เครือข่ายครูภาษาไทยร่วมขับเคลื่อนการศึกษารับการกลับสู่ชั้นเรียนและโรงเรียนอีกครั้งของนักเรียน เร่งฟื้นภาวะถดถอยทางภาษาไทย

มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีได้จัดให้มีการเสวนาการจัดการเรียนรู้เพื่อผู้เรียนยุคใหม่ : ตัวแบบและบทเรียนจากครูเครือข่ายรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีในประเทศไทย เรื่อง “ ภาษาไทยและการสื่อสาร​ ฟัง​ พูด​ อ่าน​ เขียน​ รู้คิด​ รู้​ใช้ ” วันจันทร์ ที่ 13 มิถุนายน 2565 เวลา 09:30 – 12:00 น. โดยมีวิทยากร ได้แก่ ครูจุฑามาศ  จันทวงษ์วานิชย์ ครูรางวัลยิ่งคุณปี 2558 โรงเรียนบ้านโพธิ์ดอนหวาย จังหวัดบุรีรัมย์  ครูผู้ใช้ “ใจ” สอนชีวิต แก้ปัญหา “อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้” ด้วยเทคนิคการ “จับคู่” ครูผู้เสียสละรับนักเรียนกลุ่มเสี่ยงมาอุปการะเลี้ยงดูที่บ้าน เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นกับเด็ก  ครูอรพินท์ แสนรักษ์  ครูรางวัลยิ่งคุณปี 2558 โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 52 (ชุมชนบ้านต้นไพ) จังหวัดปัตตานี ครูผู้ทำงานในพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ และวัฒนธรรม ในจังหวัดปัตตานี เข้าถึงครอบครัวนักเรียนโดยการบูรณากรวิถีมุสลิม  นอกจากนี้ยังเป็นครูผู้สร้างเจตคติที่ดีในการเรียนรู้ภาษาไทยให้เกิดขึ้นกับเด็กนักเรียน แล ครูวิษณุ พุ่มสว่าง ครูรางวัลยิ่งคุณปี 2564 โรงเรียนกระทุ่มแพ้ววิทยา จังหวัดปราจีนบุรี ครูผู้ใช้ทักษะในการแต่งกลอน อ่านกลอนในการเปลี่ยนเด็กที่ไม่มีใครเอาให้มีคุณค่า อย่าง เด็กหลังห้อง  สิงห์พ่นควัน เซียนโดดเรียน ชอบนั่งหลับ ผ่านการเพาะเมล็ดพันธุ์นักกลอนแบบที่ครูถนัด โดยใช้ใจเชื่อมใจ และตัวแทนนักศึกษาที่เข้าร่วมเสวนาคือ นางสาวกรุณา มูลละ  นักศึกษาคณะครุศาสตร์  มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย ดำเนินรายการโดย นายจิรศักดิ์  อุดหนุน สถาบันรามจิตติ คณะทำงานวิชาการ พร้อมด้วยคณะทำงานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมออนไลน์ 30 ท่าน และผ่านการสตรีมมิ่ง

ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า ผู้จัดการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี

ในเวทีเสวนาดังกล่าวได้รับเกียรติจาก ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า ผู้จัดการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ประธานกล่าวเปิดวงประชุม โดยท่านดร.เบญจลักษณ์ ได้กล่าวเน้นย้ำถึงสิ่งหนึ่งที่ทางมูลนิธิฯทำ คือ การมุ่งเน้นสรรหาครูในศาสตร์สาขาต่างๆในแต่ละจังหวัดเข้าร่วมเป็นเครือข่ายครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ซึ่งทุกๆท่านมีความทุ่มเท ได้เห็นถึงแนวทางการจัดการเรียนการสอน การจัดการชั้นเรียน และเทคนิคการสอนต่างๆที่หลากหลาย จึงอยากที่จะเป็นสื่อกลางในการเผยแพร่เรื่องราวต่างๆเหล่านี้ให้กับเพื่อนครูทุกท่าน 

ในเวทีเสวนาดังกล่าว คณะวิทยากรต่างร่วมกันสะท้อนผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด – 19 ที่ทำให้เด็กๆต้องห่างหายไปจากห้องเรียนนานกว่า 2 ปีด้วยกัน ความไม่พร้อมในการเรียนรู้ของเด็กที่ต้องกลับมาเรียนในชั้นเรียนปกติ  พัฒนาการของเด็กๆที่ไม่พร้อมอย่างที่ควรจะเป็นตามระยะเวลาที่ล่วงเลยมาถึงปัจจุบัน ซึ่งทางด้านคุณครูจุฑามาศ  จันทวงษ์วานิชย์ ที่ดูแลนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ซึ่งเป็นรอยต่อที่รับเด็กจากชั้นเด็กเล็กหรือระดับอนุบาลสะท้อนว่า เด็กขาดทักษะที่ควรมีเมื่อมาถึงระดับชั้นประถมปีที่ 1 อย่างมากต่างจากที่ก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด – 19 เช่น เด็กจำชื่อจริงนามสกุลจริงของตนเองเองไม่ได้ จำได้เพียงชื่อเล่น เพราะเด็กจะใช้เวลาอยู่บ้านมากตลอดปีที่ผ่านมา คนใกล้ตัวที่บ้านจะเรียกเพียงชื่อเล่น ทำให้เด็กจำชื่อจริงของตนเองไม่ได้  นอกจากนี้เด็กยังอยู่กับโทรศัพท์และติเกมส์ เมื่อมาอยู่ในห้องเรียนมักเหม่อลอย เป็นต้น คุณครูเองจึงต้องใช้กระบวนการและกิจกรรมมาช่วยปรับช่วยพัฒนาเด็กๆใหม่ตั้งแต่ต้น

