มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี จัดเสวนาออนไลน์ The New Normal School ครั้งที่ 2 ศึกษาบทเรียนนานาชาติ เตรียมพร้อมครู-ผู้ปกครอง-นักเรียน-โรงเรียน และหน่วยงานรัฐรับมือและปรับแผนการเรียนการสอนในแบบออนไลน์ผ่านเครื่องมือเทคโนโลยีการสื่อสารทุกช่องทางในมาตรการป้องกันการระบาดไวรัสโควิด-19


การเสวนา The New Normal School ออนไลน์ ครั้งที่ 2
เรื่อง การเรียนการสอนและเครื่องมือเทคโนโลยีการสื่อสาร ซึ่งจัดโดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ผ่านโปรแกรมซูม โดยมี ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ดร.คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา กรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี และ ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ พร้อมทั้งเครือข่ายครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ร่วมในการเสวนากว่า 200 คน โดยมี ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า กรรมการและผู้จัดการสำนักงานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี  เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

การเสวนาภาคแรก ที่ประชุมได้เสวนาในหัวข้อ เรื่อง การเรียนการสอนออนไลน์ โดยวิทยากร จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ประกอบด้วย ดร.วิมลศิริ ปรีดาสวัสดิ์ และ ดร.ก้องกาญจน์ วัชรพนัง นำเสวนาในประเด็นการเรียน   การสอน ประสบการณ์จากอุดมศึกษาสู่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และอาชีวศึกษา โดยชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่อาจารย์กังวลต่อการสอนออนไลน์ คือนักศึกษาจะเรียนรู้ได้มากน้อยเพียงใด การเริ่มสอนออนไลน์ การเลือกเวทีที่เหมาะสม การใช้เวลาในการเตรียมการสอน ความเหมาะสมของกิจกรรมการเรียนการสอน การใช้เวลาในการสื่อสารกับนักศึกษา การใช้เวลาในการตรวจงาน สิ่งที่นักศึกษากังวลต่อการเรียนออนไลน์ คือสัญญาณอินเทอร์เน็ต การสอนแบบ Broadcast และ Live การส่งงาน การสอบ ตารางสอบที่ทับซ้อน การส่งข้อสอบ การขาดแคลนอุปกรณ์และหนังสือที่ใช้  ในการเรียน สิ่งแวดล้อมในบ้าน บ้านถูกเปลี่ยนเป็นห้องเรียนทางไกลที่ไม่ได้วางแผนไว้ก่อน การทำห้องทดลองออนไลน์ ทำให้ไม่มีประสบการณ์ในการใช้เครื่องมือจริง ๆ

ดังนั้น การเตรียมการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ โดยตั้งห้องเรียนแบบ Virtual Classroom เชิญทุกคนเข้าห้องเรียน ออกแบบเป้าหมายการเรียนรู้แบบทีละขั้นตอนที่ สามารถช่วยให้นักศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเองได้ และแบ่งหัวข้อเรื่องย่อย ๆ ตามลำดับของเนื้อหา ให้เวลานักศึกษาในการเรียนรู้เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 30 ของเวลาปกติ เปิดโอกาสให้เรียนรู้ได้ตลอดเวลาโดยไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน และตั้งเป้าหมายการเรียนรู้ที่ชัดเจนและให้ความเห็นสะท้อนกลับไปยังนักศึกษาในแต่ละหัวข้อ แบ่งหัวข้อการเรียนรู้ออกเป็น key concept ย่อย ๆ ปรับรูปแบบจากการที่ครูต้องสอนแบบ Live เป็นการสร้างสื่อเรียนรู้ที่เหมาะสมและสนับสนุนการเรียนรู้ด้วยตัวเองของนักศึกษา สร้างกระบวนการที่ช่วยพัฒนาสมรรถนะเป็นลำดับขั้น การให้ข้อมูลป้อนกลับและกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กลุ่ม ช่วยพัฒนาสมรรถนะของนักศึกษา

