ประธานองค์กรออกแบบคุณภาพการศึกษา ประเทศฟิลิปปินส์ชี้คุณภาพเด็กไม่ใช่แค่ผลสัมฤทธิ์แต่คือชีวิตแห่งการเรียนรู้ที่ต้องการครูที่เข้าใจ

ประธานองค์กรออกแบบคุณภาพการศึกษา ประเทศฟิลิปปินส์ชี้คุณภาพเด็กไม่ใช่แค่ผลสัมฤทธิ์แต่คือชีวิตแห่งการเรียนรู้ที่ต้องการครูที่เข้าใจ


วันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๖๒ เวลา ๐๙.๐๐ –๐๙.๔๐ น. ณ ห้องโลตัส สวีท ๑ –๔ ชั้น ๒๒ ได้จัดให้มีการ
ปาฐกถาพิเศษ ๓ ในหัวข้อ  “Learning: How Teachers Help Students Become Better Learners” โดย ศาสตราจารย์ฮวน มิเกล ลูซ (Prof. Juan Miguel Luz)  ประธานองค์กรออกแบบคุณภาพการศึกษา (Quality Education Design) และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประเทศฟิลิปปินส์ ผู้ซึ่งเป็นผู้นำการศึกษาที่มีผลงานทางวิชาการและหนังสือตำราด้านการศึกษาจำนวนมาก โดยท่านได้โดยหยิบยกปรัชญาการศึกษาและผลการวิจัยของธนาคารโลกมาเชื่อมโยงกับบทบาทของครู 

ศาสตราจารย์ฮวน ชี้ว่า คำถามสำคัญที่เราต้องระลึกเสมอคือ  “นักเรียนมาโรงเรียนเพื่ออะไร แล้วนักเรียนได้เรียนรู้อะไร” และสิ่งที่ต้องระลึกไว้เสมอคือ จุดมุ่งหมายของการเรียนรู้และกระบวนการให้ความรู้แก่นักเรียน  เพราะสิ่งครูทำล้วนแล้วแต่ส่งผลต่อนักเรียน ดังนั้น ครูต้องตระหนักเสมอว่าได้ทุ่มเทให้กับนักเรียนเกิดการเรียนรู้หรือไม่ หรือเพียงแค่ให้นักเรียนยุ่งอยู่กับการทำกิจกรรมอย่างเดียว 

จากผลการวิจัยพบว่า พัฒนาการสมองของมนุษย์พัฒนาได้ดีที่สุดในช่วงวัยเด็กเล็ก ดังนั้น เราจึงควรให้ความสำคัญในการพัฒนาการเรียนรู้ตั้งแต่เด็กเล็ก เพราะเป็นช่วงเวลาที่สมองของเด็กจะพัฒนาได้รวดเร็วมาก และเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นความสามารถในการพัฒนาสมองจะลดลง เราต้องตระหนักว่า การเรียนรู้บางเรื่องไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการเรียนในห้องเรียน เช่น การเรียนรู้คำศัพท์จากพ่อแม่ และจากเด็กคนอื่นๆ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม โรงเรียนก็ยังคงเป็นโครงสร้างหลักในการเรียนรู้ แต่การที่นักเรียนไปโรงเรียนก็ไม่ได้ยืนยันได้ว่านักเรียนได้เรียนรู้เสมอไป 

จากผลการวิจัยของธนาคารโลกระบุว่าเด็กเกรด ๒  เป็นช่วงอายุที่เรียนรู้ได้ดี แต่ในหลายประเทศผลการเรียนรู้ของเด็กวัยเดียวกัน (เกรด ๒) ไม่ได้สอดคล้องกับผลวิจัยภาพนี้ โดยยังมีเด็กที่ไม่สามารถอ่านและเขียนได้ เช่น อินเดีย เนปาล และโดยเฉพาะในประเทศจอร์เจียที่พบว่า มีนักเรียนประมาณ ๑๐ เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่สามารถอ่านออกและเขียนได้ในช่วงชั้นนี้ สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นอาจแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ เช่น ปัญหามาจากการลี้ลัยทำให้ขาดโอกาสในการเข้าเรียน แต่ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดวิกฤติในการเรียนรู้ เพราะหากนักเรียนยังไม่สามารถอ่านและเขียนได้ย่อมมีปัญหาตามมาในอนาคต นอกจากนี้ ผลการวิจัยยังพบด้วยว่า เมื่อจำแนกตามรายได้ของครอบครัวแล้ว นักเรียนที่เรียนรู้ได้ในระดับต่ำสุดจะอยู่ในครอบครัวที่มีช่วงรายได้ต่ำถึงปานกลาง แสดงให้เห็นว่าแม้เราอาจจะประสบความสำเร็จในการส่งให้เด็กเข้าโรงเรียนได้ แต่ไม่ได้หมายความว่า นักเรียนจะประสบความสำเร็จในการเรียนรู้ และแม้เด็กจะจบการศึกษาออกไปจากโรงเรียนแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่านักเรียนจะประสบความสำเร็จในการเรียนรู้เช่นกัน 

ผลการวิจัยได้ชี้ถึงประเด็นที่เกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับการเรียนรู้ ๔ ประเด็นหลัก ได้แก่ ผู้เรียนไม่มีความพร้อมในการเรียนรู้  ครูผู้สอนไม่มีทักษะและความตั้งใจ โรงเรียนให้การสนับสนุนไม่สอดคล้องกับทิศทางเดียวกับวัตถุประสงค์ในการสอนและการเรียนรู้ และการบริหารจัดการโรงเรียนไม่ไปในทิศทางเดียวกับวัตถุประสงค์ในการสอนและการเรียนรู้ นอกจากนี้การประเมินผล (Assessment) เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ จึงจำเป็นต้องมีเป้าหมายที่ต้องการประเมินอย่างชัดเจน ครูต้องวัดพัฒนาการการเรียนรู้ของนักเรียนแต่ละคน จึงจะนำไปสู่การเกิดกระบวนการคิด และการแก้ไขปัญหาของนักเรียน การวัดทำให้ทราบช่องว่างที่เกิดขึ้นในการเรียนรู้ของนักเรียนและช่วยวัดความสามารถและทักษะต่างๆ ของนักเรียนได้จริง

