ครูติมอร์-เลสเตและครูไทยร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์จัดการศึกษาในยุคโควิด-19

วันที่ 23 กรกฎาคม 2563 คณะทำงานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีได้จัดให้มีการประชุมทางไกล “แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากครู PMCA อาเซียนและติมอร์-เลสเต : ประสบการณ์จากครูเมียนมา-ไทย” ผ่านโปรแกรม Zoom meeting เพื่อสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดการเรียนรู้และเตรียมพร้อมทางการศึกษาในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 โดยมีครูลูร์เดส รันเจล กอนซัลเวซ  (PMCA 2019) ครูประถมศึกษาแห่งโรงเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐานเมืองมาตาตา เขตเอเมร่า ประเทศติมอร์-เลสเต  ครูเฮอวิน ฮามิด (PMCA 2015) ครูสอนวิทยาศาสตร์และหัวหน้าห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ โรงเรียนมัธยมต้นเคนดารี เมืองเคนดารี บนเกาะสุลาเวสีตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศอินโดนีเซีย ครูเอนชอน ระมัน (PMCA 2017) ครูผู้สอนวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และสังคมศึกษา ระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนประถมศึกษาเมกาวังงี เมืองมาจาเลนกา (Majalenga) เขตชวาตะวันตก ประเทศอินโดนีเซีย โดยนางสาวฟาติเมาะ มิงซู สถาบันรามจิตติเป็นล่ามภาษา โดย ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานมูลนิธิฯ กล่าวนำ ดร.ทินสิริ ศิริโพธิ์ ผศ.ดร.สันติ เจริญพรพัฒนา ดำเนินรายการ พร้อมด้วยเครือข่ายครูไทยร่วมเรียนรู้ในเวทีเสวนาดังกล่าว

                 ในเวทีดังกล่าว ครูลูร์เดส รันเจล กอนซัลเวซ  (PMCA 2019) ครูประถมศึกษาแห่งโรงเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐานเมืองมาตาตา เขตเอเมร่า ประเทศติมอร์-เลสเต ได้สะท้อนถึงสถานการณ์ความเคลื่อนไหวในติมอร์ฯ ว่า รัฐบาลประกาศล็อคดาวน์ประเทศตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม – 30 มิถุนายน 2563 โดยในช่วงดังกล่าวเน้นมาตรการ “อยู่บ้าน” “เว้นระยะห่าง” และ “ดูแลสุขอนามัย” ครูได้ดำเนินงานดูแลนักเรียน โดยโรงเรียนได้แจกจ่ายอาหารในรูปแบบของข้าวสารและถั่ว และอธิบายตารางการเรียนทางไกลให้กับนักเรียน (1) โทรทัศน์ทางไกลผ่านดาวเทียม OnAir และ Online  (2) แบบฝึก ชุดกิจกรรมที่ให้ไปทำที่บ้าน เน้นการเรียนรู้หนังสือคิดวิเคราะห์ เช่น ภาษาเตตูมและโปรตุเกส “ภาษา-ฟังพูดอ่านเขียน” คณิตศาสตร์  บรูณาการการสร้างประสบการณ์ชีวิตผ่านนิทานและเรื่องเล่า รวมถึงการจัดทำสื่อ มีกระทรวงศึกษาธิการ องค์กรระหว่างประเทศสนับสนุน

ในเดือนมิถุนายน ทางรัฐบาลติมอร์ได้ให้ความยืดหยุ่นในการเปิดกิจกรรมต่างๆ โดยกระทรวงศึกษาธิการของติมอร์-เลสเตให้แต่ละโรงเรียนดำเนินการเตรียมความพร้อมตามข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลก มี โดยโรงเรียนของครูลูร์เดส แบ่งระยะดำเนินงาน (1) 8 มิถุนายน 2563 เตรียมความพร้อมในโรงเรียน และทดลองการมาโรงเรียนของนักเรียน มีการตรวจเยี่ยมการเตรียมความพร้อมโดยเจ้าหน้าที่เขตพื้นที่การศึกษาและกระทรวงศึกษาธิการ (2) 15 มิถุนายน 2563 เปิดโรงเรียนอย่างเป็นทางการ โดยในวันที่ 14 มิถุนายน 2563 โดยครูได้ประชุมร่วมกับชุมชนและได้ประกาศให้ทราบทั้งนักเรียนและผู้ปกครองก่อนเปิดโรงเรียนจริง ซึ่งได้รับการประเมินจากกระทรวงศึกษาธิการและทีมประเมินผลของกระทรวงสาธารณสุขในฐานะโรงเรียนต้นแบบสำหรับโรงเรียนทุกที่ในติมอร์เลสเต เพราะทางโรงเรียนได้จัดตามข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลก ส่วนการจัดการเรียนรู้มีนักเรียนจะได้เรียนรู้ผ่านกิจกรรม ครูได้มีการสอนซ้ำให้กับนักเรียนที่ไม่ได้เรียนทางไกล ในภาพรวมยังเน้นการเรียนรู้ทักษะชีวิตและทักษะสำคัญในอนาคตสำหรับนักเรียน

