มีการอบรมให้ความรู้กับครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยใช้โปรแกรมซูม เป็นต้น การอบรมนี้ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี มีการซ่อมเสริมการทำแบบฝึกหัด หากทำแบบฝึกหัดผ่านจะได้รับเกียรติบัตร จากการอบรมนี้ ครูสามารถสร้างวิชาเรียนเป็นห้องเรียน และนักเรียนสามารถเข้าเรียนได้

สำหรับการเตรียมผู้ปกครองนั้น ทางโรงเรียนได้แจ้งให้ผู้ปกครองได้รับทราบและเข้าถึงความจำเป็นและแนวทางการศึกษาในช่วงโควิด-19 ทางโรงเรียนได้จัดทำแบบสำรวจเกี่ยวกับความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนโดยโรงเรียนได้ใช้ศูนย์บริการวิชาการชุมชนนั้นเป็นหลักในการดำเนินการ เพราะว่าศูนย์บริการวิชาการชุมชนนั้นก็คือจะใช้ครูในพื้นที่ในหมู่บ้านนั้น และบ้านของผู้นำชุมชน บ้านของศิษย์เก่า เพื่อการมีส่วนร่วม ส่วนการใช้ศูนย์บริการวิชาการชุมชนจะใช้อยู่ 2 วัน คือวันจันทร์ เป็นวันที่มีการนัดหมายนักเรียนหรือผู้ปกครองที่เรียนทางออนไลน์นั้น มารับใบงานหรือมารับทราบปัญหาต่าง ๆ ส่วนอีกวันหนึ่งคือวันพฤหัสบดี ครูจะไปพบเพื่อรับใบงานและรับทราบปัญหาจากผู้ปกครองนักเรียนหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อที่จะนำมาแก้ปัญหาที่โรงเรียนต่อไป ทั้งนี้ทางโรงเรียนได้ดำเนินการตั้งศูนย์บริการวิชาการประจำหมู่บ้านด้วย

การเตรียมความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนตามที่รูปแบบกระทรวงศึกษาธิการกำหนดนั้นมี 3 รูปแบบ คือรูปแบบ On-site รูปแบบ On-line และรูปแบบ On-air เพราะฉะนั้นทางโรงเรียนกมลาไสยก็ได้ประชุมวางแผนกันแล้วว่าควรจะใช้รูปแบบบูรณาการมาใช้ คือเราใช้รูปแบบ On-site กับ On-line เข้ามาบูรณาการในการจัดการเรียนการสอนที่จะเปิดภาคเรียนในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 เป็นการสอนสลับฟันปลา

 

การเตรียมความพร้อมในรูปแบบการจัดการเรียนการสอนนั้น คือเราใช้สลับฟันปลา โดยจัดห้องเรียนห้องละไม่เกิน 20 คน และได้กำหนดว่าวันจันทร์เป็นการเรียนในรูปแบบ On-site ชั้น ม.1 ม.3 ม.5 ส่วน ม.2 ม.4 ม.6 นั้น ให้เรียน On-line  อยู่ที่บ้าน เพื่อไม่ให้นักเรียนมาโรงเรียนจำนวนมาก ส่วนวันอื่น ๆ ก็เช่นเดียวกัน ส่วนการเรียนการสอนในแต่ละสัปดาห์ตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันเสาร์ ส่วนวันหยุดเรียนคือวันอาทิตย์

