ผลการเสวนาออนไลน์ ครั้งที่ 3 เรื่องโรงเรียนวิถีใหม่ (The New Normal School) ว่าด้วยการเตรียมการเปิดโรงเรียนในสถานการณ์ป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ตอนที่ 3

ตามที่มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เสวนาออนไลน์ THE NEW NORMAL SCHOOL ครั้งที่ 3 เรื่องโรงเรียนวิถีใหม่ ว่าด้วยการเตรียมการเปิดโรงเรียนในสถานการณ์ป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2563 ตั้งแต่เวลา 16.30 – 19.00 น. ด้วยโปรแกรม ZOOM

ผู้ทรงคุณวุฒิร่วมเสวนาประกอบด้วย ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ดร.คุณหญิง กษมา วรวรรณ ณ อยุธยา กรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ดร.ทินสิริ ศิริโพธิ์ กรรมการวิชาการ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี นายแพทย์ ศราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย ผศ.ดร.วิมลศิริ ปรีดาสวัสดิ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ดร.ตุลย์ ไตรยสวรรค์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี รศ.ดร.ชวิน จันทเสนาวงศ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

วิทยากรเสวนา ประกอบด้วย ดร.พีรานุช ไชยพิเดช ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลพิบูลเวศม์ ครูพูลศักด์ เสนฤทธิ์  ผู้อำนวยการโรงเรียนกมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ ดร.พิศณุ ศรีพล ผู้อำนวยการโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ธนบุรี ดร.จุฬากรณ์ มาเสถียรวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติ โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วยคณะทำงาน วิทยากร และเครือข่ายครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ทั้งสิ้น 219 คน โดยมี ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เป็นผู้ดำเนินการการเสวนา

จากการที่วิทยากรจากโรงเรียนอนุบาลพิบูลเวศม์ โรงเรียนกมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ และโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ธนบุรี ได้นำเสนอการเตรียมความพร้อมในระดับโรงเรียนในสถานการณ์การป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สู่โรงเรียนวิถีใหม่ New Normal School ก่อนเปิดโรงเรียนที่รายงานไปแล้วนั้น ด้านผู้ทรงคุณวุฒิได้ตั้งข้อสังเกตุและเสนอข้อคิดเห็นในครั้งนี้

ดร.ทินสิริ ศิริโพธิ์ ได้ให้ข้อเสนอกรณีโรงเรียนอนุบาลพิบูลเวศม์ว่า จุดเด่นของอนุบาลจะอยู่ที่ความปลอดภัย ซึ่งครูท่านอื่นจะเห็นแนวความปลอดภัยในสุขอนามัยขึ้นมาก่อนเลย ฉะนั้นสามารถจะมองเป็นตัวอย่างได้ ทีนี้บริบทตรงนี้อีกอันหนึ่งที่จะให้มองในมิติก็คือมิติของการที่จะสอนกิจกรรมหรือว่าหลักสูตร เนื่องจากเป็นอนุบาลก็พอที่จะยืดหยุ่นได้ อันหนึ่งอาจจะมองว่าจะขยายหรือปรับในกิจกรรมของเด็กก็ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกหน่อยเพื่อครูท่านอื่นจะได้มองเห็นในส่วนของหลักสูตรหรือว่ากิจกรรมของอนุบาลว่าเป็นอย่างไรบ้าง

จากการที่ได้ฟังทั้งสองโรงเรียนทั้งรียนกมลาไสยและโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ธนบุรี มีส่วนเหมือนหรือมีส่วนต่างอย่างไร มีอยู่สามส่วนใหญ่ ๆ ส่วนแรกที่เหมือนกันของทั้งสองโรงเรียนก็คือมีความพร้อมมาก และวิธีที่ชอบคือการให้ชุมชนและผู้ปกครองมีส่วนร่วม ในส่วนของโรงเรียนกมลาไสยนั้น ชอบตรงที่ว่าให้ชุมชนมีส่วนร่วม ส่วนของโรงเรียนสวนกุหลาบ ธนบุรี ทุกอย่างได้นำผู้ปกครองมามีส่วนร่วม ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ทางโรงเรียนอื่นนำไปใช้ได้

จุดเด่นของโรงเรียนกมลาไสยที่มอง สังเกตว่าจะมองถึงศูนย์บริการวิชาการชุมชน อันนี้น่าสนใจ ส่วนบริบทของโรงเรียนสวนกุหลาบ ธนบุรี นั้นอยู่ในกรุงเทพฯ อยู่ในเมือง แต่ของโรงเรียนกมลาไสยจะเป็นอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน และที่ชอบคือนำบ้านของศิษย์เก่าหรือผู้นำชุมชนมาใช้เป็นแหล่งให้ความรู้ อันนี้น่าสนใจและดีมากที่จะนำไปเป็นตัวอย่าง ส่วนของโรงเรียนสวนกุหลาบ ธนบุรี คิดละเอียดในเรื่องการบริหารจัดการ เพราะว่าบริบทจะเป็นการคุยกับผู้ปกครองซึ่งอยู่ในกรุงเทพฯ และมีนักเรียนจำนวนมาก หากเกิดความไม่พอใจเล็กน้อยก็อาจเป็นเรื่องได้ จึงมองไปในมิติที่การบริหารจัดการที่ผู้ปกครองมีส่วนร่วม ฉะนั้นการที่คิดละเอียดจึงช่วยได้มาก