ส่วนแนวคิดการออกแบบตารางสอนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย กำหนดชั่วโมงการเรียนรู้ 4-5 ชั่วโมงต่อวัน ตารางจะแสดงกำหนดการสำคัญ เช่น หัวข้อการเรียนรู้ ชั่วโมงการทำงานของแต่ละวิชา ชั่วโมงที่พบกับครู และวันที่ต้องส่งงาน ทุกสัปดาห์มีชั่วโมง Reflection เพื่อช่วยสรุปและเชื่อมโยงการเรียนรู้ของนักศึกษา สื่อสารและทำความเข้าใจแนวคิดการเรียนรู้กับนักศึกษาและผู้ปกครอง

ดร.มัลลวีร์ รอชโฟล ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการบริหาร สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นำเสนอประเด็นการเรียนการสอน K-9 ในสถานการณ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 2019 (COVID-19) โดยยกกรณีตัวอย่าง ดังนี้

  • สหรัฐอเมริกา ที่มีความร่วมมือระหว่างรัฐจัดการเรียนการสอนออนไลน์ระดับเกรด 12 โดยใช้หลักสูตร Florida Virtual School ร่วมมือกับ Google ในการจัดหา Chromebooks และจุดให้บริการอินเทอร์เน็ตไร้สาย (Hotspot) มือถือให้กับนักเรียนในพื้นที่ชนบทจำนวน 100,000 จุด เพื่อให้การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงฟรี และไม่จำกัดตลอดระยะเวลาที่เหลือของปีการศึกษา การพัฒนาโปรแกรมเพื่อเข้าถึงคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต และบริการ WiFi ให้กับนักเรียนในระดับ 3-7 รวมถึงการดัดแปลงรถโรงเรียน 110 คันที่กระจาย WiFi เพื่อออกอากาศ Hotspot สูงถึง 200 ฟุต บางรัฐให้ยืม iPAD และทำเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลโดยลิงก์ไปยังผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตฟรีหรือลดราคาสำหรับนักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากการปิดโรงเรียน รวมทั้งมีแผนที่ที่แสดงจุด Hotspot WiFi ได้ทั่วทั้งรัฐ และจัดรายการทีวีของ PBS จำนวน 5 ชั่วโมงในวันธรรมดาสำหรับนักเรียนระดับก่อนอนุบาลถึงเกรด 8 โดยใช้ครูที่มีความสามารถในท้องถิ่นมาจัดการเรียนการสอน
  • ฝรั่งเศส ได้มีการประกาศแผนปฏิบัติงาน 3 ด้าน คือ ด้านที่ 1 การติดต่อสื่อสานระบออนไลน์ จะเน้นในชุมชนที่ไม่สามารถติดต่อสื่อสาร ดำเนินการจัดซื้อแท็บเล็ต พร้อมกับอุปกรณ์ที่ส่งสัญญาณ 4G ด้านที่ 2 การสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนโรงเรียน โดยมีผู้ให้คำปรึกษาเพื่อให้การสนับสนุนการจัดการเรียนการสอน ด้านที่ 3 การสนับสนุนท้องถิ่นบริหารงานทั้งระบบ โดยให้ผู้ว่าการแต่ละภูมิภาคบริหารจัดการในการให้การสนับสนุนและช่วยเหลือการจัดการเรียนการสอนของนักเรียน ด้านกระทรวงการศึกษาและเยาวชนแห่งชาติ และ La Poste (ไปรษณีย์) ทำข้อตกลงกันเพื่อรับผิดชอบในการจัดส่งอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่มีอยู่ในโรงเรียน เช่น แท็บเล็ตและแล็ปท็อป ส่งเอกสารการสอนให้กับนักเรียนที่ไม่ได้ติดตั้งแบบดิจิทัล หรือไม่สามารถเชื่อมต่อได้ โดยสถานศึกษาควรติดต่อกับครอบครัวสัปดาห์ละครั้งทางโทรศัพท์ จัดให้มีศูนย์การศึกษาทางไกลแห่งชาติ (CNED) ที่จะดำเนินการจัดทำแพลทฟอร์ม My Class at Home ทำตารางการสอนผ่านโทรทัศน์ (Lumni) และ Educ’ARTE (เว็ปไซด์ที่รวบรวมสื่อการเรียนการสอน) พร้อมภาคเอกชนและสมาคมต่าง ๆ ได้แก่ Emmaus Connect Foundation de France ในการให้การสนับสนุนอุปกรณ์ดิจิทัลที่จำเป็น