ครูปราโมทย์ โพธิไสย รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ การเตรียมระบบไอซีที ว่า สำหรับโรงเรียนกมลาไสยนั้น ความพร้อมทางด้านไอซีทีที่เราอยู่ในอำเภอ จะมีความพร้อมขนาดไหน บังเอิญโรงเรียนกมลาไสยเป็นโรงเรียนที่ได้เตรียมความพร้อมในเรื่องนี้มา 3 ปี ได้อบรม Google Class Room สำหรับคุณครูสอน On-line เหตุผลเพราะว่าโรงเรียนกมลาไสยเป็นศูนย์ DIS ตะวันออกเฉียงเหนือมาประมาณ 12 ปี และได้เน้นเรื่องเทคโนโลยีพอสมควร ดังนั้นทุกห้องเรียนจึงมีความพร้อมในเรื่องของโปรเจ็คเตอร์ ทีวี ระบบการกระจายเครือข่ายสัญญาณอินเทอร์เน็ต แต่ทีนี้พอโควิด-19 เข้ามา การจัดห้องเรียนจะต้องหารสอง จากนักเรียน 40 คน ก็จะเหลือ 20 คน จึงจำเป็นต้องเลือกแบบที่ 2 อย่างที่ท่านผู้อำนวยการได้นำเสนอมาแล้ว ดังนั้นใน 20 คน สองห้องจะต้องติดกัน ครูหนึ่งคนสามารถสอน 2 ห้องพร้อมกัน โดยเชื่อมต่อระบบทีวีหรือโปรเจ็คเตอร์สองห้อง ให้สามารถสอนหนึ่งห้องแต่เห็นพร้อมกันสองห้องในแต่ละวิชา และเพื่ออำนวยความสะดวกก็ได้ติดตั้งระบบเครื่องเสียง มีลำโพง พาวเวอร์แอม ทุกห้อง ซึ่งปกติก็มีอยู่แล้ว แต่ห้องไหนที่ชำรุดและไม่มีความพร้อมก็ปรับเปลี่ยนซึ่งตอนนี้กำลังดำเนินการ

 

สิ่งหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้ก็คือเรื่องระบบปลั๊กไฟ เพราะนักเรียนบางคนบางครอบครัวก็มีความพร้อม มีแล็ปท๊อป นักเรียนบางคนก็มีสมาร์ทโฟน ซึ่งจากการสำรวจนักเรียนมัธยมเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์มีสมาร์ทโฟนที่สามารถใช้ได้ แต่เพื่อความสะดวกในการเรียนการสอน จึงต้องใช้ระบบจอที่หน้าห้อง นักเรียนจะได้เห็นภาพที่ชัดเจน และได้ยินเสียงที่ชัดเจน

 

เมื่อห้องเรียนพร้อม จึงขาดไม่ได้ในเรื่องเครือข่ายวิชาการ ที่สำคัญโรงเรียนกมลาไสยมีสมาคมผู้ปกครองและครู เป็นสมาคมที่เข้มแข็ง และพร้อมที่จะสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการประสานผู้ปกครอง ประสานศิษย์เก่า และการสนับสนุนทุนทรัพย์ในการที่จะมาส่งเสริมการจัดการเรียนการสอน มีชมรมศิษย์เก่าโรงเรียนกมลาไสยจะสนับสนุนในเรื่องการระดมทุนเพื่อที่จะมาพัฒนาและส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียน เพราะว่าโรงเรียนกมลาไสยเป็นโรงเรียนเก่าแก่อายุ 72 ปีกับการตั้งโรงเรียน เครือข่ายโรงเรียนมัธยมในจังหวัดกาฬสินธุ์ สพม.24 มีทั้งหมด 55 โรง มีการแลกเปลี่ยน และยังมีเครือข่าย DIS จึงเป็นพื้นฐานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการจัดการเรียนการสอน ในเรื่องการวางแผนการเรียนการสอน และสมาคม DIS แห่งประเทศไทยก็ได้จัดประชุมทั้งประเทศเพื่อได้เสนอแนะการจัดการเรียนการสอนแบบ On-line ซึ่งโรงเรียนกมลาไสยก็เป็นศูนย์ของการเรียน On-line ศูนย์หนึ่งของประเทศไทยด้วย ที่สำคัญที่สุดก็คือ NEW NORMAL SCHOOL ของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ก็เป็นเครือข่ายหลักที่ทางโรงเรียนกมลาไสยจะได้อาศัยในเรื่องกระบวนการต่าง ๆ ที่จะได้รับการเสนอแนะ

