ครูติมอร์-เลสเตใช้สื่อการสอนทางไกล บูรณาการความรู้สอนเด็ก “เรียนที่บ้าน”

ผลพวงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนแนวทางการจัดการศึกษาที่หันมาเน้นการเรียนทางไกลจากที่บ้าน โดยครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีปี 2562 ประเทศติมอร์-เลสเตได้มีบทบาทสำคัญในการเป็น “ครูผู้สร้างแรงบันดาลใจ และการสอนทางไกล” ให้กับเด็กๆและครูชาวติมอร์ฯ

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าหรือโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบไปทั่ว รัฐบาล 191 ประเทศทั่วโลก ประกาศปิดสถานศึกษาทั้งประเทศ มีผู้เรียนได้รับผลกระทบกว่า 1.5 พันล้านคน (มากกว่าร้อยละ 90 ของผู้เรียนทั้งหมด) สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต เป็นประเทศที่ตั้งอยู่บนเกาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประเทศมิมอร์-เลสเต ที่แม้จะมีตัวเลขของผู้ติดเชื้อไม่มากและไม่มีผู้เสียชีวิต แต่รัฐบาลประเทศติมอร์-เลสเตก็คอยเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างจริงจัง  โดยที่กระทรวงศึกษาธิการของประเทศติมอร์-เลสเตเองมีนโยบายสั่งปิดสถานศึกษาและใช้มาตราการ “เว้นระยะห่างทางสังคม” (Social distancing) การดูแลพื้นที่ในเขตต่างๆ นโยบายส่งเสริมการศึกษาทางไกล สนับสนุนให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาทำงานที่ “บ้าน” และจัดการเรียนการสอนที่ใช้ “บ้านเป็นที่เรียน” เพื่อให้เด็กๆ ชาวติมอร์ฯได้เรียนรู้ในเรื่องต่างๆที่จำเป็นโดยไม่ต้องเดินทางมาโรงเรียน

[KGVID]http://www.pmca.or.th/thai/wp-content/uploads/2020/05/timormamalu.mp4[/KGVID]
วีดิทัศน์การสอนของครูลูร์เดส รันเจล กอนซัลเวซ  (Ms. Lourdes Rangel Goncalves)
โดยความร่วมมือของยูนิเซฟ
ที่มา: 
https://www.facebook.com/mejd1823/videos/656245525217854/

ครูลูร์เดส รันเจล กอนซัลเวซ  (Ms. Lourdes Rangel Goncalves)  ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ปี 2562 หรือ “มาม่าลูร์” แห่งโรงเรียนประถมศึกษามาตาตา ฟิเลีย เมืองเอเมร่า เล่าว่า โดยปกติโรงเรียนประถมศึกษามาตาตา ดูแลเด็กนักเรียนซึ่งมีบริบทอยู่ในพื้นที่ภูเขา มีความห่างไกลด้อยโอกาส เด็กๆ ส่วนใหญ่ต้องเดินทางจากบ้านมาโรงเรียนอย่างน้อย 1-3 กิโลเมตรเพื่อมาโรงเรียน ซึ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นี้เองที่รัฐบาลได้มีมาตรการล็อคดาวน์และปิดสถานการณ์ศึกษาชั่วคราว โดยปรับแนวทางให้เน้นให้จัดการเรียนการสอนทางไกลเพื่อให้เด็กจำนวนมากที่อยู่บ้านสามารถดูแลตัวเองและเรียนรู้จากที่บ้านได้

