ครูอาเซียนบรูไน-ฟิลิปปินส์-อินโดนีเซียร่วมเสวนาประสบการณ์จากการปฏิบัติ

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีได้จัดให้มีการเสวนาความเคลื่อนไหวทางการศึกษาและการจัดการเรียนรู้จากครูอาเซียนและติมอร์-เลสเต : ประสบการณ์จากการปฏิบัติงานในช่วงสถานการณ์วิกฤต ครั้งที่ 2 ขึ้น โดยมีครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีรุ่นที่ 3 ปี 2019 ได้แก่ ครูฮาจะฮ์ นูร์เลียส์ บินติฮา อัสปาร์ ครูใหญ่โรงเรียนประถมศึกษาลัมบัก กานัน จารัล 49 จากประเทศบรูไนดารุสลาม ครูซาดัท บี มินันดัง ครูโรงเรียนประถมศึกษาอมิรัล เมืองโคตาบาโตซิตี้ จากประเทศฟิลิปปินส์ ครูรูดี้ ฮายาดี ครูวิศวกรรมคอมพิวเตอร์โรงเรียนมัธยมแบบผสมอาชีวศึกษาของรัฐ 1 เมืองจิมาฮิ ชวาตะวันตก จังหวัดบันดุง จากประเทศอินโดนีเซีย โดยมีดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า ร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุยกับครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าประเทศไทย ได้แก่ ครูเฉลิมพร พงศ์ธระวรรณ PMCA รุ่นที่  1 (2015)  ครูสุเทพ เท่งประกิจ PMCA รุ่นที่ 3 (2019) พร้อมด้วยคณะทำงานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี สถาบันรามจิตติ  มีนางสาวฟาติเมาะ มิงซู ล่ามแปลภาษาอินโดนีเซีย และเครือข่ายครูในมูลนิธิฯ เข้าร่วมประชุมออนไลน์กว่า 40 ท่าน โดยมีดร.จุฬากรณ์ มาเสถียรวงศ์ สถาบันรามจิตติ ร่วมสรุปประเด็น

ในการนี้ครูแต่ละท่านได้เล่าถึงประสบการณ์การทำงานในพื้นที่ของตนเองซึ่งมีจุดเด่นและประเด็นร่วมที่น่าสนใจ ในภาพรวมการจัดการของทั้งสองประเทศนั้นจะทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงศึกษาธิการ สรุปประเด็นสำคัญได้ดังนี้

กรณีของประเทศบรูไน ครูฮาจะฮ์ นูร์เลียส์ บินติฮา อัสปาร์ ครูใหญ่โรงเรียนประถมศึกษาลัมบัก กานัน จารัล 49 นำเสนอว่า ที่บรูไนจะมีการเปิดโรงเรียนเป็น 2 ระยะ โดยระยะที่ 1 เริ่มตั้งแต่ 12 มิถุนายนถึงตุลาคม โดยเปิดให้เฉพาะนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6  และมัธยมศึกษาปีที่ 6 เป็นระดับชั้นที่ต้องสอบเลื่อนชั้นหรือเรียนต่อในระดับสูง ส่วนระยะที่ 2 หลังจากการเปิดโรงเรียนได้สองสัปดาห์จะเปิดในระดับชั้นประถมและมัธยมครบทุกช่วงชั้น 

ในโรงเรียนของครูนูร์เลียร์ มีการเตรียมความพร้อมทั้งเรื่องภาพรวมการจัดการของโรงเรียน ทั้งด้านสภาพแวดล้อม สถานที่ ด้านสุขอนามัยและเครื่องป้องกันต่างๆ เช่น หน้ากากอนามัย เครื่องตรวจวัดอุณหภูมิแอลกอฮอล์ การเตรียมความพร้อมของครูและบุคลากรในการจัดการเรียนการสอนและดูแลผู้เรียน รวมถึงมีการกำหนดการตารางการสอนตารางการปฏิบัติงาน งานด้านการสื่อสารประสานความร่วมมือกับพ่อแม่  ทั้งนี้ในการเตรียมเรื่องสภาพแวดล้อมจะเน้นเรื่องการเว้นระยะห่างในห้องเรียนและในบริเวณโรงเรียน นักเรียนทุกคนต้องใส่หน้ากากอนามัยและเว้นระยะห่างในการสัญจรในโรงเรียน  