 

สิ่งที่ทางโรงเรียนได้เตรียมเพิ่มเข้ามาก็คือการรายงานข้อมูลข่าวสารเพื่อให้ผู้ปกครอง ให้นักเรียน ศิษย์เก่า และประชาชนต่าง ๆ ได้รับทราบ เมื่อก่อนที่ใช้ทางหลักก็คือเว็บไซต์ของโรงเรียน ทางไลน์ ทางเฟสบุ๊ค เพราะคุณครูประจำชั้นทุกคนจะมีกลุ่มไลน์กับผู้ปกครองและนักเรียน ซึ่งปีที่แล้ว เราได้ทำสำเร็จ 80 เปอร์เซ็นต์ ทางโรงเรียนก็ได้จัดตั้งทีมงานทีวีออนไลน์เพื่อที่จะเป็นสื่อกลางประสานระหว่างนักเรียน ผู้ปกครอง ชุมชน ศิษย์เก่า และโรงเรียนเครือข่าย เพื่อที่จะให้คุณครูที่สร้างผลงานการจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพและได้นำมาสื่อสารทีวีออนไลน์ และมีผังรายการเพื่อเป็นการนำเสนอข่าวสารความเคลื่อนไหวของโรงเรียน ความเคลื่อนไหวของทางราชการและประเทศ เป็นต้น

 

ดร.พิศณุ ศรีพล ผู้อำนวยการโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ธนบุรี นำเสนอความพร้อมการรับมือในสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่า มาตรการของทางโรงเรียนที่จะเสนอผู้ปกครองก็คือเราจะทำอ่างล้างมือจากหน้าโรงเรียนไปจนถึงจุดคัดกรอง ระหว่างทางประมาณ 120 จุดทั่วโรงเรียน เราจะเน้นเรื่องล้างมือก่อนเข้าโรงเรียน และมีจุดคัดกรองกลางที่ทุกคนต้องผ่านที่จุดนี้ จุดนี้ก็จะเป็นเพียงอุปกรณ์ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย และวางแนวทางเดินบังคับให้นักเรียนเดินเข้าออกโรงเรียน โรงเรียนมี 80 กว่าห้องเรียน ในห้องเรียนทั้งหมด ทางโรงเรียนแยกแยะแต่ละห้องเรียนไม่เท่ากันเพราะมีโปรแกรมหลากหลาย ห้องเรียนที่มีนักเรียนน้อยที่สุดคือ 15 คน ห้องเรียนที่มีนักเรียนระหว่าง 15-25 คนมีอยู่ 8 ห้องเรียน ห้องเรียนที่มีนักเรียนระหว่าง 26-30 คนมีอยู่ 13 ห้องเรียน ห้องเรียนที่มีนักเรียนระหว่าง 31-35 คนมีอยู่ 20 ห้องเรียน ห้องเรียนที่มีนักเรียนระหว่าง 36-40 คนมี 13 ห้องเรียน ห้องเรียนที่มีนักเรียนระหว่าง 41-45 คนมีอยู่ 20 ห้องเรียน และสูงสุดของเราคือ 50 คนคือชั้นมัธยมปลาย

 

