เครือข่ายรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีร่วมอบรม Digital Literacy Enrichment : ครูไฮเทคไฮทัชปรับตัวกับสไตล์การเรียนรู้ใหม่

เครือข่ายรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีร่วมอบรม Digital Literacy Enrichment : ครูไฮเทคไฮทัชปรับตัวกับสไตล์การเรียนรู้ใหม่

วันที่ 7-10 เมษายน 2563 มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี จัดโครงการ Digital Literacy Enrichment รุ่น 2 ปี 2563 พัฒนาศักยภาพครูในเครือข่าย เพื่อเปิดประสบการณ์กับกลุ่มครูให้รู้เท่าทันและปรับใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อการเรียนการสอนและการจัดการการศึกษาในโรงเรียน สร้างความคุ้นเคยกับดิจิทัลเทคโนโลยี เช่น การสร้างและใช้ QR Code การสร้างสื่อการสอนประเภทวีดิทัศน์ การเผยแพร่สื่อการสอนผ่าน Podcasts และสื่อสังคม (Social media) การถ่ายทอดสด (Live) การวิเคราะห์ข่าวปลอม การป้องกันและรับมือการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ (Cyberbully) รวมถึงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างครูในกลุ่มที่มีประสบการณ์และบริบทของสังคมที่แตกต่างกัน ช่วยสนับสนุนกิจกรรมสร้างเสริมแก่การเรียนการสอนในโรงเรียนที่ขาดแคลน

สำหรับในรุ่นที่ 2 นี้มีครูเข้าร่วมกิจกรรม 30 ท่าน เข้าร่วมโครงการ โดยมี อาจารย์ผนวกเดช สุวรรณทัต มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี พร้อมด้วยอาจารย์เมตตา มงคลธีระเดช และอาจารย์ไพฑูรย์ อนันต์เขต เป็นวิทยากร ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานมูลนิธิฯ ดร.ชวิน จันทเสนาวงศ์ มธจ. ดร.จุฬากรณ์ มาเสถียรวงศ์ สถาบันรามจิตติ และคณะทำงานมูลนิธิฯร่วมสนับสนุนการเรียนรู้ โดยการจัดกิจกรรมสำหรับ DLN รุ่นที่ เน้นการอบรมปฏิบัติการผ่าน Moodle platform ให้ครูได้เรียนรู้บทเรียนใน 5 session ได้แก่ 1) ทักษะคอมพิวเตอร์พื้นฐาน 2) แหล่งเรียนรู้ออนไลน์ 3) ความปลอดภัยออนไลน์ 4) เทคโนโลยีวิดีโอเพื่อการเรียนรู้ 5) ปัญญาประดิษฐ์ ผ่านโปรแกรม และ Zoom และสื่อการสอนผ่าน kaimooc.com และการใช้งาน Code เพื่อสร้างบทเรียนสำหรับตนเอง และการใช้สื่อสังคมออนไลน์ (social online) เพื่อการเรียนรู้ในช่วงวิกฤตรับมือสถานการณ์การระบาดไวรัสโควิด-19 และการเตรียมการเรียนการสอนทางไกลสำหรับช่วงเปิดเทอมอีกด้วย

สำหรับโครงการ Digital Literacy Enrichment ได้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2561 โดยออกแบบมาเพื่อสร้างความเข้าใจกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีดิจิทัลให้กับครูระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ปฏิบัติงานอยู่ เพื่อให้ครูสามารถให้เทคโนโลยีในการเรียนการสอนได้อย่างเหมาะสมและเพื่อให้คำแนะนำนักเรียนที่จะต้องใช้ชีวิตในโลกดิจิทัลในอนาคต โดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ได้ทำงานร่วมกับเครือข่ายครู จำนวน 500 กว่าท่านผ่านกระบวนการคัดเลือกครูมาตั้งแต่ ปี 2558

นอกจากนี้ ทางมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ยังเห็นโอกาสการทำงานพัฒนา Digital Literacy ให้กับครูร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ว่าเป็นการสร้างเครือข่ายให้กับหน่วยงานเพื่อการสร้างโอกาสในการทำงานพัฒนาครู นักเรียน ให้เป็นกำลังคนที่มีศักยภาพสูงต่อไปในอนาคต สำหรับปีนี้ 2563 เป็นรุ่นที่ 2 โดยการคัดเลือกครูตามสาขาวิชาที่สอน เช่น สาย STEM และสายมนุษยศาสตร์ (Humanities) โดยไม่คำนึงถึงระดับความสามารถและประสบการณ์ด้าน Digital Literacy  โดยเชิญชวนครูที่เคยได้รับรางวัลครูยิ่งคุณ ครูขวัญศิษย์ คุณากร ในปี 2558 ปี 2560 และ ปี 2562 สมัครเข้าร่วมอบรมจากทุกจังหวัดในประเทศไทย จำนวน 30 คน เข้าร่วมโครงการ ทั้งในกลุ่ม 1. STEM teacher : Science, IT, Mathematics 2. Social Science, Languages, Humanities โดยเข้ารับการอบรมเชิงปฏิบัติการและจัดให้มีการติดตามความเคลื่อนไหวต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กล่าวว่า
“โลกเปลี่ยนไปเร็วมาก และเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่กำลังเปลี่ยนการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ ทำอย่างไรให้ครูได้เรียนรู้เท่าทันและเข้าใจถึงเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีผลกระทบต่อการเรียนรู้ต่อการใช้ชีวิตในสังคม เรียนรู้คัดสรร เข้าถึงความรู้ และสร้างสรรค์การเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีเหล่านี้มาช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ของครูของผู้เรียน ให้ใช้เครื่องมือเหล่านี้ในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง และใช้อย่างปลอดภัยหรือเพื่อสร้างคุณค่าในการเรียนรู้ ใช้อย่างเข้าใจและเป็นพลังการเรียนรู้ให้เราโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ห่างไกล ท่ามกลางความท้าทายของการเรียนรู้ที่หลากหลายในบริบทที่ต่างกัน ยิ่งในสถานการณ์ยากลำบาก (อย่างสถานการณ์การระบาดไวรัสโควิด-19 ) ก็ไม่ตัดขาดการเรียนรู้…”

 

มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีนำเครือข่ายครูศึกษางานอุตสาหกรรมชีวภาพต่อยอดพัฒนาศิษย์

มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีนำเครือข่ายครูศึกษางานอุตสาหกรรมชีวภาพต่อยอดพัฒนาศิษย์


มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ร่วมกับกลุ่มมิตรผล จัดกิจกรรมส่งเสริมเครือข่ายครูเพื่อพัฒนาศักยภาพ ศึกษาดูงานด้านอุตสาหกรรมอ้อย น้ำตาล และเทคโนโลยีชีวภาพครบวงจร ณ อุทยานมิตรผลภูเขียว และหนองแซงโมเดล อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ เพื่อเปิดโลกทัศน์การเรียนรู้ให้กับครูเครือข่ายมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี

การจัดโครงการศึกษาดูงานด้านอุตสาหกรรมอ้อย น้ำตาล และเทคโนโลยีชีวภาพครบวงจรครั้งนี้ ได้จัดขึ้น ณ อุทยานมิตรผลภูเขียว อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ระหว่างวันที่ 14-16 กุมภาพันธ์ 2563

ทั้งนี้ การก้าวเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจฐานชีวภาพ ทำให้หลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยได้ให้ความสำคัญต่อการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีชีวภาพในเชิงพาณิชย์มากขึ้น โดยเน้นการนำเอานวัตกรรมและเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่พืชเศรษฐกิจ และสามารถนำมาใช้ทดแทนการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดไปได้ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจแบบไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยประเทศไทยก็อาศัยแนวคิดดังกล่าวเป็นแนวทางสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ

ในการจัดกิจกรรมส่งเสริมเครือข่ายครูเพื่อพัฒนาศักยภาพครูครั้งนี้ เพื่อเปิดโลกทัศน์การเรียนรู้ให้กับครูเครือข่าย เพราะมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี พบว่าจะเกิดผลลัพธ์ที่ดีต่อการพัฒนาการทำงานของครู หากเครือข่ายครูจำนวนมากกว่า 500 คน ในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศที่สามารถเป็นกำลังในการพัฒนาการศึกษา เพื่อให้เกิดการสานต่องานและต่อยอดขยายผลการทำงานของครูในการนำไปสู่การส่งเสริมให้นักเรียนพัฒนาโครงงานทางวิทยาศาสตร์และกระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์ต่อไป

มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี นำเครือข่ายครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครูรางวัลยิ่งคุณ และครูขวัญศิษย์ ประกอบด้วย โรงเรียนสตรีชัยภูมิ โรงเรียนอนุบาลชัยภูมิ โรงเรียนกมลาไสกาฬสินธุ์ โรงเรียนชุมชนหนองยางวิทยาคมกาฬสินธุ์ โรงเรียนหินลาดนารายณ์สารกาฬสินธุ์ โรงเรียนอนุบาลดอนไผ่หนองคาย โรงเรียนมัธยมวานรนิวาสสกลนคร โรงเรียนหล่มเก่าพิทยาคมเพชรบูรณ์ โรงเรียนเมืองราดวิทยาคมเพชรบูรณ์ โรงเรียนบ้านห้วยมุ่นเพชรบูรณ์ โรงเรียนบ้านท่าผูเพชรบูรณ์ โรงเรียนท่าตูมประชาเสริมวิทย์สุรินทร์ โรงเรียนเมืองแกพิทยาสวรรค์สุรินทร์ โรงเรียนทุ่งกุลาพิทยาคมสุรินทร์ และครูรางวัลจากสุราษฎร์ธานี ศึกษางานอุตสาหกรรมอ้อย น้ำตาล และเทคโนโลยีชีวภาพ ต่อยอดพัฒนาการเรียนรู้ของศิษย์ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2563 ณ อุทยานมิตรผลภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ

ทั้งนี้ รศ.ดร.กล้าณรงค์ ศรีรอต หัวหน้าศูนย์นวัตกรรมและการวิจัยของกลุ่มมิตรผลและคณะ ให้การต้อนรับและได้ชี้ให้เห็นนวัตกรรมของกลุ่มมิตรผลแบ่งออกเป็นธุรกิจน้ำตาล และธุรกิจพลังงาน ซึ่งกลุ่มมิตรผลเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก และอันดับ 1 ของไทย โดยระบุว่า กลุ่มมิตรผลได้คัดสรรอ้อยคุณภาพดีเข้าสู่กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยจนเกิดเป็นหลากหลายผลิตภัณฑ์น้ำตาลคุณภาพมาตรฐานสากล สำหรับลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมและกลุ่มผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ ภายใต้การจัดการไร่อ้อยสมัยใหม่คือ มิตรผล โมเดิร์นฟาร์ม ซึ่งเป็นนวัตกรรมการบริหารจัดการไร่อ้อยที่ประยุกต์แนวคิดองค์ความรู้และเทคโนโลยีจากต่างประเทศให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของประเทศไทย เพื่อให้ชาวไร่อ้อยมีผลผลิตเพิ่มขึ้น ลดต้นทุน ลดการใช้แรงงาน อนุรักษ์ดินและน้ำ เพื่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดี

ส่วนธุรกิจด้านพลังงาน กลุ่มมิตรผลแบ่งเป็น ไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าชีวมวลรายใหญ่ในเอเชียแปซิฟิก โดยการใช้ชานอ้อยจากกระบวนการผลิตน้ำตาล และชีวมวลทางการเกษตรถูกนำมาพัฒนาต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการผลิตเป็นไฟฟ้าชีวมวล หนึ่งในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนของกลุ่มมิตรผลที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างความมั่นคงทางพลังงานอย่างยั่งยืนให้แก่ประเทศไทย

ด้านเอทานอล ซึ่งกลุ่มมิตรผลเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ในอาเซียน ด้วยการนำน้ำอ้อยและโมลาสที่เป็นผลพลอยได้จากระบวนการผลิตน้ำตาลถูกนำมาพัฒนาต่อยอดสู่การผลิตเอทานอล บริสุทธิ์คุณภาพสูง ที่นำไปผสมกับน้ำมันเบนซินจนเกิดเป็นน้ำมันแก๊ซโซฮอลสำหรับรถยนต์ จึงช่วยลดการนำเข้าน้ำมันดิบ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศไทยอย่างยั่งยืน

กลุ่มมิตรยังมีอีกหนึ่งผลผลิตที่ต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากกระบวนการผลิตเอทานอลที่เกิดจากการปั่นแยกยิสต์ออกจากน้ำหมัก และนำไปพัฒนาเพิ่มความเข้มข้นอบแห้งจนได้ยิสต์ที่สามารถใช้เป็นส่วนผสมสำหรับอาหารสัตว์ ทดแทนปลาป่นหรือถั่วเหลืองที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ของไทย

ขณะที่เครือข่ายครูของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีที่ศึกษาการผลิตและนวัตกรรมของกลุ่มมิตรผลในครั้งนี้นั้น โดย นายเฉลิมพร พงศ์ธีระวรรณ ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ปี 2558 จากจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้เปิดเผยว่า จากการที่ได้ดูงานของโรงงานมิตรผลก็ทำให้เปิดโลกทัศน์ว่าในประเทศไทยก็มีโรงงานที่สามารถที่จะผลิตโดยใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์สูงสุด ซึ่งอันนี้ก็มีหลายแง่มุมที่สามารถนำไปจัดการเรียนรู้ได้ เพราะว่าทุกขั้นตอนของการผลิตนั้นก็จะมีนวัตกรรมของเขา ถ้าเราดูดี ๆ นวัตกรรมทุกขั้นตอนของการผลิต ไม่ว่าจะทำเป็นน้ำตาล ทำเป็นพลังงาน แต่ละขั้นตอน เขาจะมีนวัตกรรมของเขา ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่ประเทศไทยน่าจะมีโรงงานอย่างนี้มาก ๆ เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับนักเรียนและให้กับครู ถือเป็นการเปิดโลกทัศน์ของครูว่า ณ ปัจจุบันนี้เขาทำอะไรกันอยู่ เขาจะสอนนักเรียนไปทางไหน ซึ่งครูจะได้ไม่หลงทาง ปัจจุบันนี้ครูโดยส่วนใหญ่จะสอนให้จำและนำไปทำข้อสอบอย่างเดียว ทำให้ไม่เกิดนวัตกรรม จึงเห็นว่าครูควรจะต้องมารับองค์ความรู้จากโรงงานเหล่านี้เพื่อจะได้เห็นการพัฒนาในทางนวัตกรรม เพราะถ้าให้นักเรียนจำอย่างเดียวแล้ว นักเรียนจะทำอะไรไม่เป็นเลย

นายเฉลิมพร ให้ทัศนะอีกว่า การเรียนรู้ของนักเรียนจะต้องลงมือปฏิบัติผ่านกิจกรรมเพื่อให้เกิดการคิด เมื่อเกิดกระบวนการคิดก็จะสามารถนำองค์ความรู้ที่เขารู้ไปพัฒนาเป็นนวัตกรรมได้ อันนี้จะเป็นแนวทางการเรียนรู้ที่ถูกต้อง นั่นก็คือสอนให้เขาสามารถนำองค์ความรู้ไปต่อยอดให้เป็นนวัตกรรมโดยผ่านกระบวนการคิด หรืออีกแนวหนึ่งในปัจจุบันนี้ก็คือ สะเต็มศึกษา คือ แนวทางการจัดการศึกษาให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และสามารถบูรณาการความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี กระบวนการทางวิศวกรรม และคณิตศาสตร์ ไปใช้ในการเชื่อมโยงและแก้ปัญหาในชีวิตจริง รวมทั้งการพัฒนากระบวนการหรือผลผลิตใหม่ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งสะเต็มศึกษาจะได้ถูกออกแบบในบริบทของเขา

ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ปี 2558 กล่าวถึงครูเครือข่ายที่มาศึกษาดูงานในครั้งนี้ด้วยว่า เครือข่ายครูจะได้นำประสบการณ์ในพื้นถิ่นซึ่งเป็นบริบทของครูในเรื่องการทำไร่อ้อยและน้ำตาล ซึ่งเขาสามารถนำเอาสิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่นไปทำการสอนที่ดีมากขึ้น และสามารถที่จะนำพานักเรียนให้เกิดกระบวนการคิด เกิดกระบวนการสร้างนวัตกรรม ซึ่งสามารถนำไปสอดแทรกในวิชาสะเต็มศึกษาได้เลย คือนำเอาปัญหาจากท้องถิ่นและนำมาแก้โดยกระบวนการวิศวกรรมโดยอาศัยวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เข้ามาบูรณาการ เช่น หลักสูตรของ สสวท.ที่มีการสอนอยู่แล้ว

ส่วนเรื่องนโยบายที่สอนให้นักเรียนสร้างนวัตกรรมได้เป็นนโยบายของรัฐบาลอยู่แล้วของกระทรวงศึกษาธิการ โดยเฉพาะ สสวท.ก็สนับสนุนครูวิทยาศาสตร์ทำการสอนโดยใช้กระบวนการสะเต็มอันนำไปสู่นวัตกรรม ซึ่งทางกระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายที่ชัดเจนอยู่แล้ว ดังนั้น ครูจะต้องนำแนวทางนี้ไปปฏิบัติให้เกิดเป็นชิ้นงานขึ้นมา เพราะเมื่อนำไปสอนนักเรียนแล้ว นักเรียนจะเกิดผลงานอะไรบ้าง โดยอาศัยท้องถิ่นของตนเอง โดยใช้บริบทใกล้ตัว เช่นอาชีพของท้องถิ่น อาชีพของผู้ปกครองที่มีอยู่เป็นฐานในการเรียนรู้ ซึ่งจะทำให้เขาเรียนรู้ได้ง่าย มิใช่นำบริบทที่กรุงเทพฯ มา แต่ต้องนำบริบทของท้องถิ่นของตนเอง

“สำหรับครูที่มาศึกษาดูงานครั้งนี้เป็นครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีในระดับครูยิ่งคุณ ครูขวัญศิษย์ ซึ่งเขาก็มีความรู้ความสามารถอยู่แล้ว เพียงแต่ให้เขาได้เข้ามาเติมเต็มบางอย่างก็จะสามารถพัฒนาการจัดการเรียนการสอนของเขาได้ดียิ่งขึ้น และมองเห็นแนวทางที่ชัดขึ้นในการจัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียน ครูเหล่านี้พร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้าอยู่แล้ว” ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีสนับสนุนครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีจาก สปป. ลาว รุ่นที่ ๓ ปี ๒๕๖๒ ศึกษาดูงานการจัดการศึกษาของโรงเรียนและโครงการในพระราชานุเคราะห์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า ในจังหวัดน่านและแพร่

มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีสนับสนุนครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีจาก สปป. ลาว รุ่นที่ ๓ ปี ๒๕๖๒ ศึกษาดูงานการจัดการศึกษาของโรงเรียนและโครงการในพระราชานุเคราะห์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า ในจังหวัดน่านและแพร่

เมื่อวันที่ ๑ – ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓  ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี และคณะจัดกิจกรรมศึกษาดูงานให้กับครูไพสะนิด ปันยาสะหวัด และคณะครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีประจำประเทศลาว ปี พ.ศ. ๒๕๖๒  ประจำสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งได้นำคณะผู้บริหารและคณะครู ๙ ท่านจากโรงเรียนมัธยมศึกษาสันติภาพ นครหลวงพระบาง สปป.ลาว มาศึกษาดูงานด้านการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ และสังคมศึกษา ของโรงเรียนไทยในจังหวัดน่านและแพร่ รวมทั้งโครงการในพระราชานุเคราะห์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอนและการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่หลวงพระบาง 

กิจกรรมทัศนศึกษาครั้งนี้จัดขึ้นโดยความร่วมมือ กับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี  (มจธ.) ศูนย์ประสานงานในพื้นที่น่าน และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาพื้นฐาน ผ่านสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต ๓๗ (แพร่-น่าน) และหน่วยงานสำคัญที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้แทนกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติ ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)  ในสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เข้าร่วมศึกษาดูงานกับคณะครู สปป.ลาว ในครั้งนี้ด้วย 

ในการนี้ ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี และที่ปรึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี  (มจธ.) กล่าวว่า 

“การจัดกิจกรรมศึกษาดูงานในครั้งนี้เป็นโครงการที่จัดให้ตามที่คณะครูไพสะนิด ปันยาสะหวัด จากนครหลวงพระบาง สปป.ลาว ได้เสนอความต้องการที่อยากจะเรียนรู้ โดยทางมูลนิธิฯ ได้เลือกพื้นที่สำหรับศึกษาดูงานโดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ครูจากสปป.ลาวจะนำไปต่อยอดการพัฒนาการเรียนรู้และการศึกษาที่ใกล้เคียงกับบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของพื้นที่ โดยเฉพาะในจังหวัดน่านนี้มีพื้นที่ที่อยู่ในโครงการในพระราชานุเคราะห์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาการศึกษา และการส่งเสริมวิทยาศาสตร์นวัตกรรมต่างๆ เพื่อชีวิต อยู่หลายแห่งที่น่าจะช่วยเปิดโลกทัศน์และสร้างประสบการเรียนรู้ให้กับครูได้เห็นทั้งโจทย์การศึกษา นวัตกรรม และมิติของการสร้างทักษะให้กับเด็กเยาวชนในอนาคตได้” 

ทั้งนี้ กิจกรรมศึกษาดูงานประกอบด้วยการศึกษาโครงการในพระราชานุเคราะห์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาการศึกษา และการส่งเสริมวิทยาศาสตร์นวัตกรรมต่างๆ เพื่อชีวิต โรงเรียนและแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม 

๑. การศึกษาดูงานโครงการในพระราชานุเคราะห์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมีสำนักงาน มจธ.พื้นที่จังหวัดน่าน เป็นหน่วยประสานและปฏิบัติงานในพื้นที่ ซึ่งได้ศึกษาดูงานการจัดการศึกษาสำหรับเด็กบนพื้นที่สูงและในถิ่นทุรกันดาร ได้แก่โรงเรียนมัธยมพระราชทานเฉลิมพระเกียรติ อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน เป็นโรงเรียนที่มีการจัดการศึกษาแบบทวิภาคีร่วมกับวิทยาลัยการอาชีพปัว เน้นการสร้างทักษะอาชีพให้กับผู้เรียน และโรงเรียนบ้านสว้า มีห้องเรียนสาขา ๓ แห่งในหมู่บ้านบนดอยที่ห่างไกล คือ บ้านป่ากำ ขุนน้ำจอน ห้วยลัวะ ที่เน้นการสร้างโอกาสการเรียนรู้ การพัฒนาคุณภาพชีวิต และทักษะการทำงานและดำรงชีวิต

๒. การศึกษาการเรียนรู้วิถีชีวิตชาวบ้านในชุมชนบ้านบ่อหลวง แหล่งผลิตเกลือสินเธาว์แบบโบราณ อายุกว่า ๗๐๐ ปี และเยี่ยมชม “กาดละอ่อน” โดยมีมัคคุเทศก์น้อยของชุมชนบ่อหลวงพาเยี่ยมชน จากนั้นยังได้การศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิตชาวมละบริในศูนย์วัฒนธรรมภูฟ้า ชุมชนชาวลั้วะที่พัฒนาเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่  ศูนย์การเรียนรู้โจ้โก้ อ.ภูเพียง จ.น่าน ศูนย์กลางการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนระหว่างเกษตรกรคนในชุมชน โดยมีพ่อสำรวย ผัดผล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองจัง จังหวัดน่าน ประธานมูลนิธิฮักเมืองน่านผู้บุกเบิกศูนย์การเรียนรู้โจ้โก้ มาร่วมให้ความรู้เรื่องการทำงานของศูนย์ฯ เพื่อสร้างองค์ความรู้เรื่องข้าว เกษตรกรรมและการจัดการน้ำในจังหวัดน่าน

๓. การศึกษาเยี่ยมชมศาสนาสถาน โบราณสถาน พิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม อาทิ การเยี่ยมชมวัดหนองบัว หรือวัดไทลื้อ  ซึ่งเป็นวัดของชาวไทลื้อ มีพิพิธภัณฑ์ไทลื้อ และภายในวัดยังมีจิตรกรรมฝาผนังร่วมเชื่อว่ามาจากช่างร่วมยุคสมัยกับวัดภูมินทร์ และยังมีภาพเด่นของหนุ่มสาวจูงมือ  สักการวัดพระธาตุแช่แห้ง วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร วัดภูมินทร์ วัดหัวข่วง คุ้มเจ้าราชบุตร และเยี่ยมชมย่านเมืองเก่าของจังหวัดน่าน เดินทางไปสักการวัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง (วัดศักดิ์สิทธิ์เก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองแพร่) คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ โดยได้เรียนรู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์วัฒนธรามและความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างน่าน-แพร่กับหลวงพระบาง สปป.ลาว จากวิทยากรท้องถิ่น และพระอาจารย์ตามศาสนาต่างๆ อีกด้วย

๔. การศึกษาดูงานการบริหารจัดการศึกษาของโรงเรียนขนาดใหญ่โรงเรียนสตรีศรีน่าน อ.เมือง จ.น่าน โรงเรียนพิริยาลัย อ.เมือง จ.แพร่ ที่มีเด็กนักเรียนโดยเฉลี่ย 2,000 กว่าคน เพื่อดูงานการบริหารจัดการและการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนทั้งในด้านสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เน้นวิทยาศาสตร์ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม STEM ศึกษา กิจกรรมอื่นๆ ที่เป็นจุดแข็งของโรงเรียน และเยี่ยมเยือนสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต ๓๗ (แพร่-น่าน)

ด้านครูไพสะนิด ปันยาสะหวัด สะท้อนว่า การเดินทางมาศึกษาดูงานของคณะครูของโรงเรียนคณะผู้บริหารและคณะครู ๙ ท่านจากโรงเรียนมัธยมศึกษาสันติภาพ นครหลวงพระบาง สปป.ลาว นับว่ามีคุณค่าอย่างยิ่ง 

“ข้าพเจ้าประทับใจในทุกที่ที่ไป และได้เห็นพระบารมีของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทำงานพัฒนาคนและสังคมในหลายมิติ และยังได้เห็นความสัมพันธ์ของประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของจังหวัดน่านและแพร่ที่มีความเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของหลวงพระบาง ทำให้เรื่องที่ข้าพเจ้าเรียนรู้ในประวัติศาสตร์ขยายขอบเขตกว้างขึ้น ซึ่งจะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้นี้ไปบอกเล่าถ่ายทอดให้กับเพื่อนครู และไปต่อยอดการจัดการเรียนรู้ของข้าพเจ้าต่อไป ในอนาคตอยากมีกิจกรรมต่อเนื่องที่จะเชื่อมโยงการพัฒนาการเรียนรู้เป็นเรื่องๆ ไป และหากมาโอกาสอยากให้ครูไทยและครูลาวหรือนักวิจัยไทย หรือนักเรียนได้ไปมาหาสู่พัวพันเรียนรู้กันและกันต่อไป โรงเรียนของข้าพเจ้ายินดีต้อนรับหากคณะจากมูลนิธิฯและเครือข่ายจะไปเยี่ยมเยือน” 

ด้านท่านนางบัวทอง  ตันแสนสี รองหัวหน้าแผนกศึกษาธิการ และ กีฬา แขวงหลวงพะบาง กล่าวว่า “ขอขอบใจในมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีที่ได้สนับสนุนโครงการศึกษาดูงานในครั้งนี้ ทำให้ครูของนครหลวงพระบาง ได้มีโอกาสเรียนรู้และมีประสบการณ์ในหลายด้านจากสิ่งที่ได้ดูงาน ซึ่งในฐานะผู้ดูแลด้านการศึกษาที่นครหลวงพระบาง จะนำสิ่งที่ได้กลับไปรายงานทางกระทรวงศึกษาธิการ และกีฬา สปป.ลาว และคงได้หารือกับคณะผู้บริหารและคณะครูที่มาร่วมดูงาน และทบทวนสิ่งที่เราทำอยู่ว่าเราจะสามารถนำสิ่งที่ได้เรียนรู้มาต่อยอดพัฒนาการศึกษาของเราให้สอดคล้องกับบริบทของหลวงพระบางได้อย่างไร และขอบใจในความพัวพันและการดูแลอย่างยิ่งครั้งนี้อีกครั้ง” 

 นอกจากสิ่งที่กล่าวนี้ คณะครูจากนครหลวงพระบาง สปป.ลาว และเครือข่ายครูไทย และนักวิจัยในพื้นที่น่าน-แพร่ ยังได้ร่วมกันสะท้อนถึงประสบการณ์และความประทับใจที่ได้พบปะกัน ถือเป็นโอกาสที่จะเชื่อมโยงเครือข่ายการเรียนรู้สร้างความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างเครือข่ายครูสปป.ลาว และเครือข่ายครูไทย เครือข่ายนักวิจัย และนักพัฒนาในพื้นที่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนครหลวงพระบางมายังจังหวัดน่านใช้เวลาเดินทางระหว่างกันไม่ไกลที่ทำให้ต่างก็จะกลับไปคิดโจทย์ต่อว่าจะต่อยอดความสัมพันธ์เพื่อสร้างการเรียนรู้ต่อเนื่องเพื่อประโยชน์ต่อผู้เรียนและชุมชนต่อไป 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี จาก สปป. ลาวรุ่นที่ 1 ปี 2557 ร่วมทัศนศึกษาดูงานในจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดชัยภูมิ

ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี จาก สปป. ลาวรุ่นที่ 1 ปี 2557 ร่วมทัศนศึกษาดูงานในจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดชัยภูมิ


28 – 30 มกราคม พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา คณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี นำโดย ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า ผู้จัดการมูลนิธิรางวัลเจ้าฟ้ามหาจักรี และคณะเครือข่ายครูในมูลนิธิฯ สถาบันรามจิตติ ได้ต้อนรับครูคำซ้อย
วงสัมพัน ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีประจำประเทศลาวปี พ.ศ.2557 ประจำสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งได้นำคณะผู้บริหารและคณะครู ๒๐ ท่านจากโรงเรียนมัธยมศึกษาสมบูรณ์ นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว มาศึกษาดูงานด้านการจัดการเรียนรู้ภาษาฝรั่งเศส วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ของโรงเรียนไทยในจังหวัดขอนแก่นและชัยภูมิ โดยมีคณะผู้บริหารของโรงเรียนไทย คณะครู ศึกษานิเทศก์ให้การต้อนรับ รวมถึงแหล่งเรียนรู้ต่างๆ 

