มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ระดมเสวนา “การปรับตัวรับมือสถานการณ์ COVID-19 และก้าวเข้าสู่โรงเรียนวิถีใหม่ (New Normal School) อย่างไรดี” เปิดแนวทางปฏิบัติของโรงเรียนจากทุกมุมโลก เพื่อศึกษาความพร้อมสถานศึกษา นักเรียน ผู้ปกครอง และมาตรการรับมือเพื่อลดความเสี่ยงด้านสุขอนามัย


ในการเสวนาผ่านระบบออนไลน์ หัวข้อ “การปรับตัวรับมือสถานการณ์ COVID-19 และก้าวเข้าสู่โรงเรียนวิถีใหม่ (New Normal School) อย่างไรดี”  จัดโดย มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เพื่อสนับสนุนข้อมูลวิชาการเชิงนโยบาย แนวทางปฏิบัติจากประสบการณ์ทั่วโลก ในการปรับตัวรับมือสถานการณ์ COVID-19 และก้าวเข้าสู่โรงเรียนวิถีใหม่ โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมการประชุมจากภาคการศึกษาและสาธารณสุข ประกอบด้วย ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ดร.คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา กรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี พ.ญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ดร.อโณทัย ไทยวรรณศรี ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นายกิตติศักดิ์ กวีกิจมณี ผู้เชี่ยวชาญนโยบาย กลุ่มยุทธศาสตร์กำลังคนในระบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ดร.ทินสิริ ศิริโพธิ์ กรรมการวิชาการ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี  ดร.ศิริวรรณ อาจศรี อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ และเครือข่ายครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี โดยมี ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

การเสวนาระบุถึงรายงานการสำรวจของยูนิเซฟประเทศไทย พบว่า ประเทศไทยเด็กนักเรียนได้รับผลกระทบ 13 ล้านคน นักศึกษาที่กำลังจะจบปริญญาตรีปีนี้ 300,000 คน จะมีโอกาสตกงาน ซึ่งทำให้จำนวนคนตกงานเดิมซึ่งมี 500,000 คน เพิ่มมากขึ้น สถิติการฆ่าตัวตายสูงมากขึ้น และจากการรายงานของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ยังระบุว่า มีโทรศัพท์เข้ามาเรื่องปัญหาสุขภาพจิตประมาณ 600 ครั้งต่อวัน จากเดิม 20-40 ครั้งต่อวัน

ในส่วนของสถานการณ์นานาชาตินั้น จากรายงานของ World Bank ระบุว่า 180 ประเทศปิดโรงเรียน จำนวนเด็กที่ไม่ได้เรียนมากขึ้น โดยเฉพาะเด็กด้อยโอกาส สิ่งที่ควรดูแลคือโภชนาการอาหาร และการพัฒนาการทางร่างกายของเด็ก ควรเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส โดยแนวทางการปรับตัวเพื่อรับมือ เช่น ให้เงินสนับสนุนเพื่อช่วยโภชนาการอาหาร ปรับตัวให้เป็นภาวะเร่งด่วนในการสอนทางไกล ช่วยเด็กที่มีความเสี่ยง เด็กที่ยากจนด้วยการบริหารจัดการให้เกิดความต่อเนื่องในการเรียน เปลี่ยนความคิดและช่วยกันสร้างความเสมอภาค

ส่วนแนวนโยบายและการปฏิบัติ รายงานจากยูนิเซฟ ระบุว่าข้อมูลจาก 127 ประเทศ ร้อยละ 65 ใช้การสอนแบบผสมระหว่างทีวี วิทยุ และชุดกิจกรรมที่ไปทำที่บ้าน ใน 127 ประเทศใช้การสอนด้วยทีวี ร้อยละ 75 ดิจิทัล ร้อยละ 73 วิทยุ ร้อยละ 58 ชุดกิจกรรมไปทำที่บ้าน ร้อยละ 48  ครูไปที่บ้านนักเรียน ร้อยละ 7