จากความหลากหลายของโปรแกรมการเรียนและห้องเรียน จึงได้มีการหารือกันว่าเราจะรับมือทางสาธารณสุขได้อย่างไร ได้หารือกับครู ผู้ปกครอง ได้ข้อสรุปว่าจะนำมาตรการที่มีการนำเสนอให้กับเครือข่ายของผู้ปกครอง ส่วนข้อสรุปที่ได้คุยกันในการตกผลึกของแนวความคิดว่าเราจะทำอย่างไรบ้าง ก็คือ เราจะขอร้องให้สวมหน้ากากอนามัยและเฟซชิลฟ์ ผสมผสานทั้งสองอย่างคู่กันในโรงเรียน ทั้งครูและนักเรียน และเรากำหนดจุดล้างมือให้ทั่วโรงเรียน ไม่ว่าจะไปจุดใดก็มีจุดล้างมือ จุดที่เราเน้นมากคือจุดก่อนเข้าโรงเรียน ซึ่งขณะนี้มีอยู่ประมาณ 5-6 จุด และจะเพิ่มให้มี 20 จุดขึ้นไป เมื่อเข้ามาถึงจุดคัดกรองแล้ว เราจะมีสี่เลนสำหรับกรองอุณหภูมิด้วยระบบเทอร์โมสแกน จุดนี้จะมีครูเฝ้า และในตัวระบบนี้ ถ้าใครมีอุณหภูมิสูงก็จะมีสัญญาณเตือนก็แยกคัดกรองนักเรียนออกมา เมื่อผ่านระบบเทอร์โมสแกนเข้ามาแล้วก็จะผ่านจุดฆ่าเชื้อด้วยสารไฮโปรคลอไรด์ โดยมีพรมรองรับ และพรมนี้จะเปลี่ยนทุกหนึ่งชั่วโมงเพื่อไม่ให้สะสมเชื้อโรคซึ่งเราได้เตรียมการไว้แล้ว

 

หลังจากออกจากพื้นที่ฆ่าเชื้อแล้ว เราจะมาเข้าอุโมงค์ฆ่าเชื้อ ซึ่งเป็นนวัตกรรมของครูที่โรงเรียนที่คิดขึ้นมา โดยใช้น้ำยาเป็นไอหมอก ไม่มีการระคายเคืองผิว ซึ่งได้รับการยืนยันจากมหาวิทยานเรศวรซึ่งมีการวิจัยรองรับ เพื่อให้ผู้ปกครองมั่นใจว่าทางโรงเรียนมีมาตรการทางสาธารณสุขที่ดี เมื่อผ่านการคัดกรองแล้ว ทุกคนจะต้องมีสัญลักษณ์การผ่านการคัดกรอง โดยทั่ว ไปจะใช้สติกเกอร์ติดไว้ที่เสื้อเป็นสัญลักษณ์ซึ่งจะต้องใช้เป็นแสนชิ้นถึงจะเพียงพอ ดังนั้นที่ประชุมเสนอว่าเราต้องใช้ตรายางสัญลักษณ์แสตมป์ไปที่แขนแทน อันนี้มีคนแนะนำว่าให้ออกแบบตราให้สวยเพื่อจะให้ทราบว่าใครผ่านกระบวนการคัดกรองแล้ว อันนี้เป็นมาตรการสาธารณสุข

 

อีกมาตรการหนึ่งคือ การล้างมือระหว่างวัน โรงเรียน ครูและผู้ปกครองเน้นว่าควรมีการล้างมือบ่อย ๆ ก็เลยแบ่งเวลาพัก 10 นาที และเวลาก่อนกลับบ้าน 10 นาที มาเป็นเวลาล้างมือของการเรียนในภาคเช้า เมื่อเรียนไปได้สัก 2 ชั่วโมงก็มีการพักก็ให้มีการล้างมือ โดยเราจะติดตั้งอ่างล้างมือไว้ตามจุดที่สำคัญของอาคารเรียนเพื่อให้นักเรียนออกมาล้างมือเป็นระยะ โดยเพิ่มเวลาล้างมือลงไปในตารางสอนด้วย

 

