เปิดรายชื่อครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ปี 2564 สุดยอดครู 11 ประเทศในอาเซียนและติมอร์- เลสเต รมว.ศธ.ห่วง ความรู้ถดถอยของผู้เรียน ย้ำมาตรการก่อนเปิดภาคเรียนโรงเรียนต้องมีอิสรภาพ ออกแบบการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น ครูประทินเผยบทบาทของครูในยุคโควิด-19 การศึกษาต้องยืดหยุ่น กระชับหลักสูตร พบหัวใจความเป็นครูลงพื้นที่เอาความรู้ไปถึงตัวเด็กเมื่อออนไลน์เข้าไม่ถึง
เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ที่กระทรวงศึกษาธิการ ในงานแถลงข่าวครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ปี 2564 บทบาทความเป็น ‘ครู’ ในยุคโควิด-19 โดยมี น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการ การศึกษาขั้นพื้นฐาน นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และนพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ร่วมแสดงความยินดีแก่ครูผู้ได้รับรางวัล
ดร.กฤษณพงศ์ กล่าวว่า รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เป็นรางวัลเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติครูผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตลูกศิษย์ และมีคุณประโยชน์ต่อการศึกษาในประเทศอาเซียนและติมอร์ เลสเต รวม 11 ประเทศ ประเทศละ 1 รางวัล โดยจัดมอบรางวัลในทุก 2 ปี และเพื่อถวายเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เจ้าฟ้านักการศึกษา โดยความร่วมมือของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง
ประกาศ รายชื่อผู้ได้รับพระราชทานรางวัล สมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 4 ปี 2564
สำหรับครูผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี มาจากการคัดเลือกของกระทรวงศึกษาธิการในอาเซียนและติมอร์-เลสเต ทั้ง 11 ประเทศ โดยมีคุณสมบัติเป็นครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงแก่ชีวิตของลูกศิษย์และมีคุณูปการต่อวงการศึกษา ประเทศละ 1 คน ซึ่งจะมีการคัดเลือกสุดยอดครู 2 ปีครั้ง เพื่อเข้ารับพระราชทานรางวัล ประกอบด้วย เหรียญรางวัล ประกาศนียบัตร โล่ เข็มเชิดชูเกียรติทองคำ และเงินรางวัล รางวัลละ 10,000 เหรียญสหรัฐ โดยมีกำหนดพิธีพระราชทานรางวัล ในวันที่ 29 ตุลาคมนี้ ซึ่งครูผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี 11 ประเทศในอาเซียนและติมอร์-เลสเต ปี 2564 มีประวัติที่น่าสนใจดังนี้
- บรูไน ดารุสซาลาม เปองีรัน ฮาจี โมฮัมหมัด วาฮับ บิน เปองีรัน ฮาจี อับดุลละฮ์ สอนวิชาศิลปะการประกอบอาหาร ที่ School of Hospitality and Tourism, IBTE Sultan Saiful Rijal Campus สายอาชีพ มีประสบการณ์และทักษะการสอนกว่า 20 ปี เป็นผู้นำในการจัดหลักสูตรการปรุงอาหารและการบริการแบบมืออาชีพ จัดทำหลักสูตรการบริหารจัดการอาหารแบบครบวงจร