  • จีน กระทรวงศึกษาธิการของจีน ได้ร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ ในการจัดการเรียนรู้แบบดิจิทัล พร้อมได้รับการสนับสนุนจากผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายใหญ่ของจีน ให้บริการการศึกษาเรียนรู้แบบออนไลน์ พัฒนาระบบอินเทอร์เน็ต และขยายเครือข่ายให้มีความครอบคลุม สำหรับการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ สนับสนุนให้โรงเรียนใช้แพลทฟอร์มอินเทอร์เน็ตเป็นทางเลือกในการสอนแบบออนไลน์ เปิดห้องเรียนบนระบบคลาวด์ (Cloud) แห่งชาติ จัดหาสื่อการสอนและหลักสูตรสำหรับนักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ครูผู้สอนออกแบบและส่งบทเรียนออนไลน์ การถ่ายทอดสดการสอนออนไลน์ และการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ MOOC โรงเรียนจะจัดส่งตารางเรียน พร้อมคู่มือที่มีตารางเวลากำกับ  โดยละเอียดแก่นักเรียน โดยให้โรงเรียนและครูเลือกรูปแบบการเรียนการสอนที่เหมาะสม โดยขึ้นอยู่กับความพร้อมในการใช้งานอิเล็กทรอนิกส์ ในส่วนของนักเรียนที่ไม่สามารถร่วมชั้นเรียนผ่านทางออนไลน์ได้ สามารถดาวน์โหลดไฟล์เสียงและไฟล์งานมาทำแทนได้ หรือในพื้นที่ชนบทห่างไกลที่มีมีอินเทอร์เน็ต ทางหน่วยงานของรัฐหรือ China Education Network ได้เปิดห้องเรียนออกอากาศผ่านทางโทรทัศน์ช่องพิเศษสำหรับการศึกษาทุกวันทำการ โดยครอบคลุมวิชาแกนหลักทั้งหมด
  • อินเดีย ด้านการศึกษาทางเลือกสำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษาที่ 1-5 ซึ่งพัฒนาโมดูลที่จัดทำโดยสภาแห่งชาติเพื่อการวิจัยและฝึกอบรมด้านการศึกษา (NCERT) เพื่อแก้ไขปัญหาสำหรับอินเทอร์เน็ตที่ไม่ดีและเป็นเครื่องมือสำหรับครูในการจัดการเรียนการสอน รวมทั้งสอดคล้องกับเนื้อหาจากหลักสูตร โมดูลดังกล่าวสอดคล้องกับผลการเรียนรู้ของนักเรียน ดังนั้น ครูและผู้ปกครองอาจเลือกที่จะทำกิจกรรมที่นักเรียนแสดงความสนใจโดยไม่คำนึงถึงลำดับ การใช้สื่อการเรียนรู้แบบผสมผสาน ใช้กับนักเรียนเกือบทุกระดับชั้นที่จะได้มอบแผ่นงานและเนื้อหาการเรียนรู้ให้กับผู้ปกครองผ่านทางเว็บลิงค์และช่องทางต่าง ๆ ในแต่ละวัน ได้แก่ YouTube  Microsoft Zoom WhatsApp Google Classroom รวมทั้ง SWAYAM Prabha การเรียนการสอนแบบสด (Live) หรือออนไลน์จะเน้นการติดต่อสื่อสารกับนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และการพัฒนาระบบนิเวศทางการศึกษาออนไลน์
  • สิงคโปร์ ได้จัดการเรียนรู้ผ่าน Singapore Learning Platform (SLP) จะมีสื่อสารการเรียนการสอนให้กับครูและนักเรียน โดยในช่วงการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบ Home Based Learning (HBL) จะมีทั้งการเรียนออฟไลน์และออนไลน์มาใช้ โดยไม่ได้อิงกับการเรียนออนไลน์เพียงอย่างเดียวใน HBL Package จะมีคำชี้แจงการเรียนรู้ ตารางการเรียน แผนการเรียนรู้ ใบงานหรือกิจกรรมและจำนวนชั่วโมงที่ต้องการในการเรียนรู้ในรายวิชานั้น ๆ ไว้อย่างชัดเจน โดยรัฐบาลจัดหาแล็ปท็อปและแท็บเล็ตให้นักเรียนผู้มีรายได้น้อยหรือให้ยืมอุปกรณ์สื่อสารเพื่อไว้ใช้เรียนหนังสือที่บ้าน หรือระหว่างที่รัฐบาลมีคำสั่งให้ปิดโรงเรียน นอกจากนี้ยังจัดหาอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตให้นักเรียนยืมอีก 1,200 ชุด