ขณะที่ UNICEF เสนอให้มีกรอบการเปิดโรงเรียน และสิ่งที่ควรวางแผนคือ ความปลอดภัยทางสุขพลานามัย การช่วยนักเรียนและครูเรื่องการเรียนการสอน การช่วยเด็กกลุ่มด้อยโอกาส การช่วยทางด้านสภาวะจิตใจที่เกิดจากผลกระทบ และการปรับตารางสอนและกิจกรรม รวมถึงคำแนะนำให้ทำเครื่องมือช่วยในการตัดสินใจ “Remote Learning Decision Tree” เพื่อหาช่องทางที่เหมาะสมในการเรียนการสอน การใช้โซเซียลมีเดียเป็นช่องทางช่วยเหลือ เช่น จัด Facebook LIVE มีวิทยากรที่เชี่ยวชาญ เช่น แพทย์ นักจิตวิทยา มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลเด็ก วัยรุ่น ให้ความรู้กับพ่อแม่ในการเลี้ยงดูเด็กเล็ก เพื่อพัฒนาการที่เหมาะสมกับวัยเด็ก มีคู่มือสำหรับโรงเรียน รวมถึงทำการสำรวจเพื่อฟังความเห็นเยาวชนว่ามีผลกระทบอย่างไร

การเสวนายังได้ชี้ถึงการกลับมาเปิดสถานศึกษาหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา 43 รัฐ และ วอชิงตัน ดีซี ได้รับคำแนะนำให้เปิดโรงเรียนอีกครั้งในปีการศึกษาหน้า ร้อยละ 16 ของกำลังแรงงานหรือคิดเป็น 26.8 ล้านคน การกลับไปทำงานจะไม่มีคนดูแลลูกในขณะโรงเรียนปิด การปิดโรงเรียนจะทำให้เด็กเปราะบาง และ ร้อยละ 19 ไม่สามารถมาเรียนที่โรงเรียนได้ ส่งผลให้มีผลการเรียนที่แย่ลง

ประเทศจีน ในการตัดสินใจกลับมาเปิดโรงเรียน ทางกระทรวงศึกษาธิการจะมีแนวทางกลางเพื่อประกอบการตัดสินใจ แต่ให้อำนาจการตัดสินใจเป็นของหน่วยงานที่ควบคุมการแพร่ระบาดในจังหวัดนั้น ๆ โดยให้คำนึงถึงความเสี่ยงต่อสุขภาพและแผนปฏิบัติการที่เหมาะสม ซึ่งจะแบ่งกระบวนการพิจารณาเป็น 2 ระดับคือ พิจารณาจากเวลา โดยให้เปิดโรงเรียนได้หลังจาก 28 วันนับจากวันแรกที่ไม่พบผู้ติดเชื้อใหม่ในพื้นที่ และพิจารณาจากข้อมูลสุขภาพและประวัติการเดินทางของนักเรียนและครูว่ามีความเสี่ยงหรือไม่ในการกลับมาเปิดเรียน

ไต้หวัน มีความพร้อมที่จะเปิดและปิดโรงเรียนทุกเมื่อ หากครูหรือนักเรียนคนใดคนหนึ่งได้รับการยืนยันจากศูนย์ควบคุมโรคระบาดว่าติดเชื้อโควิด-19 ให้ชั้นเรียนนั้นหยุดการเรียนการสอนชั่วคราว หากครูหรือนักเรียน 2 คนขึ้นไป ได้รับการยืนยันว่าสัมผัสกับโรค ให้ทุกชั้นเรียนในโรงเรียนหยุดการเรียนการสอนชั่วคราว และหาก 1 ใน 3 ของโรงเรียนในเขตชุมชนหรือเมืองถูกปิดเนื่องจากการติดเชื้อ ให้ปิดโรงเรียนทุกแห่ง

ประเทศนอร์เวย์ สถานดูแลเด็กสามารถเปิดทำการใหม่ได้ หากสามารถปฏิบัติตามข้อแนะนำการควบคุมการติดเชื้อ และผู้เป็นเจ้าของและลูกจ้างของสถานดูแลเด็กจะต้องผ่านการอบรมและได้รับข้อมูลที่ชัดเจนและถูกต้องในการปฏิบัติเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาด ส่วนโรงเรียนประถมศึกษาที่อยู่ในโปรแกรมการดูแลเด็กนอกเวลาเรียน โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายที่อยู่ในโปรมแกรมหลักสูตรวิชาชีพ เพื่อให้การเรียนการสอนเป็นไปตามข้อแนะนำในการควบคุมการติดเชื้อ จะต้องผ่านการอบรม เพราะฉะนั้นฝ่ายบริหารท้องถิ่น ผู้เป็นเจ้าของและลูกจ้างของโรงเรียนจะได้รับข้อมูลที่ชัดเจนและถูกต้องในการปฏิบัติ เพื่อลดความเสี่ยงในการเจ็บป่วยที่รุนแรง นักเรียนที่มีความเสี่ยงเป็นพิเศษ และนักเรียนที่อาศัยอยู่กับสมาชิกในครอบครัวที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ไม่จำเป็นต้องกลับเข้าเรียน ให้เรียนผ่านการเรียนการสอนทางไกล