- กัมพูชา นายณอน ดารี สอนระดับประถมศึกษาที่โรงเรียน Quach Mengly Toulbeng, จังหวัด Kampong Cham เริ่มใช้การบูรณาการการเรียนการสอนด้วยคอมพิวเตอร์ เน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลางและทำวิจัยในชั้นเรียนโดยให้ความสำคัญกับทักษะและการแก้ปัญหาของนักเรียนเป็นสำคัญ
- อินโดนีเซีย น.ส.คอรีอิยะฮ์ สอนวิชาวิทยาศาสตร์โรงเรียนประถมศึกษา SMP Negeri 32 Bandar Lampung จังหวัด Lampung นับเป็น“Resource Person”ในการเรียนการสอนโดยใช้โปรแกรม “Webinar”จากกระทรวงศึกษาธิการและวัฒนธรรม
- สปป ลาว นางแสงเพ็ด คูนปะเสิด หัวหน้าวิชาฟิสิกส์ โรงเรียนมัธยมศึกษาอุดมไซ (Oudomxay) สอนวิชาฟิสิกส์และพัฒนาหลักสูตรการสอนในระดับ ม.ปลาย และเผยแพร่ให้กับโรงเรียนอีก 14 แห่งที่เมืองไซ (Xay) เป็นวิทยากรระดับจังหวัดในวิชาวิทยาศาสตร์และมีงานเขียนเอกสารทางวิชาการ
- มาเลเซีย นายโนร์ฮาอิลมี อับดุล มูตาลิบ สอนวิชาวิทยาศาสตร์โรงเรียนมัธยมศึกษา SMK Jerlun รัฐเคดาห์ ครูต้นแบบการสอน STEM ศึกษาระดับประเทศ ได้รับการเสนอให้เป็น “Master Trainers for Inquiry-Based Science” ในระดับประเทศและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการสอนแบบบูรณาการด้านเทคโนโลยีดิจิทัล
- เมียนมา นายจอร์ ซิน ออง ครูผู้ช่วยสอนอาวุโส (Senior Assistant Teacher) และสอนภาษาอังกฤษที่ No.8 Basic Education Middle School เมืองลาโชว์ รัฐฉาน ได้รับรางวัลครูดีเด่นระดับโรงเรียน และรางวัล Outstanding Teacher Award ระดับรัฐ
- ฟิลิปปินส์ นายมาเซโล ที โอทินเควท หัวหน้าครูในระดับพื้นที่ 5 โรงเรียน Governor Bado Dangwa Agro-Industrial, Kapangan, Benguet ผู้ประสานงานเก็บรวบรวมเอกสารคลังข้อมูลชนพื้นเมือง และมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาชุมชนในหลายบริบท
- สิงคโปร์ นายหยก จูน เม็ง หัวหน้าภาควิชาภาษาอังกฤษและสังคม โรงเรียนประถมศึกษา Yu Neng นำ ICT เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ บูรณาการการคิดและวิเคราะห์ การใช้ Coding และมีการทำแผนภาพการใช้ ICT บูรณาการกับโครงการต่าง ๆ ของโรงเรียน
- ติมอร์-เลสเต นายวีเซ็นเต มาร์กัล ดา ซิลวา ผู้อำนวยการและสอนภาษาอังกฤษ–โปรตุเกส โรงเรียน Ensino Central Tirilolo Baucau (The Central Basic School of Tirilolo Baucau Vila) มีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐาน การกีฬาในโรงเรียน และการฝึกอบรมครูและนักเรียนของประเทศ
- เวียดนาม น.ส.ฮ่า หัน เฟื่อง สอนวิชาภาษาอังกฤษที่โรงเรียนมัธยมศึกษา Huong Can จังหวัด Phu Tho พัฒนาการเรียนการสอนแบบห้องเรียนไร้พรมแดนให้เด็กนักเรียนบนพื้นที่สูงและเด็กชนเผ่า และบูรณาการวิชาภาษาอังกฤษเข้าไปในการเรียนการสอน เชื่อมโยงกับสังคมยุคใหม่ด้วยแนวคิดการเป็นพลเมืองโลก