  • อินโดนีเซีย ทางกระทรวงศึกษาธิการและวัฒนธรรมดำเนินการให้การสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนให้โรงเรียนในภาวะการระบาดของไวรัสโควิด-19 ผ่าน Platform การเรียนรู้ออนไลน์ที่ใช้เทคโนโลยี เพื่อจะช่วยเหลือนักเรียนเกิดกระบวนการเรียนรู้ที่บ้าน ประกอบด้วย e-Learning Platform ที่สาธารณชนเข้าถึง ได้แก่ Zenius Education, Rumah Belajar Kemendikbud การศึกษาของ G Suite ทีมของ Microsoft ควิปเปอร์สคูล (Quipper), Ruangguru สำหรับที่มีข้อจำกัดในการเรียนรู้ผ่านอินเทอร์เน็ต สามารถเรียนรู้ผ่านสถานีโทรทัศน์สาธารณะ TVRI จะออกอากาศรายการการศึกษาแบบเต็มวันที่เรียกว่า Belajar dari Rumah (Study from Home)
  • ฟิลิปปินส์ ได้ประกาศเปิดตัว DepED Commons ซึ่งเป็น Platform Online ที่ได้รับการสนับสนุนจากกรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (DICT) และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (NTC) ในการสนับสนุนการเชื่อมต่อเพื่อส่งมอบบริการการศึกษาบนโลกออนไลน์ Platform นี้ประกอบด้วย Globe eLibrary ซึ่งเป็น Platform Online และ e-books ที่เหมาะสมกับวัยและมีส่วนร่วมตั้งแต่หนังสือนิทานสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ไปจนถึงตำราเรียนในวิชาหลัก เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ อังกฤษ ฟิลิปปินส์ ดนตรี ศิลปะ และ Open Educational Resources (OER) ที่เขียนขึ้นโดยครูโรงเรียนของรัฐที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชา ซึ่งสามารถจัดเก็บรักษา นำไป แก้ไขใหม่ และแจกจ่ายเนื้อหาใหม่ได้ จัดทำบทเรียนผ่านทางโทรทัศน์และวิทยุ ใช้การเรียนรู้แบบผสมผสาน ครูจัดทำแผนการเรียนการสอนออนไลน์ และออกแบบฝึกหัดให้กับนักเรียนเพื่อนำไป upload ใน DepED เนื่องจากยังมีนักเรียนที่ไม่สามารถเข้าถึงสื่อออนไลน์ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจในการปรับใช้การสอนที่เหมาะสม หากพวกเขาปฏิบัติตามแนวทางนโยบายและการเตือนที่ DepED กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด ส่วนกรณีการเปิดภาคเรียนในช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายน 2563 จะลดจำนวนนักเรียนให้น้อยลงประมาณ 20 คนต่อห้อง และดำเนินการจัดการเรียนการสอนในวันเสาร์ โดยยึดมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขเป็นหลัก
  • เวียดนาม ทางกระทรวงศึกษาธิการและฝึกอบรมร่วมมือกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในสนับสนุนการออกอากาศผ่านทางโทรทัศน์ฟรี จำนวน 14 ช่อง และได้พัฒนา Platform Online, VNPT E-Learning เพื่อช่วยสอนและเรียนรู้จากระยะไกลสำหรับครูและนักเรียนทุกระดับมี 3 องค์ประกอบที่ต้องเรียนรู้ผ่าน livestream แลกเปลี่ยนบทเรียนออนไลน์ และทดสอบออนไลน์ โดยมีมาตรการเกี่ยวกับการจัดการห้องเรียนผ่านสื่อออนไลน์ และเน้นย้ำถึงความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างโรงเรียนและครอบครัวเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในโลกไซเบอร์สำหรับการเรียนรู้ เมื่อโรงเรียนเปิด กระทรวงศึกษาธิการและฝึกอบรมกำหนดมาตรการป้องกันอย่างต่อเนื่องในการตรวจอุณหภูมิ จัดให้นั่งห่างจากกันสองเมตร การสวมหน้ากากอนามัย การฆ่าเชื้อที่โต๊ะ ลิฟท์ และลูกบิดประตูเป็นประจำในระหว่างการเรียนรู้ การล้างมือด้วยสบู่และเจลทำความสะอาดมือ ในขณะเดียวกัน โรงเรียนยังคำนึงถึงระยะห่างทางสังคมจำเป็นต้องแบ่งจำนวนนักเรียนในแต่ละชั้นเรียนครึ่งหนึ่งสลับกันมาโรงเรียน และอีกครึ่งหนึ่งจะเรียนออนไลน์ที่บ้าน รวมทั้งมีการจัดเสริมกิจกรรมการเรียนรู้ในวันเสาร์สำหรับนักเรียนที่มีผลการเรียนไม่ดี

ดร.จุฬากรณ์ มาเสถียรวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติ นำเสนอประเด็นการปฏิบัติจริงในการเรียนการสอนทั้งในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในอาเซียน ว่า
“หลายประเทศมีแนวทางการจัดการเรียนการสอนทางไกล โดยรัฐมีนโยบายส่งเสริมให้เทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยในการจัดการเรียนรู้ เช่น การเรียนผ่านโทรทัศน์ทางไกลผ่านดาวเทียมและการเรียนออนไลน์ ส่วนในระดับโรงเรียนก็ดำเนินแนวทางตามนโยบายรัฐ แต่เน้นความยืดหยุ่นในการจัดการตามบริบทของพื้นที่ แปลงนโยบายมาสู่การออกแบบให้เหมาะกับตัวเองที่สามารถทำได้ และสิ่งที่ทุกโรงเรียนต้องมีคือ การมีข้อมูลรายบุคคลของนักเรียน สภาพความพร้อมด้านการเรียนรู้ด้านต่าง ๆ แผนและแนวทางการจัดการเรียนรู้สำหรับโรงเรียนตัวเอง และระบบการติดตามช่วยเหลือและประเมินผล ระบบการติดตามข่าวสารและสื่อสารกับพ่อแม่ผู้ปกครองอย่างต่อเนื่อง”

 

จากประสบการณ์ของครูด้านแนวทางการจัดการเรียนการสอนนั้น ครูส่วนใหญ่เลือกผสมผสานวิธีการสอนหลายวิธีเข้าช่วย ส่วนห้องเรียนแบบออนไลน์ต้องเป็นแนวทางที่ครู นักเรียน และผู้ปกครองต้องมีความพร้อม โรงเรียนก็ต้องมีความพร้อมในการเลือกใช้วิธีนี้ โรงเรียนและครูต้องเตรียมการในเรื่องการจัดการ เช่น โครงสร้างพื้นฐาน ตารางการเรียน การจัดสอนแบบออฟไลน์ต้องมีชุดการเรียนรู้ช่วย แต่ลำบากพ่อแม่ของนักเรียนในการดูแลและการติดตามที่ต้องมีระบบที่ดีด้วย สถานะของครูสอนไป เรียนรู้ไป พัฒนาไป โดยดูจากเงื่อนไขสถานการณ์ที่จะทำให้การจัดการเรียนรู้นั้นเกิดผลดี

ดังนั้น แนวทางการจัดการเรียนการสอน ต้องผสมผสานวิธีการหลายวิธี เพื่อหาคำตอบที่เหมาะสมในสถานการณ์ New Normal เสมือนครูเป็นนักวิจัยและพัฒนาการเรียนรู้ ห้องเรียนออนไลน์เป็นแนวทางที่ต้องเตรียม ไม่ว่าจะพร้อมหรือไม่พร้อม รัฐต้องลงทุน หน่วยงานพื้นที่ต้องสนับสนุน การจัดสอนแบบออฟไลน์ต้องมีชุดการเรียนรู้ช่วย ต้องช่วยให้พ่อแม่รู้สึกดีและเรียนรู้ไปด้วยกัน ครูต้องสอนไป เรียนรู้ไป และพัฒนาไป ให้เป็นนิสัยในบริบทใหม่ เนื่องจากนวัตกรรมการสอนทางไกล ไม่มีคำตอบสำเร็จรูป ต้องการการค้นหาจากมือครูและผู้รู้ช่วยกันหนุนเสริม รวมถึงนวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อเข้าถึง “เด็กยากลำบาก” (Mobile learning) และการติดตามเป็นสิ่งจำเป็นเสมอ เพื่อการเข้าถึงและช่วยการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ดร.ชวิน จันทรเสนาวงศ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และกรรมการวิชาการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี นำเสนอในประเด็นการเรียนการสอนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในโรงเรียนนานาชาติ Concordian International School ว่า การเรียนการสอนเดิมถูกทดแทนด้วยอุปกรณ์และเทคโนโลยี ด้วยระบบ Learning Management System การถ่ายทอดสด (Live VDO) ห้องเรียนเสมือน (VDO conference) วีดีโอดูซ้ำได้ (VDO servers) ใช้ส่งไฟล์ ส่งงาน (Cloud storage) การส่งข้อความ (Messaging applications)

การเตรียมตัวเพื่อการเปลี่ยนแปลงสำหรับครูและโรงเรียนที่จะต้องเตรียมและแจกจ่ายสื่อการสอนให้นักเรียนประมาณ 5 วันล่วงหน้า ความพร้อมของอุปกรณ์และความช่วยเหลือในการสร้างสื่อวีดีโอ ความเร็วและความเสถียรในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในการสอนสด เตรียมสภาพจิตใจที่ต้องคอยตอบคำถามตลอดเวลาหลังเลิกงาน สอนการใช้งานให้ครูคุ้นเคยและเชี่ยวชาญการใช้เครื่องมือสื่อสารที่โรงเรียนอนุญาตให้ใช้ การเรียนการสอนบางอย่างไม่สามารถสอนได้ผ่านช่องทางออนไลน์ และการออกแบบประเมินให้ชัดเจน สำหรับนักเรียนต้องมีระเบียบวินัยที่จะทำงานให้เสร็จด้วยตนเอง ภายใต้สิ่งรบกวนต่าง ๆ เรียนรู้การใช้เครื่องมือสื่อสารอย่างปลอดภัย ความซื่อสัตย์อย่าลอกงานเพราะโอกาสการลอกงานง่ายมาก ความคาดหวังการเรียนออนไลน์ดูเหมือนสนุกในช่วงแรก พอนานไปจะเหงา ส่วนผู้ปกครองต้องทำความเข้าใจและเห็นภาพว่าจะเกิดอะไรขึ้นก่อนเปิดเรียนออนไลน์ ทำความเข้าใจว่านักเรียนกำลังเรียนอยู่บ้าน ไม่ใช่วันหยุด ทำความเข้าใจว่าการเรียนออนไลน์ไม่ใช่ระบบเลี้ยงลูก ผู้ปกครองต้องมีส่วนร่วมในการเรียน