ส่วนสุดท้ายที่จะให้มุมมองของทั้งสองโรงเรียน มีสามาอย่างด้วยกัน ประเด็นที่หนึ่ง จะมองในมิติของการเรียนการสอน หลักสูตร ส่วนในความพร้อมนั้นไม่ต้องกล่าวถึงเพราะเกินร้อย แต่หลักสูตรนั้น เวลาสอนนักเรียน ได้มีการเตรียมครูให้มองถึงว่าหลักสูตรที่จะต้องสอนนักเรียนจะต้องเต็มร้อยเหมือนเดิมหรือบริบทเปลี่ยนไป ความยืดหยุ่นของหลักสูตรก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย แต่ไม่ใช่ขาด แต่ถ้าสอนเต็ม ๆ หรือมาก ๆ แล้ว บางครั้งจะต้องไปสอนออนไลน์ อาจจะไม่ได้ประสิทธิภาพ และกระบวนการการสอนอาจจะต้องมองว่า ครูบางคนต้องสอนออนไลน์ จะมีกระบวนการไหนบ้างที่เราจะช่วยครูได้ ส่วนหนึ่งที่จะให้มองก็คือส่วนของการรับฟังการสะท้อนจากครูและนักเรียน อาจจะต้องเสริมมิตินี้เข้าไปว่าเมื่อครูทำไปแล้ว ครูรู้สึกอย่างไร ครูมีคำแนะนำอะไรบ้าง และนักเรียนซึ่งปฏิบัติ เขามีการสะท้อนออกมาอย่างไร เราก็เอามาผสมผสานในส่วนที่เราได้จากชุมชนและผู้ปกครองด้วยก็จะช่วยเติมเต็มมากขึ้น

ข้อเสนอสุดท้ายคือ ต้องการให้ช่วยครูมาก ๆ เพราะครูเป็นกลไกสำคัญในการที่จะทำให้แผนของทั้งสองโรงเรียนได้ประสบความสำเร็จ อาจจะมีลักษณะ PLC สำหรับครู กระบวนการว่าอาจจะให้ครูในแต่ละวิชามานั่งปรึกษากันว่ามีปัญหาอะไรอย่างกันบ้าง โดยบริบทของเครือข่ายของครูช่วยซึ่งกันและกันเพื่อแก้ปัญหา โดยตกเย็นอาจจะมานั่งพูดคุยว่าพบปัญหาอะไรบ้าง ห้องนี้สอนอย่างไร นักเรียนคนนี้มีปัญหาอะไรอย่างไร ครูทั้งหลายก็จะได้มาช่วยกันแก้ปัญหาด้วยกัน

รศ.ดร.ชวิน จันทเสนาวงศ์ มีข้อเสนอเกี่ยวกับเรื่องการทำความสะอาดของโรงเรียนอนุบาลพิบูลเวศม์ว่า ขอชื่นชมในการเตรียมการที่ดีแล้ว แต่จะขอเสนอแนะอีกเรื่องหนึ่งก็คือหลังจากทำความสะอาดแล้ว การเก็บทำลายของพวกอุปกรณ์ทำความสะอาดเมื่อใช้เสร็จแล้วจะเป็นอย่างไร ตรงนี้จึงเป็นเรื่องที่ต้องคิดด้วย ส่วนการทำความสะอาดที่ต้องใช้ถุงมือ มองว่าจะเป็นเรื่องที่ดีหรือไม่ ว่าคนใช้ถุงมือแล้วจะถือว่ามีความปลอดภัยและหยิบจับได้เต็มที่จึงต้องระวัง แต่ถ้าไม่ใส่ถุงมือแต่ล้างมือบ่อย ๆ อาจจะดีกว่า อีกข้อเสนอหนึ่งคือมีความเป็นไปได้ว่าใน 6 เดือน หรือ 12 เดือนข้างหน้านี้ โควิด-19 ก็ยังคงไม่หมดไป เพราะฉะนั้นโรงเรียนจะต้องมีรูปแบบในการตัดสินใจว่า สมมุติมีนักเรียนชั้น ป.2 หนึ่งคนเกิดเป็นโควิดขึ้นมาจะทำอย่างไรต่อไป จะปิดเฉพาะห้องนั้น หรือจะปิดเรียนทั้ง ป.2 เลย หรือหากครูคนใดคนหนึ่งเกิดเป็นโควิดขึ้นมา จะมีรูปแบบการปิดโรงเรียนอย่างไร จะปิด 1 วัน ปิด 5 วัน หรือคนในครอบครัวของนักเรียน เช่น พ่อติดเชื้อโควิด จะขอให้นักเรียนไม่มาโรงเรียน 14 วัน ซึ่งต้องมีรูปแบบรองรับไว้เลย เพราะเหตุการณ์พวกนี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้แน่ จึงขอให้เตรียมการรอไว้เลย

ส่วนข้อเสนอแนะต่อโรงเรียนกมลาไสยและโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ธนบุรี ในประเด็นเรื่องการเตรียมผู้ปกครองและการให้ข้อมูลกับผู้ปกครองว่าอะไรต้องทำก่อนและอะไรต้องเตรียมก่อนที่จะเปิดภาคเรียน ต้องทำให้ชัดเจน อีกเรื่องหนึ่งที่สะท้อนจากประสบการณ์ในมหาวิทยาลัยในการสอบออนไลน์ ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ที่เป็นเรื่องปวดหัวกันมาก นักเรียนสามารถลอกข้อสอบกันมาก จึงต้องคิดเผื่อในอนาคตไว้ด้วยว่าสอนเรียนออนไลน์ก็ปัญหาหนึ่ง สอบออนไลน์นี่ปัญหาใหญ่กว่า

 

ในเรื่องที่ให้ผู้ปกครองแสดงความเห็น ขอแบ่งปันประสบการณ์ด้วย ที่โรงเรียนของลูกผมเป็นโรงเรียนนานาชาติ หากได้ตามข่าวสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวว่าวันที่ 1 มิถุนายน 2563 อาจจะได้เปิดโรงเรียนนานาชาติ ทำให้โรงเรียนหลายแห่งก็เตรียมการเปิดกันใหญ่ ทางโรงเรียนนานาชาติก็เตรียมเช่นกันแล้วทำอย่างที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ธนบุรี ได้เสนอมาคือสอบถามความเห็นผู้ปกครอง โดยใช้ Google form ในการตอบง่ายภายใน 10 ชั่วโมง บางคราวได้คำตอบมา 400 กว่าคน เป็นเรื่องที่ดีถ้าทำตาม แต่ก็มีกันว่าเมื่อสอบถามไปแล้วแต่ผลตอบรับครึ่ง ๆ ว่าครึ่งบอกเปิดอีกครึ่งหนึ่งบอกไม่เปิด เราจะตัดสินอย่างไร จึงต้องอยู่วิธีการบริหารจัดการที่ดี

ส่วนเรื่องการสื่อสารในห้องเรียนที่โรงเรียนมีนโยบายออกมาว่าถ้าเป็นห้องแอร์ เปิดแอร์ไว้ แล้วก็เปิดหน้าต่าง ควรจะทำให้การระบายอากาศที่เข้าทางหนึ่งแล้วออกอีกทางหนึ่งได้ อีกมุมหนึ่งด้านความเครียดจะเกิดขึ้นแน่ ๆ ในการเรียนออนไลน์ ถ้าเด็กเล็กอาจจะไม่รับทราบในความเครียด แต่ผู้ปกครองจะเครียดที่จะต้องหาอุปกรณ์ให้เด็ก มีครูสั่งงานมา เราจะช่วยเด็กได้ไหม ที่บ้านมีเวลาให้เขาพอไหม ก็เกิดความเครียดเกิดขึ้น อีกประเด็นหนึ่งเรื่องการสื่อสารกับนักเรียนผ่านช่องทาง VDO, youtube, Live เด็กติดจอ ซึ่งผู้ปกครองเคยสอนเด็กไม่ให้เด็กติดเกมส์ ไม่ให้ติดโทรศัพท์ แต่คราวนี้การเรียนการสอนอยู่กับจอ เขาจะติดจอขึ้นมาก็จะมีปัญหานี้เกิดขึ้นมาด้วย

อีกประเด็นคือ Frame work หรือแนวทางการตัดสินใจว่าหากมีเด็กติดเชื้อแล้วปิดโรงเรียน และเรื่องกำกับอุปกรณ์ที่ใช้ว่าก่อนเปิดโรงเรียน เราจะต้องคิดอะไรบ้าง ขณะเตรียมเปิดจะทำอะไรบ้าง เมื่อเปิดแล้วต้องทำอะไรบ้าง เมื่อเปิดเรียนก็ต้องมีรูปแบบการตัดสินใจปิดอีก สมมุติมีการแพร่ระบาด และควรที่จะมีการกำจัดพวกผ้าที่ใช้แล้วหรือน้ำยา จึงเป็นมุมมองที่จะต้องปิดให้ครบเพื่อความระมัดระวัง ส่วนรูปแบบในการตัดสินใจ ขอยกตัวอย่างที่โรงเรียนของลูกชายนำมาแบ่งปันกันที่ออกมาเป็นนโยบายของโรงเรียนเลย หากพบนักเรียนที่แสดงอาการ หากเป็นเด็กเล็ก ประถม ก็ปิดเรียน 14 วันในห้องนั้น ๆ หากเป็นเด็กโต มัธยมต้น มัธยมปลาย ก็ปิด 14 วันในห้องนั้น ๆ สมมุติพี่น้องที่อยู่บ้านเดียวกันติด เด็กคนนั้นก็ต้องอยู่บ้าน 14 วัน หากสมมุติมีผลตรวจแล้วติดลบ ไม่ติดเชื้อก็สามารถกลับมาเรียนใหม่ได้ภายใน 48 ชั่งโมง หากคนในบ้านแสดงอาการจะต้องทำอะไรบ้าง นี่คือรูปแบบที่จะต้องทำการตัดสินใจได้เลย ไม่ต้องมานั่งคิดว่าจะทำกันอย่างไรดี จึงเสนอมาเป็นตัวอย่าง

ผศ.ดร.วิมลศิริ ปรีดาสวัสดิ์ เสนอแนะว่า ก่อนอื่นต้องขอชื่นชมทุกโรงเรียนถึงความพยายามและการเตรียมความพร้อมเพื่อป้องกันโควิด-19 จากการได้ฟังก็จะเสนอความคิดเห็น โดยเริ่มจากโรงเรียนกมลาไสยก่อน ซึ่งมีรูปแบบการช่วยเหลือนักเรียนที่ดีมากที่ใช้ศูนย์บริการวิชาการประจำตำบล อันนี้น่าช่วยเหลือนักเรียนที่อยู่นอกเขตโรงเรียนหรือนอกเขตชุมชนได้ดีมาก แต่ว่าประเด็นที่กังวลเล็กน้อยคือเรื่องของสัญญาณอินเทอร์เน็ตว่าจะมีศูนย์ช่วยเหลือชุมชน แต่บางครั้งจำเป็นที่จะต้องรู้แบบออนไลน์เกิดขึ้นก็จำเป้นที่จะต้องมีทรัพยากรบางส่วนช่วยเหลือนักเรียน ก็อาจจะต้องมองไปในประเด็นนี้ด้วยว่าทรัพยากรที่จำเป็นที่จะต้องมีประจำศูนย์อะไรบ้าง

ในเรื่องของการบริหารจัดการ การเข้ามาเรียน On-site ในกรณีที่นักเรียนจะเข้ามาเรียนที่โรงเรียน แม้ว่ามีการวางสลับฟันปลาเอาไว้ แต่ก็มีประเด็นชวนคิดว่าเรื่องของความเสี่ยงของการเดินทางซึ่งนักเรียนมาจากสามอำเภอด้วยกัน ซึ่งนั่นก็คือต้องมีการเดินทางแน่นอน ซึ่งความเสี่ยงก็อาจจะเกิดจากการเดินทางได้ เมื่อเวลาที่เดินทางมีความเสี่ยง และมาอยู่โรงเรียนก็จะมีความเสี่ยงด้วย