แม้ในเด็กเล็กจะพบปัญหาแต่ในเด็กที่โตขึ้นในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นเองกลับพบสข้อสังเกตที่น่าสนใจ โดย ครูอรพินท์ แสนรักษ์  เล่าให้ฟังด้วยความแปลกใจว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ทำให้ต้องจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ นักเรียนมีทักษะการสื่อสารภาษาไทยดีขึ้น 80 % เนื่องจากต้องเรียนออนไลน์ และสื่อสารกับเพื่อนและครูในกิจกรรมการเรียนการสอน นอกจากนี้เด็กยังมีทักษะชีวิตเพิ่มมากขึ้นจากการที่ต้องอยู่บ้าน  แต่ครูอรพินเองได้พบปัญหาเช่นเดียวกัน คือ นักเรียนติดการใช้ภาษา Social ซึ่งส่งผลต่อการเขียนภาษาไทยในทุกระดับชั้นโดยมีการติดการลดทอนตัวอักษรหรือใช้ตัวอักษรที่แปลกไปจากตัวอักษรที่ถูกต้อง เช่น เทอ , อะไยเหยอ เป็นต้น  โดยครูได้ใช้กระบวนการให้นักเรียนช่วยกันรวบรวมคำที่ใช้ผิดกันมาช่วยกันหาคำที่ถูกต้อง หาความหมาย และนำคำเหล่านั้นมาแต่งประโยค และเรื่องสั้น เพื่อช่วยแก้ปัญหาการติดใช้คำจากภาษา Social และได้ฝึกทักษะภาษาไทยไปด้วย

เช่นเดียวกัน ทางด้านครูวิษณุ  พุ่มสว่าง เองพบปัญหานักเรียนเกิดภาวะถดถอยทางภาษาไทยเช่นเดียวกัน คือฟังไม่รู้เรื่อง เขียนไม่รู้เรื่อง และเขียนไม่เป็น ซึ่งครูวิษณุเองได้เน้นการคดเลือกสื่อการสอนที่ครูผู้สอนหลากหลายท่านได้คิดค้นและสร้างไว้ในโลกอินเตอร์เน็ตมาสร้างความน่าสนใจในการดึงนักเรียนให้สนุกสนานกับการเรียนรู้ เมื่อนักเรียนสนใจและสนุกสนานกับบรรยากาศการเรียนรู้แล้ว จะเกิดการเรียนรู้ในภาษาไทยที่ดี นอกจากนี้ครูวิษณุยังเน้นไปที่การเข้าถึงจิตใจเด็ก สร้างความเข้าใจ ไว้ใจ เชื่อใจต่อตัวนักเรียน ในการดึงให้นักเรียนกลับมาสนใจชั้นเรียนและเห็นคุณค่าของตนเองอีกด้วย โดยเน้นหลักการสำคัญ 4 ข้อ คือ 1. ฝึกฟังให้เข้าใจ 2. เรียนอะไรตั้งหน่วยเอง(นักเรียนเลือกเนื้อหาเอง) 3. ค้นหาความเก่งจากพลังข้างใน และ 4. กระตุ้นแรงบันดาลใจให้ลงมือทำ 

จากข้างต้นจะพบว่าสิ่งที่ครูทุกท่านเผชิญเหมือนกันคือ การถดถอยทางภาษาไทยที่เป็นผลกระทบจากการที่นักเรียนต้องห่างจากสถานศึกษาเป็นเวลากว่า 2 ปี ใช้เวลาส่วนใหญ่กับการพบเจอครู และเพื่อนผ่านช่องทางออนไลน์  ใช้เวลานอกหน้าจออยู่กับบุคคลภายในบ้าน และท่องโลก Social รวมถึงเล่นเกมออนไลน์ต่างๆ ทำให้ครูทุกท่านต้องปรับพื้นฐานเรื่องภาษาไทยกันใหม่ ต้องใช้กระวนการและสื่อการสอนที่หลากหลายเพื่อกระตุ้นและดึงนักเรียนกลับเข้าสู่บรรยากาศของชั้นเรียนที่ขาดหายไป ซึ่งการสร้างแรงจูงใจให้เด็กรักในภาษารวมถึงการสร้างความไว้วางใจ เชื่อใจที่เด็กมีต่อครูเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการสร้างให้เกิดการเรียนรู้ที่ดีในเด็กทุกๆช่วงวัยไม่ว่าจะเด็กชั้นประถมจนถึงมัธยมศึกษา ซึ่งจะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีจากความรู้สึกรักและสนใจชอบที่จะทำกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆที่ครูจัดให้