16 ต.ค. 2562 ประชุมวิชาการนานาชาติ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้ง 2 ปี 2562


วันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๖๒ เวลา ๑๐.๕๐-๑๑.๓๐ น. ในเวทีประชุมวิชาการนานาชาติ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ณ ห้องประชุม World Ballroom ชั้น ๒๓ ได้จัดให้มีการ
ปาฐกถาพิเศษ ๑ เรื่อง “Teach with Purpose and Passion – Make a Difference” โดย Mrs. Chuan-Lim Yen Ching, รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ประเทศสิงคโปร์ ผู้ซึ่งมีบทบาทในการพัฒนาครูในประเทศสิงคโปร์ 

โดยเวทีดังกล่าว คุณฉั่วในฐานะผู้นำทางการศึกษาได้ให้แง่คิดว่า การได้รับรางวัลของครูคือการได้รับภาระหน้าที่อันยิ่งใหญ่ ครูที่ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ในฐานะที่เป็นผู้นำครู จะต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงกับครูคนอื่นและลูกศิษย์ และจะต้องมีเป้าหมายและแรงปรารถนา และสร้างอนาคตให้แก่นักเรียน โดยชี้ว่า “ การทำงานในฐานะนักการศึกษา จะต้องปฏิบัติงานอย่างมีเป้าหมายและมีใจรักในการทำงาน เราต้องตั้งคาถามกับตัวเองอยู่เสมอว่า เพราะอะไรเราจึงทำงานนี้อยู่” 

โดยยกตัวอย่างการทำงานเสมือนริบบิ้นที่เส้นหนึ่งเปรียบเสมือนครูและอีกเส้นคือองค์กรซึ่งจะบรรลุเป้าหมายได้ต้องเป็นหนึ่งเดียวกัน ดังนั้นในฐานะครูควรตั้งเป้าหมายว่าจะเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนได้อย่างไร จะใช้การศึกษาเพื่อนำพาผู้เรียนไปสู่ชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างไร

คุณฉั่นยกตัวอย่างประเทศสิงคโปร์ซึ่งได้มี โครงการ North Light School เพื่อสร้างโอกาสให้นักเรียนที่จะเรียนต่อในระดับสายอาชีพโดยรับอาสาสมัครครูเพื่อมาร่วมโครงการและพัฒนาเด็ก พร้อมยกตัวอย่างการช่วยเหลือนักเรียนรายกรณีทั้งเรื่องการสร้างโอกาสการเรียนรู้และการแก้ปัญหาพฤติกรรมเด็ก นอกจากนี้ยังได้ยกตัวอย่างวิธีการสอนและกระบวนการจัดการเรียนรู้เชิงรุกของครูที่เข้าใจความแตกต่างของนักเรียน และสร้างความสุขสนุกสนานในการเรียนรู้ เช่นกรณีห้องเรียนศิลปะที่เปิดโอกาสให้นักเรียนที่มีความเห็นต่างได้แสดงความคิด หรือกรณีการจัดการในชั้นเรียนแบบเรียนรวมที่มีทั้งเด็กที่มีความต้องการพิเศษและเด็กปกติ ซึ่งครูจัดให้มีคู่บัดดี้ช่วยเหลือและเลือกกิจกรรมที่สนองตอบความสนใจและการพัฒนาศักยภาพที่ต่างกัน 

คุณฉั่วย้ำว่า ชีวิตคนเราต่างต้องเผชิญสิ่งต่างๆ มากมาย ในจิตวิญญาณความเป็นครูก็ต้องเข้าใจในส่วนนี้ 

“ชีวิตครูเปรียบเสมือนดินสอที่จะใช้เขียนได้ก็ต่อเมื่ออยู่ในมือเรา หากต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลง ก็จงขีดเขียนเรื่องราวให้เกิดขึ้น และดินสอยิ่งใช้ก็ยิ่งทู่ลง ครูจึงต้องเหลาตัวเองให้แหลมคมอยู่เสมอ แม้จะบาดเจ็บจากการถูกเหลา แต่ก็จะทำให้เราเป็นคนที่เข้มแข็งกล้าแกร่งมากขึ้น หากเขียนผิดพลาดพลั้งไปก็มียางลบที่สามารถแก้ไขได้เสมอ ชีวิตเรามนุษย์สามารถแก้ไขและลับคมให้ดีขึ้นได้เสมอได้เช่นกัน” 

สำหรับครูนั้น คุณฉั่วเห็นว่าหากมองทฤษฎีลำดับความต้องการของมาสโลว่า ลำดับที่สูงสุดในปีระมิดคือความสมบูรณ์ของชีวิต แต่คนเป็นครู จุดสูงสุดของครูคือ “การช่วยให้ผู้อื่นมีชีวิตที่สมบูรณ์ขึ้น” การสอนของครูจึงเหมือนการสร้างงานหัตถกรรม หากนักเรียนคนใดหมาดหวัง ครูมีหน้าที่สร้างความหวังใหม่ให้นักเรียนให้เขามีแรงบันดาลใจมีความคิดและทัศนคติที่ดีต่อตนเองและการเรียนรู้ ครูควรร่วมแบ่งปันความรู้ เพราะความรู้หรือสิ่งที่เรามองว่าเล็กๆหนึ่งสิ่งเมื่อรวมกันไม่ใช่หมายถึงการเกิดสิ่งสองสิ่ง แต่จะเกิดเป็นสิ่งต่างๆ ที่มีจำนวนมากหลายที่ขยายพลังไปได้ สิ่งที่รามองว่าทำไม่ได้ (I can’t) สามารถกลายเป็นสิ่งที่เราทำได้ (I can) เพียงแค่เราเปลี่ยนมุมมอง มุ่งมั่นที่จะพาเด็กๆ ไปให้ถึงฝัน 

คุณฉั่วยังชี้ว่าภารกิจของครู  PMCA นั้นมีความหมายยิ่งที่คุณฉั่วเห็นว่าประกอบด้วยอักษรสี่ตัวคือ 

  • P (Purpose and passion) หมายถึง เป้าหมายและความรถนาอย่างแรงกล้า 
  • M (Make every moment is a teachable moment) หมายถึง ทำให้ทุกช่วงเป็นโอกาสในการสอน 
  • C (Continual learning is key) หมายถึง การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญ 
  • A (Affirmation and perseverance in the journey of teaching lives) หมายถึง ความยืนหยัดและความเพียร 

ตอนท้ายคุณฉั่นย้ำว่าเป้าหมายของครูอย่าลดมาตรฐานตัวเอง แต่ต้องมีแรงปรารถนาที่จะพัฒนาตัวเองให้เติบโตขึ้นอยู่เสมอ ที่สำคัญสำหรับครูคือการสร้างการเปลี่ยนแปลงซึ่งจะเกิดขึ้นเป็นลูกโซ่ได้นั้น “ครูต้องกล้าที่จะเปลี่ยนก่อน” 

 “ในการสร้างความแตกต่างเราไม่จำเป็นต้องตะโกนออกไปให้เสียงดังจนทุกคนได้ยิน แต่ต้องอาศัยความกล้าหาญพอที่จะแค่กระซิบบอกตัวเองว่า พรุ่งนี้ฉันจะทำให้ดีขึ้น”

 

ภาพบรรยากาศการประชุมวิชาการนานาชาติ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 2 ปี 2562
วันที่ 16 ตุลาคม 2562
ห้อง  World Ballroom ชั้น 23
ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และ บางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร

เรื่องที่เกี่ยวข้อง