เครือข่ายครูไทยในมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีร่วมประชุมเตรียมความพร้อมการทำโครงการต่อยอดการทำงาน

วันที่ ๑๕-๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ ณ โรงแรมกานต์มณี พาเลซ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีจัดกิจกรรมประชุมเตรียมความพร้อมการทำโครงการครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีรุ่นที่ ๓ ปี ๒๕๖๒ เพื่อต่อยอดการทำงานของครู โดยร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และมูลนิธิสถาบันวิจัยระบบการศึกษา ในการสนับสนุนทุนการทำงานให้กับเครือข่ายครูรางวัลฯเหล่านี้ โดยมี ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กล่าวเปิด พร้อมด้วย ดร.เบญลักษณ์ น้ำฟ้า ผู้จัดการมูลนิธิฯ และคณะ รศ.ดร.ประวิตร เอราวรรณ์ ผู้จัดการโครงการฯ และคณะ ร่วมจัดกิจกรรมประชุมเชิงปฏิบัติการหนุนเสริมเครือข่ายครูรางวัลฯ รุ่นที่ ๓ จำนวน ๙๙ คน การจัดทำข้อเสนอโครงการของเครือข่าย


ในงานนี้ ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ได้กล่าวถึงความท้าทายของครูยุคใหม่ทั้งเรื่องการเตรียมครูตั้งแต่ในสถาบันผลิตครูให้มีทักษะการใช้ชีวิตเอาตัวรอด (Survivor Skill) เมื่อต้องเผชิญชีวิตในบริบทพื้นที่ยากลำบาก ห่างไกล รวมไปถึงทักษะการใช้เทคโนโลยีสื่อสารและเท่าทัน ทักษะสืบค้นเรียนรู้ต่อเนื่อง และทักษะที่หลากหลายที่ทำให้ครูสามารถจัดการเรียนรู้และดูแลผู้เรียนได้อย่างทั่วถึง โดยมี กสศ.ที่ให้ทุนเด็กด้อยโอกาสและทุนอาชีวะศึกษาที่ทำงานร่วมกับครูในโรงเรียนเพื่อโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยมูลนิธิฯมีความตั้งใจที่จะสนับสนุนเครือข่ายครูทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เช่นกรณีครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีของประเทศฟิลิปปินส์ที่ขอทุนดำเนินงานจัดเรือเคลื่อนความรู้/หนังสือเคลื่อนที่หรือ Push Knowledge Boat เพี่อช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษา การแลกเปลี่ยนดูงาน เช่นกรณีสนับสนุนให้ครูติมอร์-เลสเตได้ศึกษาดูงานการจัดการน้ำบนพื้นที่สูง ครูเวียดนามได้เดินทางไปภาคอีสานตามรอยประวัติศาสตร์โฮจินมินห์ในประเทศไทย รวมถึงการเครือข่ายครูไทยทั้งการทำโครงการและการถอดบทเรียนครูหรือแม้แต่การขับเคลื่อนครูนักสร้างแรงบันดาลใจโดยร่วมกับสถาบันผลิตครูในพื้นที่ต่างๆ ตลอดจนการศึกษาดูงานเพื่อเปิดโลกทัศน์ให้กับครู เช่น กรณีพาไปดูเทคโนโลยีชีวภาพ  BCG (bio circular green) หรือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งเป็นวาระสำคัญ ที่ยังเป็นโจทย์ที่ท้าทายทางการศึกษาโดยเฉพาะกับครูและการจัดการเรียนรู้ยุคใหม่ที่อาจต้องฝากไปร่วมคิดกันต่อ

นอกจากนี้ ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ได้กล่าวถึงโจทย์ใหญ่เชิงระบบที่ครูส่วนใหญ่ได้ร่วมสะท้อนว่าเป็นปัญหาสำหรับครู คือ ระบบการประเมินครูในปัจจุบัน ซึ่งดร.กฤษณพงศ์ ได้เสนอว่า อยากเห็นการปรับระบบประเมินผลงานครูเป็นการประเมินเพื่อพัฒนาครูอย่างแท้จริง อยากเห็นครู “ร่ำรวยจาก evidence based จากหลักฐานเชิงประจักษ์ ซึ่งการประเมินเสนอว่าควรให้ครูร่วมเป็น third party ให้ครูทำงานร่วมประเมินเป็นเพื่อน (peer) มากว่าใช้อำนาจไปแต่งตั้งความดีความชอบ แต่ให้ครูร่วมเป็นตาที่สามในการประเมินกันเอง ซึ่งโดยระบบอยากให้แยกระหว่างการปกครองครูกับการประเมินครู หากเปลี่ยนระบบนี้ได้จะทำให้ระบบราชการอ่อนตัวลง ยืดหยุ่นขึ้นในการประเมินเพื่อพัฒนาครู” อย่างไรก็ดีมูลนิธิฯจะนำเรื่องดังกล่าวเสนอไปยังกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และในอีกทางพร้อมจะสนับสนุนครูอย่างต่อเนื่องในการพัฒนาตนเองและเครือข่ายครูเพื่อลูกศิษย์