ไทยรัฐ : เชิดชูจิตวิญญาณแม่พิมพ์ : สปป.ลาว ชื่นชม “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ” แรงบัลดาลใจปลุกพลังครูดีเด่น

แนวคิดหลักของการพิจารณาคัดเลือก ครูดีเด่น ในระดับการศึกษาพื้นฐานของประเทศในอาเซียน 10 ประเทศ ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา ลาว อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย และบวกอีกประเทศคือ ติมอร์เลสเต ให้ได้รับ “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี”

นับเป็นรางวัลระดับนานาชาติ ในการเชิดชูแม่พิมพ์ ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงแก่ชีวิตลูกศิษย์ ผู้สร้างคุณูปการต่อการศึกษา สร้างประโยชน์แก่ส่วนรวม และเป็นแรงบันดาลใจแก่เพื่อนครู

ในปี 2562 มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ได้ประกาศรายชื่อครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ครั้งที่ 3 จำนวน 11 คน ซึ่งแต่ละคนได้ผ่านการคัดเลือกอย่างเข้มข้นจากกระทรวงศึกษาธิการของแต่ละประเทศ และตามกระบวนการมีการคัดเลือก 2 ปีครั้ง โดย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ พระราชทานรางวัลแก่ครูทั้ง 11 คน ในวันที่ 15 ต.ค.นี้

หลังจากที่มีการประกาศรางวัลแล้ว คณะกรรมการมูลนิธิมีภารกิจเยี่ยมครูที่ได้รับรางวัลทุกคน เพื่อให้กำลังใจในการปฏิบัติงาน และร่วมสร้างพลังขับเคลื่อนบทบาทของครูรางวัลเจ้าฟ้าฯให้กว้างขวาง

โดยครั้งแรกของปีนี้ ได้เดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ระหว่างวันที่ 13-15 มิ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อเยี่ยม ครูไพสะนิด ปันยาสะหวัด หัวหน้าสาขาวิชาภาษาลาวและวรรณคดี และรองหัวหน้าฝ่ายวิชาการ โรงเรียนมัธยมศึกษาสันติภาพ หลวงพระบาง ผู้ได้รับรางวัลครูสมเด็จเจ้าฟ้าฯในปีนี้ รวมทั้ง 2 แม่พิมพ์จาก สปป.ลาว ครูคำส้อย วงสัมพัน ที่ได้รับรางวัลรุ่นที่ 1 ในปี 2558 และ ครูคูนวิไล เคนกิติสัก รุ่นที่ 2 ปี 2560 ด้วย นำทีมโดย ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานกรรมการมูลนิธิซึ่ง ทีมการศึกษา ได้ติดตามร่วมคณะไปด้วย

“ความตั้งใจของมูลนิธิคือ ได้มาเยี่ยมครูที่ได้รับรางวัล ได้เห็นภาพและรับทราบความคืบหน้าของการทำงานของแต่ละท่าน พร้อมกันนี้ได้มีโอกาสเยี่ยมคารวะ ผู้บริหารที่มีส่วนเกี่ยวข้องด้านการศึกษา เพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางและผสานความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างประเทศ ซึ่งมูลนิธิจะประสานการทำงานกับทุกฝ่ายหาทางช่วยครูที่ได้รับรางวัล ให้ได้ต่อยอดไปสู่การพัฒนาศักยภาพด้านการเรียนการสอน นอกจากนี้ ฝากความหวังให้ครูไพสะนิดเป็นสะพานเชื่อมการศึกษาระหว่างประเทศต่อไป” ดร.กฤษณพงศ์ ย้ำเจตนารมณ์ของการเดินทางเยือน สปป.ลาวครั้งนี้

ก่อนเข้าสู่ภารกิจการเยี่ยมครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ คณะกรรมการมูลนิธิได้เดินทางไปที่สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเวียงจันทน์ เพื่อเข้าพบ นายเกียรติคุณ ชาติประเสริฐ เอกอัครราชทูต พร้อมเชิญผู้แทนภาคเอกชนที่ทำธุรกิจใน สปป.ลาว กว่า 10 ราย มาร่วมหารือถึงการสนับสนุนและพัฒนาครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯของ สปป.ลาว ซึ่งผลการเจรจา
เป็นที่น่ายินดี โดยทางสถานทูต จะให้ความร่วมมือยกระดับความรู้ความสามารถของครู สปป.ลาว พร้อมประสานภาครัฐและภาคเอกชนช่วยสนับสนุนการเรียนการสอนของ ครูด้วย