ในจำนวนที่เรามีนักเรียนอยู่ เราจะใช้ระยะห่างอย่างไรในการจัดคนเข้ามาที่มีนักเรียนประมาณ 3,200 กว่าคนถ้าเข้ามาโรงเรียนพร้อมกันคงไม่ได้แน่ เพราะจะแออัดมาก ก็เลยวางรูปแบบว่านักเรียนที่มี 25 คนขึ้นไป จัดให้มีระยะห่างประมาณ 2.5 เมตร นักเรียนที่มี 30 คนขึ้นไปจัดให้มีระยะห่างประมาณ 2-3 เมตร นักเรียนที่มี 35 คนขึ้นไปจัดให้มีระยะห่าง 1.8 เมตร ส่วนกลุ่มที่นักเรียน 45 คนขึ้นไป เราจะแบ่งครึ่ง โดยให้ครึ่งหนึ่งเรียนออนไลน์ที่บ้าน อีกครึ่งหนึ่งเรียนอยู่ที่โรงเรียน โดยใช้บทเรียนและเนื้อหาเดียวกัน กรณีที่มีนักเรียนตั้งแต่ 35 คนขึ้นไป เราจะแบ่งนักเรียนออนไลน์เป็นสัปดาห์ต่อสัปดาห์ โดยสลับกันไป ส่วนนักเรียนที่น้อยกว่า 35 คนก็ให้มาเรียนตามปกติได้ทั้งห้อง สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะเราไม่สามารถแบ่งเป็น 20 คนได้ แบ่งห้องเรียนเป็นสองห้องได้ เนื่องจากเรามีห้องเรียนไม่เพียงพอ และถ้าเราแบ่งนักเรียนพิเศษเป็นสองส่วน เราต้องให้ครูสอนสองครั้งซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาในเรื่องค่าใช้จ่ายในการทำงานล่วงเวลา จึงกำหนดให้อยู่ในห้องเรียนประมาณ 30 คน

 

ส่วนเรื่องระยะห่างและการใช้ชีวิตประจำวัน ทางโรงเรียนได้งดกิจกรรมการเข้าแถวหน้าเสาธง จะให้นักเรียนไปเข้าแถวที่โต๊ะเรียนในห้องเรียนแทน และงดกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันมาก ๆ ในส่วนของการพัก เราก็แบ่งการพักกลางวันเป็นสองช่วงเวลา ในสองช่วงเวลาก็มาตรการโดยออกแบบโต๊ะรับประทานอาหารให้นั่งกันได้โดยที่ไม่มีผลกระทบทางด้านฝุ่นละอองจากการไอการจาม ที่สำคัญคือความหนาแน่นในโรงอาหารนั้น แต่ก่อนนักเรียนไม่สามารถนำอาหารออกจากโรงอาหารได้ ถือว่าเป็นการผิดระเบียบโรงเรียน แต่ขณะนี้เราต้อง NEW NORMAL คือสามารถให้นำอาหารออกจากโรงอาหารไปรับประทานที่ห้องเรียนได้ เพื่อลดความแออัด แต่ภาชนะที่จะนำออกไปจากห้องอาหารนั้นต้องเป็นภาชนะที่เป็นกระดาษเท่านั้น ซึ่งทำให้เป็นต้นทุนประกอบการ ทำให้ร้านค้ามีต้นทุนสูง โรงเรียนก็เห็นใจร้านค้า โรงเรียนจึงซื้อมาเป็นจำนวนมากเพื่อให้ได้ในราคาถูก แล้วนำมาขายให้กับร้านค้าในราคาต้นทุน เพื่อไม่ให้ร้านค้าแบกรับต้นทุนมาก ในกรณีที่นำอาหารไปรับประทานในห้องเรียน ก็ไม่อนุญาตนำช้อนจากส่วนกลางของโรงอาหารไป แต่ต้องให้นำช้อนมาจากบ้านแทน

 

เราคิดรูปแบบบูรณาการแบบลูกเสือมาใช้คือมี พลาธิการหมู่ เราจะให้นักเรียนในห้องแบ่งเป็นหมู่ลูกเสือ จะ 8 คน หรือ 10 คน แล้วแต่ของแต่ละห้อง โดยพลาธิการมีหน้าที่ดูแลเรื่องการซื้อและการนำอาหารมาให้เพื่อนในโต๊ะรับประทาน แทนที่คน 8 คน หรือคน 10 คนก็ไม่ต้องเข้าคิวซื้ออาหารอีก ก็เหลือ 1 คนเท่านั้นที่บริการเพื่อน โดยสลับกันเป็นพลาธิการ