ศาสตราจารย์ฮวน ได้ให้มุมมองถึงบทบาทของครูในการเรียนรู้ อย่างน่าสนใจ โดยเห็นว่า การศึกษาของนักเรียนต้องมีพื้นฐานที่แข็งแรง เปรียบเสมือนการสร้างตึกหรืออาคารสูงต้องวางรากฐานที่แข็งแรง การศึกษาที่ดีก็ต้องเริ่มจากรากฐานที่มั่นคงก่อน แล้วค่อยต่อเติมให้สมบูรณ์และสวยงาม ซึ่งครูมีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานที่แข็งแรง ดังนั้น นอกจากความใส่ใจต่อนักเรียนแล้ว ครูควรสนใจชีวิตด้วย ถามไถ่และสังเกตพฤติกรรมของนักเรียนว่ามีลักษณะอย่างไร นักเรียนรู้สึกอยากเรียนหรือไม่ นักเรียนทำงานส่งไหม นักเรียนใส่ใจในการเรียนไหม เพราะนักเรียนมีสิ่งที่ต้องพบเจอและสิ่งที่ต้องทำมากกว่าแค่การเรียนในห้องเรียน ดังนั้น สิ่งที่ครูทำได้คือ การเตรียมการให้พร้อม และสร้างแรงบันดาลใจที่ทำให้นักเรียนสนใจเรียนรู้ ใส่ใจต่อกิจกรรมที่นำมาสอน 

ศาสตราจารย์ฮวน ยังทิ้งท้ายด้วยว่า ครูที่ดีคือครูที่เข้าใจกระบวนการสร้างการเรียนรู้ที่ให้เด็กเป็นเจ้าของและลงมือทำที่ว่า  “ถ้าบอก ฉันจะลืม ถ้าสอน ฉันจะจำ แต่ถ้าให้ฉันมีส่วนร่วม ฉันจะเรียนรู้”

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

ประชุมวิชาการนานาชาติ Show&Share รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 2 ปี 2562

ประชุมวิชาการนานาชาติ Show&Share รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 2 ปี 2562


วันที่ 16-17 ตุลาคม 2562 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ได้จัดให้มี
การประชุมวิชาการนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีครั้งที่ 2 โดยมีครูผู้ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ปี 2560 จากประเทศอาเซียนและติมอร์-เลสเต และครูโรงเรียนต่างๆ และผู้สนใจเข้าร่วมประชุมวิชาการดังกล่าว โดยมีดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมการประชุมวิชาการนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีครั้งที่ 2  

ทั้งนี้ ในงานมีประกอบด้วยการปาฐกาพิเศษจากผู้นำทางการศึกษาในต่างประเทศ การเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของครูผู้ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีปี 2560 และกิจกรรมประชุมเชิงปฏิบัติการโดยครู 11 ประเทศในอาเซียนและติมอร์-เลสเต มาร่วมเป็นวิทยากรแบ่งปันความรู้  โดยในส่วนของการปาฐกาพิเศษ จัดให้มีการปาฐกาพิเศษจากผู้นำทางการศึกษาของประเทศสิงคโปร์ อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ในหัวข้อต่างๆ แล้ว ยังจัดให้มีเวทีนำเสนอผลงานของครูผู้ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ปี 2562 ทั้งในลักษณะการอภิปราย (Panel Session) ถึงผลงานของครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ปี ๒๕๖๐ ที่เล่าถึงการทำงานและการขยายผลหลังจากได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีแล้วใน 3 มิติคือ 1) กลุ่มครูที่ทำงานโดยเน้นการมีส่วนร่วมกับชุมชน  ได้แก่ สปป. ลาว ฟิลิปปินส์ และติมอร์เลสเต 2) กลุ่มที่เน้นการเรียนการสอนสำหรับทักษะในศตวรรษที่ 21 ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม มาเลเซีย สิงค์โปร์ ไทย และเวียดนาม และ 3) กลุ่มที่เน้นการสร้างการมีส่วนร่วมของนักเรียน  ได้แก่ กัมพูชา และอินโดนีเซีย  

นอกจากนี้ยังจัดให้มีกิจกรรมการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ (Show and Share Session) ที่ให้ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีปี 2560 จาก 11 ประเทศ ได้มาแบ่งปันจัดกระบวนการเรียนรู้รวมถึงแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ทั้งในด้านเทคนิคการสอน การทดลองปฏิบัติ และนวัตกรรมในด้านต่างๆ โดยแบ่งเป็นห้องแห่งการแบ่งปันในหัวข้อต่างๆ อาทิ 

 เรื่อง “การใช้นวัตกรรมในการเรียนการสอน” โดยครูซาริปา เอมบง จากประเทศมาเลเซีย การใช้หนังสือพิมพ์เป็นวิธีสอนเพื่อดึงดูดนักเรียนในการเรียนรู้วิทยาศาสตร์” โดยครูสะรับจิต คอร์ บุตรี ฮาดิป ซิงห์ จากประเทศสิงคโปร์ “การสอนบนฐานวัฒนธรรม” โดยครูเฮซุส อินสิลาดา ประเทศฟิลิปปินส์ เรื่อง “ความเหมือนในความต่าง : เครื่องมือการสอนสำหรับศตวรรษที่ 21” โดยครูจิรัฐ แจ่มสว่าง จากประเทศไทย เรื่องกิจกรรมของโรงเรียนและชุมชนบาเกีย (Baguia) โดย ครูลีโอ โปลดีนา โจนา กูเตเรส   จากประเทศติมอร์-เลสเต เรื่อง “เทคนิคการสอนเขียนเรื่องราวผ่านภาพ” โดยครูเอนชอน รามัน ประเทศอินโดนีเซีย “Student Engagement” โดยครูดี โสพอน ประเทศกัมพูชา เป็นต้น

ภาพบรรยากาศการประชุมวิชาการนานาชาติ 
วันที่ 17 ตุลาคม 2562
 ชั้น 22 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์  เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

16 ต.ค. 2562 ประชุมวิชาการนานาชาติ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้ง 2 ปี 2562

16 ต.ค. 2562 ประชุมวิชาการนานาชาติ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้ง 2 ปี 2562


วันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๖๒ เวลา ๑๐.๕๐-๑๑.๓๐ น. ในเวทีประชุมวิชาการนานาชาติ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ณ ห้องประชุม World Ballroom ชั้น ๒๓ ได้จัดให้มีการ
ปาฐกถาพิเศษ ๑ เรื่อง “Teach with Purpose and Passion – Make a Difference” โดย Mrs. Chuan-Lim Yen Ching, รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ประเทศสิงคโปร์ ผู้ซึ่งมีบทบาทในการพัฒนาครูในประเทศสิงคโปร์ 

โดยเวทีดังกล่าว คุณฉั่วในฐานะผู้นำทางการศึกษาได้ให้แง่คิดว่า การได้รับรางวัลของครูคือการได้รับภาระหน้าที่อันยิ่งใหญ่ ครูที่ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ในฐานะที่เป็นผู้นำครู จะต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงกับครูคนอื่นและลูกศิษย์ และจะต้องมีเป้าหมายและแรงปรารถนา และสร้างอนาคตให้แก่นักเรียน โดยชี้ว่า “ การทำงานในฐานะนักการศึกษา จะต้องปฏิบัติงานอย่างมีเป้าหมายและมีใจรักในการทำงาน เราต้องตั้งคาถามกับตัวเองอยู่เสมอว่า เพราะอะไรเราจึงทำงานนี้อยู่” 

โดยยกตัวอย่างการทำงานเสมือนริบบิ้นที่เส้นหนึ่งเปรียบเสมือนครูและอีกเส้นคือองค์กรซึ่งจะบรรลุเป้าหมายได้ต้องเป็นหนึ่งเดียวกัน ดังนั้นในฐานะครูควรตั้งเป้าหมายว่าจะเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนได้อย่างไร จะใช้การศึกษาเพื่อนำพาผู้เรียนไปสู่ชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างไร

คุณฉั่นยกตัวอย่างประเทศสิงคโปร์ซึ่งได้มี โครงการ North Light School เพื่อสร้างโอกาสให้นักเรียนที่จะเรียนต่อในระดับสายอาชีพโดยรับอาสาสมัครครูเพื่อมาร่วมโครงการและพัฒนาเด็ก พร้อมยกตัวอย่างการช่วยเหลือนักเรียนรายกรณีทั้งเรื่องการสร้างโอกาสการเรียนรู้และการแก้ปัญหาพฤติกรรมเด็ก นอกจากนี้ยังได้ยกตัวอย่างวิธีการสอนและกระบวนการจัดการเรียนรู้เชิงรุกของครูที่เข้าใจความแตกต่างของนักเรียน และสร้างความสุขสนุกสนานในการเรียนรู้ เช่นกรณีห้องเรียนศิลปะที่เปิดโอกาสให้นักเรียนที่มีความเห็นต่างได้แสดงความคิด หรือกรณีการจัดการในชั้นเรียนแบบเรียนรวมที่มีทั้งเด็กที่มีความต้องการพิเศษและเด็กปกติ ซึ่งครูจัดให้มีคู่บัดดี้ช่วยเหลือและเลือกกิจกรรมที่สนองตอบความสนใจและการพัฒนาศักยภาพที่ต่างกัน 

คุณฉั่วย้ำว่า ชีวิตคนเราต่างต้องเผชิญสิ่งต่างๆ มากมาย ในจิตวิญญาณความเป็นครูก็ต้องเข้าใจในส่วนนี้ 

“ชีวิตครูเปรียบเสมือนดินสอที่จะใช้เขียนได้ก็ต่อเมื่ออยู่ในมือเรา หากต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลง ก็จงขีดเขียนเรื่องราวให้เกิดขึ้น และดินสอยิ่งใช้ก็ยิ่งทู่ลง ครูจึงต้องเหลาตัวเองให้แหลมคมอยู่เสมอ แม้จะบาดเจ็บจากการถูกเหลา แต่ก็จะทำให้เราเป็นคนที่เข้มแข็งกล้าแกร่งมากขึ้น หากเขียนผิดพลาดพลั้งไปก็มียางลบที่สามารถแก้ไขได้เสมอ ชีวิตเรามนุษย์สามารถแก้ไขและลับคมให้ดีขึ้นได้เสมอได้เช่นกัน” 

สำหรับครูนั้น คุณฉั่วเห็นว่าหากมองทฤษฎีลำดับความต้องการของมาสโลว่า ลำดับที่สูงสุดในปีระมิดคือความสมบูรณ์ของชีวิต แต่คนเป็นครู จุดสูงสุดของครูคือ “การช่วยให้ผู้อื่นมีชีวิตที่สมบูรณ์ขึ้น” การสอนของครูจึงเหมือนการสร้างงานหัตถกรรม หากนักเรียนคนใดหมาดหวัง ครูมีหน้าที่สร้างความหวังใหม่ให้นักเรียนให้เขามีแรงบันดาลใจมีความคิดและทัศนคติที่ดีต่อตนเองและการเรียนรู้ ครูควรร่วมแบ่งปันความรู้ เพราะความรู้หรือสิ่งที่เรามองว่าเล็กๆหนึ่งสิ่งเมื่อรวมกันไม่ใช่หมายถึงการเกิดสิ่งสองสิ่ง แต่จะเกิดเป็นสิ่งต่างๆ ที่มีจำนวนมากหลายที่ขยายพลังไปได้ สิ่งที่รามองว่าทำไม่ได้ (I can’t) สามารถกลายเป็นสิ่งที่เราทำได้ (I can) เพียงแค่เราเปลี่ยนมุมมอง มุ่งมั่นที่จะพาเด็กๆ ไปให้ถึงฝัน 

คุณฉั่วยังชี้ว่าภารกิจของครู  PMCA นั้นมีความหมายยิ่งที่คุณฉั่วเห็นว่าประกอบด้วยอักษรสี่ตัวคือ 

  • P (Purpose and passion) หมายถึง เป้าหมายและความรถนาอย่างแรงกล้า 
  • M (Make every moment is a teachable moment) หมายถึง ทำให้ทุกช่วงเป็นโอกาสในการสอน 
  • C (Continual learning is key) หมายถึง การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญ 
  • A (Affirmation and perseverance in the journey of teaching lives) หมายถึง ความยืนหยัดและความเพียร 

ตอนท้ายคุณฉั่นย้ำว่าเป้าหมายของครูอย่าลดมาตรฐานตัวเอง แต่ต้องมีแรงปรารถนาที่จะพัฒนาตัวเองให้เติบโตขึ้นอยู่เสมอ ที่สำคัญสำหรับครูคือการสร้างการเปลี่ยนแปลงซึ่งจะเกิดขึ้นเป็นลูกโซ่ได้นั้น “ครูต้องกล้าที่จะเปลี่ยนก่อน” 

 “ในการสร้างความแตกต่างเราไม่จำเป็นต้องตะโกนออกไปให้เสียงดังจนทุกคนได้ยิน แต่ต้องอาศัยความกล้าหาญพอที่จะแค่กระซิบบอกตัวเองว่า พรุ่งนี้ฉันจะทำให้ดีขึ้น”

 

ภาพบรรยากาศการประชุมวิชาการนานาชาติ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 2 ปี 2562
วันที่ 16 ตุลาคม 2562
ห้อง  World Ballroom ชั้น 23
ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และ บางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ มอบรางวัลคุณากร ครูยิ่งคุณ และครูขวัญศิษย์ ปี 2562

รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ มอบรางวัลคุณากร ครูยิ่งคุณ และครูขวัญศิษย์ ปี 2562

รมว.ศธ. มอบรางวัลคุณากร ครูยิ่งคุณ และครูขวัญศิษย์ ปลุกพลังเครือข่ายครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีทุกพื้นที่ ยึดโยงการทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ ไม่โดดเดี่ยวในการทำงาน เพื่อบ่มเพาะการเรียนรู้ของลูกศิษย์

เมื่อวันที่ 16 ต.ค. ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซนเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี จัดพิธีมอบรางวัลคุณากร ครูยิ่งคุณ และครูขวัญศิษย์ ประจำปี 2562 ซึ่งมาจากการคัดเลือกครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ประเทศไทย โดยความร่วมมือของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย  สำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) คณะกรรมการคัดเลือกฯ ระดับจังหวัด และกรุงเทพมหานคร เพื่อเชิดชูเกียรติแก่ครู ซึ่งมาจากการเสนอชื่อจากศิษย์เก่า และสถานศึกษาโดยผ่านการคัดเลือกของคณะกรรมการจังหวัดทั่วประเทศ โดยมีนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้มอบรางวัล 

นายณัฏฐพล กล่าวว่า  ครูผู้ได้รับรางวัลคุณากร ครูยิ่งคุณ และครูขวัญศิษย์ คือครูดีเด่นที่ได้ผ่านกระบวนการคัดเลือกในระดับต่างๆ ของการคัดเลือกครูรางวัลเจ้าฟ้ามหาจักรีมาแล้ว แสดงให้เห็นว่า ท่านสามารถอุทิศตนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงแก่ชีวิตของศิษย์และเมื่อได้อ่านประวัติของทุกท่านจะเห็นได้ว่าท่านสามารถ “ทำให้เด็กรักครู และทำให้ครูรักเด็ก” และเชื่อมั่นว่า เครือข่ายครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีที่กระจายอยู่ทั่วประเทศทุกท่านจะไม่ได้ทำงานอย่างโดดเดี่ยว แต่จะทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายเพื่อบ่มเพาะการเรียนรู้ของลูกศิษย์ 

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กล่าวว่า การคัดเลือกครูผู้สมควรได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีในส่วนของประเทศไทย มิใช่เพียงการคัดเลือกเพื่อยกย่องให้ได้รับรางวัลแล้วจบไป แต่เป็นการแสวงหากลุ่มครูเพื่อร่วมกันยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศ โดยมีกิจกรรมร่วมกัน หรือที่เรียกว่า After Sale-services เพื่อให้ครูเครือข่ายรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี จากการคัดเลือกครู 3 รุ่น ซึ่งมีอยู่กว่า 500 คน ในทุกจังหวัดได้มีประสบการณ์เพื่อนำกลับมาพัฒนาการศึกษาที่กว้างกว่าห้องเรียน ได้พัฒนาตนเอง และแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์ในและต่างประเทศ

สำหรับครูคุณากร จำนวน 2 ท่านในปี 2562 คือ ครูดาบตำรวจคณิต ช่างเงิน ครูโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านแม่กลองดี อ.อุ้งผาง จ.ตาก ครูผู้มุ่งมั่นสร้างโอกาสให้กับเด็กและชุมชนมากว่า 25 ปี ท่ามกลางพื้นที่สีแดงของการสู้รบของกองกำลังไม่ทราบฝ่าย ครูจึงทำหน้าที่ทั้งผู้นำการพูดคุย ช่างซ่อมอาคารเรียน นักการภารโรง หมอ และครูสอนเด็ก  และครูปุณยาพร ผิวขำ ครูวิทยาศาสตร์ โรงเรียนหนองแวงวิทยาคม อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร จากเด็กขาดโอกาสที่มองว่า ในความไม่มีโอกาส ย่อมมีโอกาสเสมอ ตลอด 17 ปีที่ผ่านมา ครูจึงทุ่มเทสร้างโอกาสให้กับลูกศิษย์ ทำให้นักเรียนมัธยมศึกษาชนบทขนาดเล็กมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน มีคะแนน O-NET เป็น 1 ใน 10 ของจังหวัด  