ในการนี้ คณะครู สปป.ลาว ได้เข้าเยี่ยมเยือนศึกษาดูงานการจัดการเรียนการสอน  ณ โรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 25 จังหวัดขอนแก่น เยี่ยมชมศูนย์พัฒนาภาษาฝรั่งเศส ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และแบ่งกลุ่มการศึกษาดูงานการจัดการเรียนการสอนเป็นรายวิชา ได้แก่ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศวิชาฝรั่งเศส กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ศูนย์ STEM ศึกษา กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ กิจกรรมอื่นๆ ที่เป็นจุดแข็งของโรงเรียน โดยในการนี้ยังได้มีกิจกรรมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดการเรียนการสอนภาษาฝรั่งเศส กับคุณครูสลิลทิพย์ พนาวสันต์ แกร์นิเยร์ ครูสอนภาษาฝรั่งเศส โรงเรียนพัทลุง ครูยิ่งคุณ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ปี 2562 อีกทั้งยังได้เยี่ยมเยือนศึกษาดูงาน ณ สถาบันพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ด้านการสนับสนุนและการพัฒนาครูของสถานบันฯให้กับครูประจำการและบุคลากรทางการศึกษา 

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 25 SIAO model เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาในจังหวัด รวมถึงทัศนศึกษาศูนย์ศึกษาวิจัยและพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง จังหวัดขอนแก่น เรียนรู้แหล่งประวัติศาสตร์โบราณธรณีวิทยาและโบราณชีววิทยา นอกจากนี้ยังได้เยี่ยมเยือนโรงเรียนหนองเรือวิทยา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต ๒๕ ขอนแก่น โดยเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษที่โดดเด่นทางด้านการผลิตนักกีฬาวอลเลย์บอลหญิง โดยนักเรียนทั้งศิษย์เก่าและศิษย์ปัจุบันที่อยู่ใน วอลเลย์บอลไทยแลนด์ลีก

นอกจากการศึกษาดูงานในจังหวัดขอนแก่นแล้ว คณะของครูคำซ้อย วงสัมพัน สปป.ลาว ยังได้เดินทางไปจังหวัดชัยภูมิเพื่อศึกษาดูงานการจัดการเรียนรู้และการพัฒนาการศึกษาของโรงเรียนสตรีชัยภูมิ  สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 30 จังหวัดชัยภูมิ ทั้งในด้านการบริหารจัดการศึกษาและการพัฒนาการเรียนรู้ในด้านภาษา และสาระการเรียนรู้ต่างๆ พร้อมกันนี้ยังได้มีการแลกเปลี่ยนสะท้อนประสบการณ์การเรียนรู้จากการศึกษาดูงานร่วมกัน โดยมีคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีและเครือข่ายครูไทยร่วมแลกเปลี่ยนการนำความรู้ไปใช้ต่อยอดการทำงานในอนาคต 

จังหวัดขอนแก่น

จังหวัดชัยภูมิ

 

 

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี​ ประจำปี​ 2560​ จากประเทศมาเลเซีย​ พร้อมคณะ​ เยือนประเทศไทย​ และเข้าแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างครูมาเลเซียกับครูไทย​ พร้อมศึกษาดูงานของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี​ และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี​ ประจำปี​ 2560​ จากประเทศมาเลเซีย​ พร้อมคณะ​ เยือนประเทศไทย​ และเข้าแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างครูมาเลเซียกับครูไทย​ พร้อมศึกษาดูงานของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี​ และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)


คณะกรรมการของ​มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีได้จัดกิจกรรมศึกษาดูงานและเลี้ยงต้อนรับ Ms. Saripah Embong ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี รุ่นที่ 2 ปี 2560 จากประเทศมาเลเซีย พร้อมด้วยผู้บริหาร ครู และนักเรียน  จำนวน  8 คน จากโรงเรียน Sekolah Menengah  Agarna (Atas)  Sultan Zainal Abidin รัฐ Terengganu ประกอบด้วย Haji Engku Abdulh bin Engku Dalam Ahmad , Zalina binti Hassan , Dr.Wan Maizaitul Akmar binti Wan Ahmad , Abdul Malik bin Muhamad , Nurul Aisyah bin Mustaffa , Wan Ahmad Aqil Zakwan bin Wan Mohd Faidzal , Nur Anis Farzana binti Abdul Malik ซึ่งได้มาเยือนประเทศไทยระหว่างวันที่ 1-7 กุมภาพันธ์ 2563 นี้  เพื่อร่วมกิจกรรม “International Intellectual Poverty, Invention, Innovation and Technology Exposition” โดยโครงงานของนักเรียนได้รับรางวัล Special Award และรางวัลเหรียญทอง (Gold Medal) จากงานดังกล่าว

โดยในวันที่​ 5​ กุมภาพันธ์​ 2563​ การนี้คณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีได้จัดกิจกรรมศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี  โดยมีนายภูริวรรษ คำอ้ายกาวิน ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ศึกษา สพฐ. และ ดร.สมร  ปาโท ผู้อำนวยการ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี  พร้อมด้วย คณะครูอาจารย์ และนักเรียนที่ให้การต้อนรับ ในการนี้คณะครู Saripah ได้ศึกษาดูงานด้านการจัดการเรียนการสอนห้องปฏิบัติการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นโครงการแลกเปลี่ยนทางวิชาการระหว่างนักเรียนไทยและญี่ปุ่น (Academic Exchange Program) การสอนแบบโครงงานทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อมและชุมชน สะเต็มศึกษา และการบริหารจัดการโรงเรียนด้านงบประมาณ การคัดเลือกนักเรียน และการทำโครงงานของนักเรียนซึ่งเป็นกิจกรรมสำหรับการจบการศึกษา เป็นต้น

ในบ่ายวันเดียวกัน คณะครู Saripah ยังได้เข้าเยี่ยมเยือนมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี โดยมี ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า ผู้จัดการมูลนิธิฯ นพ.สุภกร บัวสาย และดร.อุดม วงษ์สิงห์ คณะกรรมการมูลนิธิฯ ดร.จุฬากรณ์ มาเสถียรวงศ์ สถาบันรามจิตติ ให้การต้อนรับ ณ สำนักงานมูลมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี สำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) อาคาร S.P.ชั้นที่ 13 ถนนพหลโยธิน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้​ การมาเยือนประเทศไทยของคณะของครู​ Saripah ครั้งนี้เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ร่วมกันในด้านการศึกษาระหว่างทั้งสองประเทศ​ และศึกษาการทำงานของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี​ ในกระบวนการส่งเสริมและปรับปรุงการพัฒนาวิชาชีพครู รวมถึงเพื่อให้เกิดเครือข่ายการเรียนรู้ระหว่างนักเรียนและอาจารย์จาก Sekolah Menengah Agama (Atas) Sultan Zainal Abindin และนักเรียนและครูจากโรงเรียนไทยมากยิ่งขึ้น​ด้วย​  ในการนี้คณะกรรมการมูลนิธิฯยังได้จัดเลี้ยงต้อนรับแด่ครู Saripah และคณะ ที่มาเยือนในครั้งนี้ด้วย โดยมีดร.ทินสิริ ศิริโพธิ์ ผู้จัดการประสานระหว่างประเทศไทย-มาเลเซีย ดร.เจษฎา เตมัยสมิธิ  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ร่วมงานเลี้ยงต้อนรับในครั้งนี้ด้วย

