ครูไทยร่วมเสวนาเพื่อขับเคลื่อนการศึกษาแบบเรียนรวม ชี้เด็กมีที่ยืน ครูต้องตื่นตัว ครอบครัวต้องเข้าใจ

มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีได้จัดให้มีการเสวนาสัญจรเพื่อขับเคลื่อนการเรียนรู้ของครูมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีในประเทศไทย (ปี 2566) เรื่อง “เรียนรวมเพื่ออยู่ร่วม (Inclusive Education) ความท้าทายของการจัดการศึกษายุคใหม่เพื่อเด็กไทยทุกคน”  ในวันเสาร์ที่ 4 มีนาคม 2566 ณ โรงเรียนปรียาโชติ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ โดยการเสวนาสัญจรครั้งนี้ยังจัดในรูปแบบผสมผสานการเสวนาออนไลน์ โดยมีวิทยากรเสวนาซึ่งเป็นครูในเครือข่ายมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ได้แก่ ครูสุลีกาญ ธิแจ้  ครูรางวัลยิ่งคุณ ปี 2558 โรงเรียนวัดช่างเคี่ยน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ดร.ปาริชาติ ปรียาโชติ  ครูรางวัลขวัญศิษย์ ปี 2558  ครูใหญ่โรงเรียนปรียาโชติ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์  ดร.สมพร  หวานเสร็จ  ครูรางวัลขวัญศิษย์ ปี 2564  อดีตผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาพิเศษส่วนกลาง กรุงเทพมหานคร ครูพยอม คงเจริญ ครูรางวัลขวัญศิษย์ ปี 2564 โรงเรียนปรียาโชติ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ โดยมีนายจิรศักดิ์ อุดหนุน สถาบันรามจิตติ เป็นผู้ดำเนินรายการ ในเวทีเสวนาดังกล่าวได้รับเกียรติจากดร.กฤษณพงศ์ กรีติกร ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า ผู้จัดการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีร่วมกล่าวเปิดวงและสะท้อนความคิด โดยผู้เข้าร่วมวงเสวนาประกอบด้วยครูมูลนิธิฯ จากภูมิภาคต่างๆ ศึกษานิเทศก์  ผู้ปกครองและนักเรียนนักศึกษาที่สนใจเข้าร่วมวงเสวนา พร้อมด้วยคณะทำงานวิชาการ ทีมงานสถาบันรามจิตติ  ทีมงานครุวัตรร่วมจัดกิจกรรมดังกล่าวโดยความร่วมมือกับคณะครูโรงเรียนปรียาโชติ  อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์

การเสวนาสัญจรในครั้งนี้ ได้มีการแลกเปลี่ยนประเด็นสำคัญใน 3 เรื่องได้แก่ 1) การฉายภาพรวมของกระบวนทัศน์ แนวคิดและแนวทางจัดการศึกษาแบบเรียนรวม (Inclusive Education) 2) ตัวอย่างประสบการณ์ครูในการจัดการศึกษาแบบเรียนรวมเพื่อตอบสนองเด็กที่หลากหลายและเด็กที่มีความต้องการพิเศษ 3) ประเด็นสำคัญเพื่อการขับเคลื่อนการศึกษาแบบเรียนรวมจากภาคปฏิบัติสู่ภาคนโยบาย ซึ่ง ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า ผู้จัดการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ได้กล่าวนำเปิดประเด็นว่า มูลนิธิเสวนาสัญจรเรื่อง “การเรียนรวมเพื่ออยู่ร่วม” ซึ่งถือเป็นความเคลื่อนไหวของการจัดการศึกษาทั่วโลก ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรวดเร็วจะทำให้เด็กของเราเติบโตมาโดยมีความแตกต่างกันอย่างสูง  โดยเฉพาะความต้องการการพัฒนาการเรียนรู้และความสนใจที่แตกต่างกัน การเสวนาวันนี้ จะช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวทางในการดูแลเด็ก ๆ ของเราให้เติบโตเป็นพลเมืองที่เข้มแข็งและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป”

 ดร.สมพร  หวานเสร็จ  ครูรางวัลขวัญศิษย์ ปี 2564 
อดีตผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาพิเศษส่วนกลาง กรุงเทพมหานคร

 ดร.สมพร  หวานเสร็จ  ครูรางวัลขวัญศิษย์ ปี 2564  อดีตผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาพิเศษส่วนกลาง กรุงเทพมหานคร ได้ฉายภาพให้เห็นถึงสถานการณ์เด็กไทยที่ ข้อมูลการศึกษาพัฒนาการของเด็กของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2542 – 2560 ชี้ว่า เด็กมีพัฒนาการล่าช้ามีแนวโน้มสูงขึ้น ข้อมูลปี 2565 ชี้เด็กที่มีความต้องการพิเศษเพิ่มมากขึ้น โดยส่วนใหญ่เด็กมีปัญหาทางการเรียนรู้ รองลงมาคือมีความบกพร่องทางสติปัญญา ซึ่งแนวคิดการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม คือการที่เด็กทุกคนเรียนรวมกันในโรงเรียนทั่วไปเป็นปกติ ซึ่งปัจจัยสำคัญคือความพร้อมของนักเรียน  สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ การสนับสนุนส่งเสริมจากผู้ที่เกี่ยวข้อง สื่อ สิ่งอำนวยความสะดวก บริการและความช่วยเหลือทางการศึกษา และการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนตามความแตกต่างระหว่างบุคคล นอกจากนี้ในภาพรวมของประเทศไทยทั้งด้านนโยบายการจัดการ กฎหมาย ระบบการศึกษาในทุก ๆ ระดับเปิดโอกาสและสนับสนุนการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม ทั้งนี้อยู่ที่การนำไปใช้ หรือการขยับปรับตัวและนำไปดำเนินการอย่างจริงจังของสถานศึกษาแต่ละแห่ง  การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเพื่อร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาจะช่วยให้เด็กสามารถเติบโตและพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพตามศักยภาพของแต่ละคน

ดร.ปาริชาติ ปรียาโชติ  ครูรางวัลขวัญศิษย์ ปี 2558
ครูใหญ่โรงเรียนปรียาโชติ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์

ในด้านแนวทางการจัดการศึกษาแบบเรียนรวมนั้น ดร.ปาริชาติ ปรียาโชติ  ครูรางวัลขวัญศิษย์ ปี 2558 ครูใหญ่โรงเรียนปรียาโชติ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ กล่าวถึง แนวทางการจัดการศึกษาของโรงเรียนปรียาโชติคือเน้น “ความเข้าใจ” ระหว่างกันของทั้งเด็ก ผู้ปกครอง ครูและผู้บริหารสถานศึกษา มีความเอื้อเฟื้อ พึ่งพิงกันและกัน  แนวทางจัดการคือ การจัดให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษได้เรียนรวมในชั้นเรียนห้องละไม่เกิน 2 คน เพื่อการดูแลอย่างทั่วถึง สิ่งสำคัญที่โรงเรียนต้องดำเนินการคือ การสร้างระบบช่วยเหลือตั้งแต่เริ่มแรก (Early Intervention) ตั้งแต่การรับเด็ก คัดกรอง วางแผนการดำเนินงานพัฒนา และส่งเสริมให้เกิดการจัดการเรียนรวมที่มีประสิทธิภาพ จนถึงระบบดูแลช่วยเหลือส่งต่อในระดับชั้นต่อไป

ครูสุลีกาญ ธิแจ้  ครูรางวัลยิ่งคุณ ปี 2558
โรงเรียนวัดช่างเคี่ยน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

ครูสุลีกาญ ธิแจ้  ครูรางวัลยิ่งคุณ ปี 2558 โรงเรียนวัดช่างเคี่ยน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดการเรียนรู้ โดยชี้ว่า ครูต้องมี “ความเข้าใจ” ในความแตกต่างหลากหลายของตัวนักเรียน ซึ่งจะนำไปสู่การ “เปิดใจ” และ “ยอมรับ” ครูต้องเป็นคนที่ ใจแกร่ง  อดทน และใจเย็น ชื่อมั่นว่าเด็กทุกคนสามารถพัฒนาได้ แม้จะเป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษ โรงเรียนของครูแจ้จัดให้มีพี่เลี้ยงเด็กอยู่ในชั้นเรียนโดยความร่วมมือกับผู้ปกครองร่วมสนับสนุนจัดหาพี่เลี้ยงดูแล ครูแจ้ยังให้แง่คิดฝากนักศึกษาครูที่กำลังเติบโตไปเป็นครูในอนาคตว่า กล่าวคือ “เป็นครู เราไม่เลือกเด็ก” ซึ่งช่วยเน้นย้ำถึงการใส่ใจในเด็กทุกๆคนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน 

ครูพยอม คงเจริญ ครูรางวัลขวัญศิษย์ ปี 2564
โรงเรียนปรียาโชติ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์


ครูพยอม คงเจริญ ครูรางวัลขวัญศิษย์ ปี 2564 โรงเรียนปรียาโชติ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ผู้ดูแล “ห้องเรียนพักใจ” ของโรงเรียนปรียาโชติ ได้แบ่งปันประสบการณ์ว่า โรงเรียนมีการจัดการเรียนรวม ขณะเดียวกันจัดให้ห้องเรียนพิเศษหรือ “ห้องเรียนพักใจ” เพื่อช่วยเหลือนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษมากและยังไม่พร้อมเรียนรวม ซึ่งมีเด็กหลากหลายทั้ง LD เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ออทิสติก รวมถึงภาวะพิการซ้ำซ้อน เพื่อช่วยให้เด็กที่ยังขาดความพร้อมในการเรียนรวมได้ปรับตัวเตรียมความพร้อมและพื้นฐานที่สำคัญของการใช้ชีวิต โดยจัดการเรียนรู้ได้ออกแบบกิจกรรมพัฒนาเด็กเป็นรายบุคคล ใช้กระบวนการเล่น และสื่อที่หลากหลายเพื่อช่วยการพัฒนา อีกทั้งยังเน้นบทบาทของครู หมอ พ่อแม่เข้ามาร่วมสนับสนุนการพัฒนาทั้งร่างกาย สติปัญญา อารมรณ์และจิตใจ เพื่อส่งต่อเข้าใช้เรียนรวมต่อไปตามความพร้อมของนักเรียน โดยโรงเรียนจัดให้มีการประชุม PLC เพื่อช่วยครูในแต่ละระดับชั้น ทั้งนี้ดร.ชัดเจน ไทยแท้  อดีตศึกษานิเทศ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ยังได้กล่าวสนับสนุนด้วยว่าการนิเทศภายในและการเสริมพลังครูคือกลไกสำคัญที่จะช่วยให้ครูได้รับการพัฒนา

อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากประสบการณ์ที่ครูได้แลกเปลี่ยนแล้ว วิทยากรหลายท่านยังได้ร่วมกันเสนอว่า การขับเคลื่อนเรื่องการศึกษาแบบเรียนรวมในเชิงนโยบาย ต้องมีระบบส่งเสริมสนับสนุนและช่วยครู/โรงเรียนให้สามารถมีความรู้ความเข้าใจในการจัดการที่เหมาะสมเพื่อดูแลนักเรียนที่หลากหลายตามบริบท 

ในช่วงท้ายของการเสวนาได้รับเกียรติจากดร.กฤษณพงศ์ กรีติกร ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีร่วมแบ่งปันแนวคิด Inclusive Education  โดยชี้ว่า Inclusive Education เป็นเรื่องท้าทายสำคัญการจัดการศึกษาที่ครูจะต้องเข้าใจในความหลากหลายของเด็ก ตัวอย่าง “เด็กกลุ่มชาติพันธุ์ที่ในบางพื้นที่ยังขาดโอกาสทางการศึกษา เราส่งเสริม หรือสร้างโอกาส และพัฒนาพวกเขาเหล่านั้นเป็นประชากรที่มีคุณภาพได้อย่างไร เป็นโจทย์ท้าทายการศึกษาแบบเรียนรวมในมิติที่กว้างออกไปที่อาจยังไม่มีคำตอบ แต่ครูต้องช่วยกันเปิดทาง…” ซึ่ง ดร.สมพร  หวานเสร็จ กล่าวเสริมว่า ความเคลื่อนไหวหนึ่งคือ เด็กที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมเป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษในประเทศสหรัฐอเมริกา (Multi cultural) ประเทศไทยก็เผชิญโจทย์ที่ท้าทายนี้ที่จะร่วมกันเสวนาและขับเคลื่อนการจัดการศึกษาแบบ Inclusive Education เพื่อให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ เป็น Quality Inclusive Education และเติบโตอย่างมีคุณภาพต่อไป ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า ผู้จัดการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กล่าวปิดท้าย

ชมย้อนหลัง : เสวนาสัญจรครั้งที่ ๑ (Inclusive Education) ความท้าทายของการจัดการศึกษายุคใหม่เพื่อเด็กไทยทุกคน”

ภาพประกอบ :

« ของ 2 »