ส่วนครูยิ่งคุณ จำนวน 17 อาทิ ครูจันทร์แรม ดวงเพชร ผู้เป็นประทีปแห่งขุนเขาและป่าทึบ ด้วยความมุ่งมั่นที่จะเป็นครูจึงเลือกเป็นครูที่โรงเรียนบ้านแม่หลองน้อย โรงเรียนประถมศึกษาขนาดเล็ก ท่ามกลางป่าทึบใน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ โดยมุ่งมั่นการสอนให้เด็กชาวปกากะญอได้รู้หนังสือและมีงานทำ นำสาระท้องถิ่นเป็นหลักในการเรียนรู้ เช่น ทอผ้าภูมิปัญญากะเหรี่ยง ผลงานในสาระวิทยาศาสตร์เชิงภูมิปัญญา ครูชัยยศ สุขต้อ ครูเลือดนักสู้บนดอย โรงเรียนบ้านยางเปา จ.เชียงใหม่ ผู้ไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคความยากลำบากเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ของเด็กและตั้งปณิธานจะไม่ขอย้ายไปไหน ครูปิติกร ขำอ่อน วิทยาลัยเทคนิคสมุทรสงคราม ตลอดระยะเวลา 23 ปี ครูตระหนักดีว่าสิ่งสำคัญของการสอนลูกศิษย์สายอาชีพคือการส่งเสริมให้ศิษย์มีความเชื่อมั่นและเห็นคุณค่าในตัวเอง พร้อมกับสร้างผลงานจากทีมหุ่นยนต์หอยหลอด ชุดสาธิตหุ่นยนต์อัตโนมัติ ชุดสาธิตพัฒนาระบบเซอร์โวมอเตอร์เพื่อใช้กับหุ่นยนต์แขนอุตสาหกรรม ชุดสาธิตการควบคุมระบบไฟฟ้าภายในตัวบ้านด้วย Smart Phone และ ครูวินัย ปัจฉิม ครูภูมิปัญญา จ.ลพบุรี ครูภูมิปัญญา ผู้สร้างตำนานผ้าทออันเลื่องชื่อระดับประเทศ ผู้สร้างคนและสร้างงานให้กับเด็กในชุมชน เป็นต้น 

 

e-Book เรื่อง มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ปี 2562
ประวัติครูรางวัลสมเด็จเจ้ามหาจักรี ครูคุณากร และครูยิ่งคุณ
จำนวน :  364 หน้า

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เชิญชมการถ่ายทอดสดพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 3 ปี 2562

เชิญชมการถ่ายทอดสดพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 3 ปี 2562

ขอเชิญรับชมการถ่ายทอดสด “พิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” ในวันที่ 15 ต.ค. 2562 เวลา 9.00-10.00 น. ช่อง NBT

Live! The 3rd Princess Maha Chakri Award Ceremony 2019 on October,15 2019 : 9.00-10.00 a.m.(GMT+7.00 Bangkok) NBT channel
www.pmca.or.th

ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี รางวัลคุณากร ครูยิ่งคุณ ครูขวัญศิษย์ ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2562 | เอกสารประกอบพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี |  รวมวีดิทัศน์เยี่ยมเยือนครู 11 ประเทศ
คณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีร่วมงานซีมิโอ ฟอรั่ม

คณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีร่วมงานซีมิโอ ฟอรั่ม


คณะกรรมการมูลนิธิฯ และผู้บริหารระดับสูงร่วมงานซีมิโอ ฟอรั่ม

เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2562  ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี และคณะ เข้าร่วมเวที National Teachers’ Month Forum 2019 “Making Teaching a Profession of Choice : Getting the Best and the Brightest…and Keeping Them A Regional Knowledge Forum” ที่จัดโดย SEAMEO INNOTECH โดยในงานมีท่านวศิน เรืองประทีปแสง เอกอัครราชทูต ณ กรุงมะนิลา ท่านเฮซุส ลอเรนโซ อาร์ มาเทลโอ (Jesus Lorenzo R. Mateo) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีประจำประเทศฟิลิปปินส์ ได้แก่ ดร.เฮซุส คาติกัน อินซิลาดา (Dr.Jesus Catigan Insilad) รุ่นที่ 2 ปี 2017 ครูซาดัท บี มินันดัง (Mr.Sadat B. Minandang) รุ่นที่ 3 ปี 2019 และเครือข่ายครูฟิลิปปินส์จากโรงเรียนต่างๆ กว่าร้อยคนเข้าร่วมกิจกรรมซีมิโอฟอรั่มในครั้งนี้  โดยมีดร.รามอน ซี บาคานี (Dr.Ramon C. Bacani) ผู้อำนวยการศูนย์ซีมีโอ อินโนเทค (SEAMEO INNOTECH) และท่านเบนิโต บีนาซา (Mr. Benito Benoza) ผู้จัดการหัวหน้าสำนักงานจัดการความรู้และเครือข่าย เป็นประธานกล่าวเปิดงาน  

ในการนี้ ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ยังได้กล่าวนำการเสวนาการพัฒนาครู และขอบคุณศูนย์ซีมีโอ อินโนเทค และกระทรวงศึกษาธิการฟิลิปปินส์ในความร่วมมือในการร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาครูผ่านการขยายผลของครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีประจำประเทศฟิลิปปินส์ในครั้งนี้ 

ทั้งนี้ เวที National Teachers’ Month Forum 2019 ที่จัดขึ้นนี้มุ่งเปิดพื้นที่การพัฒนาศักยภาพครูและสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ของครูฟิลิปปินส์โดยผ่านศูนย์ซีมิโอ อินโนเทค ซึ่งในกิจกรรมได้จัดให้มีเสวนาในภาคเช้า “Stories of Achievement” (เรื่องเล่าของความสำเร็จ) โดยมีดร.เฮซุส คาติกัน อินซิลาดา และครูซาดัท บี มินันดัง ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีประจำประเทศฟิลิปปินส์รุ่นที่ 2 ปี 2017  และรุ่นที่ 3 ปี 2019 ร่วมเวทีเสวนา โดยมีดร.ทินสิริ ศิริโพธิ์ รองผู้จัดการมูลนิธิสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีฝ่ายต่างประเทศ ดำเนินรายการ ทั้งนี้การเสวนาดังกล่าวได้มีการฉายวิดีทัศน์ของครูใหญ่วิลเลียม โมโรคา (Mr. William Moraca) ผู้ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีรุ่นที่ 1 ปี 2015 รวมถึงวิดีทัศน์ของครูรุ่นที่ 2 และรุ่นที่ 3 เพื่อนำเข้าการเสวนาพร้อมกับการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานของครูในการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับเด็กๆและชุมชน นอกจากนี้ในภาคบ่ายยังได้จัดให้มีการเสวนาต่อเนื่องในหัวข้อ “Knowledge and Professional Development Solutions” และหัวข้อ “Audience Filipino Teacher : Stories from the Field” อีกด้วย 

องค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Ministers of Education Organization – SEAMEO) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2508 ภายใต้ความตกลงร่วมกันระหว่างรัฐบาลในภูมิภาคและได้มีการลงนามในกฎบัตร  โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของอินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย พร้อมจัดตั้งศูนย์ซีมีโอในภูมิภาคต่างๆ โดยศูนย์ซีมีโอ อินโนเทค (SEAMEO INNOTECH) เป็นศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษาของซีมีโอ-ซีมีอินโนเทค (SEAMEO Regional Centre for Educational Innovation and Technology : SEAMEO INNOTECH) ตั้งอยู่ที่เมืองเกซอนฟิลิปปินส์ ก่อตั้งในปี 2513 มีภารกิจหลักคือ สร้างและพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษา การทําวิจัย และเผยแพร่ความรู้ด้วยการจัดการฝึกอบรม สัมมนา และกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีได้ทำงานร่วมกับองค์การซีมีโอ โดยศูนย์ซีมีโอ อินโนเทค ฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในองค์กรที่ร่วมกับขับเคลื่อนการขยายผลต่อยอดการพัฒนาครูผ่านเวทีวิชาการและกิจกรรมต่างๆ  

 

ผู้เข้าร่วมเวทีซีมีโอ ฟอรั่ม ถ่ายภาพหมู่ร่วมกันหน้าอาคารประชุม ศูนย์ซีมีโอ อินโนเทค

 

 

 

พลิกปมข่าว ออกอากาศเมื่อ 2 ต.ค. 62

สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ นายสาดัท บี มินันดัง


พลิกปมข่าว ออกอากาศเมื่อ 7 ต.ค. 62
“วันครูโลก” ความร่วมมือทีมไทยแลนด์

สถานฑูตไทย ณ กรุงมะนิลา | ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการเยี่ยมเยือนครูซาดัต บี มินันดัง รุ่นที่ 3 ปี 2019 |เยี่ยมเยือนครู รุ่นที่ 1 ปี 2015 | เวทีซีมีโอ ฟอรั่ม

 

พิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 3  และการประชุมวิชาการนานาชาติ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 2 ปี 2562

พิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 3 และการประชุมวิชาการนานาชาติ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 2 ปี 2562


พิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 3
The 3rd Princess Maha Chakri Award Ceremony

การประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 2
2nd Princess Maha Chakri Award Forum 2019

มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ปี 2562
ประวัติครูรางวัลสมเด็จเจ้ามหาจักรี ครูคุณากร และครูยิ่งคุณ

วันที่ 15-17 ตุลาคม 2562
ห้อง  World Ballroom ชั้น 23
ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และ บางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร

จุดลงทะเบียน ห้อง  World Ballroom ชั้น 23

รายชื่อครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี รางวัลคุณากร ครูยิ่งคุณ ครูขวัญศิษย์ ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2562 

 

คณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เดินทางเยี่ยมเยือนครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีประจำประเทศมาเลเซีย ณ รัฐกลันตัน

คณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เดินทางเยี่ยมเยือนครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีประจำประเทศมาเลเซีย ณ รัฐกลันตัน

เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2562  ดร. คุณหญิง กษมา วรวรรณ ณ อยุธยา กรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ฯ  ท่าน มงคล สินสมบูรณ์ กงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู พร้อมด้วย ดร.โรเซียยาฮ์ บินติ อับดุลลาห์ (Dr. Roziah binti Abdullah) หัวหน้าผู้ตรวจการสถานศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ และคณะ พร้อมด้วยคณะกรรมการมูลนิธิฯ เดินทางเยี่ยมครูเค เอ ราซียะฮ์ (Mrs. K.A. Razhiyah) ครูผู้ดูแลการศึกษาพิเศษในโรงเรียนมัธยมศึกษาปันหยี (Panji Secondary School) รัฐกลันตัน ผู้ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีของประเทศมาเลเซีย รุ่นที่ 3 ปี ประจำปี 2019 โดยได้รับการต้อนรับจาก ท่านอบู ฮานีฟะห์ ฟัวซิ บิน ซาฮาริ (Abu Hanipah @ Fauzi bin Zahari) กระทรวงศึกษาธิการ รัฐกลันตัน  และคณะกรรมการสถานศึกษา ผู้บริหารโรงเรียน คณะครูและนักเรียนของโรงเรียนมัธยมศึกษาปันหยี


ในงานนี้คณะผู้บริหารและครูเค เอ ราซียะฮ์ ได้แนะนำถึงการจัดการศึกษาพิเศษสำหรับเด็กพิเศษของโรงเรียนมัธยมศึกษาปันหยี การเรียนรู้ของผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษที่หลากหลาย ตลอดจนกิจกรรม ห้องเรียนและโครงการต่างๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพเด็กพิเศษ นอกจากนี้คณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรียังได้เยี่ยมชมห้องเรียน “Teratak SPA Pendidikan Khas”  ร่วมกิจกรรมการเรียนรู้กับผู้เรียนที่เป็นเด็กพิเศษอีกด้วย