ทั้งนี้ Mr. Haji Engku Abdullah bin Engku Dalam Ahmad ผู้บริหารโรงเรียน Sekolah Menengah  Agarna (Atas)  Sultan Zainal Abidin โรงเรียนของครู Saripah ได้กล่าวสะท้อนขอบคุณการต้อนรับและกิจกรรมการเรียนรู้ที่มูลนิธิฯ จัดขึ้นว่า การมาประเทศไทยครั้งนี้ถือเป็นโอกาสดีอย่างยิ่งในการเรียนรู้หลายเรื่อง โดยเฉพาะโอกาสที่ทางมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีได้ประสานให้ได้ไปศึกษาดูงานโรงเรียนโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี ซึ่งมีจุดเน้นคล้ายกับ โรงเรียน Sekolah Menengah  Agarna (Atas)  Sultan Zainal Abidin ซึ่งเป็นโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาอยู่ในกลุ่มโรงเรียนเป็นเลิศทางวิชาการของมาเลเซีย เป็นโรงเรียนประจำ มีนักเรียนมีจำนวน 720 คน ครู 100 คน โดยด้นการเรียนรู้มุ่งเน้นการสร้างองค์ความรู้ โดยสนับสนุนให้นักเรียนทำโครงงานวิทยาศาสตร์และการพัฒนานวัตกรรมได้รับรางวัลระดับประเทศและนานาชาติมากมาย ซึ่งจากการมาเยือนครั้งนี้โรงเรียนมีความประสงค์ที่จะดำเนินโครงการความร่วมมือแลกเปลี่ยนครูและนักเรียนเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาร่วมกันในอนาคตต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ สรุปสาระสำคัญพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 3 และพิธีมอบรางวัลคุณากร ครูยิ่งคุณ และครูขวัญศิษย์

หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ สรุปสาระสำคัญพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 3 และพิธีมอบรางวัลคุณากร ครูยิ่งคุณ และครูขวัญศิษย์

สรุปสาระสำคัญ
พิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 3
และพิธีมอบรางวัลคุณากร ครูยิ่งคุณ และครูขวัญศิษย์

ผู้แต่ง: มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี
จำนวน :  55 หน้า

 

สรุปสาระสำคัญ
การประชุมวิชาการนานาชาติ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 2

ผู้แต่ง: มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี
จำนวน :  74 หน้า

ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ปี 2562 ชี้บทบาทครูในการพัฒนาผู้เรียนให้เต็มศักยภาพ

ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ปี 2562 ชี้บทบาทครูในการพัฒนาผู้เรียนให้เต็มศักยภาพ


วันที่ 15 ตุลาคม 2562 เวลา 13.00-17.30 น. ณ ห้อง
World Ballroom โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ ในงานพิธีมอบรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ปี 2562 รางวัลพระราชทานระดับนานาชาติเพื่อเชิดชูเกียรติครูดีเด่นในอาเซียนและติมอร์-เลสเต 11 ประเทศ   ดำเนินการโดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ได้จัดให้มีเวทีนำเสนอผลงานของครูผู้ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ปี 2562 อาเซียนและติมอร์-เลสเต โดยมีกิจกรรมแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ในหัวข้อต่างๆ ดังนี้

กลุ่มที่ 1 : ทักษะที่สำคัญ (Essential Skills)

กลุ่มที่ 1 : ทักษะที่สำคัญ (Essential Skills)

วันที่ 15 ตุลาคม 2562 เวลา 13.30 – 14.30น. ห้อง World Ballroom ครูผู้นำเสนอได้แก่ 1) นายลอย  วิรัก ประเทศกัมพูชา 2) นายรูดี้  ฮาร์ยาดี้ ประเทศอินโดนีเซีย 3) นายหม่อง  จ๋าย ประเทศเมียนมา 4) นายเลอ ทัน เลียม ประเทศเวียดนาม ซึ่งครูทั้ง 4 ท่านเน้นการทำความเข้าใจกับธรรมชาติที่หลากหลายของผู้เรียน และเน้นกระบวนการเรียนรู้ที่จะสร้างทักษะสำคัญๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง วิทยาศาสตร์ฟิสิกส์ ICT การสื่อสาร และทักษะการดำรงชีวิต ซึ่งในกรณีของครูลอยและครูเลียม ให้นักเรียนมีคู่บัดดี้ในการช่วยเหลือกันและกัน ขณะที่ครูรูดี้มีกระบวนการสอนโดยพัฒนาโมเดลที่เรียกว่ การใช้เทคโนโลยี ICT ชี้ความสำเร็จมาจากความร่วมมือระหว่างผู้ปกครองและชุมชนในการสนับสนุนการจัดการเรียนรู้ โดยครูลอยวิรัก ให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อม กระบวนการจัดการเรียนรู้สื่อและอุปกรณ์ การสื่อสารระหว่างครูกับนักเรียนและผู้ปกครอง รวมถึงการแบ่งปันประสบการ์ร่วมกันในกระบวนการเรียนรู้ โดยเฉพาะปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนด้วยกันในการให้เด็กที่เรียนรู้ได้ไวช่วยเหลือเด็กที่เรียนรู้ได้ช้า


กลุ่มที่ 2 : ส่วนร่วมของชุมชน (Community Engagement)  

กลุ่มที่ 2 : ส่วนร่วมของชุมชน (Community Engagement)  

1) นายไพสะนิด ปันยาสวัด ประเทศ สปป.ลาว 2) นายซาดัด บี มินันดัง ประเทศฟิลิปปินส์  3) นางลูร์เดส รันเกล กอนคัลเวส ประเทศติมอร์-เลสเต 4) นายสุเทพ เท่งประกิจ ประเทศไทย ซึ่งครูทั้ง 4 ท่าน การให้ความสำคัญกับการจัดการเรียนรู้ร่วมกับชุมชน ทั้งในแง่การเอาของเอาชุมชนเป็นบริบทพื้นที่ของการส่งเสริมการเรียนรู้และการดึงพลังของพ่อแม่ครอบครัวและชุมชนมาร่วมสนับสนุนการศึกษา สร้างโอกาสที่ดีทางการศึกษาให้กับเด็กเยาวชน  ซึ่งครูทั้ง 4 ท่าน มีความเชื่อร่วมกันว่า “การเป็นครู ไม่ได้มีหน้าที่เพียงแค่การสอนอย่างเดียว แต่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับนักเรียนด้วย”  


กลุ่มที่ 3 : การศึกษาพิเศษ (Special Education)

กลุ่มที่ 3 : การศึกษาพิเศษ (Special Education) 1) นาง เค เอ ราซียาห์ ประเทศมาเลเซีย 2) นางชาน ซิว เหวิน ประเทศสิงคโปร์ 3) นางฮาจา นูร์เลีย ฮาจี อัสปาร์ ประเทศบรูไนดารุสซาลาม ซึ่งชานซิวเหวินเป็นครูผู้ดูแลโปรแกรมการศึกษาพิเศษสำหรับเด็กที่มีความพิเศษในระดับประถมศึกษาที่จัดควบคู่ไปพร้อมกับระบบเรียนรวม ขณะที่ครูเคเอเป็นครูผู้ดูแลเด็กที่มีความต้องการพิเศษในระดับมัธยมศึกษา โดยพัฒนานวัตกรรมห้องเรียนที่เรียกว่า ห้องเรียนสปาเพื่อการเรียนรู้ของนักเรียน ส่วนครูฮาจานูร์เลียเป็นครูใหญ่ที่พยายามวางระบบการจัดการศึกษาแบบ Inclusive Education ให้กับโรงเรียน โดยมีระบบการศึกษาพิเศษและกิจกรรมสนับสนุนการเรียนรู้สำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งทั้ง 3 ท่านต่างสะท้อนว่าเด็กต่างมีความหลากหลาย ครูมีหน้าที่ที่จะต้องเรียนรู้และเห็นความงามในความหลากหลาย นำพาผู้เรียนไปสู่การพัฒนาการเรียนรู้ให้เต็มตามศักยภาพของผู้เรียนและมีความสุขกับการเรียนรู้

 

 

ครูรางวัลคุณากรขยายผลการสร้างแรงบันดาลใจสานฝันครูปฐมวัยหัวใจรัก(ษ์)ถิ่น

ครูรางวัลคุณากรขยายผลการสร้างแรงบันดาลใจสานฝันครูปฐมวัยหัวใจรัก(ษ์)ถิ่น


วันที่ 8 ธันวาคม 2562  ณ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ครูปุณยาพร ผิวขำ ครูรางวัลคุณากร มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีปี 2562 เป็นวิทยากรสร้างแรงบันดาลใจในกิจกรรม
“ค่ายสานฝันฉันอยากเป็นครูปฐมวัยหัวใจรัก(ษ์)ถิ่น” ภาคอีสาน  โดยมี ดร.จักรพรรดิ วะทา คณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ร่วมด้วย รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ กรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการ ดร.จิตติมา เจือไทย ผู้ช่วยผู้จัดการโครงการ ผศ.ดร.วรฉัตร วริวรรณ คณะวิจัยและประเมินโครงการ ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา กสศ. ผู้สนับสนุนโครงการดังกล่าว พร้อมด้วยนักเรียนระดับมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6 ในพื้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จาก 9 จังหวัด ได้แก่ ศรีสะเกษ อุดรธานี เลย มุกดาหาร ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ อำนาจเจริญ สกลนคร และอุบลราชธานี จำนวน 51 คน เข้าร่วมโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น (รุ่นที่ 1)   

“ค่ายสานฝันฉันอยากเป็นครูปฐมวัยหัวใจรัก(ษ์)ถิ่น” เป็นกิจกรรมเตรียมความพร้อมและพัฒนาศักยภาพ-แววความเป็นครู ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการคัดเลือกนักเรียนด้อยโอกาสที่อยากจะเป็นครูเข้าเรียนครูในสถาบันที่ผ่านการคัดเลือกเป็นสถาบันผลิตและพัฒนาครูตามโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น (รุ่นที่ 1) ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยความร่วมมือกับครูในเครือข่ายครูมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี และสถาบันผลิตและพัฒนาครูกับโครงการในรุ่นที่ 1 ทั้ง 11 แห่ง ที่ครอบคลุมพื้นที่ 45 จังหวัดใน 4 ภูมิภาค ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เพี่อร่วมขับเคลื่อนโครงการอย่างต่อเนื่อง

สำหรับโครงการ “ครูรักษ์ถิ่น” คือ โครงการสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลเป็นครูรุ่นใหม่เพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนของชุมชน  มุ่งแก้ไขปัญหาขาดแคลนครูในโรงเรียน (ขนาดเล็ก) ที่ตั้งอยู่ในชนบทห่างไกล โดยจัดทุนการศึกษาให้แก่เยาวชนที่มีภูมิลำเนาในท้องถิ่นนั้นๆ ได้เรียนครูในสาขาปฐมวัยและประถมศึกษา จนจบเพื่อกลับไปปฏิบัติงาน (สอนและพัฒนา) ณ โรงเรียนภูมิลำเนาขอบตน รวมถึงส่งเสริมให้สถาบันผลิตและพัฒนาครูเกิดการปรับปรุงการเรียนการสอน หลักสูตร การฝึกประสบการณ์ และกิจกรรมเสริมให้เหมาะสม และสอดคล้องกับการเป็น “ครู” ในพื้นที่ห่างไกลได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

 

แง่คิดการพัฒนาโรงเรียนบนฐานผลการวิจัย นัยกับการพัฒนาครู

แง่คิดการพัฒนาโรงเรียนบนฐานผลการวิจัย นัยกับการพัฒนาครู


วันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๖๒ เวลา ๐๙.๐๐ –๐๙.๔๐ น. ณ ห้องโลตัส สวีท ๑ –๔ ชั้น ๒๒ ได้จัดให้มีการ
ปาฐกถาพิเศษ ๓ ในหัวข้อ  “Learning: How Teachers Help Students Become Better Learners” โดยศาสตราจารย์ฮวน มิเกล ลูซ (Prof. Juan Miguel Luz)  ประธานองค์กรออกแบบคุณภาพการศึกษา (Quality Education Design) และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประเทศฟิลิปปินส์ ได้ถอดสาระสำคัญจากงานวิจัยจากรายงานของธนาคารโลกมุ่งสนใจศึกษาการเรียนรู้ของนักเรียนในโรงเรียนที่ว่า  “นักเรียนมาโรงเรียนเพื่ออะไร แล้วนักเรียนได้เรียนรู้อะไร” และสิ่งที่ต้องตระหนัก คือ จุดมุ่งหมายของการเรียนรู้และกระบวนการให้ความรู้แก่นักเรียน ดังนั้น แม้ว่าครูจะมีความสำคัญในการทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ แต่เป้าหมายที่แท้จริงคือผู้เรียน และความสำเร็จในการเรียนรู้วัดจากความสำเร็จของนักเรียน ในกระบวนการเรียนรู้เราอาจให้ความสำคัญกับสิ่งต่างๆ

ผลการวิจัยได้ชี้ถึงประเด็นที่เกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับการเรียนรู้ ๔ ประเด็นหลัก ได้แก่

  • ผู้เรียนไม่มีความพร้อมในการเรียนรู้ ซึ่งส่งผลต่อการศึกษาเรียนรู้ในชั้นเรียน ปัญหาหลักๆ ที่พบเช่น การเดินทางจากบ้านมาโรงเรียนมีระยะทางไกล ความพร้อมของสุขภาพร่างกาย และการขาดแคลนอาหารของเด็กนักเรียน ความสนับสนุนจากผู้ปกครอง และความสามารถในการอ่านออกและเขียนได้ของนักเรียนที่จะส่งผลต่อการเรียนรู้ในเรื่องอื่นๆ 
  • ครูผู้สอนไม่มีทักษะและความตั้งใจ โดยครูมีความสำคัญมากต่อการเรียนรู้ของนักเรียน ผลวิจัยของสหรัฐอเมริกาพบว่าครูที่ดีจะสามารถสอนให้เด็กเรียนรู้ได้มากกว่าในหลักสูตรการศึกษาหนึ่งถึงสองเท่า แต่หากครูขาดทักษะในการสอนแล้ว ผลการเรียนรู้ของนักเรียนจะลดลงประมาณเกือบครึ่งหนึ่งของมาตรฐานการศึกษา นอกจากนี้ ผลการวิจัยพบว่ายช่วงเวลาที่ครูใช้เวลาในการสอนไม่ครบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ตามที่ควรจะเป็น
  • โรงเรียนให้การสนับสนุนไม่สอดคล้องกับทิศทางเดียวกับวัตถุประสงค์ในการสอนและการเรียนรู้ ส่งผลให้ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากการสนับสนุนอย่างเต็มที่ ตัวอย่างเช่น มีหนังสือเรียนแต่ไม่ได้ถูกเก็บไว้ในห้องเรียน มีสารเคมีแต่ไม่ถูกนำมาใช้ในห้องปฏิบัติการ มีคอมพิวเตอร์ แต่ไม่ถูกนำมาใช้หรือไม่มีการสอนครูให้ใช้งานสำหรับนำมาใช้ในการเรียนรู้ให้แก่นักเรียน ดังนั้นโรงเรียนควรจะพิจารณาความเหมาะสมในการใช้งาน
  • การบริหารจัดการโรงเรียนไม่ไปในทิศทางเดียวกับวัตถุประสงค์ในการสอนและการเรียนรู้ บางครั้ง ผู้บริหารโรงเรียนสนใจเฉพาะมาตรฐานตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด แต่ไม่ได้ให้ความสนใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในชั้นเรียนและกระบวนการจัดการบริหารของโรงเรียน จึงให้ความสำคัญกับการให้ครูทำเอกสารมากกว่าการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียน และการประเมินผลงานใช้เกณฑ์ตัดสินที่ผลงานของครู มากกว่าผลการเรียนรู้ของนักเรียน

