ประชุมเตรียมความพร้อมครูมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี รุ่นที่ 5 ปี 2566

วันที่ 1-3 กันยายน 2566 มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีจัดกิจกรรมประชุมเตรียมความพร้อมการเข้าร่วมพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 5” ให้แก่ครูมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี (ครูไทย) ปี 2566 ณ โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต จังหวัดปทุมธานี  โดยร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยมีครูไทยและครูพี่เลี้ยง/บุคลาการทางการศึกษาพี่เลี้ยงเครือข่ายครูในภาคต่าง ๆ เข้าร่วมการประชุม จำนวน 210 คน  โดยมีกิจกรรมประชุมซักซ้อมกับเครือข่ายพี่เลี้ยงในวันแรก 

โดยในวันที่ 2 กันยายน ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ได้กล่าวยินดีและปาฐกถาพิเศษเปิดการประชุมในหัวข้อ “ครูมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี “ตัวจริง เสียงจริง” กับการขับเคลื่อนคุณภาพ การศึกษา  ซึ่งดร.กฤษพงศ์ เล่าว่าท่านได้แนะนำครูทั้ง 5 รุ่นใน 11 ประเทศ ต่างมาจากพื้นที่หลากหลายและความเชี่ยวชาญที่หลากหลาย แต่เป็นครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ได้รับการยกย่องระดับประเทศ ซึ่งท่านประธานได้ชี้ว่าครูคือความหวังและเป็นพลังแห่งการเปลี่ยนแปลง ดังที่ว่า  เรามีผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงแล้วประมาณ 800 ท่าน เป็นครูตัวจริงเสียงจริง ถ้าเราช่วยกันผมคิดว่าเราจะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ สามารถเปลี่ยนการศึกษาได้จริง

ในการนี้ ศาสตรจารย์ คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ รองประธานมูลนิธิฯ ได้ร่วมกล่าวทักทายและเล่า “ที่มาและความคาดหวังของรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี”   พร้อมทั้งให้ข้อคิดและเน้นย้ำว่า “เราทักทายกันด้วยความสุขกับการเป็นครู ซึ่งครูไม่มีวันเกษียณ  เหมือนพ่อแม่ไม่มีวันเกษียณ ความเป็นครูจึงเป็นครูตลอดชีวิต”  

ในวันเดียวกันนี้ยังจัดให้มีการบรรยายพิเศษ “สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี กับพระราชกรณียกิจทางด้านการศึกษา” โดย รองศาสตราจารย์กรรณิการ์ สัจกุล ได้บรรยายถึงการทรงงานของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ด้านการศึกษาในมิติต่างๆ โดยเฉพาะการพัฒนาเด็กในถิ่นทุรกันดาร พร้อมทั้งได้ยกพระราชดำรัช และพระราชกรณียกิจทางด้านการศึกษาเพื่อเป็นข้อคิดแก่ครูทุกท่าน  พระองค์รับสั่งเสมอว่า การสอนนักเรียนจะต้องถือหลักว่าจะต้องคิดถึงประโยชน์ของนักเรียนเป็นเรื่องใหญ่ดังพระราชดำรัสว่า “เราต้องคำนึงว่าชีวิตของนักเรียนซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่  ควรจะมีอนาคตอย่างไร  ควรได้ความรู้ ประสบการณ์ที่มีประโยชน์ต่อการทำงานในอนาคตหรือป่าว มีความรู้กว้าง เพื่อให้พร้อมเสมอที่จะปรับตัวได้เร็วในกระแสของความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกมั้ย”

จากนั้นในภาคบ่ายเป็นกิจกรรมประชุมเชิงปฏิบัติการในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จักครูรางวัลประเภทต่างๆ ในมูลนิธิฯ รุ่นที่ 5 ทั้งครูคุณากร ครูยิ่งคุณ ครูขวัญศิษย์ 2566 

นอกจากนี้ในตอนค่ำยังมีกิจกรรมเลี้ยงอาหารค่ำ (Dinner Talk) พร้อมรับฟังประสบการณ์จากครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ทั้ง 5 รุ่น ได้แก่ นายเฉลิมพร พงศ์ธีระวรรณ รุ่นที่ 1 ปี 2558 ครูจิรัฏฐ์ แจ่มสว่าง รุ่นที่ 2 ปี 2560 ครูสุเทพ เท่งประกิจ รุ่นที่ 3 ปี 2562 ครูประทิน เลี่ยมจำรูญ รุ่นที่ 4 ปี 2564 และครูนิวัฒน์ รุ่นที่ 5 ปี 2566 โดยมีดร.อุดม วงศ์สิงห์ ดำเนินรายการ  ซึ่งครูทุกท่านได้แบ่งปันประสบการณ์และสะท้อนความรู้สึกไว้อย่างน่าสนใจ

ครูเฉลิมพร ได้กล่าวถึง รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ว่าได้มอบโอกาส ในการส่งต่อองค์ความรู้ในวงกว้าง “ซึ่งตรงนี้ทำให้ครูเองได้มีโอกาสในการที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ของตัวเองที่มีอยู่ให้กับผู้คนได้มากขึ้น เป็นความภาคภูมิใจที่ทำให้เราได้มีโอกาสในการที่จะเอาความรู้ที่มีอยู่ไปเผยแพร่กับคนได้มากขึ้น  ไม่ใช่เรามีความรู้แล้วตายอยู่ที่เรา เราสามารถเผยแพร่ให้กับคนอื่น คนอื่นก็สามารถนำความรู้นั้นไปใช้ต่อยอดได้”

ครูจิรัฏฐ์  “คุณครูที่นั่งอยู่ที่นี้ผมรู้ว่าเรามีอุดมการณ์กันทุกๆคน ขอให้ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน จะต้องสอนเด็กให้เขารู้ทิศทางที่เขาจะไปทำอาชีพเป็นหลัก การสอนเด็กต้องดูเขาทั้งตัว เพราะฉะนั้น ถ้าเราสอนเด็กและรู้จักเด็กเป็นอย่างดี เราสามารถทำทุกๆอย่างได้”

ครูสุเทพ  กล่าวถึงโอกาสที่ได้หลังจากรับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี และได้นำไปพัฒนานักเรียนอย่างต่อเนื่องว่า  “ผมจบสาขาปฐมวัย เริ่มชีวิตเป็นครูปฐมวัยเป็นการศึกษาที่วางรากฐานตั้งแต่วัยเล็ก ปัจจุบันอยู่โรงเรียนก็ดูแลเด็กทุกวัย  มีคนบอกว่านักเรียนเปรียบเสมือนเรือที่เราสร้างตั้งไว้ที่มหาสมุทร ลมพัดมาเมื่อไร เขาก็สามารถเอาความรู้เหล่านั้นไปเสริมเติมต่อยอดได้” ซึ่งในช่วงการระบาดของโควิด – 19 นักเรียนของครูสุเทพสามารถทำที่กดเจลแอลกอฮอลที่ใช้เท้าเหยียบ และเย็บหน้ากากาผ้าแจกจ่ายให้แก่เพื่อนๆนักเรียนและผู้คนในชุมชนเพื่อใช้ป้องกันการระบาดของโรคโควิด – 19 ในขณะนั้น

ครูประทิน ได้แบ่งปันการทำหน้าที่ดูและเด็กๆนักเรียนอย่างต่อเนื่องว่า การที่เราได้มาเป็นครูทุกวันนี้มันเป็นกุศล มันเป็นบุญ บอกน้องๆ(ครู)ทุกคนเลยว่า “อาชีพนี้เป็นอาชีพที่เป็นกุศล ถ้าเราทำอาชีพนี้ มันก็ส่งผลไปทางลูกหลานหรือญาติพี่น้อง” ทุกคนก็เลยคิดว่า เราไม่ได้ทำงานเพราะหน้าที่ ไม่ได้ทำงานเพราะเงินเดือน แต่เราทำงานเพื่อชีวิตของคนอื่น แล้วมันจะส่งผลต่อชีวิตของคนรอบข้างของเรารวมทั้งตัวเราด้วย

ครูนิวัฒน์ ได้กล่าวทิ้งท้ายถึงประเทศไทยไว้อย่างกินใจว่า “ผมอยากจะขอบคุณประเทศไทยครับ ที่ให้ที่หลับ ที่นอน ที่กิน อย่างอิ่มหนำสำราญ อย่างไม่ต้องอด ไม่ต้องอยาก ไม่ต้องกังวล ไม่ต้องวิ่งหนีภัยสงครามเหมือนกับเมื่อสมัยเด็กๆที่ได้หนีข้ามมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  เราอยู่ในเมืองไทย เราอยู่ในแผ่นดินไทยด้วยความมีความสุข กินอิ่ม ไม่ต้องกังวล ไม่ต้องกลัวอะไรต่างๆทั้งสิ้น ทุกวันนี้ผมตระหนักเกี่ยวกับในเรื่องของการตอบแทนบุญคุณแผ่นดินมากครับ  แล้วก็ส่วนหนึ่งที่ทำงานทุ่มเทเสียสละวันนี้ ส่วนหนึ่งก็อยากตอบแทนบุญแผ่นดินเหมือนกัน”

ทั้งนี้ ในวันที่ 3 กันยายน ยังจัดให้มีกิจกรรมปฏิบัติการต่อเนื่องเพื่อเสนอผลการแลกเปลี่ยนระดมคิดของครู และยังจัดให้มีกิจกรรมบรรยายในหัวข้อ “พลังครูมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงของชีวิต
ลูกศิษย์ และชุมชน” โดย คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา กรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี 
คุณหญิงกษมาได้ยกคำพูดเด็กคนหนึ่งที่จำไม่เคยลืมมาเล่าให้ฟังว่า   “มีเด็กคนหนึ่งพูดแล้วจำได้จนถึงทุกวันนี้ บอกว่า ผมรักครูคนนี้เพราะครูไม่เคย… เค้าใช้คำว่าสิ้นศรัทธา  แต่จริงๆเขาหมายความว่าเพราะครูไม่สิ้นหวังในตัวผม ดิฉันคิดว่าทุกคนที่อยู่ในที่นี้ไม่เคยสิ้นหวังในตัวเด็ก ไม่ว่าจะเกเรสักแค่ไหน ไม่ว่าท่าทางจะน่าหมดหวังสักแค่ไหน แต่ครูกอบกู้เขาขึ้นมา”

นอกจากนี้ในการประชุมยังได้มีการชี้แจงเตรียมความพร้อมการเข้าร่วมพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 5 ปี 2566 วันที่ 17 – 18 ตุลาคม 2566 โดย ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า และ ดร.อุดม วงษ์สิงห์ เพื่อสร้างความพร้อมและความเข้าใจล่วงหน้าให้กับครูมูลนิธิฯ รุ่น 5

« ของ 3 »