โรงเรียนมัธยมศึกษาปันหยี (Panji Secondary School) รัฐกลันตัน เป็นโรงเรียนที่จัดการศึกษาแบบเรียน (Inclusive Education) โดยมีผู้เรียนทั้งสิ้น 700 คน ในนี้มีเด็กที่มีความต้องการพิเศษ 99 คน เป็นชาย 66 คน เป็นหญิง 33 คน โดยโรงเรียนจัดให้มีระบบการจัดการศึกษาสำหรับเด็กผู้มีความต้องการพิเศษ (Special Education) มีโปรแกรม ห้องเรียนสำหรับเด็กพิเศษ และมีครูเฉพาะทางที่ดูแลผู้เรียน ซึ่งหนึ่งในครูนั้นคือครูเค เอ ราซียะฮ์

ครูเค เอ ราซียะฮ์ (Mrs. K.A. Razhiyah) เป็นครูที่จัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษมาตลอด 34 ปี มีความเชี่ยวชาญในการดูแลผู้เรียนที่มีความหลากหลาย ทั้งผู้เรียนกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม (Down Syndrome) ผู้เรียนกลุ่มออทิสติก (Autistic Disorder) เด็กที่มีความบกพร่องทางด้านการเรียนรู้ (Learning Disabilities) รวมถึงเด็กที่มีความต้องการพิเศษกลุ่มอื่นๆ ครูเคเอยังได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการจัดการศึกษาพิเศษ บทภาพยนตร์ สร้างนวัตกรรม “ห้องเรียนสปาเพื่อพัฒนาเด็กพิเศษ” อีกทั้งเป็นวิทยากรฝึกอบรมให้กับหน่วยงานต่างๆ และในปี 2018 ก็ยังได้เป็น 1 ใน 50 รายชื่อครูผู้รับรางวัลครูดีเด่นโลก ปี 2018 “Global Teacher Award” ที่คัดเลือกโดย Varkey Foundation ประเทศอังกฤษ อีกด้วย โดยครูเคเอ ราซียะฮ์ เชื่อว่า “ผู้เรียนที่เป็นเด็กนั้นมีความแตกต่าง แม้แต่ละคนจะมีความไม่พร้อมด้วยประการใดๆ แต่ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ เด็กต้องการเวลาและวิธีการต่างๆ ที่จะช่วยให้พวกเขาเรียนรู้และพัฒนา ครูจึงต้องช่วยให้เด็กเห็นคุณค่า ความงดงามและพลังในตัวของแต่ละคน หาสิ่งที่เด็กๆ สนใจและชอบ สนุกสนานให้เด็กๆได้ทำ เพื่อให้เด็กๆมีความสุขกับสิ่งที่ได้เรียนรู้ได้ทำและภาคภูมิใจในตัวเอง” 

จุฬากรณ์ มาเสถียรวงศ์ รายงาน
สรรชัย หนองตรุด ภาพ (สถาบันรามจิตติ)

 

รายการ บ่ายโมง ตรงประเด็น ออกอากาศเมื่อ 17 ก.ย. 62 

ประเทศมาเลเซีย นางเค เอ ราซียะฮ์

 กระทรวงศึกษาธิการและสถานฑูตครูเค เอ ราซียะฮ์ (Mrs. K.A. Razhiyah) 

มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีร่วมกับสถาบันผลิตครูชายแดนภาคเหนือสร้างครูรุ่นใหม่ครูแห่งอนาคต

มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีร่วมกับสถาบันผลิตครูชายแดนภาคเหนือสร้างครูรุ่นใหม่ครูแห่งอนาคต


รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย กล่าวเปิดการเสวนา

วันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ห้องประชุมหอปรัชญารัชกาลที่ ๙ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัฒนา ยืนยง รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เป็นประธานในพิธีเปิดการเสวนา “ครูผู้สร้างแรงบันดาลใจ : บทเรียนและแง่คิดสู่การผลิตและพัฒนาครูรุ่นใหม่” ภายใต้โครงการพัฒนาเครือข่ายครูนักสร้างแรงบันดาลใจในสถาบันผลิตครู โดยได้รับเกียรติจาก ดร.จักรพรรดิ วะทา กรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี พร้อมด้วย คณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี  ดร.จุฬากรณ์ มาเสถียรวงศ์ และคณะสถาบันรามจิตติ คณะทำงานขับเคลื่อนเครือข่ายครูนักสร้างแรงบันดาลใจในสถาบันผลิตครู และ ดร.ปรมินทร์ อริเดช คณบดีคณะครุศาสตร์ และคณาจารย์สาขาต่างๆ เครือข่ายครูจากจังหวัดเชียงราย และนักศึกษาหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต ชั้นปีที่ ๑  มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เข้าร่วมรับฟังการเสวนา

กรรมการมูลนิธิฯกล่าวแนะนำภาพรวมงานของมูลนิธิฯ

คณะกรรมการมูลนิธิฯและผอ.สถาบันรามจิตติร่วมรับฟังการเสวนา

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัฒนา ยืนยง รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ได้กล่าวถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยราชภัฏในพันธกิจที่จะผลิตและพัฒนาครูที่มีคุณภาพและบทบาทของมหาวิทยาลัยเพื่อรับใช้ท้องถิ่น โดยมีคณะครุศาสตร์เป็นหน่วยขับเคลื่อนงานสำคัญ ขอบคุณมูลนิธิฯในความร่วมมือที่ช่วยสร้างพลังการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย  ในการนี้ดร.จักรพรรดิ วะทา กรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ได้กล่าวแนะนำงานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีและภารกิจต่างๆ ในการขับเคลื่อนพลังครูดีและการสร้างครูรุ่นใหม่นักสร้างแรงบันดาลใจเพื่ออนาคตการศึกษาไทย ในงานได้จัดให้มีการเสวนา “แรงบันดาลใจกับครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี : ถอดองค์ความรู้จากนักศึกษาครูรุ่นใหม่” โดยตัวแทนนักศึกษาที่ได้ไปศึกษาเรียนรู้ชีวิตครูจากเครือข่ายครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี และการเสวนา “ห้องเรียนสร้างแรงบันดาลใจเพื่อครูรุ่นใหม่พลังแห่งอนาคต” โดยมีอาจารย์และครูในเครือข่ายครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแง่คิดร่วมกัน