- ไทย น.ส.ประทิน เลี่ยนจำรูญ สอนวิชาการตลาดและเศรษฐศาสตร์ ระดับ ปวช.วิทยาลัยเทคนิคพังงา จังหวัดพังงา มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านการเขียนแผนธุรกิจ เป็นที่ปรึกษาธุรกิจของผู้เรียนอาชีวศึกษาได้รับรางวัลระดับประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการ “บางพัฒน์โฮมสเตย์” ที่ดำเนินการประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน
ครูผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี 11 ประเทศในอาเซียนและติมอร์-เลสเต ปี 2564
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีการมอบรางวัลคุณากร ครูยิ่งคุณ และครูขวัญศิษย์ โดยครูที่ได้รับรางวัลคุณากร ปี 2564 จำนวน 3 ราย คือ น.ส.กล่อมจิต ดอนภิรมย์ ร.ร.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ ครูผู้เติมเต็มศักยภาพให้แก่ลูกศิษย์ที่หลากหลายวิธี โดยเชื่อว่าทุกคนเป็นดาวเด่นในตัวเอง นางสุมิตรา กลิ่นบุบผา ร.ร.บ้านหนองแดน สาขาบ้านโละโคะ จ.กำแพงเพชร แม่ครูที่ทำให้เด็กกลุ่มชาติพันธุ์อ่านออกเขียนได้ และไม่เคยทอดทิ้งนักเรียนและชุมชน และนายสิทธิชัย จันทร์คลาย ร.ร.บ้านไทยสามัคคี จ.สระแก้ว ครูผู้ใช้ศิลปะเพื่อปลุกความคิดสร้างสรรค์สู่การพัฒนาความถนัดของผู้เรียน
ประกาศ รายชื่อผู้ที่ได้รับรางวัลคุณากร รางวัลครูยิ่งคุณ และรางวัลครูขวัญศิษย์ ครั้งที่ 4 ปี 2564
น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่าขอแสดงความยินดีกับครูที่ได้รับรางวัลและประทับใจในความทุ่มเท เสียสละ ไม่ว่าลูกศิษย์จะมีต้นทุนชีวิตที่ต่างกันอย่างไรแต่ครูมองเห็นถึงศักยภาพที่มีอยู่ภายในลูกศิษย์ สามารถสร้างให้เป็นบุคลากรที่มีคุณภาพได้ บทบาทของความเป็นครูในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่กำลังระบาดระลอกที่ 3 เป็นโจทย์ที่ท้าทายต่อบทบาทของความเป็นครูและการเลื่อนเปิดภาคเรียน ทำให้มีช่วงเวลาปิดเทอมที่ยาวนานขึ้น เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ซึ่งการปิดภาคเรียนที่นานขึ้นครั้งที่ผ่านมาผลกระทบคือ ปรากฎการณ์ความรู้ถดถอยของผู้เรียน หรือ learning loss จากศึกษาของ กสศ. ถึงมาตรการการจัดการศึกษาจากทั่วโลกในการรับมือกับโควิด-19 พบว่า ในช่วงปิดภาคเรียน จะมีเด็กในช่วงรอยต่อทางการศึกษา ที่ยากจนพิเศษและได้รับผลกระทบจากโควิด ราว 4 ช่วงชั้นและอนุบาลที่มีความเสี่ยงสูงสุดจำนวนรวมประมาณ 400,000 คน ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะเสี่ยงอาจหลุดจากระบบการศึกษา