สำหรับความยากลำบากและความท้าทายคือ ผู้ปกครองไม่มีเวลาและไม่สามารถช่วยการเรียนการสอนที่บ้าน การลอกงาน ครูไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนรูปแบบการสอนและโอกาสการพัฒนาครู ครูขาดความพร้อมด้าน IT skills & Digital Competency ครูไม่เข้าใจธรรมชาติการเรียนรู้ของนักเรียนสมัยนี้ นักเรียนเด็กเล็กเกิดการติดจอ คำสั่งจากหน่วยงานของรัฐที่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ ดังนั้น โรงเรียนจะต้องเตรียมสื่อสารให้ผู้ปกครองทราบแต่เนิ่น ๆ และชัดเจนว่าการเรียนออนไลน์เป็นอย่างไร ครูเตรียมสื่อการสอนและช่องทางการถ่ายทอดสื่อให้นักเรียนให้เร็วที่สุด โรงเรียนเตรียมช่องทางการสื่อสารที่เป็นทางการระหว่างครู ผู้ปกครองและนักเรียน ครูตั้งความคาดหวังในการเรียนรู้ที่เป็นไปได้ และการเรียนออนไลน์เป็นระบบชั่วคราวและระบบไม่สามารถทดแทนการเรียนในห้องเรียน

ดร.ทินสิริ ศิริโพธิ์ กรรมการวิชาการ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี นำเสนอถึงการเรียนออนไลน์อย่างปลอดภัยว่า ควรให้มีความร่วมมือในการเฝ้าระวัง สังเกตเด็กกลุ่มเสี่ยง โดยให้ผู้ปกครอง ผู้ดูแลเด็ก มีส่วนร่วม พร้อมทั้งให้ความรู้ผู้ปกครอง ครู ในด้านทักษะและความรู้เรื่องการติดตามการเรียนของเด็ก และให้ความสำคัญกับเด็กที่ไม่มีอุปกรณ์ที่สามารถเรียนออนไลน์ได้ จึงควรมีช่องทางให้คำปรึกษากับนักเรียนที่ได้รับผลกระทบ ครูควรได้รับการสนับสนุนอย่างเพียงพอ อาจมีการตั้งชมรมเพื่อให้เกิดกลุ่มนักเรียนที่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โรงเรียนควรสานต่อความสัมพันธ์และความร่วมมือกับผู้ปกครอง เพื่อให้ความช่วยเหลือ คำแนะนำ และให้ข้อมูลในเรื่องการป้องกันความรุนแรงกับเด็ก

ดร.ทินสิริ ชี้ให้เห็นว่า การที่ให้เด็กนักเรียนเรียนออนไลน์ จะมีความเสี่ยงในเรื่องการลุกลามทางเพศ การข่มเหงทางจิตใจและถูกแกล้งจากเพื่อนที่เป็นคนพาล (bully) จึงมีข้อแนะนำว่า โรงเรียนควรมีนโยบายในการเรียนออนไลน์ เช่น โรงเรียนควรบอกผู้ปกครองถึงตารางเวลาเรียน และแนะนำให้นักเรียนติดต่อกับครูจากห้องเรียน และใส่ชุดให้สุภาพเรียบร้อยเมื่ออยู่ต่อหน้ากล้องโรงเรียน ควรออกระเบียบและส่งเสริมมารยาทในการเรียนออนไลน์ เพื่อป้องกันในเรื่องการพาล (bully) โรงเรียนควรมีแผนกแนะแนวและช่องทางช่วยเหลือให้กับเด็ก (Help Line) ดังนั้น โรงเรียนควรสื่อสารเรื่องการเรียนอย่างปลอดภัยให้กับผู้ปกครองด้วย

