สรุปการเสวนา “ครูผู้นำการศึกษาชี้ความสำคัญของการศึกษาในช่วงปฐมวัยสู่รอยต่อประถมศึกษา จุดเปลี่ยนแห่งการเตรียมพื้นฐานอนาคตที่ดีสำหรับเด็ก”

มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีได้จัดให้มีการเสวนาการจัดการเรียนรู้เพื่อผู้เรียนยุคใหม่ : ตัวแบบและบทเรียนจากครูเครือข่ายรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีในประเทศไทย ครั้งที่ 2 หัวข้อ “การส่งเสริมพัฒนาการเรียนรู้และการเตรียมพื้นฐานการเรียนรู้ที่ดีที่เหมาะสมกับช่วงวัยในบริบทใหม่” วันเสาร์ ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2565 โดยมีวิทยากร ได้แก่ ครูสุเทพ เท่งประกิจ ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี 2562 โรงเรียนบ้านคลองน้ำใส อำเภอกาบัง จังหวัดยะลา ดร.นฤมล เนียมหอม ครูขวัญศิษย์ 2562 โรงเรียนทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กรุงเทพมหานคร ครูปรีชา สุวรรณเจริญ ครูขวัญศิษย์ 2564 โรงเรียนอนันตา เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร นางสาวอาซีซะห์ สะมะแอ นักศึกษาหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จังหวัดยะลา และนางสาวอรัญญา  สุดสง่า  นักศึกษาสาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี จังหวัดลพบุรี ดำเนินรายการโดย นายสรรชัย หนองตรุด รองผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติ คณะทำงานวิชาการ พร้อมด้วยคณะทำงานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมออนไลน์ 55 ท่าน และผ่านการสตรีมิง

ในเวทีเสวนาดังกล่าว คณะวิทยากรต่างร่วมกันสะท้อนมุมมองความคิดเห็นเกี่ยวกับสภาพบริบทของผู้เรียนยุคใหม่ การเปลี่ยนแปลงในบริบทของสังคมและสิ่งแวดล้อมทางการศึกษาที่เปลี่ยนไป รวมถึงผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ทำให้ต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ยุคปัจจุบัน รวมถึงการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาร่วมการจัดการเรียนการสอน ออกแบบการเรียนรู้ภายใต้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น อีกทั้งยังเน้นการทำงานร่วมกันกับครูผู้สอนและผู้ปกครอง และนักเรียน ซึ่งกรณีครูปรีชา สุวรรณเจริญ ซึ่งจัดการเรียนการสอนระดับปฐมวัยและประถมศึกษา เล่าว่า โรงเรียนอนันตาใช้นวัตกรรมการศึกษาของมอนเตสซอรี่  ห้องเรียนของครูนั้นเป็นห้องเรียนที่ไม่เหมือนห้องเรียนทั่วไป จะเป็นการเรียนร่วม มีนักเรียนคละวัยเรียนร่วมกัน และยังเป็นห้องเรียนสร้างความเท่าเทียมอีกด้วย มีเด็กหลากหลายจากบริบทครอบครัว มีเด็กต้องการพิเศษที่ครูต้องเข้าใจบริบทและธรรมชาติของเด็ก เด็กทุกคนต้องการพื้นที่ร่วมกันกับคนอื่นๆ ได้เติมเต็มกัน เรียนรู้ไปด้วยกัน และสิ่งที่น่าสนใจของโรงเรียนอนันตาคือไม่มีเสียงกริ่งหมดเวลา นักเรียนจะรู้เวลาและจัดช่วงเวลาการเรียนรู้ของตัวเองได้ สามารถจัดการดูแลกันเองได้ และนักเรียนมีพื้นที่แสดงความต้องการของตัวเองว่าวันนี้จะเรียนวิชาอะไร

ทั้งนี้ วิธีการที่ให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ตามความสนใจของตัวเองได้นั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงโรงเรียนอนันตาเท่านั้น ยังเกิดขึ้นทั้งในห้องเรียนของคุณครูนฤมล เนียนหอม ที่จัดการสอนตั้งแต่ระดับปฐมวัยถึงประถมศึกษา นักเรียนเป็นเด็กจากบริบทครอบครัวที่ผู้ปกครองส่วนใหญ่เป็นอาชีพแรงงานหรือรับจ้าง แต่มีความตั้งใจที่จะให้ลูกได้รับการศึกษาที่ดีมีคุณภาพ การจัดการสอนใช้หลักการจัดการศึกษาปฐมวัย โดยเน้นการส่งเสริมพัฒนาการรอบด้าน สำหรับเด็กเล็กนั้น หากเราเร่งรัดวิชาการมากจนเกินไป หรือยัดเหยียดความรู้ให้กับเด็กเล็กๆ จะเป็นการทำลายพัฒนาการ ซึ่งทำให้พัฒนาการที่กำลังเติบโตและมีค่าของเด็กจะสูญหายไป นอกจากนี้ในด้านของการทำงานร่วมกันของทุกฝ่าย คุณครูได้เล่าการทำงานกับครูด้วยกันว่าในการจัดการเรียนการสอนมีการพูดคุยแนวทางในการจัดการเรียนการสอนร่วมกันกับครูในโรงเรียน รวมถึงนักศึกษาฝึกสอนที่มาฝึกประสบการณ์ เพื่อให้มีแนวทางในการจัดการเรียนการสอนไปในทิศทางเดียวกันโดยเน้นการพูดคุย เสนอแนะซึ่งกันและกัน รวมถึงไอเดียจากนักศึกษาฝึกสอนด้วยซึ่งบรรยากาศการทำงานร่วมกันครูใช้วิธี “ตรวจสอบซึ่งกันและกัน” ทำให้เกิดการรับฟังกันและกัน กล่าวคือ “บรรยากาศการทำงานร่วมกันดีทำงานง่าย  บรรยากาศไม่ดีทำงานยาก” ในส่วนของการทำงานร่วมกับผู้ปกครองครูเน้นว่าคือการ “สร้างความเข้าใจร่วมกัน” และควรทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องอย่างเช่นการสอนนักเรียน ไม่ใช่อบรมเพียงครั้งเดียวแล้วจบต้องมีการติดตาม พูดคุย และทำอย่างต่อเนื่องชุมชนถึงจะดีได้

ขณะที่ครูสุเทพ เท่งประกิจ ครูผู้จัดการศึกษาระดับปฐมวัยจนถึงมัธยมศึกษา โรงเรียนบ้านคลองน้ำใส จังหวัดยะลา มองว่า การศึกษาในพื้นที่ชายแดนภาคใต้โดยเฉพาะกรณีที่ชุมชนคลองน้ำใสจะมีความแตกต่างจากที่อื่น เพราะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องเป็นการเรียนรู้วิถีชีวิต ซึ่งพยายามปลูกฝังหรือสร้างให้นักเรียนค้นหาตัวเองตั้งแต่เล็กๆ เพื่อให้นักเรียนได้ทำกิจกรรมที่หลากหลาย ได้ประสบการณ์ผ่านการเรียนรู้วิถีชีวิต ได้ทดลองทำอาหาร เป็นช่างไม้ ช่างตัดผม เพื่อค้นหาเส้นทางในอนาคตของนักเรียน มีทักษะติดตัว นอกจากนี้ยังแสวงหาวิธีการยกระดับคุณภาพของโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลให้มีคุณภาพได้ไม่แพ้โรงเรียนในเมืองภายใต้บริบทจำกัดนี้

นอกจากนี้ นางสาวอาซีซะห์ สะมะแอ นักศึกษาหลักสูตรครุศาสตร์บัณฑิต คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ได้ร่วมสะท้อนความเห็นจากการที่ได้ฝึกสอนว่า ตนเองได้เรียนการเป็นครู ได้เรียนรู้ภาระงานของคุณครูที่ไม่ได้มีงานสอนเท่านั้น แต่ยังมีภาระหน้าที่อื่นๆ ที่ได้พบเจอ เช่น การจัดทำสื่อ การปรับปรุงพัฒนาโรงเรียน งานสัมพันธ์ชุมชนทำให้ได้รู้ว่า ครูไม่ได้มีแค่หน้าที่สอนเท่านั้น ยังต้องเป็นทุกอาชีพในเวลาเดียวกัน ซึ่งตรงจุดนี้ครูสุเทพ ช่วยเสริมว่า ถ้าเรารับเข้ามาในอาชีพครูแล้วงานการต่างๆที่จะเข้ามาจะไม่ใช่เพียงงานสอนอย่างเดียว เราจึงต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการทำงาน

นางสาวอรัญญา สุดสง่า นักศึกษาสาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี ได้ใช้หลักการจัดการเรียนการระดับปฐมวัยโดยไม่เร่งรัดทางวิชาการมากเกินไปอย่างที่คุณครูนฤมลได้ให้หลักการไว้เช่นเดียวกัน  โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับเด็กโดยเน้นความยืดหยุ่นในการจัดการเรียนการสอน มุ่งสร้างความท้าทาย โดยเปิดโอกาสให้เด็กแก้ปัญหาด้วยตนเอง ใช้ความสร้างสรรค์โดยเปิดโอกาสให้เด็กได้ลองคิดลองทำในหน่วยการเรียนรู้ต่างๆ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในภาพสรุปบทเรียนร่วมจากวิทยากรทุกท่านได้ว่า

1) การออกแบบการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับธรรมชาติวัยของผู้เรียนคือสิ่งสำคัญมาก การเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัยคือการเตรียมความพร้อมและส่งเสริมพัฒนาการอย่างรอบด้าน การเร่งรัดวิชาการก่อนที่เด็กจะถึงพร้อมเป็นการทำลายมากกว่าสร้างสรรค์ สิ่งเหล่านี้ยังจำต้องสร้างความรู้ความเข้าใจกับผู้ปกครองและสังคมไทย

2) ครูที่ดีต้องเข้าใจธรรมชาติวัยและบริบทความหลากหลายของครอบครัวของเด็กนักเรียน เพราะครอบครัวเป็นพื้นฐานของการเติบโต ดังนั้นการทำงานร่วมกับผู้ปกครองจึงมีความหมายมากกว่าการสื่อสาร แต่หมายรวมถึงการสร้างความรู้ความเข้าใจในมิติของการศึกษาเพื่อให้ผู้ปกครองมีบทบาทในการส่งเสริมพัฒนาการเรียนรู้ของลูกๆ ไปพร้อมๆ กับการมาโรงเรียนด้วย บทบาทของครูจึงต้องเข้าไปช่วยสนับสนุนการเรียนรู้และพัฒนาพ่อแม่ โดยเฉพาะในบริบทของครอบครัวที่ไม่ได้มีความพร้อมด้านการศึกษาหรือเวลาในการดูแลลูก

3) เด็กเล็กๆ มีความสนใจใฝ่รู้และช่างสังเกต เด็กมีศักยภาพในการเรียนรู้ด้วยตนเอง การตั้งคำถามของเด็กคือการนำไปสู่การแสวงหาความรู้ เช่นเดียวกับการ “ตั้งคำถามกลับของครู” ที่จะนำไปสู่กระบวนการทำงานร่วมกันในการค้นคว้าหาความรู้ตามธรรมชาติวัยของเด็ก ดีกว่าการให้คำตอบสำเร็จรูป

4) การใช้สื่อส่งเสริมพัฒนาการควรไปพร้อมๆ กับการออกแบบกิจกรรมที่เหมาะสม อย่าทิ้งเด็กไว้กับสื่อโดยขาดการดูแลเอาใจใส่ แต่ให้ใช้สื่อเสมอเป็นเครื่องมือส่งเสริมการเรียนรู้ และครูต้องเรียนรู้จากกระบวนการเรียนและการสร้างงานของเด็กๆ 4) เด็กๆ สามารถ

5) การทำงานของครูกับผู้บริหารและเพื่อนร่วมงานสำคัญมาก เพราะเป็นพลังของการข่วยคิดช่วยออกแบบการพัฒนาเด็ก พัฒนาการศึกษา และช่วยการแก้ปัญหาที่มีทางเลือกที่เหมาะสมตามสภาพจริง บริบทจริงและกรณีเฉพาะ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นเด็กทั่วไปในภาพรวม หรือเด็กที่มีความต้องการพิเศษ เด็กที่มีพัฒนาการล่าช้าที่ต้องให้ความช่วยเหลือ ล้วนแล้วแต่ต้องได้รับความเอาใจใส่ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ครูจึงต้องทำทั้งงานการจัดการเรียนรู้ส่งเสริมพัฒนาการและงานหลังบ้านที่ต้องสนับสนุนกันและกันในการพัฒนาเด็กให้เต็มตามศักยภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์โควิดที่เด็กส่วนใหญ่จะต้องเผชิญภาวะ learning loss จากการปิดเรียนหรือการเรียนผ่านออนไลน์ จึงจำเป็นต้องมีเครื่องมือช่วยและพลังของครูและเพื่อนร่วมงานจะเป็นกลไกสำคัญในการช่วยสนับสนุนและป้องกันการสูญเสียโอกาสทางการเรียนรู้ให้น้อยที่สุด


ประมวลภาพ