ผู้นำ SEAMEO ประเทศอินโดนีเซียชี้การศึกษาในอนาคตท้าทายทักษะครูยุคใหม่


วันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๖๒ เวลา ๑๓.๓๐ -๑๔.๑๐ น. ในเวทีประชุมวิชาการนานาชาติ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ณ ห้องประชุม World Ballroom ชั้น ๒๓ ได้จัดให้มีการ
ปาฐกถาพิเศษ ๒ ในหัวข้อ “Future Education: Best Practice from Southeast Asia Creative Camp” โดย ดร. กาโต๊ะ ปริโอวิจันโต  (Dr. Gatot Priowirjanto) จาก SEAMEO Indonesian Centre Coordinator ประเทศอินโดนีเซีย ผู้ซึ่งมีบทบาทในการพัฒนาการศึกษาของประเทศอินโดนีเซียและในเครือข่ายประเทศอาเซียน

โดยในเวทีดังกล่าว Dr. Gatot ได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของการศึกษา โดยยกตัวอย่างว่าห้องเรียนในช่วง ๕๐ ปี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๓ ถึง พ.ศ. ๒๔๙๓ แทบจะไม่มีความแตกต่างกัน โดยมีครูเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ ใน ๑ ห้องเรียนประกอบด้วยครู ๑ คน กระดานดำ ๑ แผ่น นักเรียนประมาณ ๑๐-๓๐ คน และหนังสือเรียน แต่ในปัจจุบัน ห้องเรียนได้เปลี่ยนรูปแบบไปสู่การศึกษาไร้พรมแดน (Cross Border Education) เราสามารถเรียนทางไกลจากที่ไหนก็ได้ โดยแนวคิดของการเรียนข้ามพรมแดนที่สำคัญ คือ ลงทุนต่ำ ใช้ดิจิทัลแทนหนังสือ การทำงานร่วมกันระหว่างผู้เรียน การเข้าถึงได้ตลอดเวลา เชื่อมต่อได้ทุกที่ นักเรียนสามารถเรียนจากที่ไหนก็ได้ บทเรียนสามารถย่อมาอยู่ได้ในโทรศัพท์มือถือเครื่องเพียงเดียว สามารถถ่ายโอนข้อมูลให้กันได้อย่างรวดเร็ว และครูสามารถตรวจงานของนักเรียนได้ทุกเวลา ดังนั้น นักเรียนไม่จำกัดแค่ในห้องเรียน ในการเรียนการสอนครั้งหนึ่งจึงสามารถเพิ่มขึ้นจาก ๕๐ คน เป็น ๑,๐๐๐ ได้ 

แต่ในปัจจุบันเรากำลังเผชิญความท้าทายในนอนาคต เช่น  ปัจจุบัน ห้องเรียนได้เปลี่ยนรูปแบบไปสู่การศึกษาไร้พรมแดน (Cross Border Education) เราสามารถเรียนทางไกลจากที่ไหนก็ได้ ซึ่งการศึกษาควรได้รับการพัฒนาให้สอดคล้องกับการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 โดยเน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่น่าสังเกต ทุกวันนี้มีคำถามที่หลายคนตั้งข้อสงสัยว่า “เรายังจำเป็นต้องเรียน ๖ ปีอยู่หรือไม่?” และ “ครูยังจำเป็นอยู่หรือไม่ในยุคที่ข้อมูลสามารถหาได้ง่ายในอินเตอร์เน็ต?” เพราะในความเป็นจริงเราสามารถเรียนเนื้อหาที่เท่ากันได้ภายในเวลาที่น้อยกว่าจากอินเทอร์เน็ต 

ในมุมของ ดร. กาโต๊ะ เห็นว่า ในอนาคตอาจต้องการจำนวนครูน้อยลง แต่ครูก็ยังมีความจำเป็น เพราะเรายังคงต้องปลูกฝังทัศนคติที่ดีให้แก่นักเรียน ซึ่งเป็นบทบาทของครูที่เทคโนโลยีไม่สามารถเข้ามาทดแทนได้ และเป็นสิ่งที่ไม่สามารถถ่ายทอดให้กันได้ในเวลาอันสั้น แต่ต้องอาศัยเวลาและกระบวนการต่อเนื่อง

ดร. กาโต๊ะ ทิ้งท้ายไว้ว่า ขอให้ครูทุกคนคิดนอกกรอบ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ในการจัดการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาการศึกษาให้ดียิ่งขึ้นไป

เรื่องที่เกี่ยวข้อง