ในด้านการจัดการเรียนการสอน นักเรียนชั้นป.6 เข้าเรียนตามปกติที่โรงเรียนโดยเน้นการจำกัดขนาดจำนวนนักเรียนต่อชั้นเรียนและเว้นระยะห่าง ส่วนนักเรียนชั้นอื่นเรียนรู้จากที่บ้าน การเรียนการสอนยังใช้วิธีการจัดการเรียนรู้แบบผสมผสานโดยจะมีการเรียนการสอนออนไลน์โดยมีครูแต่ละชั้นเป็นผู้ดูแล ส่วนเด็กที่เข้าไม่ถึงการเรียนรู้แบบออนไลน์ โรงเรียนจะมีชุดการเรียนรู้ที่ Home learning pack เป็นเครื่องมือช่วยในการจัดการเรียนรู้ ซึ่งประกอบด้วยใบงานกิจกรรมและแบบฝึกต่างๆ จัดให้พ่อแม่ผู้ปกครองรับ-ส่งในทุกต้นและสิ้นสัปดาห์ โดยครูจะมีการติดตามให้คำปรึกษาพ่อแม่ในเรื่องการช่วยเหลือเด็กในการเรียนการสอนอีกด้วย ส่วนอีกกลุ่มเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ใช้ชุดการเรียนรู้ Home learning pack ที่ออกแบบเฉพาะสำหรับการจัดการศึกษาพิเศษให้กับเด็กรายบุคคลภายใต้การดูแลของผู้ปกครอง ในกระบวนการเรียนรู้ที่บ้านนี้ ผู้เรียนและผู้ปกครองสามารถสื่อสารผ่านออนไลน์หรือโทรศัพท์มือถือเพื่อสะท้อนผลการเรียนรู้ และครูสามารถติดตามผลการเรียนรู้ของเด็กได้ นอกจากนี้ในทุกสัปดาห์ที่โรงเรียนจะมีการทบทวนและประเมินผลการทำงานของโรงเรียนโดยรวมเป็นระยะ นอกจากนี้โรงเรียนใช้แอปพลิเคชั่นที่รัฐบาลจัดให้ในการช่วยติดตามสถานการณ์และช่วยสนับสนุนการทำงานของโรงเรียน

ประเทศฟิลิปปินส์ ดร.ซาดัท บี มินันดัง ครูโรงเรียนประถมศึกษาอมิรัล เมืองโคตาบาโตซิตี้ ฟิลิปปินส์ ได้นำเสนอการจัดการเรียนการสอนว่า สถานการณ์ที่ประเทศฟิลิปปินส์ยังคงอยู่ในระหว่าง “ล็อคดาวน์” รัฐบาลมีนโยบายให้อยู่บ้าน “เว้นการเผชิญหน้า” และ “เว้นระยะห่าง” เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด โรงเรียนยังคงปิด จึงเป็นข้อจำกัดในการทำงานของครู อย่างไรก็ตามที่โรงเรียนของครูได้เตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดเรียนใหม่ด้วยโดยรอประกาศจากทางกระทรวงศึกษา โดยเตรียมเรื่องความสะอาดสุขอนามัยและอุปกรณ์การเรียนรู้ต่าง ๆ 

ส่วนด้านการจัดการเรียนการสอน ที่ผ่านมา ครูซาดัทมีแนวทางการจัดการเรียนการสอน อยู่ 6 รูปแบบ ได้แก่ 1) สอนแบบปกติ จัดกระบวนการเรียนรู้ที่เผชิญหน้ามาเรียนรตามปกติ 2) สอนแบบเป็นโมดูล ปรับการสอนสลับเด็กมาโรงเรียน 2 วัน (จ.-อัง สอนห้อง 1 พุธ-พฤหัส สอนห้อง 2) [ช่วงก่อนล็อกดาวน์-ตอนนี้ปิด]  3) สอน Online  (เด็กฟิลิปปินส์กว่าร้อยละ 90 เข้าไม่ถึงเทคโนโลยีดิจิทัล เด็กที่โรงเรียนประถมศึกษาอมิรัลมีเพียงแค่ร้อยละ 3  ที่ครอบครัวเข้าอินเตอร์เน็ตได้) 4) Blended learning  approach ผสมทั้งแบบสื่ออินเตอร์เน็ตและโมดูล (แบบ 1) เป็นวิธีที่ครูใช้มากที่สุด 5) home schooling มีการฝึกอบรมพ่อแม่ในวิธีการสอนลูก 6) Mobile Learning /The Push Cart Knowledge เป็นการเข็นรถเคลื่อนไปสอนยังพื้นที่ที่มีเด็กนอกระบบและเด็กด้อยโอกาส ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์การขยายผลจากมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้ามหาจักรีอีกด้วย อย่างไรก็ตามในแต่ละรูปแบบนั้นสามารถจัดโดยบรูณาการการเรียนรู้ เพื่อตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายของเด็กที่มีบริบทและความต้องการและสถานการณ์ที่แตกต่างกัน ตั้งแต่เด็กที่เข้าถึงเทคโนโลยีได้ไปจนถึงเด็กที่อยู่ออกนอกระบบ ซึ่งครูซาดัทจะวางแนวทางอันนี้ไว้ให้ยืดหยุ่นสำหรับการใช้และเพื่อประโยชน์ของผู้เรียน  

