
เสวนาสัญจรครั้งที่ 1 “เรียนรวมเพื่ออยู่ร่วม (Inclusive Education)
ความท้าทายของการจัดการศึกษายุคใหม่เพื่อเด็กไทยทุกคน”
4 มีนาคม 2566
เวลา 09.30-12.00 น.
วิทยากร ดังนี้

- ครูสุลีกาญ ธิแจ้ ครูการศึกษาพิเศษ ผู้จัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ โรงเรียนวัดช่างเคี่ยน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ครูรางวัลยิ่งคุณ ปี 2558
ครูผู้ทุ่มเทเพื่อลูกศิษย์ด้วยใจรัก ด้วยเทคนิคและกลยุทธ “เปิดใจ” และ “คาถา 5 อ. 2 ท.” ที่สามารถใช้ได้กับการจัดการเรียนการสอนเด็กพิเศษอย่างแท้จริง ประกอบไปด้วย “โอกาส” ให้เด็กทุกคนได้โอกาสได้เรียนได้รู้ “อบอุ่น” ให้ความรักความอบอุ่นเขาเหมือนแม่สอนลูก “อดทน” อดทนในการรอคอย อดทนในการเด็กเขียนช้า อ่านช้า อดทนในพฤติกรรมที่เขาก้าวร้าวทำร้ายเรา “อภัย” ให้อภัยพฤติกรรมก้าวร้าว อ่านช้า เรียนรู้ช้า “อ่อนโยน” ใช้ความอ่อนโยนกับเด็กในการวางข้อกำหนดข้อตกลงต่างๆ โดยทำแบบ 2 ท. คือ “ทำด้วยใจ” และ “ทำต่อเนื่อง”

- ดร.สมพร หวานเสร็จ อดีตผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาพิเศษส่วนกลาง กรุงเทพมหานคร
ครูรางวัลขวัญศิษย์ ปี2564
“ครูผู้เข้าใจ และเข้าถึงในความแตกต่างของมนุษย์” ในฐานะผู้อำนวยการสถานศึกษา ครูสมพรเป็นผู้มีส่วนสำคัญที่วางรากฐานการจัดการศึกษาสำหรับผู้พิการ ทั้งวิจัยการพัฒนารูปแบบการช่วยเหลือระยะแรกเริ่มเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาโดยการบริหารแบบมีส่วนร่วม และการพัฒนาหลักสูตรอบรมผู้ปกครองเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพเด็กพิการ เพื่อให้เพื่อนร่วมงานในองค์กร และผู้ปกครองได้เข้าถึงองค์ความรู้ นำไปสู่การพัฒนาเด็กพิการอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืน

- ดร.ปาริชาติ ปรียาโชติ ผู้อำนวยการโรงเรียนปรียาโชติ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ ครูรางวัลขวัญศิษย์ ปี 2558
ครูผู้ยึดปณิธาน “เด็กพิการมีสิทธิได้รับโอกาสทางการศึกษาเช่นเดียวกับเด็กปกติ” โดยมีเป้าหมายของการจัดการศึกษาที่จะให้เด็กพิการได้รับการพัฒนาไปพร้อมๆกับเด็กปกติ สามารถเรียนและอยู่ร่วมกันในโรงเรียนได้อย่างมีความสุข โดยใช้หลักการยอมรับความแตกต่าง และช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ซึ่งรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่ใช้ได้แก่ 1. กิจกรรมบทบาทสมมติ 2. การใช้แผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล (IEP) 3.ใช้ระบบเพื่อนช่วยเพื่อน(คู่หู) 4.การฝึกให้เด็กปกติกับเด็กพิการยอมรับความสามารถซึ่งกันและกัน และ 5. ห้องอุ่นไอรักสำหรับดูแลเด็กพิการโดยเฉพาะ

- ครูพยอม คงเจริญ โรงเรียนปรียาโชติ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ ครูรางวัลขวัญศิษย์ ปี 2564
“ครูผู้เห็นใจ ใส่ใจ เข้าใจ จากใจครู ส่งถึงใจศิษย์ เปลี่ยนความพิเศษเป็นพลัง สร้างทางสู่อนาคต” ครูพยอมทำหน้าที่หลัก ในการดูแลและเตรียมความพร้อมในการเรียนร่วมให้แก่เด็กพิเศษทุกคนในโรงเรียน โดยเริ่มต้นจากวินิจฉัยคัดกรอง และออกแบบการเรียนรู้รายบุคคลให้เหมาะสมกับศักยภาพ และความต้องการของลูกศิษย์แต่ละประเภท ก่อนที่จะส่งต่อเข้าชั้นเรียนร่วม ซึ่งครูพะยอมจะคอยติดตามให้ความช่วยเหลือร่วมกับครูประจำชั้น เป็นที่ปรึกษาออกแบบการจัดกิจกรรม และจัดทำแผนการเรียนรู้รายบุคคลแก่ครูทุกคนในโรงเรียน ทำให้เด็กที่มีความบกพร่องด้านต่างๆมีทักษะการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ
ชมย้อนหลัง