มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ชี้แจงแนวทางการสรรหาและคัดเลือกครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เน้นครูผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงแก่ชีวิตลูกศิษย์ เป็นครูผู้มีคุณูปการต่อการศึกษา และสามารถเป็นแรงบันดาลใจแก่เพื่อนครูโดยรวม


ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ได้กล่าวในที่ประชุมผู้แทนจากกระทรวงศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัดทุกจังหวัด สถาบัน กศน.ภาค สำนักงาน กศน.จังหวัด และองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ จำนวนกว่า 200 คน เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2563 ระหว่างเวลา 13.00-14.00 น. ณ โรงแรมรอยัล ซิตี้ กรุงเทพมหานคร เพื่อให้ข้อมูลและการมีส่วนร่วมการสรรหาและคัดเลือกครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ประจำปี 2564 ว่า รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เป็นรางวัลเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสที่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระชนมายุ 60 พรรษา ในปีพุทธศักราช 2558 เป็นการตระหนักถึงพระราชกรณียกิจด้านการศึกษาและการพัฒนาคุณภาพประชากรโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ด้อยโอกาสมานานกว่า 40 ปี

มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ได้วางกรอบการสรรหาและคัดเลือกครูผู้สมควรได้รับพระราชทานรางวัลต้องเป็นครูผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงแก่ชีวิตลูกศิษย์ และเป็นครูผู้มีคุณูปการต่อการศึกษา นั่นคือครูที่ได้การยอมรับและยกย่องร่วมกันว่าเป็นครูผู้เสียสละทุ่มเทให้แก่การทำงานเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่ชีวิตลูกศิษย์ ครูที่มีคุณูปการต่อการศึกษาทั้งในด้านจริยธรรม การสอน และการค้นคว้าพัฒนา ครูที่สามารถเป็นแรงบันดาลใจแก่เพื่อนครูโดยรวมเพื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ซึ่งในประเทศอาเซียนและติมอร์-เลสเต 10 ประเทศ ต่างมีแนวทางและกระบวนการคัดเลือกครูผู้สมควรได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีโดยตรง

ส่วนประเทศไทยจะมีการสรรหาคัดเลือกครูผู้สมควรได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ประกอบด้วย ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี คุณากร ครูยิ่งคุณ และครูขวัญศิษย์ ในทุกสองปี เริ่มตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา ปัจจุบันเป็นรุ่นที่ 3

ในปี 2563 มีครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี 11 ประเทศ รวมประเทศไทยทั้ง 3 รุ่นจำนวน 33 คน และครูคุณากร ครูยิ่งคุณ ครูขวัญศิษย์ ประมาณ 500 คน เพิ่ม 150 คนทุกสองปี นอกจากการสรรหาและคัดเลือกครูเพื่อรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีแล้ว มูลนิธิรางวัลรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรียังได้ดำเนินงานด้านการขับเคลื่อนขยายผลการทำงานของครูเพื่อเป็นพลังสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาในหลายมิติ

ดร.กฤษณพงศ์ กล่าวด้วยว่า ความคาดหวังเมื่อมีการคัดเลือกครูที่สมควรได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เราเลือกจากผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงชีวิตศิษย์ซึ่งเป็นคำขวัญของเรา เราหวังว่าครูที่สร้างการเปลี่ยนแปลงนี้ก็จะไปเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงเด็กและเยาวชนรุ่นต่อไป เพื่อพัฒนาสังคมและเพื่อมนุษยชาติ หวังว่าครูในเครือข่ายครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีเป็นผู้ขับเคลื่อนทางการศึกษาและสังคม และเป็นตัวคูณเพื่อขยายกำลังผ่านครู บนเส้นทางเครือข่ายครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เราคาดหวังว่าเพื่อนครูจะมีความเข้าใจ มีการรับรู้ มีสมรรถนะใหม่ เพื่อการขับเคลื่อนของครูเอง เพื่อนครูด้วยกัน นักเรียนและสังคม เพราะโลกมีการเปลี่ยนแปลงมาก