ประเทศอินโดนีเซีย ครูรูดี้ ฮายาดี ครูวิศวกรรมคอมพิวเตอร์โรงเรียนมัธยมแบบผสมอาชีวศึกษาของรัฐ 1 เมืองจิมาฮิ ชวาตะวันตก จังหวัดบันดุง นำเสนอว่าที่ประเทศอินโดนีเซีย โรงเรียนได้เตรียมโครงสร้างพื้นฐาน ความพร้อมต่างๆ ในการดูแลและส่งเสริมการเรียนรู้ ซึ่งขณะนี้โรงเรียนยังคงปิดอยู่ แต่ครูจัดการเรียนรู้โดยใช้การสอนผ่าน E-learning โดยมีเว็บไซต์ที่โรงเรียนออกแบบเป็นเครื่องมือการสอน ส่วนกระบวนการจัดการเรียนรู้และบทเรียนต่างๆ ครูจะออกแบบตามหลักสูตรและให้สอดคล้องกับผู้เรียน ซึ่งขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายให้เด็กทุกคนต้องเรียนรู้เรื่อง “โควิด-19 ศึกษา” โดยในการจัดการนั้นให้หยืดหยุ่นในการออกแบบการจัดการเรียนรู้ตามสภาพบริบทของแต่ละพื้นที่ ซึ่งครูดี้ก็ออกแบบวิชา “โควิด-19 ศึกษา”  นี้บนเว็บไซต์ จัดทำบทเรียน 2 บทที่เกี่ยวข้องให้ผู้เรียนเข้ามาศึกษาผ่านเว็บไซต์แล้ว เรียนรู้และสร้างผลงาน ซึ่งสามารถแสดงผลของการเรียนรู้ผ่านบทความงานเขียน อินโฟกราฟ โปสเตอร์หรือคลิปวีดีโอต่าง ๆ ที่สะท้อนว่าได้เรียนรู้ดังกล่าวอย่างไร ขณะเดยวกันครูรูดี้ใช้การเรียนรู้ Online และสร้าง Platform online เป็นพื้นที่และกระบวนการปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียนและให้คำปรึกษา ผู้เรียนสามารถส่งผลงานผ่านเว็บไซด์ของโรงเรียน โดยทุกหน่วยของการเรียนรู้และสร้างชิ้นงาน ครูจะให้เวลา 2 สัปดาห์เพื่อให้ผู้เรียนมีเวลาในการค้นคว้าเพิ่มเติมและเวลามากพอในการสร้างผลงานที่มีคุณภาพ ระหว่างนี้ครูสามารถติดตามและให้ความช่วยเหลือในกรณีที่จำเป็น ส่วนการเปิดโรงเรียนคาดว่าเปิดในสัปดาห์ที่ 2 มิถุนายน ครูได้เตรียมแนวทางการจัดการเรียนการสอนไว้โดยจำกัดจำนวนนักเรียนต่อห้อง แบ่งนักเรียนเป็น 2 กลุ่มคือกลุ่ม A และกลุ่ม B สลับกันมาโรงเรียนกับเรียนที่บ้าน  ซึ่งโจทย์เรียนคือเรื่องเดียวกัน นักเรียนที่เรียนที่บ้านสามารถใช้ทรัพยากรที่ง่ายใกล้ตัวมาใช้ได้

 

 

สถาบันรามจิตติ รายงาน

ภาพประกอบ : ครูวิทยากรผู้นำเสนอ และppt โดยสถาบันรามจิตติ