              ด้านประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ยังคงน่าวิตก รัฐบาลประกาศมาตราล็อคดาวน์ประเทศและปิดสถานศึกษาทั่วประเทศ ซึ่งโดยปกติการศึกษาของประเทศอินโดนีเซียมีการเปิดภาคเรียนที่ 1 ช่วงเดือน กรกฎาคม-ธันวาคม และภาคเรียนที่ 2 เดือนมกราคม-มิถุนายนของทุกปี แต่เนื่องจากสถานการณ์วิกฤตของโรคระบาดดังกล่าวทำให้โรงเรียนต่างๆ ยังไม่สามารถเปิดได้ทั่วประเทศ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและวัฒนธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศาสนารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย ได้มีประกาศร่วมเกี่ยวกับแนวทางการจัดการเรียนรู้ในปีการศึกษา 2020/2021 เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2563 ว่า (1) เด็กปฐมวัยการศึกษาขั้นพื้นฐานและการศึกษาในระดับกลางมีการดำเนินการในเดือนกรกฎาคม (2) การเรียนการสอนที่เปิดให้โรงเรียนโซนสีเขียว ขออนุญาตจากท้องถิ่น จังหวัดและภาค และขอจากกระทรวงศาสนา (3) พื้นที่สีเหลือง-แดง ไม่อนุญาตให้จัดการสอนที่โรงเรียน ต้องสอนผ่านที่บ้าน  ทั้งนี้กระทรวงศึกษามีนโยบายส่งเสริมการเรียนทางไกลผ่านออนไลน์ และสนับสนุนให้มีหลักสูตรการเรียนรู้ “โควิด-19 ศึกษา” เพื่อสร้างทักษะชีวิตและภูมิคุ้มกันให้กับนักเรียน ในการจัดการนั้นให้หยืดหยุ่นในการออกแบบการจัดการเรียนรู้ตามสภาพบริบทของแต่ละพื้นที่       

ในการดำเนินงานด้านการเรียนการสอน ครูเฮอวิน ฮามิด (PMCA 2015) ครูสอนวิทยาศาสตร์และหัวหน้าห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ โรงเรียนมัธยมต้นเคนดารี เมืองเคนดารี บนเกาะสุลาเวสีตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศอินโดนีเซีย  โรงเรียนได้เตรียมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเตรียมพร้อมการเปิดโรงเรียน ครูใช้การจัดการเรียนรู้แบบผสมผสานการเรียนผ่านออนไลน์และออฟไลน์ให้ตอบสนองผู้เรียน ผ่าน E-learning โดยเว็บไซต์ของโรงเรียนและให้เรียนจากสถานที่จริง ซึ่งผู้เรียนสามารถจัดการเรื่องเวลา สถานที่ และกิจกรรมที่จะเข้าถึงการเรียนรู้ได้  การจัดการของครูก็คำนึงถึงประสิทธิภาพและคุณภาพของนักเรียน ส่วนครูเอนชอน ระมัน (PMCA 2017) ครูผู้สอนวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และสังคมศึกษา ระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนประถมศึกษาเมกาวังงี เมืองมาจาเลนกา เขตชวาตะวันตก ซึ่งโรงเรียนอยู่ในเขตพื้นที่สีเหลืองที่ไม่สามารถเปิดโรงเรียนได้ ครูจึงจัดการเรียนการสอนด้วยกระบวนการกลุ่มการเรียนรู้รูปแบบขนาดเล็ก (POKCIL) ที่มีเด็กรวมกลุ่ม 5-10 คนในพื้นที่ใกล้บ้านกัน โดยครูมีกระบวนการสอนผ่านกิจกรรมและชุดการเรียนรู้หรือใบงาน ให้ผู้ปกครองร่วมในกิจกรรม มีการเยี่ยมเยือนบ้านเพื่อติดตามผล

เวทีเสวนา-เรื่องและภาพ :

จุฬากรณ์ มาเสถียรวงศ์ สถาบันรามจิตติ