ส่วนการเสวนาภาคสอง ที่ประชุมได้เสวนาในหัวข้อเรื่องเครื่องมือเทคโนโลยี การเรียนรู้ การสื่อสาร ในการจัดการศึกษาทางไกลผ่านระบบ Cloud โดยมีวิทยากรคือ ดร.ตุลย์ ไตรยสวรรค์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่นำเสนอว่า การศึกษาทางไกล (Distance Learning) หมายถึง ระบบการศึกษาที่ผู้เรียนและผู้สอนอยูไกลกัน แต่สามารถทำให้เกิดการเรียนรู้ได้โดยอาศัยสื่อการสอน ในลักษณะของสื่อผสม กล่าวคือ การใช้สื่อต่าง ๆ ร่วมกัน เช่น ตำราเรียน เทปเสียง แผนภูมิ คอมพิวเตอร์ หรือโดยการใช้อุปกรณ์ทางโทรคมนาคม และสื่อสารมวลชน เช่น วิทยุ โทรทัศน์ หรืออินเทอร์เน็ต เข้ามาช่วยในการถ่ายทอดการศึกษาไปยังผู้ต้องการเรียนในท้องที่ต่าง ๆ ส่วนระบบประมวลผลกลุ่ม ให้บริการด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตโดยผู้ให้บริการจะแบ่งปันทรัพยากรทางสารสนเทศให้กับผู้ใช้งานแต่ละราย การประมวลผลกลุ่มเป็นแนวคิดที่พัฒนามาจากระบบ Virtualization และ Web service โดยเน้นให้ผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องมีความรู้ในเชิงเทคนิคสำหรับบริการเหล่านั้น

ส่วนคุณสมบัติพื้นฐานที่ต้องการในการจัดการเรียนการสอนทางไกลผ่านระบบ Cloud คือ ต้องสามารถสื่อสารกับกลุ่มผู้เรียนได้ในรูปแบบของข้อความ สามารถอำนวยความสะดวกในการจัดการ การนัดหมายเพื่อทำการเรียนการสอนผ่านระบบปฏิทินต่าง ๆ ได้ สามารถจัดเก็บและแลกเปลี่ยนเอกสารต่าง ๆ ในรูปแบบของไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ระหว่างผู้สอนและผู้เรียนได้ สามารถจัดการเรียนการสอนในลักษณะของการประชุมผ่านวิดีโอได้ สื่อสารในลักษณะภาพและเสียงในระหว่างจัดการเรียนการสอนในการประชุมผ่านวิดีโอ ผู้สอนและผู้เรียนต้องสามารถแสดงภาพจากเครื่องคอมพิวเตอร์ของตนให้ผู้ที่อยู่ในการประชุมผ่านวิดีโอเห็นโดยทั่วกันได้ ต้องรองรับการมีปฏิสัมพันธ์ร่วมบนซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการเรียนการสอน เช่น ผู้สอนและผู้เรียน สามารถวาดและเขียน หรือพิมพ์โต้ตอบกันขณะประชุมผ่านวิดีโอได้ ต้องรองรับการบันทึกวิดีโอในการเรียนการสอน และจัดเก็บในรูปแบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ได้ รองรับการแบ่งกลุ่มผู้เรียนเป็นกลุ่มย่อย และสร้างพื้นที่ส่วนบุคคลในการประชุมหารือเนื้อหาบทเรียนได้อย่างอิสระ รองรับการจัดทำรายงานแสดงรายชื่อผู้เข้าร่วมการประชุมผ่านวิดีโอ เวลาเข้าและออกจากการประชุม มีความสามารถในการสร้างแบบสอบถาม คำถาม แบบฝึกหัด และคิดคะแนนของผู้เขียน ผู้เรียนต้องสามารถเข้าถึงระบบจัดการเรียนการสอนผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยใช้อุปกรณ์ในรูปแบบของเครื่องคอมพิวเตอร์ แท็ปเล็ต หรือสมาร์ทโฟน และรองรับระบบปฏิบัติการที่หลากหลาย เช่น Microsoft Windows, OSX, Android, IOS ดังนั้น การเตรียมอุปกรณ์ในการจัดห้องเรียนแบบผสมผสานต้องมีเครื่องคอมพิวเตอร์ ไมโครโฟน กล้องเว็บแคม และอุปกรณ์ช่วยเขียน

บทเรียนการจัดการศึกษาในสถานการณ์โควิดในประเทศอาเซียน ในเวทีเสวนา New normal School ครั้งที่ 2

ข่าวที่เกี่ยวข้อง