ครูลูร์เดสเล่าว่า การปิดสถานศึกษาชั่วคราวนี้เป็นการป้องกันการแพร่ระบาดจากไวรัสโควิด-19 ซึ่งขณะที่โรงเรียนปิดนี้ ครูของโรงเรียนต้องปรับตัวให้เท่าทันกับสถานการณ์ เพราะโดยปกติโรงรียนประถมศึกษามาตาตาแห่งนี้ได้ขึ้นชื่อว่าเป็น “โรงเรียนเพื่อนเด็ก” (Child–Friendly School) ของยูนิเซฟในโรงเรียน ซึ่งเน้นให้โรงเรียนให้เป็นสถานที่ที่ปลอดภัยและสร้างการเรียนรู้ที่ดีสำหรับเด็ก ทำให้ครูจึงสามารถเข้าถึงเด็กและผู้ปกครองของเด็กทุกคนได้ ดังนั้นในสถานการณ์วิกฤตนี้ การทำงานกับครอบครัวและชุมชนจึงยิ่งทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น เพราะเป็นช่วงที่การเรียนรู้ที่บ้านมีความหมายมาก ทุกบ้านต้องเรียนรู้ที่จะดูแลตัวเอง พ่อแม่ช่วยติดตามสถานการณ์และสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็กๆ ผ่านการติดต่อสื่อสารในรูปแบบต่างๆ ที่ง่ายที่สุดสำหรับพ่อแม่ เช่น ประชาสัมพันธ์ของโรงเรียนและชุมชน จดหมายข่าว โทรศัพท์ โทรทัศน์ ซึ่งครูใหญ่ ครูและเพื่อนครูต่างร่วมมือกันกับพ่อแม่ทำงานในการดูแลช่วยเหลือและการเรียนรู้กันอย่างเต็มที่

ในการจัดการเรียนการสอนทางไกลนั้น กระทรวงศึกษาธิการได้ร่วมกับ ยูนิเซฟออกแบบการจัดการสอนทางไกลผ่านโทรทัศน์และออนไลน์ เพื่อให้เด็ก ๆ สามารถเรียนที่บ้านได้ผ่าน TVTL และ GMN-TV ซึ่งเป็นรายการทางการศึกษาที่ผลิตขึ้นสำหรับการจัดการเรียนรู้ทางไกลในสถานการณ์วิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะ โดยมีครูลูร์เดสและคณะครูจากที่ต่างๆ มาร่วมเป็นออกแบบการสอนและครูผู้สอนในรายการด้วย โดยจัดทำเป็นรายการโทรทัศน์มีความยาวแต่ละตอนประมาณ 30 นาที ที่เด็กๆจะสามารถเรียนรู้แบบบูรณาการและฝึกปฏิบัติตามกิจกรรมในวิชาสำคัญๆ ทั้งภาษา คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ดนตรี ฯลฯ โดยครูลูร์เดสเองมีบทบาทในการรับผิดชอบการออกแบบการสอน “ทวิภาษา” ในภาษาเตตุมและภาษาโปรตุเกส ซึ่งออกแบบให้สำหรับเด็กประถมศึกษาเพื่อเป็นการเตรียมพื้นฐานการเรียนรู้ที่ดีในช่วงวิกฤตนี้ โดยคณะครูได้ร่วมกันออกแบบเนื้อหาและกิจกรรมให้สนุกสนาม เน้นว่า ทำอย่างไรที่การจัดการเรียนรู้จะเป็นเรื่องที่เด็กๆ สามารถดูสื่อ เรียนรู้และฝึกลงมือปฏิบัติไปพร้อมๆกันได้และสามารถนำสิ่งที่เรียนรู้ไปใช้ได้ในชีวิตจริงได้ โดยมีผู้สนับสนุนการออกแบบและผลิตรายการโดยยูนิเซฟและกระทรวงศึกษาธิการร่วมกัน

ความท้าทายของการจัดการเรียนทางไกลที่ติมอร์-เลสเตนั้น ครูลูร์เดสมองว่า เดิมทีการเปิดภาคเรียนการศึกษาจะเริ่มขึ้นในเดือนมิถุนายน แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงทำให้การเปิดภาคการศึกษาเลื่อนออกไปเดือนสิงหาคม ซึ่งในระหว่างนี้นอกจากครูจะต้องออกแบบการสอนเพื่อจัดทำรายการโทรทัศน์แล้ว ยังคงต้องเตรียมความพร้อมความปลอดภัย การบริหารจัดการและออกแบบการจัดการเรียนการสอนเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย

สถาบันรามจิตติ รายงาน
ภาพ :  ครูลูร์เดส รันเจล กอนซัลเวซ
ภาพ/วิดีทัศน์ : Ministério da Educação, Juventude e Desporto