การเรียนที่มีการสลับฟันปลา ถ้ากลุ่มหนึ่งมีการติดเชื้อเกิดขึ้น ถ้าเราทำความสะอาดไม่ดี กลุ่มที่มาวันถัดไปก็จะติดเชื้อตามกัน จะเป็นการดีกว่าหรือไม่ถ้าใช้รูปแบบการเรียน 3 วันกลุ่มหนึ่งเรียนติดต่อกัน แล้วก็ทำความสะอาดโรงเรียน แล้วเปิดการเรียน 3 วันอีกรอบหนึ่ง อาจจะทำให้การควบคุมการกระจายเชื้อได้ดีขึ้น และขอแนะนำทางโรงเรียนให้สร้างช่องทางสื่อสารกับทางผู้ปกครองและนักเรียนที่มากกว่าการประชุม เนื่องจากว่าเมื่อเราดำเนินการจริงแล้ว บางครั้งกว่าจะรอให้มีการประชุมเกิดขึ้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่าง ๆ ทำให้เราแก้ไขสถานการณ์ได้ไม่ทันเวลา จึงแนะนำให้เปิดช่องทางศึกษาอื่น ๆ เช่น อาจจะมีไลน์กลุ่มที่ผู้ปกครองสามารถที่จะส่งข้อมูลกลับมาที่โรงเรียนหรือผู้บริหารเพื่อแก้ปัญหาได้ทัน

ประเด็นที่จะข้อแนะนำทั้งสองโรงเรียน เป็นประเด็นที่คล้ายกันคือเรื่องของการเตรียมพร้อมในการสอนนักเรียนในกรณีที่เราจำเป็นต้องออนไลน์ อยากแนะนำให้คุณครูทดลองทั้งเป็นผู้สอนและเป็นผู้เรียนก่อน และครูจะเข้าใจว่าเวลาที่นักเรียนต้องมานั่งเรียนหน้าคอมพิวเตอร์หรือว่ามือถือเป็นเวลา 2-3 ชั่วโมงจะเกิดอะไรขึ้น พอครูเข้าใจบริบทการเรียนรู้แบบนี้ ก็จะสามารถออกแบบการเรียนที่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้น และอยากจะแนะนำว่าให้ย่อยการเรียนให้เป็นบทย่อย ๆ แล้วก็พยายามทำให้จบภายในเวลาอันสั้น เพราะปกตินักเรียนในวัยนี้ เขาจะไม่มีสมาธิที่จะสามารถดูรายการทีวีสอน 1-2 ชั่วโมงติดต่อกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก ถ้าจะทำการเรียนแบบออนไลน์ แนะนำว่าแบ่งเป็นตอนสั้น ๆ ตอนหนึ่งไม่ควรเกิน 15 นาที และพยาพยามวัดและประเมินผลให้ได้ใน 15 นาที และที่ได้ยินมาว่าครูบางส่วนใช้การสอนแบบการ Live ผ่าน facebook อันนี้มีความกังวลเล็กน้อยสำหรับนักเรียนที่ทรัพยากรที่ไม่เพียงพอ เนื่องจากว่าเวลาที่เรา Live ต้องส่งทั้งภาพและเสียง ดังนั้น อินเทอร์เน็ตของเขาต้องมีความจุของข้อมูลมาก และต้องมีอินเทอร์เน็ตที่ดีและมีความเร็วเพียงพอ แต่ว่าจะไม่ใช่นักเรียนทุกคนที่สามารถได้รับการสนับสนุนทรัพยากรทางนี้ได้ เราคงไม่อาจทิ้งใครไว้ข้างหลัง ฉะนั้นการเตรียมพร้อมที่ดีที่สุดก็ต้องทำให้นักเรียนที่สามารถเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อีกสิ่งหนึ่งที่อยากเสนอแนะนำในเรื่องของการจัดจำนวนผู้เรียนในห้องเรียน ซึ่งอาจกำหนดห้องเรียนไม่เกิน 20 คน หรือว่า 30 คน ส่วนทางโรงเรียนสวนกุหลาบ ธนบุรี กำหนด 1 คน ควรจะมากกว่า 1.8 เมตร ก็เป็นจำนวนที่วางกำหนดเบื้องต้นที่ค่อนข้างดี แต่ว่ายังมีอีกประเด็นหนึ่งที่อยากแนะนำคือเรื่องของการระบายอากาศ ถึงแม้ว่าเราจะมีพื้นที่ห่างที่ดี แต่ว่าถ้าในห้องนั้นการระบายอากาศที่ไม่ดี ไม่มีอากาศใหม่เข้ามาในห้องเรียนเลย และอากาศเสียในห้องเรียนไม่ได้ออกจากห้องไป การติดเชื้อก็จะเกิดขึ้นได้ค่อนข้างที่จะง่ายมาก โดยเฉพาะห้องคอมพิวเตอร์ คีย์บอด ซึ่งต้องมีการทำความสะอาด ถ้าไม่มีการทำความสะอาดที่ดี ถ้ามีคนติดเชื้อแล้วไม่มีการระบายอากาศที่ดีถึงแม้ว่าเว้นระยะห่างขนาดไหนก็มีความเสี่ยงสูง จึงต้องตรวจสอบของเรื่องพัดลมระบายอากาศที่อยู่ในห้องเรียนด้วย

อีกประเด็นหนึ่งในเรื่องของสุขอนามัย จากกรณีโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ธนบุรี ที่บอกว่ามีอุโมงค์ฆ่าเชื้อ บังเอิญได้อ่านประกาศของสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทยที่ไม่แนะนำให้มีการฉีดพ่นทำลายเชื้อบนร่างกาย เพราะว่าไม่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยเลย เนื่องจากว่าเชื้ออยู่ในระบบทางเดินหายใจ เมื่อคนติดเชื้อเดินผ่านไป เชื้อก็ยังอยู่ในคนนั้น ก็สามารถที่จะแพร่ต่อไปให้คนอื่นได้อีก และพวกสารทำลายเชื้ออาจจะก่อให้เกิดอันตรายกับคนได้ เพราะไม่มีสารอะไรในโลกนี้ที่จะปลอดภัย มีแค่มีวิธีที่จะทำให้เกิดอันตรายน้อยที่สุด เพราะฉะนั้นถ้านักเรียนใช้ทุกวัน ๆ ละหลายรอบก็จะเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัย จึงต้องระมัดระวัง