ก่อนหน้านี้ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ได้มีการส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาครู คณะครูและโรงเรียนของครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีในอาเซียนศึกษาดูงานการจัดการเรียนการสอนระดับมัธยมระหว่างครู สปป.ลาวและครูไทย รวมทั้งการมีส่วนร่วมในเวทีวิชาการนานาชาติประจำปี และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางไกลผ่านระบบออนไลน์ การเสวนาทางไกลเชื่อมร้อยเครือข่ายนักวิชาการและครูร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องแนวทางจัดการการศึกษาเพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในการเสวนา New Normal School

นอกจากนี้ได้เชื่อมโยงการเรียนรู้ไร้พรมแดนผ่านระบบ ICT ระหว่างโรงเรียนมัธยมประเทศมาเลเซียกับโรงเรียนประเทศไทย การมอบเรือห้องเรียนเคลื่อนเพื่อต่อยอดครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีประจำประเทศฟิลิปปินส์ การสร้างการเรียนรู้และการพัฒนาครูจากติมอร์-เลสเต ด้วยการศึกษาโครงการหลวงและโครงการพัฒนาพื้นที่สูง จ.เชียงใหม่ การศึกษาตามรอยประวัติศาสตร์โฮจิมินถิ่นไทย-ญวนที่ จ.นครพนมและอุดรธานี การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของนักเรียนและคณะครูระหว่างครูไทย-สิงคโปร์ และคณะครูและนักเรียนจากประเทศมาเลเซียมาศึกษาดูงานด้านการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์

ทั้งนี้ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ยังได้ทำงานร่วมกับครูทุนพระราชทานและนักเรียนทุนครูพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จำนวน 200 คนที่จะได้รับการบรรจุเป็นครูในพื้นที่ภูมิลำเนาของเขา และนักเรียนทุน “ครู (รักษ์) ถิ่น” กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) 600 คน

ด้าน ดร.อุดม วงษ์สิงห์ กรรมการวิชาการ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ได้กล่าวถึงหลักเกณฑ์การสรรหาและคัดเลือกครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีรุ่นที่ 4 ประจำปี 2564 ที่มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีกำลังดำเนินการ โดยได้วางหลักเกณฑ์การสรรหาแบ่งเป็น 3 ขั้นตอน

ขั้นตอนที่ 1 การสรรหาระดับจังหวัด ให้มีคณะกรรมการสรรหาระดับจังหวัดพิจารณาและคัดเลือกครูที่ได้รับการเสนอชื่อตามสัดส่วนจังหวัด และจัดให้มีการรับฟังข้อทักท้วงผลการคัดเลือก จากนั้นส่งรายชื่อครูผู้สมควรได้รับการคัดเลือกไปให้คณะกรรมการส่วนกลาง

ขั้นตอนที่ 2 การสรรหาที่ส่วนกลาง ให้คณะกรรมการสรรหาส่วนกลางพิจารณาให้ความเห็นชอบรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาระดับจังหวัดตามขั้นตอนที่ 1 และรายชื่อจากองค์กรที่มีการสรรหาครูในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นการเฉพาะเสนอมา แล้วคัดเลือกให้เหลือจำนวนไม่เกิน 20 คน จัดให้มีกระบวนการทักท้วง และส่งรายชื่อครูผู้ได้รับการคัดเลือกลำดับที่ 1-3 ให้คณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี สำหรับครูที่เคยได้รับรางวัลคุณากรและครูยิ่งคุณจำนวน 19 คน จากการคัดเลือกในครั้งที่ 1 นั้น มีสิทธิ์ได้รับการเสนอชื่อมายังคณะกรรมการสรรหาส่วนกลางโดยไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกระดับจังหวัด

ขั้นตอนที่ 3 การพิจารณาตัดสิน ให้คณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีพิจารณาตัดสินครูผู้สมควรได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี จำนวน 1 คน จากรายชื่อที่เสนอโดยคณะกรรมการสรรหาส่วนกลาง โดยพิจารณาจากเอกสาร หลักฐานที่ได้รับ และอาจใช้วิธีอื่นที่เหมาะสม แล้วประกาศผลการตัดสินให้ทราบเป็นการทั่วไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง