ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯประจำติมอร์-เลสเต ๒๕๖๐ เรียนรู้ดูงานโครงการหลวงและโครงการพัฒนาพื้นที่สูงในไทยเพื่อไปพัฒนาพื้นที่มอร์-เลสเต


๑๘-๑๙ ตุลาคม ๒๕๖๒  ครูลีโอโพลดีน่า โจอนา กูเตรเรส (Mrs.Leopoldina Guterres) ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีปี ๒๕๖๐ ประเทศติมอร์-เลสเต  พร้อมด้วย อ.รณกร อำพันธ์ศรี วิศวกร สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี  (มจธ.) ดร.เจษฎา เตมัยสมิธิ นักวิจัย สถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มจธ. นางสาววงเดือน สุวรรณศิริ นักวิชาการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และเครือข่ายครูไทยในมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีปี ๒๕๖๐ และเครือข่ายครูไทยที่ได้รับทุนพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ ร่วมเดินทางไปทัศนศึกษา ณ โครงการหลวงและโครงการพัฒนาพื้นที่สูง จ.เชียงใหม่ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อ เพื่อให้ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ปี ๒๕๕๘ และ ๒๕๖๐ จากประเทศติมอร์-เลสเต ได้เรียนรู้ ๑) การเกษตรสำหรับพื้นที่ระดับความสูง ๕๐๐–๗๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล ๒) การสร้างและการใช้โรงเรือนเกษตรต้นทุนต่ำ  ๓) การกักเก็บน้ำและการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรและชุมชน เพื่อให้ครูสามารถนำความรู้จากการทัศนศึกษาดูงานไปต่อยอดการทำงานในพื้นที่ของตนเองในติมอร์-เลสเตต่อไปได้ โดยได้รับการต้อนรับจากผู้บริหารโครงการในแหล่งเรียนรู้ต่างๆ เป็นอย่างดี

ในวันที่ ๑๘  ตุลาคม ๒๕๖๒  ครูลีโอและคณะได้เยี่ยมเยือนศึกษาดูงานโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง (สวพส.) ห้วยเป้า อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เรียนรู้งานวิจัยของสถาบันวิจัยในโครงการพัฒนาพื้นที่สูงฯ ซึ่งสืบเนื่องมาจากปัญหาบนพื้นที่สูงในอดีต เช่น ปัญหาความยากจน การทำลายป่า ภาวะหมอกควัน การขาดแคลนน้ำ การสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ของดินอันนำมาสู่โครงการหลวงในด้านการพัฒนาเพื่อเป็นต้นแบบและเป็นแหล่งการเรียนรู้ในการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน และขยายผลสำเร็จของโครงการหลวงเพื่อพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูงที่อยู่ห่างไกล  โดยปัจจุบันสถาบันวิจัยดำเนินงานทั้งในการส่งเสริมการปลูกผัก ไม้ผล ไม้ดอก การส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์  งานด้านสังคม เช่น การทำแผนชุมชน (ระบบน้ำ แหล่งไฟฟ้า การพัฒนาอาชีพผู้สูงอายุ การระวังไฟป่า การอบรมแปรรูปผลผลิต ฯลฯ) การฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่ การตรวจวิเคราะห์สารเคมีตกค้าง ทั้งในผลิตผลและในตัวเกษตรกร และงานการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การปรับปรุงระบบน้ำ การพัฒนาแหล่งน้ำ ฯลฯ

นายชลธร ปั่นเจริญ วิทยากร ได้หารือกับคุณครูเลโอในเรื่องของการจัดการ

ในงานนี้ครูลีโอและคณะได้เยี่ยมชมโรงเรือนเมล่อนดูเทคนิคการปลูกและผลประโยชน์อันได้มาจากการปลูกเมล่อน ศึกษาดูระบบจ่ายปุ๋ย และการจัดการโรงเรือนอย่างง่ายที่เกษตรกรก่อสร้างขึ้นซึ่งเป็นการจัดการโดยใช้วัสดุพื้นบ้านและแรงงานเกษตรกรในงานส่งเสริมอาชีพการเกษตร ชมการเลี้ยงปศุสัตว์ซึ่งประกอบไปด้วยการเลี้ยงสัตว์หลายประเภทรวมถึงวิธีการเลี้ยงที่แตกต่างกัน โรงเรือนแปลงผักสลัดที่ใช้เทคนิคการให้น้ำแบบหยด อีกทั้งยังได้เดินทางไปดูการสร้างสระเก็บน้ำปูด้วยผ้า LDPE และการนำน้ำไปใช้ประโยชน์ทางด้านการส่งเสริมการเกษตร

 

คุณครูเลโอมีความสนใจเทคนิคการปลูกเมล่อน

สระเก็บน้ำปูด้วยผ้า LDPE ที่มีภาพสะท้อนของท้องฟ้าและเมฆ

๑๙ ตุลาคม ๒๕๖๒ ครูลีโอและคณะ เดินทางไปทัศนศึกษายังศูนย์วิจัยพืชผัก หนองหอย โดยได้เยี่ยมชมเยี่ยมชมเรียนรู้การดำเนินงานของศูนย์ฯและงานวิจัย เรียนรู้ดูระบบการจ่ายปุ๋ย แปลงผลิตผักระบบ hydroponic ผักสลัด ๒ สี และโรงเรือนเกษตรซึ่งใช้ทำงานด้านการอนุบาลต้นสมุนไพร และอาจจะนำไปขายได้ราคาดี เช่น โรสแมรี่ หญ้าหวาน เรียนรู้ระบบเก็บน้ำใต้โรงเรือนเกษตรซึ่งเป็นระบบเก็บน้ำจากน้ำฝนบนหลังคาโรงเรือน ผ่านทางท่อพีวีซี ลงไปไว้ในบ่อเก็บน้ำคอนกรีตขุดไว้ภายใต้โรงเรือน และปูรองด้วยผ้า LDPE  ด้านบนได้สร้างฐานคอนกรีตปิดไว้ ซึ่งทำให้ยังคงสามารถนำเอาพื้นที่ด้านบนไปใช้ในการปลูกพืชตามปกติ รวมถึงยังได้เยี่ยมชมแปลงเกษตรกลางแจ้งที่มีการปูพลาสติกคลุมดิน โรงเรือนผักสลัดและโรงเรือนพืชสมุนไพร
จากนั้นเดินทางไปเยี่ยมสถานีเกษตรหลวงปางดะ เพื่อศึกษาดูงานการดำเนินงานของสถานีเกษตรหลวงปางดะซึ่งตั้งอยู่ที่ระดับความสูงประมาณ ๗๐๐ ม. จากระดับน้ำทะเล เรียนรู้ดูงานของสถานีที่โรงเรือนปลูกองุ่นที่จัดทรงต้นแบบตัว Y  และตัว T ดูกระบวนการผลิตกล้า การเสียบยอด การปลูกองุ่น ไม้กระถาง และการปลูกพืชในโรงเรือน ในตอนบ่ายยังได้ไปเยี่ยมชมและศึกษาระบบเก็บน้ำแบบน๊อกดาวน์ และการปลูกพืชในโรงเรือน  และศึกษาดูงานในศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริง เรียนรู้การดำเนินงานการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร เพื่อเพิ่มมูลค่า โดยดูงานทั้งด้านการปลูกและการแปรรูปอาโวกาโด้และหีบน้ำมันงา และการแปรรูปที่เกี่ยวข้อง

โรงเรือนปลูกองุ่น ซึ่งมีการจัดทรงต้นแบบตัว Y  (ซ้าย) และตัว T (ขวา)

ครูลีโอศึกษาดูงานด้านการผลิตกล้า (ซ้าย) และการแปรรูป (ขวา)

นอกจากนี้ ในภาพรวมยังได้มีกิจกรรมแลกเปลี่ยนสะท้อนคิดประสบการณ์ร่วมของครูลีโอและคณะครูไทยอีกด้วย ซึ่งผลจากการศึกษาดูงานพบว่า คุณครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีทั้งครูลีโอและเครือข่ายครูไทยสนใจในกิจกรรมทัศนศึกษาซึ่งสามารถนำต่อยอดการไปใช้ประโยชน์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับครูลีโอ อาทิ เทคนิคการปลูกพืชโดยใช้พลาสติกคลุมดิน การให้น้ำแบบหยด การสร้างโรงเรือนเกษตรโดยใช้วัสดุพื้นบ้าน เช่น ไม้ไผ่  การกักเก็บน้ำโดยการสร้างสระเก็บน้ำปูด้วยผ้า LDPE  อย่างไรก็ตามผลจากการทัศนศึกษาดูงาน มีข้อเสนอแนะต่อการไปต่อยอดงานของครูลีโอที่ว่า สำหรับการปรับปรุงคุณภาพน้ำเพื่อบริโภค ชุมชนของคุณครูที่ติมอร์-เลสเตอาจจะต้องมีการวัดคุณภาพน้ำจากแหล่งน้ำบนเขา คุณครูอาจจะต้องหาอุปกรณ์วัดมาช่วยหรืออาจเป็นมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีอาจจัดหาอุปกรณ์สนับสนุนการทำงานที่สอดคล้องกับบริบทและความต้องการต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง