ครูอาชีวะร่วมเสวนาสัญจร ถกประสบการณ์การสอนและชี้ทิศอาชีวศึกษาเพื่ออนาคต

มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีได้จัดกิจกรรมเสวนาสัญจรครั้งที่ 7 เรื่อง “อาชีวศึกษา : การศึกษาเปลี่ยนชีวิต” ภายใต้โครงการการจัดการเรียนรู้เพื่อผู้เรียนยุคใหม่ : ตัวแบบและบทเรียนจากครูเครือข่ายรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีในประเทศไทย เมื่อวันเสาร์ ที่ 26 พฤศจิกายน 2565 ณ วิทยาลัยสารพัดช่างพระนครศรีอยุธยา โดยมีวิทยากร ได้แก่ ครูเกษมสุข ชัยชิตาทร ครูขวัญศิษย์ 2562 วิทยาลัยสารพัดช่างพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ครูปิติกร ขำอ่อน ครูยิ่งคุณ 2562 วิทยาลัยเทคนิคสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม ครูวารุณี เอี่ยมอารมณ์ ครูขวัญศิษย์ 2564  ครูสิทธิศักดิ์ อาจหาญ ครูขวัญศิษย์ 2564 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ และครูประเสริฐ แสงโป๋ ครูยิ่งคุณ 2560 วิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มาร่วมสะท้อนวงเสวนา โดยมี นายจิรศักดิ์  อุดหนุน สถาบันรามจิตติ คณะทำงานวิชาการมูลนิธิฯ เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยในเวทีเสวนาดังกล่าวได้รับเกียรติจาก ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการและอดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นประธานกล่าวเปิดวงประชุม ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า ผู้จัดการสำนักงานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ดร.ชัดเจน ไทยแท้ ดร.อมรทิพย์ เจริญผล อดีตศึกษานิเทศ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) อาจารย์สุนันทา พลโภชน์ กรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีและที่ปรึกษาด้านประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา นางรื่นฤดี สินธวาชีวะ ผู้อำนวยการวิทยาลัยสารพัดช่างพระนครศรีอยุธยา รวมทั้งครูมูลนิธิรางวัลลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เครือข่ายครูในภูมิภาคต่างๆ และนักศึกษาที่สนใจเข้าร่วมวงเสวนาทั้งจากทางออนไลน์ และครูในจังหวัดพระนครศรีอยุธยามาร่วมในเวที พร้อมด้วยดร.จุฬากรณ์ มาเสถียรวงศ์ คณะทำงานมูลนิธิฯ ผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติ และทีมงานสถาบันรามจิตติ ร่วมจัดกิจกรรมดังกล่าวโดยความร่วมมือกับคณะครูวิทยาลัยสารพัดช่างพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และอดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาครูมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี (ประเทศไทย) ได้กล่าวว่า งานอาชีวศึกษาต้องอาศัยครูที่ไม่ธรรมดา ที่สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตลูกศิษย์ได้ และในขณะเดียวกันยังคาดหวังว่าการอาชีวศึกษาต้องมีการขับเคลื่อนเชิงวิชาการในวงกว้างด้วย ในการนี้ยังได้กล่าวให้กำลังใจกับครูและผู้สนใจที่มาเข้าร่วมเสวนา โดยมูลนิธิฯ ได้ใช้กิจกรรมการจัดเสวนาเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานขับเคลื่อนความรู้สำหรับครูผู้สอนในทุกระดับการศึกษาด้วย

ในวงเสวนาได้มีการแลกเปลี่ยนในประเด็นสำคัญร่วมกันใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1) การศึกษาเพื่อสร้างโอกาส 2) การจัดการเรียนรู้ โดยมีประเด็นร่วมคือการสร้างงานเชื่อมโยงกับสังคมและท้องถิ่น และการสร้างนวัตกรรม เทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์เพื่อสังคม 3) การปรับตัวและทิศทางของอาชีวศึกษาในอนาคต โดยวิทยากรต่างได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ทั้งนี้ในเรื่องของการศึกษาเพื่อสร้างโอกาส ซึ่งครูหลายท่านต่างร่วมกับชี้ว่า อาชีวศึกษาได้สร้างโอกาสและช่องทางการเรียนรู้ในหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะทักษะอาชีพและการมีงานทำ ทำให้ผู้เรียนมองเห็นอนาคตการมีงานทำในหลากหลายอาชีพ ที่สำคัญอาชีวศึกษายังได้โอกาสกับนักศึกษาที่ไม่ได้อยู่ในระดับการศึกษาทั่วไป เพราะมีหลักสูตรอบรมระยะสั้นพร้อมใช้งาน และหลักสูตรพิเศษสำหรับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ ดังที่ ครูเกษมสุข ชัยชิตาทร ครูขวัญศิษย์ 2562 วิทยาลัยสารพัดช่างพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้กล่าวว่า นักศึกษาที่อยู่ในเรือนจำได้รับการศึกษาที่เท่าเทียม และเมื่อออกมาสู่สังคม มีอาชีพสุจริตมากกว่าร้อยราย การเรียนการสอนสร้างโอกาสให้การทำงานจริง และถ่ายทอดแนวทางเรื่องราวของสังคมภายนอก เพื่อเตรียมความพร้อมการใช้ชีวิตกลับเข้ามาสู่สังคม “ถ้าไม่มีการศึกษาก็จะกลับไปทำผิดซ้ำ” อาชีวศึกษาทำให้เกิดหนทางและแง่คิดในการทำอาชีพมีรายได้ทำให้ครอบครัวภาคภูมิใจ เป็นต้น