 

การประเมินผล (Assessment) เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ ซึ่งต้องมีเป้าหมายชัดเจนและมีวิธีการประเมินที่เหมาะสมเพื่อให้เห็นพัฒนาการการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นของเด็ก 

ศาสตราจารย์ฮวน ได้ข้อแนะนำสำหรับครูและการพัฒนาโรงเรียนจากบทเรียนของธนาคารโลก (พ.ศ.๒๕๖๑) ที่ว่า 

  1. การวัดและการหาช่องว่าง (Gap) ในการเรียนรู้ของเด็ก รวมทั้งหาสาเหตุ และวิธีการเพื่อทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ และเพิ่มความสามารถและทักษะให้กับเด็ก 
  2. ครูควรติดตามพัฒนาการของนักเรียนทั้งในระดับชั้น และเป็นรายบุคคล โดยอาจจะติดตามเป็นรายปี หรืออาจจะติดตามเป็นภาคการศึกษา เพื่อดูว่านักเรียนแต่ละคนมีผลการเรียนรู้อย่างไร นักเรียนคนใดมีความเสี่ยงที่จะเรียนรู้ได้ลดลง และหาสาเหตุเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กต่อไป
  3. ทดสอบการเรียนรู้ของนักเรียนให้เป็นเรื่องปกติเสมอ 
  4. การประเมินผลการเรียนรู้โดยเท่าเทียม ทั้งนี้ การเลือกประเมินเพียงรูปแบบเดียวอาจจะไม่สามารถบอกภาพรวมได้ทั้งหมด ดังนั้น ควรเลือกใช้การประเมินที่มีความหลากหลาย สำหรับเด็กที่มีความแตกต่างกัน
  5. การออกแบบหลักสูตรที่ดีอาจจะไม่เพียงพอ แต่ควรมีการอำนวยความสะดวกเพื่อช่วยให้นักเรียนสามารถลงมือปฏิบัติได้ด้วย เช่น การทำโครงงาน การนำเสนอผลงาน เป็นต้น
  6. สร้างตัวชี้วัดทำให้สามารถนำไปพัฒนาปรังปรุงแก้ไขข้อบกพร่องได้ โดยไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นจากศูนย์ แต่สามารถเรียนรู้จากแนวทางปฏิบัติที่ดีของคนอื่นหรือประเทศอื่น 

ท้ายที่สุดสิ่งสำคัญที่จะละไว้ไม่ได้คือ ครูที่มีหัวใจของการเป็นครูที่มิใช่เพียงการพัฒนาผู้เรียนในประสบความสำเร็จด้านการเรียนรู้ แต่ต้องพาผู้เรียนไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี และแรงบันดาลใจในชีวิต

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

ผู้นำ SEAMEO ประเทศอินโดนีเซียชี้การศึกษาในอนาคตท้าทายทักษะครูยุคใหม่

ผู้นำ SEAMEO ประเทศอินโดนีเซียชี้การศึกษาในอนาคตท้าทายทักษะครูยุคใหม่


วันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๖๒ เวลา ๑๓.๓๐ -๑๔.๑๐ น. ในเวทีประชุมวิชาการนานาชาติ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ณ ห้องประชุม World Ballroom ชั้น ๒๓ ได้จัดให้มีการ
ปาฐกถาพิเศษ ๒ ในหัวข้อ “Future Education: Best Practice from Southeast Asia Creative Camp” โดย ดร. กาโต๊ะ ปริโอวิจันโต  (Dr. Gatot Priowirjanto) จาก SEAMEO Indonesian Centre Coordinator ประเทศอินโดนีเซีย ผู้ซึ่งมีบทบาทในการพัฒนาการศึกษาของประเทศอินโดนีเซียและในเครือข่ายประเทศอาเซียน

โดยในเวทีดังกล่าว Dr. Gatot ได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของการศึกษา โดยยกตัวอย่างว่าห้องเรียนในช่วง ๕๐ ปี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๓ ถึง พ.ศ. ๒๔๙๓ แทบจะไม่มีความแตกต่างกัน โดยมีครูเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ ใน ๑ ห้องเรียนประกอบด้วยครู ๑ คน กระดานดำ ๑ แผ่น นักเรียนประมาณ ๑๐-๓๐ คน และหนังสือเรียน แต่ในปัจจุบัน ห้องเรียนได้เปลี่ยนรูปแบบไปสู่การศึกษาไร้พรมแดน (Cross Border Education) เราสามารถเรียนทางไกลจากที่ไหนก็ได้ โดยแนวคิดของการเรียนข้ามพรมแดนที่สำคัญ คือ ลงทุนต่ำ ใช้ดิจิทัลแทนหนังสือ การทำงานร่วมกันระหว่างผู้เรียน การเข้าถึงได้ตลอดเวลา เชื่อมต่อได้ทุกที่ นักเรียนสามารถเรียนจากที่ไหนก็ได้ บทเรียนสามารถย่อมาอยู่ได้ในโทรศัพท์มือถือเครื่องเพียงเดียว สามารถถ่ายโอนข้อมูลให้กันได้อย่างรวดเร็ว และครูสามารถตรวจงานของนักเรียนได้ทุกเวลา ดังนั้น นักเรียนไม่จำกัดแค่ในห้องเรียน ในการเรียนการสอนครั้งหนึ่งจึงสามารถเพิ่มขึ้นจาก ๕๐ คน เป็น ๑,๐๐๐ ได้ 

แต่ในปัจจุบันเรากำลังเผชิญความท้าทายในนอนาคต เช่น  ปัจจุบัน ห้องเรียนได้เปลี่ยนรูปแบบไปสู่การศึกษาไร้พรมแดน (Cross Border Education) เราสามารถเรียนทางไกลจากที่ไหนก็ได้ ซึ่งการศึกษาควรได้รับการพัฒนาให้สอดคล้องกับการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 โดยเน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่น่าสังเกต ทุกวันนี้มีคำถามที่หลายคนตั้งข้อสงสัยว่า “เรายังจำเป็นต้องเรียน ๖ ปีอยู่หรือไม่?” และ “ครูยังจำเป็นอยู่หรือไม่ในยุคที่ข้อมูลสามารถหาได้ง่ายในอินเตอร์เน็ต?” เพราะในความเป็นจริงเราสามารถเรียนเนื้อหาที่เท่ากันได้ภายในเวลาที่น้อยกว่าจากอินเทอร์เน็ต 

ในมุมของ ดร. กาโต๊ะ เห็นว่า ในอนาคตอาจต้องการจำนวนครูน้อยลง แต่ครูก็ยังมีความจำเป็น เพราะเรายังคงต้องปลูกฝังทัศนคติที่ดีให้แก่นักเรียน ซึ่งเป็นบทบาทของครูที่เทคโนโลยีไม่สามารถเข้ามาทดแทนได้ และเป็นสิ่งที่ไม่สามารถถ่ายทอดให้กันได้ในเวลาอันสั้น แต่ต้องอาศัยเวลาและกระบวนการต่อเนื่อง

ดร. กาโต๊ะ ทิ้งท้ายไว้ว่า ขอให้ครูทุกคนคิดนอกกรอบ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ในการจัดการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาการศึกษาให้ดียิ่งขึ้นไป

เรื่องที่เกี่ยวข้อง