ประเทศนิวซีแลนด์ มีมาตรการความพร้อมที่จะเปิดหรือปิดโรงเรียนได้ทุกเมื่อ หากพบว่าโรงเรียนมีผู้ติดเชื้อที่ยืนยันหรือกลุ่มเสี่ยง ต้องปิด 72 ชั่วโมง เพื่อสืบหาผู้ติดเชื้อและทำความสะอาด และอาจปิดต่ออีก 14 วัน แต่สามารถเปิดได้เพื่อจัดการเรียนทางไกล

ประเทศเดนมาร์ก จัดการเรียนการสอนเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ในแต่ละห้องเรียนมีนักเรียนไม่เกิน 12 คน แต่ละกลุ่มมีครูเฉพาะ เน้นจัดการเรียนการสอนในพื้นที่เปิดโล่ง และต้องใช้ผู้ช่วยสอนมากขึ้น เพื่อสอนกลุ่มเล็ก

ประเทศเยอรมัน อนุญาตให้เปิดโรงเรียนบางส่วน ครูและนักเรียนต้องมีอุปกรณ์ป้องกัน เช่น สวมหน้ากากอนามัย และใช้เจลล้างมือฆ่าเชื้อทำความสะอาด การเว้นระยะห่างทางสังคมเสมอในระยะ 1.5 เมตร

ประเทศญี่ปุ่น ยังไม่มีแผนการเปิดโรงเรียน โดยให้เรียนรู้ที่บ้านในช่วงปิดโรงเรียน โดยรัฐบาลญี่ปุ่นวางแผนเพิ่มโครงสร้าง ไอซีที ในโรงเรียนและให้นักเรียนทุกคนสามารถเข้าถึงคอมพิวเตอร์ได้

สำหรับประเทศไทย ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีแนวทางจัดการเรียนการสอนด้วยเทคโนโลยีการศึกษาทางไกล โดยสำรวจความพร้อมของผู้ปกครองด้านอุปกรณ์การรับสัญญาณ การสื่อสารและด้านเวลาที่จะดูแลนักเรียน จัดกลุ่มความพร้อมนักเรียนอย่างน้อยออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 มีความพร้อม ร้อยละ 100 กลุ่มที่ 2 มีความพร้อมปานกลาง หรือร้อยละ 50 กลุ่มที่ 3 มีความพร้อมน้อยหรือไม่มีความพร้อม และให้เขตพื้นที่และโรงเรียนเข้าช่วยเหลือผู้ปกครองจัดระบบการสื่อสารและวิธีการ โดยใช้ความร่วมมือภายในพื้นที่

ส่วนแนวทางการสนับสนุนด้านสุขภาพของนักเรียน จะอยู่ภายใต้ความร่วมมือของกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพเด็ก ทางกระทรวงสาธารณสุขจะจัดทำแนวปฏิบัติสำหรับสถานศึกษารองรับสถานการณ์ ชี้แจงนโยบายการปฏิบัติของหน่วยงานสาธารณสุขในระดับพื้นที่ และจัดอบรมความรู้สุขอนามัยในโรงเรียน

ดังนั้น การจะปรับตัวรับมือสถานการณ์ COVID-19 และก้าวเข้าสู่โรงเรียนวิถีใหม่ (New Normal School) อย่างไรดีนั้น จะต้องเข้าถึงข้อมูลสถานการณ์การระบาดของพื้นที่ มิติด้านความจำเป็นของเด็กและครอบครัว ความสามารถในการเข้าถึงการเรียนผ่านทางไกล ความพร้อมของครูและสถานศึกษา ศักยภาพในการปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัย และแผนการเตรียมความพร้อมด้านการสาธารณสุข การสุขาภิบาล การเรียนรู้ และการประเมินรับมือกับความเสี่ยง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง