สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ปี 2562


สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ปี 2562 แก่สุดยอดครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงแก่ชีวิตศิษย์และมีคุณูปการต่อวงการศึกษา 11 ประเทศในอาเซียนและติมอร์- เลสเต ทรงรับสั่ง ‘ครู’ คือมนุษย์ที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กนักเรียนที่ ไม่มีเทคโนโลยีใด ๆ แทนที่ครูได้ 

เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2562 ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นประธานพิธีมอบรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 3 ปี 2562 และการประชุมวิชาการนานาชาติ สำหรับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี รางวัลพระราชทานระดับนานาชาติเพื่อเชิดชูเกียรติครูดีเด่นในอาเซียนและติมอร์-เลสเต 11 ประเทศ และเพื่อเทิดพระเกียรติเจ้าฟ้านักการศึกษา ผู้ทรงพระปรีชาและทรงมีคุณูปการต่อการศึกษาทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ดำเนินการโดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำรัส ความตอนหนึ่งว่า ข้าพเจ้าได้รับทราบด้วยความชื่นชมยินดีที่ครูทั้ง 11 คน ได้ผ่านการคัดเลือกอย่างรอบคอบจากคณะกรรมการระดับชาติของแต่ละประเทศ นับเป็นครูรุ่นที่ 3 ที่มีความโดดเด่นและได้อุทิศตนอย่างไม่ย่อท้อในวิชาชีพการสอนด้วยความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่ ครูทุกคนที่สมควรกับรางวัลนี้ได้รับการยกย่องไม่เฉพาะในระดับชาติ แต่รวมถึงการยอมรับในระดับนานาชาติเนื่องจากเป็นผู้สร้างผลกระทบให้เกิดขึ้นต่อชีวิตของลูกศิษย์และมีบทบาทอย่างยิ่งในการพัฒนาการศึกษา

“ ปี 2562 นี้เป็นปีที่ประเทศไทยได้เป็นประธานอาเซียน ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่าความเป็นหุ้นส่วนที่ก้าวหน้าเพื่อความยั่งยืนในประเทศสมาชิอาเซียน รวมทั้งประเทศติมอร์-เลสเต จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้ทุกประเทศก้าวไปข้างหน้าเพื่อการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนด้วยกัน ขอให้พวกเราทำงานไปด้วยกันเพื่อส่งเสริมครูให้เป็นแรงกระตุ้นเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ครูคือปัจจัยสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ครูคือมนุษย์ที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กนักเรียนที่จะพัฒนาคุณลักษณะของตนเองและสร้างค่านิยมต่างๆ ให้เกิดขึ้น ไม่มีเทคโนโลยีใด ๆ สามารถมาแทนที่ครูได้ด้วยเหตุผลดังกล่าว  นั่นคือว่าทำไมครูที่ดีจึงสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตลูกศิษย์ได้ ด้วยการพัฒนาพวกเขาให้เป็นพลเมืองที่ดีและมีความสามารถทั้งในระดับชาติและระดับเป็นพลเมืองของโลกด้วย” 

สำหรับครูผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ปี 2019 ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กล่าวว่า ครูผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี มาจากการคัดเลือกของกระทรวงศึกษาธิการในอาเซียนและติมอร์-เลสเต ทั้ง 11 ประเทศ โดยมีคุณสมบัติเป็นครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงแก่ชีวิตของลูกศิษย์และมีคุณูปการต่อวงการศึกษา ประเทศละ 1 คน ซึ่งจะมีการคัดเลือกสุดยอดครู 2 ปีครั้ง เพื่อเข้ารับพระราชทานรางวัล ประกอบด้วย เหรียญรางวัล ประกาศนียบัตร โล่ เข็มเชิดชูเกียรติทองคำ และเงินรางวัล รางวัลละ 10,000 เหรียญสหรัฐ ซึ่งครูผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี 11 ประเทศในอาเซียนและติมอร์-เลสเต ปี 2562 มีประวัติที่น่าสนใจดังนี้ 

 

เนการาบรูไนดารุสซาลาม   

นางฮาจะฮ์ บินติ ฮาจี อัสปาร์
ครูใหญ่ ร.ร.ประถมศึกษาลัมบัก กานัน จารัล อายุ 49 และรับผิดชอบพัฒนากระบวนการเรียนการสอนนิเทศและติดตามการสอนของครูในโรงเรียนรวมทั้งเป็นที่ปรึกษาด้านมาตรฐานของครูบรูไน

ราชอาณาจักรกัมพูชา      
นายวิรัก ลอย
ครูสอนเกรด 12 ร.ร.มัธยมศึกษาฮุนเซน รอเลียพะเอีย ด้วยความเชื่อว่าการศึกษาทำให้นักเรียนมีชีวิตที่ดีจึงสร้างบรรยากาศในห้องเรียนเพื่อกระตุ้นให้นักเรียนสนใจด้วยการศึกษาพฤติกรรมของผู้เรียนเพื่อปรับใช้กับแผนการสอน เลือกเครื่องมือและสื่อการเรียนรู้ที่เหมาะกับนักเรียน
สาธารณรัฐอินโดนีเซีย     
นายรูดี ฮาร์ยาดี