 

ทั้งหมดนี้จะนำเสนอผู้ปกครอง ซึ่งผู้ปกครองก็อาจมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่ามาตรการของโรงเรียนที่ทำอยู่นี้ ทางผู้ปกครองเห็นด้วยไหม และจะเสนอให้ทำเพิ่มอะไรบ้าง และอะไรที่ทางโรงเรียนทำได้ก็ยินดีทำให้ อะไรที่ทางโรงเรียนทำไม่ได้ ทางโรงเรียนจะแจ้งว่าทำไม่ได้เพราะอะไรบ้าง ทั้งหมดนี้เมื่อเรานำเสนอผู้ปกครองแล้ว ทางผู้ปกครองก็จะมีทางเลือกอยู่สามทางคือ ไม่ว่าจะมีมาตรการอะไรก็จะไม่ให้ลูกมาโรงเรียน เพราะว่ากลัว เนื่องจากผู้ปกครองบางคนมีลูกคนเดียว จะรู้สึกกังวลมาก แม้ทางโรงเรียนจะมีมาตรการอะไรก็ไม่อยากให้ลูกมาโรงเรียน ผู้ปกครองแบบที่สองก็มีว่าให้ลูกมาโรงเรียนทุกวัน เพราะมีความเชื่อมั่นในโรงเรียน ถ้าอยู่บ้านอาจจะซน อาจจะเล่นแต่เกมและสภาพสิ่งแวดล้อมที่บ้าน จึงให้ลูกมาโรงเรียนดีกว่า และทางเลือกแบบที่สามก็คือมาเรียนตามข้อเสนอของโรงเรียน คือแบ่งกลุ่มเป็นแบบที่นำเรียนมา ทั้งสามวิธีนี้ เราจะสำรวจให้แล้วเสร็จภายในสัปดาห์หน้า ส่วนมาตรการเสริมก็คือว่าในทั้งหมดที่เป็นสามทางเลือก เราเตรียมความพร้อมไว้ทั้งหมด ไม่ว่าผู้ปกครองจะเลือกแบบไหน เราก็มีระบบรองรับทั้งหมด

 

ส่วนมาตรการทางสังคม ผลกระทบจากการดำรงชีพ ทางโรงเรียนสำรวจพบว่าครอบครัวที่มีผลกระทบมีอยู่ประมาณ 300 ครอบครัว และใน 300 ครอบครัวนี้ เราใช้การไม่ทิ้งกันในยามยาก เมื่อกลุ่มเหล่านี้มาโรงเรียนอาจไม่มีค่าอาหารเช้า ไม่มีค่าอาหารกลางวัน ไม่มีค่ารถ เราจะใช้เครือข่ายของผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วม แต่ละครอบครัวทางเครือข่ายผู้ปกครองช่วยกันดูแล บ้านไหนไม่มีค่ารถ อาจต้องใช้วิธีการผูกกันเป็นบ้านหรือสองบ้านดูแลกัน อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ผู้ปกครองโรงเรียนมีความถนัดที่จะดูแลซึ่งกันและกัน

 

อีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มที่ขาดอุปกรณ์ในการเรียน ซึ่งกลุ่มนี้ก็จะมีอยู่ประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ ใน 5 เปอร์เซ็นต์นี้ เครือข่ายผู้ปกครองจะช่วยกันดูแลเพื่อนของลูกได้อย่างไรบ้าง ในส่วนของโรงเรียนก็จะช่วยสนับสนุน โดยทุกอย่างให้เกิดจากผู้ปกครองตัดสินใจเป็นหลัก