ประเด็นสุดท้ายคือคุณครูมีส่วนสำคัญมากที่เราจะต้องให้กำลังใจคุณครู และต้องสำรวจคุณครูอย่างจริงจังว่าคุณครูพร้อมแค่ไหน คุณครูต้องการความช่วยเหลือในเรื่องไหน ทีมสนับสนุนต้องตั้งขึ้นมาเพื่อให้ความช่วยเหลือครู เพราะเมื่อมีการเรียนการสอนเกิดขึ้น ปัญหาที่เกิดคือครูอาจจะทำบางอย่างไม่เป็น หรือครูบางท่านทำเป็นแต่ทำได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ จึงต้องมีทีมสนับสนุนช่วยครู จะช่วยได้มาก จึงขอสนับสนุนทั้งสองโรงเรียนให้สร้างทีมสนับสนุนทางเทคนิคเพื่อช่วยครู

ดร.ตุลย์ ไตรยสวรรค์ เสนอแนะโรงเรียนกมลาไสยและโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ธนบุรี ว่าโรงเรียนทั้งสองโรงเรียนที่นำเสนอมาเป็นโรงเรียนที่มีความพร้อมทั้งคู่คือมีความพร้อมค่อนข้างสูงมาก เนื่องจากเป็นคนสายเทคโนโลยีจึงขอพูดในสายเทคโนโลยี ของโรงเรียนกมลาไสยที่บอกว่าในห้องเรียนเปิดให้นักเรียนสามารถใช้สมาร์ทโฟนและแล็ปท็อบได้ อันนี้อาจจะเป็นห่วงเล็กน้อยว่า การเปิดให้นักเรียนใช้อุปกรณ์ส่วนตัวในห้องเรียน อาจจะเป็นหารความกว้างของช่องสัญญาณในการใช้อินเทอร์เน็ตของโรงเรียนออกไปในขณะการเรียนการสอน เพราะทั้งสองโรงเรียนใช้รูปแบบการจัดห้องเรียนเป็นในลักษณะกว้างทั้งคู่ และที่เข้าใจว่าในกลุ่มของนักเรียนนำอุปกรณ์มาใช้ก็เป็นการให้นักเรียนต่อ WIFI กับทางโรงเรียน ซึ่ง WIFI เป็นการเชื่อมต่อในลักษณะที่เกิดการแบ่งช่องสัญญาณออกไป คือแชร์สัญญาณนั่นเอง ซึ่งจะทำให้เกิดการถ่ายทอดสัญญาณอินเทอร์เน็ตในห้องเรียน อาจจะต้องระวัง แต่ที่ดูแล้วทางห้องเรียนทั้งสองโรงเรียนค่อนข้างมีความพร้อมสูงมากก็คือในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานค่อนข้างครบถ้วน คือคอมพิวเตอร์ในห้องเรียนก็เรียกได้ว่าถึงขนาดที่ว่ามีการเดินสายแลนเข้าถึงทุกเครื่องได้เลย

จริง ๆ แล้วอันนี้เป็นการเข้าใจผิดค่อนข้างมากของ USER ของคน IT อย่างเรา ก็มีการแก้ไขตลอด เพราะ Wi-Fi ไม่ใช่ช่องทางการเชื่อมต่อที่ดี WIFI เป็นช่องทางการเชื่อมต่อที่สะดวก แต่ว่าจะทำให้เกิดการแบ่งช่องสัญญาณ ถ้ามีปริมาณคนใช้งานมาก คุณภาพการเชื่อมต่อต่ำ ช่องทางการเชื่อมต่อที่เหมาะสมและมีเสถียรภาพสูงในการเรียนการสอนคือการเดินสายแลน ฉะนั้น อินเทอร์เน็ตจะมีความเหมาะสมกว่า แต่ก็เป็นปัจจัยที่ต้องพิจารณาเรื่องของพื้นที่ว่าพื้นที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตเป็นอย่างไร อันนี้ฝากในเรื่ององค์ความรู้ในการให้บริการในเรื่องอินเทอร์เน็ตให้กับนักเรียนหรือครูด้วย

อีกประเด็นหนึ่งในเรื่องของเทคโนโลยี เนื่องจากทั้งสองโรงเรียนมีความพร้อมสูงมากก็อยากจะฝากว่าในส่วนการเรียนการสอนที่ลักษณะช่องสัญญาณ ขอให้มีการบันทึกการเรียนการสอนเก็บเอาไว้ในรูปแบบของ On-demand ทั้งในส่วนของวีดีโอ ทั้งในส่วนของไฟล์เสียง เพื่อเปิดให้นักเรียนเข้าเรียนหรือเข้าถึงได้อย่างอิสระ อันนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายของโรงเรียนเอง ถ้านักเรียนอยากรู้ก็สามารถเข้าถึงได้เอง สามารถดาวน์โหลดไฟล์ได้ จึงขอให้เป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งให้กับนักเรียนเลือกได้ ถ้านักเรียนเลือกศึกษาแบบ On-demand ก็ควรจะทำด้วย

ประเด็นสุดท้ายก็คือการสะท้อนจากครูเป็นเรื่องสำคัญ จากครูผู้สอนและนักเรียน ส่วนจากผู้ปกครองทั้งสองโรงเรียนทำได้ดีอยู่แล้ว แต่ว่าอยากให้มีการไต่ถามติดตามการสะท้อนจากครูผู้สอนและนักเรียนทั้งในเรื่องของการเรียนการสอนในรูปแบบที่ช่องสัญญาณ และในรูปแบบที่สอนปกติ On-site, On-demand เพื่อจับกลุ่มและปรึกษาปัญหาต่อกันบ่อย ๆ ว่ามีปัญหาหรืออุปสรรคอะไรที่เกิดขึ้น ก็ต้องปรับตามสถานการณ์เรื่อย ๆ

ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ แนะนำว่า วันนี้เราได้ประสบการณ์ในเชิงปฏิบัติที่ชัดเจนมาก ที่แนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม สร้างความมั่นใจว่าการจัดการเรียนการสอนที่เรามีนั้นสามารถเป็นไปได้อย่างแน่นอน และข้อเสนอที่ได้คิดและได้ลองทำแล้ว ได้ทดสอบระบบแล้ว ก็มีนัยสำคัญทั้งเชิงนโยบายคือตอบโจทย์ข้างบนได้ และที่สำคัญคือมีนัยสำคัญในทางปฏิบัติด้วย นี่คือความดีที่เราค้นพบ จากตรงนี้จึงมีหลายประเด็น

ประเด็นแรก ในเชิงหลักการที่ได้รับจากหลาย ๆ ท่านที่ฟังในวันนี้ คงจะเป็นการแสดงความเห็นในฐานะผู้ฟังคนหนึ่ง อันแรกก็คือ ทุกท่านจะมุ่งประโยชน์ของนักเรียนเป็นหลัก ตรงนี้เป็นหลักการใหญ่และเป็นหลักการร่วม ประเด็นที่สองก็คือว่าในการจัดการเลือกรูปแบบหรือออกแบบที่เหมาะสมต้องเอาโรงเรียนเป็นฐานเท่านั้น โรงเรียนแต่ละโรงมีบทบาท มีปัจจัย มีข้อจำกัดอะไรแตกต่างกัน ประเด็นที่สามก็คือเรื่องของการออกแบบการสอนก็ต้องดูเด็กเป็นรายคน ที่สำคัญก็คือต้องดูครอบคลุมทั้งระบบ ประเด็นที่สี่คือหลักการมีส่วนร่วมทั้งผู้ปกครอง ชุมชน และศิษย์เก่าน่าจะเป็นปัจจัยหลักที่น่าจะช่วยให้การทำงานในช่วงที่มีวิกฤติที่สามารถเดินไปได้ ประเด็นที่ห้าก็คือเรื่องของการสื่อสารสร้างความเข้าใจ เท่าที่ดูก็อาจจะต้องพิถีพิถันในเชิงสาระที่จะสื่อสารคืออะไร และใช้ช่องไหนบ้าง และแต่ละที่คงมีช่องทางที่เหมาะสมแตกต่างกัน เช่น การใช้ Social Media ทุกโรงเรียนมีแน่นอน ต้องใช้หลายช่องทางที่เหมาะสมกับตัวเอง

ประเด็นที่หก คือเทคนิค เราอาจจะไม่แม่น เช่น เราเห็นว่า Wi-Fi ดี แต่ระบบแลนดีกว่าแน่นอน เอาอุปกรณ์มี YOD มาอาจจะดีในเรื่องของการแก้ปัญหาฮาร์ทแวร์ แต่ว่าก็จะเจอปัญหาในเรื่องของระบบ Wi-Fiอินเทอร์เน็ต หรือว่าเรื่องของ Content ตรงนี้เห็นว่าส่วนกลางจะต้องมาช่วยแล้ว โรงเรียนอาจจะมี Content ของตัวเองบ้าง แต่ว่าทางด้านเทคนิคหลายตัวอาจจะต้องให้ส่วนกลางมาช่วย ก็จะเป็น On-demand ให้ได้

ประเด็นที่เจ็ด เท่าที่ดูก็คือว่าในเชิงของการพูดคุยของเราวันนี้ ก็ยังอยู่ในหลักการที่ว่าเราจะดูแลนักเรียนทั้งในเชิงของสุขภาพและคุณภาพ ก็ต้องหาจุดสมดุลให้ได้ ถ้าเน้นคุณภาพมาก ๆ แต่ไม่ได้คุณภาพจะทำอย่างไร จุดหลักของการศึกษาก็คือเรื่องของคุณภาพ และประเด็นในเชิงหลักการสุดท้าย คือในเรื่องของการทำงาน เราอาจจะต้องอยู่บนพื้นฐานข้อความรู้ที่ใช่และถูกต้อง ซึ่งมีอยู่มากมาย คืออยากรู้หลักสูตรเรื่องนี้ก็สามารถดึงออกมาได้ทันที เราต้องนำความรู้ที่คนค้นพบมาแล้วมากมายมาบวกกับประสบการณ์ของเรา แล้วนำมาออกแบบให้เหมาะสมกับทางโรงเรียน

ส่วนประเด็นย่อย ๆ ประเด็นแรกที่พูดในเชิงของการบ้าน คือโรงเรียนส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนเล็กในชนบท โรงเรียนเหล่านี้ดูแนวทางที่คิดขึ้นมาแล้วน่าจะทำได้ ก็อยากเห็นเป็นรูปธรรมว่าโรงเรียนเล็ก ๆ ในชนบท หรือโรงเรียนที่นักเรียนอยู่ประจำจัดกันอย่างไรในสภาพจริง อันนี้อาจจะเป็นการบ้านข้อหนึ่งที่เราต้องคิด ประเด็นที่สองคิดว่าประเด็นตรงใจผู้ปกครองมาก ก็คือเรื่องความปลอดภัยของนักเรียนในระหว่างการเดินทาง เพราะในเรื่องระหว่างการเดินทางเป็นเรื่องที่ผู้ปกครองห่วงมาก ตรงนี้คงต้องมีมาตรการพอสมควร ในเชิงกฎหมายก็เป็นหน้าที่ของกรมการขนส่งทางบก ในกรุงเทพฯ ก็มีหลายหน่วยงานมาก แต่ว่าในความเป็นจริง โรงเรียนก็คงหนีไม่ได้ว่าเป็นลูกศิษย์ของเรา ก็คงต้องอาศัยทางจังหวัดเข้ามาช่วย เพราะฉะนั้นรูปแบบตรงนี้เป็นรูปแบบที่ทุกคนยังมองไม่เห็นและทุกคนก็เป็นห่วง และมีรูปธรรมที่มั่นใจเลย จะมีไหม ก็ต้องหารูปแบบที่ใช่

