ประธานองค์กรออกแบบคุณภาพการศึกษา ประเทศฟิลิปปินส์ชี้คุณภาพเด็กไม่ใช่แค่ผลสัมฤทธิ์แต่คือชีวิตแห่งการเรียนรู้ที่ต้องการครูที่เข้าใจ


วันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๖๒ เวลา ๐๙.๐๐ –๐๙.๔๐ น. ณ ห้องโลตัส สวีท ๑ –๔ ชั้น ๒๒ ได้จัดให้มีการ
ปาฐกถาพิเศษ ๓ ในหัวข้อ  “Learning: How Teachers Help Students Become Better Learners” โดย ศาสตราจารย์ฮวน มิเกล ลูซ (Prof. Juan Miguel Luz)  ประธานองค์กรออกแบบคุณภาพการศึกษา (Quality Education Design) และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประเทศฟิลิปปินส์ ผู้ซึ่งเป็นผู้นำการศึกษาที่มีผลงานทางวิชาการและหนังสือตำราด้านการศึกษาจำนวนมาก โดยท่านได้โดยหยิบยกปรัชญาการศึกษาและผลการวิจัยของธนาคารโลกมาเชื่อมโยงกับบทบาทของครู 

ศาสตราจารย์ฮวน ชี้ว่า คำถามสำคัญที่เราต้องระลึกเสมอคือ  “นักเรียนมาโรงเรียนเพื่ออะไร แล้วนักเรียนได้เรียนรู้อะไร” และสิ่งที่ต้องระลึกไว้เสมอคือ จุดมุ่งหมายของการเรียนรู้และกระบวนการให้ความรู้แก่นักเรียน  เพราะสิ่งครูทำล้วนแล้วแต่ส่งผลต่อนักเรียน ดังนั้น ครูต้องตระหนักเสมอว่าได้ทุ่มเทให้กับนักเรียนเกิดการเรียนรู้หรือไม่ หรือเพียงแค่ให้นักเรียนยุ่งอยู่กับการทำกิจกรรมอย่างเดียว 

จากผลการวิจัยพบว่า พัฒนาการสมองของมนุษย์พัฒนาได้ดีที่สุดในช่วงวัยเด็กเล็ก ดังนั้น เราจึงควรให้ความสำคัญในการพัฒนาการเรียนรู้ตั้งแต่เด็กเล็ก เพราะเป็นช่วงเวลาที่สมองของเด็กจะพัฒนาได้รวดเร็วมาก และเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นความสามารถในการพัฒนาสมองจะลดลง เราต้องตระหนักว่า การเรียนรู้บางเรื่องไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการเรียนในห้องเรียน เช่น การเรียนรู้คำศัพท์จากพ่อแม่ และจากเด็กคนอื่นๆ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม โรงเรียนก็ยังคงเป็นโครงสร้างหลักในการเรียนรู้ แต่การที่นักเรียนไปโรงเรียนก็ไม่ได้ยืนยันได้ว่านักเรียนได้เรียนรู้เสมอไป 

จากผลการวิจัยของธนาคารโลกระบุว่าเด็กเกรด ๒  เป็นช่วงอายุที่เรียนรู้ได้ดี แต่ในหลายประเทศผลการเรียนรู้ของเด็กวัยเดียวกัน (เกรด ๒) ไม่ได้สอดคล้องกับผลวิจัยภาพนี้ โดยยังมีเด็กที่ไม่สามารถอ่านและเขียนได้ เช่น อินเดีย เนปาล และโดยเฉพาะในประเทศจอร์เจียที่พบว่า มีนักเรียนประมาณ ๑๐ เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่สามารถอ่านออกและเขียนได้ในช่วงชั้นนี้ สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นอาจแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ เช่น ปัญหามาจากการลี้ลัยทำให้ขาดโอกาสในการเข้าเรียน แต่ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดวิกฤติในการเรียนรู้ เพราะหากนักเรียนยังไม่สามารถอ่านและเขียนได้ย่อมมีปัญหาตามมาในอนาคต นอกจากนี้ ผลการวิจัยยังพบด้วยว่า เมื่อจำแนกตามรายได้ของครอบครัวแล้ว นักเรียนที่เรียนรู้ได้ในระดับต่ำสุดจะอยู่ในครอบครัวที่มีช่วงรายได้ต่ำถึงปานกลาง แสดงให้เห็นว่าแม้เราอาจจะประสบความสำเร็จในการส่งให้เด็กเข้าโรงเรียนได้ แต่ไม่ได้หมายความว่า นักเรียนจะประสบความสำเร็จในการเรียนรู้ และแม้เด็กจะจบการศึกษาออกไปจากโรงเรียนแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่านักเรียนจะประสบความสำเร็จในการเรียนรู้เช่นกัน 