ขณะที่ภาคเอกชนเองต่างพร้อมใจสืบสานพระราชปณิธาน สมเด็จ พระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้านการยกระดับคุณภาพการศึกษา และขอตอบแทนแผ่นดิน สปป.ลาว ในการประกอบธุรกิจ จึงจะสนับสนุนโครงการและกิจกรรมของครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯใน สปป.ลาว อาทิ ส่งผู้เชี่ยวชาญพัฒนาบุคลากรครู การสร้างสื่อการเรียนรู้ และสนับสนุนการเรียนการสอนตามความต้องการของครู เป็นต้น

จากนั้นคณะเดินทางไปยัง กระทรวงศึกษาธิการและกีฬา สปป.ลาว เข้าพบ นางขันทะลี สิริพงพัน รองรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาฯ เพื่อหารือถึงแนวทางความร่วมมือด้านการศึกษา โดยทางมูลนิธิได้แสดงเจตจำนงอย่างแน่วแน่ ที่ให้การสนับสนุนการเติมความรู้ให้ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯทั้ง 3 ราย และได้ขอความร่วมมือให้กระทรวงศึกษาฯ ของ สปป.ลาว สนับสนุนการทำงานของครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯด้วย

และสิ่งสำคัญที่ทางคณะสัมผัสได้คือ เสียงตอบรับจากทางการ สปป.ลาวเป็นไปอย่างชื่นมื่น โดยเฉพาะการยกย่องเทิดทูน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่มีคุณูปการด้านการศึกษา ทั้งชื่นชมรางวัลครูสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ที่สร้างแรงบันดาลใจให้ครูก้าวสู่ครูดีเด่น โดยกระทรวงจะสนับสนุนภารกิจของครู สปป.ลาวที่ได้รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯทุกด้าน และขยายผลสร้างครูดีเด่นของ สปป.ลาวด้วย

ออกจากเวียงจันทน์ เดินทางต่อไปหลวงพระบาง เข้าสู่ภารกิจหลัก เยี่ยมชมกิจการด้านการศึกษาของสำนักงานการศึกษาแขวงหลวงพระบาง การจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนมัธยมศึกษาสันติภาพ ตลอดจนรับฟังการถ่ายทอดกระบวนการทำงานของ ครูไพสะนิด

“ความภาคภูมิใจในชีวิตครูคือ ได้เป็นผู้ให้ สติปัญญา ความรู้ ชี้แนะแนวทางที่ดีแก่นักเรียน เมื่อเรียนจบไปแล้วได้ใช้ชีวิต มีอาชีพ มีอนาคต เป็นคนดีต่อสังคม สิ่งที่ดีใจที่พยายามมาตลอดคือ ติดตามนักเรียนที่เรียนอ่อน เกเร มาหาทางแก้ปัญหา ถ้าใครขัดสน ก็หาเงินมาช่วยจุนเจือ และสุดท้ายเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กให้พัฒนาตัวเองเป็นเด็กเรียนดีขึ้น” ครูไพสะนิด เล่าถึงความภาคภูมิใจในชีวิต

ครูไพสะนิด บอกด้วยว่า รางวัลครูสมเด็จเจ้าฟ้าฯนับเป็นเกียรติ และความภาคภูมิใจ จึงตั้งมั่นปฏิบัติหน้าที่ให้ดียิ่งขึ้น รักในวิชาชีพ พัฒนาตนเองให้ก้าวหน้า ด้วยการหาความรู้เพิ่มเติมทั้งในโรงเรียนและนอกโรงเรียน ก่อนที่จะมาปรับ
เป็นแนวทางการสอนให้ดียิ่งขึ้นต่อไป และหวังว่ารางวัลนี้จะเป็นแรงผลักดันให้ครูของ สปป.ลาว มีความตื่นตัวตั้งใจทำงานพัฒนาตนเองมากขึ้น

ทีมการศึกษา มองเห็นถึงความตั้งใจจริงของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ในการปลุกจิตวิญญาณของครูให้มีพลังในการทำงาน และยังได้มุ่งสร้างพันธมิตรยกระดับการศึกษาระหว่างประเทศให้ก้าวหน้า

เพื่อก้าวสู่จุดหมายให้เกิด “ครูคุณภาพ สร้างคนคุณภาพ” ได้ยั่งยืนอย่างแท้จริง.

ที่มา : ไทยรัฐ ทีมการศึกษา ไทยรัฐฉบับพิมพ์ 25 มิ.ย. 2562 05:01 น https://www.thairath.co.th/news/society/1599135