อีกประเด็นหนึ่งในเรื่องของคุณครู ช่วงที่ผ่านมา ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกให้ความสำคัญกับบุคลากรทางการแพทย์กันมาก ทั้งในเชิงเสริมความรู้ ทั้งในเชิงการดูแลความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ แต่เมื่อเปิดเทอมแล้ว เรื่องบุคลากรทางการศึกษา ทุกคนทุกกลุ่มทั้งครูและผู้เกี่ยวข้อง ผู้ปกครองและนักเรียน จะต้องมีระบบการดูแลช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรมและต้องพร้อมตั้งแต่ตอนนี้แล้ว ไม่ใช่ไปแก้ปัญหาตอนเปิดเทอม เท่าที่ฟังดูอันแรกในเรื่องของความรู้ประสบการณ์ที่จะมาเสริมให้ครู อันที่สองก็เรื่องสวัสดิภาพทั้งหลายว่าทำอย่างไรครูจะสอนอย่างมั่นใจและมีความสุข อันที่สามก็คือสวัสดิการที่จะช่วยให้เขาทำงานด้วยความสบายใจ ตอนนี้ครูหลายคนก็จ่ายไปเองไปมากแล้ว ซึ่งตรงนี้ถ้ารูปแบบข้อเสนอมาจากสถานศึกษาบ้างก็จะดี บางทีส่วนกลางก็อาจจะคิดไปไม่ถึงจุดนั้น

อีกประเด็นหนึ่งซึ่งเป็นประเด็นที่คิดว่ามีความสำคัญก็คือประเด็นชาวบ้านที่เป็นลูกจ้างที่อยู่ในเมืองอยู่ในนิคมทั้งหลายแล้วตอนนี้ก็กลับไปบ้านที่ชนบท และในช่วงปีสองปีนี้ เขาก็อาจมีโอกาสได้รับการจ้างงานกลับมาน้อยมาก คนที่จะกลับก็คือคนที่ 3.0 หรือ 4.0 ส่วนกลุ่ม 0.0 จะเป็นกลุ่มด้อยโอกาส และจะด้อยโอกาสที่ยืดเยื้อยาวนานมาก ประเด็นนี้ยังไม่มีใครคิดแนวทางในการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับพวกเขา ตรงนี้ก็อาจเป็นการบ้านอีกอันหนึ่ง

ดร.คุณหญิง กษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ได้ให้ข้อแนะนำว่า ขอชื่นชมการประชุมทางไกลครั้งนี้ที่ได้ประโยชน์มาก ได้เห็นจุดเด่นมากมายหลายประการที่ท่านวิทยากรและท่านชัยพฤกษ์ได้สรุปไว้อย่างชัดเจนแล้ว ขอเพิ่มอีกบางแง่มุม

1.ทุกโรงเรียนตีโจทย์ของสถานการณ์ได้ตรงประเด็น ฉับไว มีนวัตกรรมและมีความพร้อมที่จะเรียนรู้ ใครที่เคยเป็นห่วงว่าการเรียนการสอนในโรงเรียนแยกส่วนจากโลกแห่งความเป็นจริง คงจะเห็นศักยภาพที่ยิ่งใหญ่จากสามโรงเรียนนี้ ในการประชุมครั้งต่อไป หากเราสามารถเลือกโรงเรียนจากบริบทที่หลากหลายตามที่ ดร.เบญจลักษณ์ได้กล่าวไว้ ก็จะทำให้เห็นศักยภาพนี้ในวงกว้างชัดเจนขึ้น และหวังได้ว่าประสบการณ์นี้จะนำไปสู่การเชื่อมโยงสู่การเรียนการสอน และ “โจทย์จริง” อื่น ๆ ในสังคมเพิ่มขึ้น

2. ต้องขอบคุณทีมนักวิชาการที่พร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเชื่อว่าท่านก็ได้แง่มุมใหม่ ๆ ไปฝากนักศึกษา ไปทำการวิจัยเช่นกัน หวังจะได้เห็นความสัมพันธ์เช่นนี้ยั่งยืนต่อเนื่องไป ก่อนโรงเรียนเปิด หลังโรงเรียนเปิด หลังจากโควิดเริ่มแผ่ว หวังว่าได้เห็นการรวมทีมระหว่างนักเรียนมัธยมและพี่ ๆ นักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพื่อแก้ปัญหาสังคม และความเกื้อกูลระหว่างโรงเรียนและมหาวิทยาลัย นักวิชาการ และผู้ปฏิบัติที่จะเป็นกลไกปกติในการแก้ปัญหาอื่น ๆ ในสังคม แม้ไม่วิกฤติเท่าโควิ

3. หากทำได้เช่นนี้ เราจะมีกลไกที่จะเชื่อมต่อจากความพยายามแก้ปัญหาวิกฤติ ไปสู่การสร้างวิถีใหม่อย่างยั่งยืน ตามความหวังของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี และท่านกฤษณพงศ์ที่ทุ่มเทเพื่อกลุ่มไลน์นี้มาก เช่น มาตรการทางสาธารณสุขใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ จะช่วยปลูกฝังความเข้าใจ วิถีปฏิบัติให้นำไปปรับใช้ในภาวะปกติที่จะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่มีสุขลักษณะ ปลอดภัย และลดโรคอื่น ๆ ที่เคยระบาดในโรงเรียน หรือการเรียนการสอนแบบ Hybrid ที่พูดกันมานาน คงจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้จริง เมื่อเรามีประสบการณ์แล้วว่าอะไรสามารถเรียน on line และอะไรจำเป็นต้องได้รับการชี้แนะและเสริมจากคุณครู