ผลการวิจัยได้ชี้ถึงประเด็นที่เกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับการเรียนรู้ ๔ ประเด็นหลัก ได้แก่ ผู้เรียนไม่มีความพร้อมในการเรียนรู้  ครูผู้สอนไม่มีทักษะและความตั้งใจ โรงเรียนให้การสนับสนุนไม่สอดคล้องกับทิศทางเดียวกับวัตถุประสงค์ในการสอนและการเรียนรู้ และการบริหารจัดการโรงเรียนไม่ไปในทิศทางเดียวกับวัตถุประสงค์ในการสอนและการเรียนรู้ นอกจากนี้การประเมินผล (Assessment) เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ จึงจำเป็นต้องมีเป้าหมายที่ต้องการประเมินอย่างชัดเจน ครูต้องวัดพัฒนาการการเรียนรู้ของนักเรียนแต่ละคน จึงจะนำไปสู่การเกิดกระบวนการคิด และการแก้ไขปัญหาของนักเรียน การวัดทำให้ทราบช่องว่างที่เกิดขึ้นในการเรียนรู้ของนักเรียนและช่วยวัดความสามารถและทักษะต่างๆ ของนักเรียนได้จริง

ศาสตราจารย์ฮวน ได้ให้มุมมองถึงบทบาทของครูในการเรียนรู้ อย่างน่าสนใจ โดยเห็นว่า การศึกษาของนักเรียนต้องมีพื้นฐานที่แข็งแรง เปรียบเสมือนการสร้างตึกหรืออาคารสูงต้องวางรากฐานที่แข็งแรง การศึกษาที่ดีก็ต้องเริ่มจากรากฐานที่มั่นคงก่อน แล้วค่อยต่อเติมให้สมบูรณ์และสวยงาม ซึ่งครูมีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานที่แข็งแรง ดังนั้น นอกจากความใส่ใจต่อนักเรียนแล้ว ครูควรสนใจชีวิตด้วย ถามไถ่และสังเกตพฤติกรรมของนักเรียนว่ามีลักษณะอย่างไร นักเรียนรู้สึกอยากเรียนหรือไม่ นักเรียนทำงานส่งไหม นักเรียนใส่ใจในการเรียนไหม เพราะนักเรียนมีสิ่งที่ต้องพบเจอและสิ่งที่ต้องทำมากกว่าแค่การเรียนในห้องเรียน ดังนั้น สิ่งที่ครูทำได้คือ การเตรียมการให้พร้อม และสร้างแรงบันดาลใจที่ทำให้นักเรียนสนใจเรียนรู้ ใส่ใจต่อกิจกรรมที่นำมาสอน 

ศาสตราจารย์ฮวน ยังทิ้งท้ายด้วยว่า ครูที่ดีคือครูที่เข้าใจกระบวนการสร้างการเรียนรู้ที่ให้เด็กเป็นเจ้าของและลงมือทำที่ว่า  “ถ้าบอก ฉันจะลืม ถ้าสอน ฉันจะจำ แต่ถ้าให้ฉันมีส่วนร่วม ฉันจะเรียนรู้”

เรื่องที่เกี่ยวข้อง