เวทีเสวนา “ถอดองค์ความรู้จากนักศึกษาครูรุ่นใหม่”

เวทีเสวนา “ห้องเรียนสร้างแรงบันดาลใจเพื่อครูรุ่นใหม่พลังแห่งอนาคต”

นักศึกษาเล่าประสบการณ์จากการลงพื้นที่เรียนรู้ชีวิตครูเครือข่ายครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี

ตัวแทนนักศึกษาชั้นปีที่ 1 สอบถามเรื่องราวที่สนใจจากเวทีเสวนา

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมประชุมเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี คณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี สถาบันรามจิตติทีมประสานงาน คณาจารย์จากสาขาต่างๆ และเครือข่ายครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีในพื้นที่รอบลุ่มภาคกลาง ร่วมมองทิศทางการต่อยอดขยายผลการทำงาน โดยสรุปที่จะดำเนินงานยอดต่อทุกชั้นปี และในแนวกว้างที่จะเชื่อมร้อยเครือข่ายครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีและเครือข่ายครูดีปราชญ์ชุมชนในพื้นที่ภาคเหนือมาร่วมสนับสนุนการเรียนรู้ การต่อยอดการพัฒนาเชิงพื้นที่กับหน่วยงานต่างๆ ตลอดจนการพัฒนาความร่วมมือไปสู่การเชื่อมโยงเครือข่ายครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าในอาเซียน (ไทย-ลาว-เวียดนาม พม่า) โดยมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงรายซึ่งมีบันทึกความร่วมมือกับสถาบันผลิตครูใน ๓ ประเทศดังกล่าวอยู่แล้ว


คณะกรรมการมูลนิธิฯและคณะทำงานถ่ายภาพร่วมกับรองอธิการบดีฯ คณาจารย์ และเครือข่ายครูรางวัลเจ้าฟ้าฯ

วงประชุมเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์ในการวางแผนการดำเนินการขยายผลและต่อยอดการทำงาน

 

มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีร่วมสถาบันผลิตครูชายแดนภาคใต้สร้างครูรุ่นใหม่นักแรงบันดาลใจ

มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีร่วมสถาบันผลิตครูชายแดนภาคใต้สร้างครูรุ่นใหม่นักแรงบันดาลใจ

วันที่ ๒๑ กรกฏาคม ๒๕๖๒ ห้องประชุมซาลัค ชั้น ๒ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เป็นประธานในพิธีเปิดการเสวนา “บทเรียนจากครูนักสร้างแรงบันดาลใจสู่กระบวนการเรียนรู้ใหม่ในสถาบันผลิตครู : พลังความร่วมมือ พลังแห่งการเรียนรู้” ภายใต้โครงการพัฒนาเครือข่ายครูนักสร้างแรงบันดาลใจในสถาบันผลิตครู ร่วมกับโครงการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำจากผลกระทบของเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้  โดยได้รับเกียรติจาก ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กล่าวนำเสวนาและปาถกฐาพิเศษ พร้อมด้วย คณะกรรมการและคณะทำงานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ดร.จุฬากรณ์ มาเสถียรวงศ์ และคณะสถาบันรามจิตติ คณะทำงานขับเคลื่อนเครือข่ายครูนักสร้างแรงบันดาลใจในสถาบันผลิตครู และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกสรี ลัดเลีย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาท้องถิ่น  คณาจารย์สาขาต่างๆ และนักศึกษาหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต ชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เข้าร่วมรับฟังการเสวนาในครั้งนี้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ได้กล่าวถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยกับปรับระบบใหม่ของการผลิตครูในชายแดนใต้เพื่อแก้ปัญหาคุณภาพครูและคุณภาพการศึกษา หนึ่งในนั้นมหาวิทยาลัยนได้ปรับให้มีหลักสูตร Extra time เพื่อสร้างพื้นที่และโอกาสการเรียนรู้เพื่อพัฒนานักศึกษาให้พร้อมบนเส้นทางก้าวสู่ความเป็นครู  ด้านดร.กฤษณพงศ์ กรีติกร ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กล่าวนำเสวนาและปาฐกถาพิเศษถึงภาพรวมของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีและภารกิจต่างๆ พร้อมด้วยบทเรียนจากครูดีที่ได้รับรางวัลใน ๑๑ ประเทศในรุ่นที่ ๑ และข้อคิดต่อการเป็นครูในอนาคตที่ว่า “ครูที่ดีจะสร้างสภาวะการเรียนรู้ให้เด็กได้เรียนรู้และเติบโต ครูดีเป็นพลังที่ดีให้กับลูกศิษย์ เป็นพลังที่ดีของอนาคต”  พร้อมทั้งในงานยังจัดให้มีการเสวนา “ว่าที่ครูรุ่นใหม่ : ประสบการณ์เรียนรู้และแรงบันดาลใจจากครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” โดยตัวแทนนักศึกษาที่ได้ไปศึกษาเรียนรู้ชีวิตครูจากเครือข่ายครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟามหาจักรี และการเสวนา “ห้องเรียนสร้างแรงบันดาลใจ : บทเรียนจากอาจารย์และครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” โดยมีอาจารย์และครูในเครือข่ายครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแง่คิดร่วมกัน

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมประชุมเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา คณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี สถาบันรามจิตติทีมประสานงาน คณาจารย์จากสาขาต่างๆ และเครือข่ายครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีในพื้นที่ชายแดนภาคใต้เพื่อมองทิศทางการต่อยอดขยายผลการทำงานความร่วมมือต่อไปในอนาคตอีกด้วย