4. ทุกโรงเรียนจัดระบบเด็ก ครู ผู้ปกครอง บุคลากรได้ดีเยี่ยม แต่ขอฝากว่านอกจากเน้นวิธีทำแล้ว ให้เน้นการปลูกฝังความเข้าใจอย่างลึกซึ้งด้วย เช่น ทำไมต้องห่าง 2 เมตร ทำไมต้องใส่หน้ากาก ทำไมต้องใช้อุปกรณ์คนละชุด จะได้เข้าใจ ไม่เพียงแต่ How แต่ Why และต่อเนื่องไปถึง Why not? เพื่อส่งเสริมให้คิดเชิงนวัตกรรมถึงทางเลือกอื่น ๆ ที่อาจนำมาทดแทนวิธีการที่เราคิดเพื่อเขาด้วย

5. มีเรื่องให้ชมได้สามวันสามคืน แต่ที่ประทับใจเป็นพิเศษ คือ เครือข่ายบ้านเรียนในชุมชนของโรงเรียนกมลาไสย ที่น่าจะเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนบ้าง ความพยายามของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลับธนบุรี ที่เป็นโรงเรียนยอดนิยม แต่สนใจเรื่องเด็กที่ครอบครัวได้รับผลกระทบจากโควิด และวิถีทันสมัยแบบพอเพียงของโรงเรียนอนุบาลพิบูลเวศม์ที่ช่วยกันคิดช่วยกันผลิตอุปกรณ์จนมีความพร้อมและสวยงาม และขอขอบคุณ ดร.เบญจลักษณ์ ทีมเลขาฯ เครือข่ายต่าง ๆ ที่ร่วมกันเชิญชวน รับฟัง และเสนอแนะ

ช่วงท้ายการเสวนา ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กล่าวก่อนการปิดการเสวนา THE NEW NORMAL SCHOOL ONLINE ครั้งที่ 3 โดย ดร.กฤษณพงศ์ กล่าวว่า วันนี้ได้เรียนรู้มากและเชื่อว่าเรากำลังเห็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมาก เพราะเป็นการปฏิรูปการศึกษาจริง ๆ ที่ทุกคนทำ คือระเบิดจากข้างใน ไม่ได้มีใครสั่ง ทุกคนรู้ว่าต้องทำแล้วก็ยังมองจากมุมโรงเรียน จึงดีใจที่เห็นทั้งสามโรงเรียนที่เรียกว่าดาวทอง และคณะครู และได้รับการช่วยจากทางกรมอนามัย จากชุมชน ผู้ปกครอง อันนี้เป็นการพลิกโฉมทางการศึกษาของไทยจริง ๆ ไม่ต้องเอาภาคทฤษฎีมาจับ สิ่งที่เราได้ยินมานี้เกิดไม่ได้ถ้าเผื่อผู้นำในโรงเรียน ทีมครูทั้งหมด บุคลากรทางการศึกษา ผู้ปกครอง นักเรียน ศิษย์เก่าและชุมชนเข้ามาช่วย ถือเป็นหน้าใหม่

ดร.กฤษณพงศ์ กล่าวอีกว่า ได้พูดคุยกับผู้นำการศึกษาหลายแห่งในโลก เขาบอกว่าการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาจะเกิดได้ ถ้าเผื่อคนเป็นผู้นำ เป็น Leader และทุกคนเป็นเจ้าของ ซึ่งสิ่งที่เราเห็นทุกคนเป็นผู้นำและเป็นเจ้าของ อยู่ที่ว่าจะอยู่ในบทบาทไหนเท่านั้นเอง ได้เห็นพลังของผู้บริหาร ตารางผู้ปกครอง ครูที่สามารถลงในรายละเอียดได้ วิเคราะห์ตั้งแต่โรงเรียนสวนกุหลาบ ธนบุรี ที่มีนักเรียนหลายพันคน ลงไปจัดได้อย่างไรตั้งเกือบร้อยห้องเรียน โรงเรียนกมลาไสยก็เป็นอีกแบบหนึ่ง โรงเรียนอนุบาลพิบูลเวศม์ก็เป็นอีกแบบหนึ่ง จึงเชื่อว่าทุกอย่างเป็นไปได้ถ้าเผื่อทุกคนเป็นผู้นำและเป็นเจ้าของ

คราวหน้าจะนำตัวอย่างผู้ปกครอง 0.0 และ 1.0 มา ซึ่งมีสี่โรงเรียนที่ราชบุรี ว่าขณะนี้เขาเตรียมการอย่างไร ซึ่งก็น่าทึ่งมากที่ไปพบสี่โรงเรียนนี้ เขาใช้โบสถ์คริสเตียน ใช้วัดถ้าเป็นพุทธ หรือไปขอศาลาในหมู่บ้านเลย ถ้าเผื่อผู้นำหมู่บ้านหรือผู้ใหญ่บ้าน อบต.ให้ ฉะนั้นการศึกษานี้จะออกจากโรงเรียนด้วย ไปถึงหมู่บ้าน ไม่ถึงครอบครัว นี่เป็นมิติใหม่ของการศึกษา

ถ้าในเชิงนโยบาย เราเตรียมตัวอย่างที่หลากหลาย และนำมาสังเคราะห์เป็นเชิงนโยบายว่าควรจะมีอะไรบ้าง จะเป็นประโยชน์ เพราะว่าหลักการทางผู้บริหารให้ได้ แต่เมื่อลงมาเป็นแนวปฏิบัติสองหมื่นกว่าโรงเรียนจะเกิดความหลากหลายมาก ก็อยากให้กำลังใจทุกท่าน และเชื่อว่าการศึกษาของเราจะพลิกโฉมจริง ๆ ถ้าเราสามารถที่จะทำงานร่วมกันอย่างนี้ได้จึงขอเอาใจช่วยทุกท่าน ขอขอบคุณในวันนี้ และพบกันใหม่