“มาตรการที่ต้องดำเนินการในช่วงเปิดภาคเรียน นอกจากมาตรการความปลอดภัยเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดที่โรงเรียนจัดขึ้นแล้ว ควรเพิ่มการสำรวจผู้เรียนในช่วงเปิดเรียนเพื่อวัดความพร้อมต่อการเรียนรู้ ประกอบด้วย 1. การสำรวจความพร้อมของผู้เรียน เพื่อวัด learning loss และดำเนินการเติมเต็มช่องว่างการเรียนรู้ที่หายไป ทั้งการให้ใบงาน หรือเพิ่มเติมการเรียนรู้ของผู้เรียน 2. การสำรวจสุขภาพกาย สุขภาพจิต 3. ผลกระทบทางเศรษฐกิจ และ 4. ความปลอดภัยในใช้ชีวิตและการเดินทางเพื่อให้เกิดความมั่นใจต่อความปลอดภัยจากการระบาดของเชื้อ และเพื่อให้โรงเรียนรู้ข้อมูลที่เกิดขึ้นกับนักเรียนเป็นรายบุคคลเพื่อออกแบบแนวทางแก้ปัญหาได้ตรงจุด และโรงเรียนต้องมีอิสรภาพในการบริหารจัดการภายในโรงเรียน เพื่อออกแบบการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นตามบริบทสถานการณ์ในพื้นที่” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าว
สำหรับบทบาทของครูในยุคโควิด-19 น.ส.ประทิน กล่าวว่า จากประสบการณ์ระบาดเมื่อปีที่แล้วทำให้ครูต้องเปลี่ยนบ้านเป็นโรงเรียน การศึกษาต้องมีความยืดหยุ่น โดยการเรียนออนไลน์ไม่เกิน 2 วิชาต่อ 1 วัน ซึ่งต้องบูรณาการวิชาต่างๆเข้าด้วยกัน ครูต้องกระชับหลักสูตรสอนเนื้อหาที่ต้องรู้ ส่วนเนื้อหาที่ควรรู้ก็ปรับรูปแบบเป็นใบงานให้ค้นคว้าเพิ่มเติมเพื่อฝึกปฏิบัติจากสิ่งใกล้ตัว อย่างไรก็ตามสถานการณ์สึนามิเกิดขึ้นครั้งเดียวแต่การระบาดของโควิดส่งผลกระทบถึง 3 ระลอก ซึ่งจ.พังงา เป็นเมืองท่องเที่ยวและได้ผลกระทบทำให้ลูกศิษย์ที่ยากจนที่สุดที่ได้รับทุนนวัตกรรมสายอาชีพและเรียนสาขาการท่องเที่ยวกังวลเรื่องการมีงานทำเมื่อจบมา ครูจึงต้องสร้างความมั่นใจและสอนให้ติดตามข่าวสารเพื่อให้ปรับตัวได้เร็ว
นางสุมิตรา กล่าวว่า บ้านโละโคะเป็นพื้นที่ 2 ชนเผ่า นักเรียนส่วนใหญ่ไม่ได้พูดภาษาไทย การปิดเทอมที่ยาวนานทำให้การรู้ภาษาไทยหายไป คณะครูจึงต้องออกมาสอนตามบ้านและให้ใบงานเพื่อการเรียนรู้ที่ต่อเนื่อง ซึ่งการเข้าหมู่บ้านได้ครูก็ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนในหมู่บ้าน ทำตัวให้ปลอดเชื้อเป็นตัวอย่าง เก็บตัว สวมหน้ากากอยู่ตลอดเวลา
น.ส.กล่อมจิต กล่าวว่า การสอนผ่านออนไลน์ที่ผ่านมาเกิดช่องว่างการเรียนรู้ พบว่าเด็ก 60% เข้าห้องเรียน อีก 40 % ไม่สามารถเข้าห้องเรียนได้ เพราะบางคนเรียนออนไลน์ผ่านมือถือ การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ขาดอุปกรณ์ สถานที่ไม่เอื้อต่อการเรียน และอีกกลุ่มคือขาดความรับผิดชอบ ในขณะที่ผู้ปกครองบางส่วนก็ขาดความเข้าใจ ซึ่งการแก้ปัญหาเด็ก 40 % ที่หายไป จึงพัฒนา“ศูนย์เรียนรู้ประจำชุมชน” โดยมีอาสาสมัครและครูเข้าไปจัดการสอนในชุมชน
ขณะที่นายสิทธิชัย กล่าวว่า การสอนออนไลน์ที่ผ่านมาไม่ได้ผล เพราะเด็กที่มีโทรศัพท์ไม่ถึง 20% และผู้ปกครองขาดรายได้ จึงปรับรูปแบบการสอนด้วยการบูรณาการวิชาเรียนในรูปแบบโครงงาน เช่น การเรียนเรื่องสี่เหลี่ยมที่เชื่อมโยงระหว่างวิชาคณิตศาสตร์ ศิลปะ และภาษาไทย โดยสอน 2 รูปแบบทั้งออนไลน์และการแจกใบงานสำหรับเด็กที่เข้าไม่ถึงออนไลน์
เรื่องที่เกี่ยวข้อง : พิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 4