ส่วนด้านการจัดการเรียนรู้เพื่อการสร้างงานเชื่อมโยงกับสังคมและท้องถิ่น ซึ่งครูสิทธิศักดิ์ อาจหาญ ครูขวัญศิษย์ 2564 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ ครูผู้ใช้ PBL ผสานความรู้ทั้งเกษตร เศรษฐศาสตร์ กฎหมาย และการวิจัย ส่งเสริมการสร้างอาชีพและรายได้ให้กับศิษย์ มองว่า การเรียนรู้ที่ใช้บริบทชีวิตจริงและเป้าหมายการเรียนรู้ของผู้เรียนมาเป็นโจทย์ของการสร้างการเรียนรู้จะทำให้ผู้เรียนมีความมุ่งมั่นและแรงบันดาลใจ เช่น นักศึกษาที่มีบริบทเป็นเกษตรกร นักศึกษาที่อยากสร้างอาชีพเป็นของตนเอง ซึ่งการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ชีวิตผู้เรียนคือสิ่งสำคัญที่จะสามารถพาผู้เรียนไปบรรลุเป้าหมายได้ ขณะที่ครูวารุณี เอี่ยมอารมณ์ ผู้สอนวิชาบัญชี ครูขวัญศิษย์ 2564 วิทยาลัยพณิชยการธนบุรี กรุงเทพมหานคร  มองว่าการเรียนการสอนของอาชีวศึกษา เป็นการสอนภาคปฏิบัติ ด้วยการมีมาตรฐานการปฏิบัติเมื่อจบในแต่ละชั้นปี เมื่อได้ปฏิบัติจึงทำให้เด็กเห็นความถนัดของตนเอง จึงทำให้เกิดโอกาสในการสร้างงานและใช้ในชีวิตจริงได้

ขณะที่ด้านการสร้างนวัตกรรม เทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์เพื่อสังคมนั้น ครูปิติกร ขำอ่อน ครูผู้สอนสาขาวิชาแมคคาทรอนิกส์ ครูยิ่งคุณ 2562 วิทยาลัยเทคนิคสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม ผู้ส่งเสริมการเรียนรู้ด้านปัญญาประดิษฐ์ สร้งทีมหุ่นยนต์หอยหลอด ชุดสาธิตการควบคุมระบบไฟฟ้าภายในตัวบ้านด้วย Smart Phone และพัฒนานวัตกรรมใหม่ มองว่า ในสาขาการสร้างนวัตกรรมและปัญญาประดิษฐ์ปัจจุบันกำลังเติบโตและเป็นที่ต้องการ แต่อาชีวศึกษาต้องสร้างมาตรฐานต่าง ๆ ทั้งครู เครื่องมือ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น ให้เห็นทักษะและโอกาสในการทำงานทั้งในประเทศ และต่างประเทศ รวมถึงการพัฒนาและระดับคุณภาพทั้งระบบให้สูงขึ้น โดยครูเกษมสุข ชัยชิตาทร ได้สนับสนุนว่า การสอนเพื่อสร้างนวัตกรรมนั้นให้เริ่มจากปัญหาและโจทย์ใกล้ตัว เช่น กระเป๋ากันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด จุกน้ำปลากันน้ำกระเด็น หมวกกันน็อคพร้อมชุดกันฝน ฯลฯ เป็นโจทย์ที่นักศึกษาคิดสร้างนวัตกรรมเพื่อใช้ในชีวิต ซึ่งนำไปสู่สร้างสรรค์นวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับรางวัลในหลายระดับและการจดสิทธิบัตรในหลายรายการ

นอกจากประเด็นที่กล่าวมา ผู้เข้าร่วมเสวนาร่วมกันสะท้อน การปรับตัวและทิศทางของอาชีวศึกษาในอนาคต โดยวิทยากรต่างได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์  โดยครูสิทธิศักดิ์ อาจหาญ ได้กล่าวถึงทิศทางการอาชีวศึกษาต่อไปไว้ว่า ครูที่มีคุณภาพ ผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ “ครูต้องมีใจในความเป็นครู อยู่กับลูกศิษย์ และได้อย่างใจลูกศิษย์ ร่วมทุกข์ร่วมสุข สร้างให้ลูกศิษย์มีอาชีพที่ดี และเปลี่ยนแปลงชีวิต”  ครูประเสริฐ แสงโป๋ ครูยิ่งคุณ 2560 วิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มองประเด็นร่วมคือการเน้นทักษะอาชีพให้กับนักเรียน ได้พยายามผลิตนักศึกษาให้ “พร้อมใช้” สามารถไปสู่ข้างนอกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควรพัฒนาทั้ง 1) ครู มีความเสียสละ มี mindset รับฟังนักเรียนให้มากขึ้น 2) นักเรียน ต้องยอมรับในสิ่งที่คุณครูสอน ต้องเป็นน้ำที่ไม่เต็มแก้ว มีความรับผิดชอบ ซื่อสัตย์ สุจริต 3) ผู้บริหาร ต้องการจัดการคืนครูให้กับห้องเรียน อยู่กับนักเรียน มีเวลากับการสอนมากขึ้น นักเรียนจะได้เรียนรู้อย่างเต็มที่ 4) ชุมชน สถานประกอบการ ส่งผู้เชี่ยวชาญมาเป็นวิทยากร มากำหนดหลักสูตร และการบริจาคเพื่อสนับสนุนต่อการเรียนรู้ให้มีอุปกรณ์ที่ครบถ้วน

ทั้งนี้ ในช่วงอภิปรายแลกเปลี่ยนนั้น นางรื่นฤดี สินธวาชีวะ ผู้อำนวยการวิทยาลัยสารพัดช่างพระนครศรีอยุธยาได้ร่วมสะท้อนว่า“การศึกษาสร้างคน อาชีวะสร้างอาชีพ” ต้องมีความร่วมมือ ทั้งรัฐเอกชน และสถานประกอบการ ว่าต้องการบุคลากรในลักษณะแบบไหน เพื่อพัฒนาลูกศิษย์ให้ตรงกับความต้องการ ด้าน ดร.ชัดเจน ไทยแท้ ชี้แง่คิดจากเวทีว่า “ครูจะพานักศึกษาไปสู่การสร้างได้ต้องรู้จักเด็กตรงหน้าให้เพียงพอ ได้เห็นคุณค่าของครูที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของลูกศิษย์” ขณะที่ครูมาลิณี ชมพูวิเศษ โรงเรียนเทศบาลวัดตองปุโบราณคณิสร ครูขวัญศิษย์ ปี 2564 ผู้จัดการสอนคณิตศาสตร์ระดับประถมศึกษา ที่มาร่วมงานเสวนายังได้ร่วมสะท้อนแลกเปลี่ยนความเห็นโดยการเห็นประโยชน์จากวงเสวนาที่จะไปเชื่อมโยงกับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะในส่วนของการแนะแนวนักเรียนที่จะทำให้เด็กเห็นโอกาสและช่องทางของการศึกษาต่อเพื่อการมีงานทำในอนาคต นอกจากนี้นางอำไพพิเศษ บุนนาค ผู้อำนวยศูนย์การศึกษาพิเศษพระนครศรีอยุธยา ยังได้ร่วมสะท้อนเวทีด้วยว่า การสร้างนวัตกรรมที่ครูและนักศึกษาอาชีวศึกษาได้สร้างขึ้นนั้นจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อเด็กที่มีความต้องการพิเศษ เพราะนวัตกรรมที่ออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาหรือเพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานได้มีนวัตกรรมและเครื่องมือเครื่องใช้การดำรงค์ชีพ ซึ่งจะได้ทำความร่วมมือร่วมกันระหว่างศูนย์การศึกษาพิเศษและอาชีวศึกษาเพื่อการดำเนินงานต่อเนื่องเพื่อประโยชน์ของนักเรียนนักศึกษาต่อไป

นอกจากนี้ ในวงเสวนา ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า ผู้จัดการสำนักงานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ยังได้กล่าวด้วย “เวทีเสวนาสัญจรวันนี้ เราเห็นได้ว่า คุณครูทั้ง 4 ท่าน จะมีนักเรียนอยู่ในหัวใจ และคิดอยู่ตลอดเวลาว่าจะทำอย่างไรให้นักเรียนประสบความสำเร็จและมีโอกาสที่เขาจะสร้างงาน สร้างอาชีพในทุกมิติที่เขาสามารถทำได้” ซึ่งการจัดเสวนาที่มูลนิธิฯ ได้ดำเนินงานมา ไม่เพียงแต่อยากเห็นการแบ่งปันประสบการณ์ร่วมกัน แต่หวังให้เกิดการขับเคลื่อนในภาพรวมที่จะรวมพลังกันด้วย และมูลนิธิฯ ก็จะมีกิจกรรมเช่นนี้อย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมสนับสนุนให้ครูได้มีเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้และต่อยอดการทำงานต่อไป ดร.เบญลักษณ์ กล่าวทิ้งท้าย 

หลังจบเวทีการเสวนาสัญจรดังกล่าวแล้ว ยังได้มีกิจกรรมหลักสูตรอบรมระยะสั้นเรื่อง “อาหารพร้อมขาย” ให้กับผู้สนใจในภาคบ่ายด้วยเพื่อนำไปประกอบอาชีพต่อไป

ประมวลภาพกิจกรรมช่วงเช้า

« ของ 4 »

ประมวลภาพกิจกรรมช่วงบ่าย