ครูไทยพบครูเทศ” : คณะทำงานมูลนิธิฯ เยี่ยมเยือนผู้บริหารระดับสูง กระทรวงศึกษาธิการฟิลิปปินส์

เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 ดร. กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีและคณะกรรมการมูลนิธิฯ พร้อมด้วยนายตุลย์ ไตรโสรัส เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็ม ประจำกรุงมะนิลา และคณะ เข้าพบดร.มาร์การิตา คอนโซลาเซียน ซี บาลเลสติรอส (Dr. Margarita Consolacion CBallesteros) ผู้อำนวยการด้านการเยี่ยมเยียนต่างประเทศ สำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงศึกษาธิการ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ โดยมีนายเฟรเดอริก ออร์ติซิโอ (Frederick Orticio) เจ้าหน้าที่พัฒนาโครงการ 3) และนางสาวเจย์มี เกรซ ดี. แคร์รอน ผู้ช่วยด้านเทคนิคอาวุโส 1 เพื่อขอบคุณในความร่วมมือทั้งการคัดเลือกและดูแลครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีประเทศฟิลิปปินส์ รวมทั้งชี้แจงความเคลื่อนไหวของการดำเนินงานของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีใน 11 ประเทศ และการมาเยี่ยมเยือนครูมาเซโล ที โอทินเควท (Mr. Marcelo T. Otinguey) ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีปี 2564 และครูวิเลี่ยม โมราคา (Mr. William Moraca) ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีปี 2558 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ยังรวมถึงการดำเนินงานความร่วมมือในการสนับสนุนการสร้าง Student Entrepreneurs โดยร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) กระทรวงศึกษาธิการ และสถาบันอุดมศึกษาในไทย โดยดำเนินงานโดยครูประทิน เลี่ยนจำรูญ ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีประเทศไทย 2564 ร่วมกับครูมาเซโล ที โอทินเควท ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีประเทศฟิลิปปินส์ 2564 และครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีประเทศบูรไนผ่านโครงการและกิจกรรมการสร้างแผนธุรกิจกับนักศึกษา มีระดมทุนทำงานและฝึกอบรมร่วมกันให้นักศึกษา

ในการนี้ ดร.มาร์การิตา ผู้บริหารกระทรวงศึกษาฯ ได้กล่าวถึงภาพรวมของการศึกษาและความเคลื่อนไหวของประเทศฟิลิปปินส์ โดยปี 2022-2023 มีเด็กนักเรียนอยู่ 28.4 ล้านคนทั่วประเทศ แบ่งเป็นโรงเรียนของรัฐ 44,931 แห่ง โรงเรียนเอกชน 12,162 แห่ง โดยช่วงปี 2020-2022 มีโรงเรียนเอกชนมากกว่า 1,600 แห่งต้องหยุดดำเนินการ ในด้านสภาพอาหารเรียนนั้น อาคารเรียน 327,851 แห่ง โดยมีอาคารเรียนที่อยู่ในสภาพดี 327,851 แห่งที่อยู่ในสภาพต้องซ่อมแซมเล็กน้อง 100,072 แห่ง อาคารในสภาพที่ต้องแซมครั้งใหญ่ 89,252 อาคาร และอาคารกว่า 21,727 ที่อยู่ในสภาพไม่พร้อม/ไม่ปลอดภัย/ห้ามใช้ ข้อมูลจากการประเมิน PISA ปี 2018 ระบุว่า นักเรียนฟิลิปปินส์กว่าร้อยละ 81 ยังมีปัญหาด้านคณิตศาสตร์พื้นฐานและการอ่าน กว่าร้อยละ 78 ยังไม่สามารถรับรู้คำอธิบายที่ด้านปราฏกาณ์ทางวิทยาศาสตร์หรือสรุปผลด้านข้อมูล ที่น่าสังเกตคือเด็กยุคใหม่เรียนรู้ผ่าน AI ผ่าน Coding แต่ก็ยังไม่สามารถวิเคราะห์และประมวลองค์ความรู้ได้ด้วยตนเอง โดยเฉพาะในช่วงเผชิญสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้

ดังนั้น ในปี 2022 กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศปฏิรูปการศึกษาโดยย้ำการพาผู้เรียนกลับเข้าสู่โรงเรียน (Back to school) ร้อยละ 99.54 ในโรงเรียนรัฐได้จัดชั้นเรียน 5 วันแบบตัวต่อตัวเรียบร้อยแล้ว โดยดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูแห่งชาติ มีการปรับทักษะและยกระดับทักษะครูและผู้นำโรงเรียน (Reskill & Upskill) ปรับปรุงหลักสูตรอนุบาลถึงประถมศึกษาเกรด 10 (Kinder to Grade 10) ซึ่งอยู่ระหว่างการสรุปผล ปรับปรุงหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลายซึ่งอยู่ระหว่างการทบทวน โดยมียุทธศาสตร์ MATATAG โดยหลักคิดคือ “Make” สร้างหลักสูตรที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างพลเมืองที่พร้อมทำงาน กระตือรือร้น และมีความรับผิดชอบ “Take” ดำเนินการเพื่อเร่งการส่งมอบสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการการศึกษาขั้นพื้นฐาน “Take” ดูแลผู้เรียนอย่างดีโดยส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของผู้เรียน การศึกษาแบบเรียนรวม และสภาพแวดล้อมการเรียนรู้เชิงบวก “Give” ให้กำลังใจสนับสนุนครูให้สามารถสอนให้ดีขึ้น โดยมีความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่นเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษา ซึ่งดร.มาร์การิตา กล่าวว่า “ด้วยความท้าทายมีมากมาย แต่พวกเราชาวฟิลิปปินส์ก็พร้อมที่จะปรับตัว เราจะเอาชนะ”

นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการฟิลิปปินส์ยังได้ดำเนินโครงการสนับสนุนความร่วมมือผ่านหน่วยงานต่างๆ ตามกรอบความร่วมมือด้านการศึกษาของการดำเนินงานภายใต้ 7 ประเด็นสำคัญด้านการศึกษาขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีมีโอ) หรือ SEAMEO 7 PRIORITY AREAS ที่ต้องเร่งดำเนินการในระยะเวลา 20 ปี (พ.ศ.2558 – 2578) อีกทั้งยังร่วมกับประเทศต่างๆ เป็นทวิภาคีดำเนินงานด้านการศึกษา อาทิ ความร่วมมือกับบรูไนดารุสลามในการแลกเปลี่ยนบุคลากรฝึกอบรมเพื่อพัฒนา มีการส่งเสริมและพัฒนาเรื่องภาษาแม่และการสอนภาษา การเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างนานาชาติสู่การขับเคลื่อนระดับประเทศ โดยมีการจัดทำรายงานการศึกษาขั้นพื้นฐานและรายงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งยังได้สนับสนุนการขับเคลื่อน DIGITAL TRANFORMATION FOR THE REGION เพื่อพัฒนาเมือง/พื้นที่ ร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ

ในระหว่างการแลกเปลี่ยนความเคลื่อนไหวนี้ ท่านตุลย์ ไตรโสรัส เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็ม ประจำกรุงมะนิลา ได้กล่าวแสดงความยินดีและเจตจำนงค์ที่จะร่วมสนับสนุนการขับเคลื่อนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและฟิลิปปินส์ผ่านมิติการศึกษา รวมถึงด้านเศรษฐกิจ การเกษตร อาหาร สังคมและวัฒนธรรมที่ทางสถานทูตดำเนินงานอยู่ (Street food งานด้านเครื่องแต่งกาย  งานเทศกาลหนัง ฯลฯ) และจะเป็นโอกาสให้เกิดการกระชับความร่วมมือและความสัมพันธ์ให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโอกาสที่จะได้ร่วมกันเฉลิมฉลองครบรอบความสัมพันธ์ 75 ปีระหว่างประเทศไทยกับฟิลิปปินส์ที่จะมีขึ้นในปี 2567 ข้างหน้านี้

 อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการได้กล่าวขอบคุณทางสถานทูตไทย มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ การสนับสนุนการทำงานของครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีในทุกรุ่น และขอบคุณมูลนิธิฯ ที่ได้ร่วมสนับสนุนการทำงานต่อเนื่องให้กับครูที่ได้รับรางวัลทั้งครูวิเลี่ยม โมราคา (Mr. William Moraca) 2558 ดร.เฮซุส คาติกัน อินซิลาดา (Dr.Jesus Catigan Insilad) ปี 2560 ที่ขับเคลื่อนเรื่องการทำหนังบนฐานวัฒนธรรมชนเผ่า ดร.ซาดัท บี มินันดัง (Mr.Sadat B. Minandang) ปี 2562 ที่ทำงานเรื่องรถห้องสมุดหนังสือเคลื่อนที่ และครูมาเซโล ที โอทินเควท (Mr. Marcelo T. Otinguey) ในการทำเรื่องแผนธุรกิจนักเรียน และขอบคุณประเทศไทยที่ได้มอบรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี พร้อมกับสนับสนุนครูและการพัฒนาเด็กเยาวชนและการศึกษาในพื้นที่ห่างไกลร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการฟิลิปปินส์ โดยจากนี้จะได้ร่วมมือกับในการค้นหาและคัดเลือกครูผู้สมควรได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีประจำปี 2566 (รุ่นที่ 5) ให้แล้วเสร็จก่อนเดือนเมษายนปีนี้ต่อไป

หลังจากเสร็จสิ้นการเข้าพบและประชุมร่วมกันแล้ว ทางคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี พร้อมด้วยคณะทูตไทย และเจ้าหน้าที่กระทรวงศึกษาธิการฟิลิปปินส์ได้ร่วมกันเดินทางไปยังเมืองบาเกียวในจังหวัดเบงเกต ประเทศฟิลิปปินส์ห่างจากกรุงมะนิลาไปทางทิศเหนือราว 210 กิโลเมตร เพื่อเยี่ยมเยือนครูมาเซโล ที โอทินเควท (Mr. Marcelo T. Otinguey) ณ Governor Bado Dangwa Agro-Industrial school จังหวัดเบงเกตต่อไป  

« ของ 2 »

จดหมายข่าว
ครูไทยพบครูเทศ ฉบับที่ 1/2566 (กุมภาพันธ์ 2566) เดินทางเยี่ยมเยือนครู Marcelo T. Otinguey ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีปี 2564