ครูผู้สอนเทคโนโลยีไร้สายในระดับอาชีวศึกษา State Vocational Secondary School Cimahi จาร์วาตะวันตก ผู้ไม่หยุดที่จะเรียนรู้ หาความรู้เพิ่มเติมในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องเพื่อเชื่อมโยงกับการสอน พัฒนาหลักสูตร รวมถึงช่วยเพิ่มสมรรถนะครูในสาขาอาชีวศึกษา
สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว   
นายไพสะนิด ปันยาสะหวัด
หัวหน้าสาขาวิชาภาษาลาวและวรรณคดี และรองหัวหน้าฝ่ายวิชาการ ร.ร.มัธยมศึกษาสันติภาพ หลวงพระบาง มีผลงานด้านสารคดีเกี่ยวกับความขาดแคลนของ จ.พูคูน และได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติระดับประเทศจำนวนมาก
ประเทศมาเลเซีย      
นางเค เอ ราซียะฮ์

ครูผู้เชี่ยวชาญการศึกษาพิเศษ ด้านการบกพร่องทางการเรียนรู้ ร.ร.มัธยมศึกษาปันหยี โกตาบารู รัฐกลันตัน พัฒนาหลักสูตรวิชาเพื่อเด็กพิเศษตั้งแต่ระดับอนุบาล มัธยมศึกษา และอาชีวศึกษา เมื่อปีที่ผ่านมาได้รับการคัดเลือกเป็น 1 ใน 50 รายชื่อครูผู้รับรางวัล “Global Teacher Award” คัดเลือกโดย Varkey Foundation ประเทศอังกฤษ
สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา    
นายหม่อง จ๋าย
ครูสอนภาษาอังกฤษและเกษตร ร.ร.จ่อ เม แคว้นมัณฑะเลย์ ก่อนมาประจำที่โรงเรียนจ่อ  เม เคยทำงานที่กระทรวงศึกษาธิการ ในส่วนการศึกษาขั้นพื้นฐาน
สาธารณรัฐฟิลิปปินส์         
นายสาดัท บี มินันดัง
ครูประถมศึกษา ร.ร. ประถมศึกษาอมิรัล เมืองโคตาบาโต ผู้มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งโครงการ FaithMALU (ศรัทธาก่อให้เกิดพลังความร่วมมือ) และสร้างความตระหนักเรื่องการค้ามนุษย์เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของชุมชน
สาธารณรัฐสิงคโปร์        
นางแองจิลิน ชาน สิ่วเวิ่น
หัวหน้าสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ ร.ร.แองโกไชนีส แผนกประถมศึกษาและหัวหน้าครูการสอนเด็กพิเศษ จากประสบการณ์การดูแลนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษได้ถูกถ่ายทอดผ่านช่องทางออนไลน์ของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นครูพี่เลี้ยงในการประเมินและการใช้ไอซีทีในการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียน
สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต     
น.ส.ลูร์เดส รันเจล กอนซัลเวซ
ครูประถมศึกษา ร.ร.การศึกษาขั้นพื้นฐานเมืองมาตาตา ในเมืองเอเมร่า ผู้ร่วมเขียนและพัฒนาหลักสูตรระดับประถมศึกษาปีที่ 1-6 และหลักสูตรการรู้หนังสือ มีความมุ่งมั่นในการพัฒนานักเรียนทั้งร่างกายและจิตใจแบบองค์รวม และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชน
สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม   
นายเล ทัน เลียม
ครูสอนวิชาฟิสิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ร.ร.มัธยมชนเผ่าฮิม ลาม จ.เหิ่วซาง ด้วยนักเรียนส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อยชาวกัมพูชา ฐานะยากจน ครูเล ได้ก่อตั้งชมรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและกระตุ้นให้ใช้หลักคิดทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นแรงบันดาลใจในการพัฒนาชุมชน
ประเทศไทย 
นายสุเทพ เท่งประกิจ
ครูนักพัฒนาผู้มีความมุ่งมั่นและเสียสละ ร.ร.บ้านคลองน้ำใส  จ.ยะลา ท่ามกลางความหลากหลายทางศาสนาและวัฒนธรรม ครูสุเทพ ได้ใช้ภาษามลายูสร้างความสัมพันธ์ไทยมุสลิมและเข้าถึงคนในชุมชน อีกทั้งจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ทฤษฎีใหม่และศูนย์ช่างเศรษฐกิจพอเพียง จนมีลูกศิษย์ประสบความสำเร็จจำนวนมาก

 

 

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
เสด็จฯ พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 3 ปี 2562

และทรงเปิด การประชุมวิชาการนานาชาติ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 2
วันที่ 15  ตุลาคม 2562
ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ บางกอกคอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์
สถานีโทรทัศน์ NBT

ชมถ่ายทอดสด

เรื่องที่เกี่ยวข้อง