พลังครูสู่พลวัตรแห่งการเรียนรู้ในโลกยุคใหม่

มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีได้จัดให้มีการเสวนาการจัดการเรียนรู้เพื่อผู้เรียนยุคใหม่ : ตัวแบบและบทเรียนจากครูเครือข่ายรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีในประเทศไทย เรื่อง “พลังครูยุคใหม่” เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2565 โดยมีวิทยากร ได้แก่ รศ.ลัดดา  ภู่เกียรติ  ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตพัฒนา กรุงเทพมหานคร    ครูรางวัลยิ่งคุณ ปี 2560 ครูวิษณุ พุ่มสว่าง โรงเรียนกระทุ่มแพ้ววิทยา จังหวัดปราจีนบุรี  ครูรางวัลยิ่งคุณ ปี 2564 ครูขัตติยา ปิยะรังสี  โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ ครูรางวัลขวัญศิษย์ ปี 2564 นางสาวกรุณา มูลละ นักศึกษาคณะครุศาสตร์  มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย และนายปรัชญา พวงเพ็ชร นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี ดำเนินรายการโดย นายสรรชัย  หนองตรุด พร้อมด้วยคณะทำงานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี และเครือข่ายครูในมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ผู้บริหาร บุคลากรทางการศึกษา และนักศึกษาที่สนใจ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมออนไลน์ 88 ท่าน และผ่านการสตรีมมิงบนช่องยูทูบของมูลนิธิรางวัลสมด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี PMCAF Channel

ทั้งนี้ ในเวทีเสวนาดังกล่าว วิทยากรต่างร่วมกันสะท้อนมุมมองความคิดเห็นเกี่ยวกับสภาพบริบทของผู้เรียนยุคใหม่ การเปลี่ยนแปลงในบริบทของสังคมและสิ่งแวดล้อมทางการศึกษาที่เปลี่ยนไป รวมถึงผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ซึ่งการจัดการเรียนการสอนในสภาพโลกาภิวัตน์ที่เปลี่ยนไปนี้ เทคโนโลยีสมัยใหม่ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญที่สุด ทำให้คุณครูต้องปรับตัวในเรื่องของการใช้เทคโนโลยีต่างๆ และพัฒนาทักษะของครูที่ควรมี ไม่ยอมแพ้ต่อเงื่อนไขที่ต้องเผชิญ

ครูขัตติยา ปิยะรังสี
กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่

ครูขัตติยา ปิยะรังสี ครูผู้สอนวิทยาศาสตร์ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ ได้สะท้อนว่า ในช่วงปีแรกของการแพร่ระบาดโควิด-19 โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัยได้เจอกับปัญหาที่ร่วมที่คล้ายกับพื้นที่ต่างๆ คือ การที่โรงเรียนต้องปิดสถานศึกษา เปลี่ยนรูปแบบการสอนจากออนไซด์เป็นออนไลน์ เผชิญกับความหลากหลายด้านความพร้อมที่ไม่เท่ากันของผู้เรียน learning loss ของผู้เรียน และความพร้อมของครูในการจัดการสอนภายใต้สถานการณ์นิวนอร์มอล รวมถึงความพร้อมในอุปกรณ์การเรียน และอื่นๆ แต่ทางโรงเรียนไม่หยุดที่จะผลักดันให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้แม้จะอยู่ในวิกฤตเช่นนี้ ทางผู้นำโรงเรียนและคุณครูทุกภาคส่วนต่างร่วมมือ ร่วมใจกันพูดคุยเพื่อหาทางออกให้กับปัญหาที่พบเจอจนสามารถก้าวผ่านมาได้ โดยครูขัตติยาก็ได้จัดการเรียนรู้ที่พยายามกระตุ้นให้ผู้เรียนตื่นตัวกับการเรียนการสอนที่ต้องสอนผ่านออนไลน์ เน้นให้ผู้เรียนได้เรียนรู้และสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองเน้นทรัพยากรในชุมชนและกิจกรรมเชื่อมโยงเนื้อหากับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ สังคมและการสร้างนวัตกรรมไปพร้อมๆ กัน

ครูวิษณุ พุ่มสว่าง กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ระดับมัธยมศึกษา
โรงเรียนกระทุ่มแพ้ววิทยา จังหวัดปราจีนบุรี

ด้านครูวิษณุ พุ่มสว่าง ครูสอนภาษาไทยระดับมัธยมศึกษา โรงเรียนกระทุ่มแพ้ววิทยา จังหวัดปราจีนบุรี  ใช้เทคนิคการสอนที่เน้นความสนใจของนักเรียนเป็นหลัก มีการสร้างบรรยากาศการเรียนการสอนด้วยแต่งกายคอสตูมให้สอดคล้องกับโจทย์เนื้อหาที่จะสอน เพื่อให้การเรียนการสอนวิชาภาษาไทยไม่น่าเบื่อ ทำให้ห้องเรียนสนุก นักเรียนมีเสียงหัวเราะ สนุกจากสิ่งที่เรียนรู้ สร้างความคลายเครียดจากวิชาเรียนต่างๆ เน้นส่งเสริมทักษะการสื่อสารผ่านการแลกเปลี่ยนสะท้อนคิด และสื่อสนับสนุนการเรียนรู้ต่างๆ

รศ.ลัดดา  ภู่เกียรติ  ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตพัฒนา กรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ รศ.ลัดดา  ภู่เกียรติ  ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตพัฒนา กรุงเทพมหานคร  สะท้อนว่า จากสภาพบริบทที่เปลี่ยนไปและผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการดำเนินการในหลายๆ ด้าน การจัดการเรียนการสอนถูกปรับตัวมาเน้นสอนออนไลน์เพราะเงื่อนไขสถานการณ์ ทั้งนี้ครูสามารถสร้างการเรียนรู้ที่ดีได้ทั้งระบบ โดยผู้บริหารต้องทำงานเชิงรุก เปิดโอกาสให้กับครูได้ส่งความคิดเห็น ให้ครูได้เรียนรู้ด้วยกันและแลกเปลี่ยนกันและกัน และร่วมกันออกแบบการจัดการเรียนการสอนและกิจกรรมต่างๆ ที่เหมาะสมกับสภาพเด็กๆ ที่แตกต่างกัน การเปิดโอกาสให้กับครูได้ร่วมมือกันได้แสดงความเห็นกันนั้น ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาอย่างมาก ครูและผู้บริหารในปัจจุบันจึงเผชิญกับความท้าทายที่ต้องเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อพัฒนาการศึกษาไปร่วมกัน  

นายปรัชญา พวงเพ็ชร นักศึกษาสาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี

ขณะที่ นายปรัชญา พวงเพ็ชร นักศึกษาสาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี ได้ร่วมแลกเปลี่ยนด้วยว่า ช่วงในปี 1-4 ที่ผ่านมา ได้มีการเตรียมตัวเป็นครูในรูปแบบออนไซต์ แต่เมื่อถึงเวลาที่ตัวเองต้องลงสนามจริง ต้องปรับเปลี่ยนการสอนให้เป็นในรูปแบบออนไลน์นั้นถือเป็นความท้าทายอย่างมาก จากการฝึกประสบการณ์ของนักศึกษาครู พบว่า สภาพการศึกษาและเครื่องมือการเรียนรู้ที่เปลี่ยนไป และบริบทเด็กที่หลากหลายแตกต่างกัน ทำให้นักศึกษาต้องปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับภาคสังคม บริบทของสถานการณ์ปัจจุบัน ปรับเปลี่ยนเทคนิคการสอนภาษาไทยจากการเรียนรู้มา โดยเฉพาะการมีสื่อที่เหมาะสมกับนักเรียนและเข้ากับสถานการณ์ให้มากที่สุด นางสาวกรุณา มูลละ นักศึกษาคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ได้พูดว่า “จากที่ได้ฟังคุณครูทั้ง 3 ท่าน รู้สึกชื่นชม ในแต่ละครั้งที่คุณครูพูดมาหนูจะจดคำสำคัญเพื่อที่จะเป็นเทคนิคให้ไปนำใช้ในอนาคต นำมาแก้ปัญหาในชั้นเรียน ชอบมากๆ ค่ะ” แม้ไวรัสโควิด-19 จะทำให้เกิดวิกฤตแก่การศึกษา แต่เป็นโอกาสให้กับทุกภาคส่วนได้มาเรียนรู้ร่วมกัน ท้ายที่สุด การเป็นครูที่ดีมีคุณภาพไม่ได้ขึ้นอยู่กับโรงเรียน สังกัด แต่ขึ้นอยู่กับตัวครูเอง ที่จะต้องคิดบวกในทุกสถานการณ์และพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ปรับmindset เปิดใจยอมรับการเปลี่ยนแปลง

นางสาวกรุณา มูลละ นักศึกษาคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย

นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมเสวนายังได้ร่วมแลกเปลี่ยนอภิปรายความเห็น เช่น รศ.ดร.พิมพันธ์ เดชะคุปต์ ได้ให้กำลังใจคุณครูประจำการและนักศึกษา และได้ชื่นชมประเด็นที่นักศึกษาทั้งสองท่านนำเสนอที่ใส่ใจเด็ก ไม่ลืมเด็กไว้ข้างหลังเพื่อที่เด็กเรียนช้าจะได้รับการช่วยเหลือจากเด็กที่เรียนเก่ง จะทำให้เกิดที่เรียกว่าความเสมอภาค และได้เสนอแนะในประเด็นกระบวนการเรียนการสอน อย่าลืมการนำไปใช้ ซึ่งขั้น Apply นี้ นักเรียนสามารถเสนอผลลัพธ์การเรียนรู้และเรื่องของสมรรถนะการเรียนรู้ (competency) ที่สุดท้ายอาจารย์ได้สรุปในสิ่งที่อยากให้ผู้ฟังได้เข้าใจว่า อยากจะให้เราลองประเมินว่า การเป็นครูซึ่งอยู่ในยุคศตวรรษ 21 หรือยุคแห่งสมรรถนะใหม่นี้ ครูต้องเปลี่ยนบทบาทจากเป็นผู้แสดงและก็นักเรียนเป็นผู้ชมมาเป็นผู้กำกับการแสดง เตรียมเรื่องราวต่างๆ ให้นักเรียนไปทำความเข้าใจ จากนั้นครูทำหน้าที่เป็นโค้ช เป็นผู้กำกับ เป็นที่เลี้ยง เพื่อให้กระบวนการเรียนรู้ที่ลึกซึ้ง และถ้าหากการเรียนรู้นั้นสามารถนำพาเด็กได้ความรู้และทักษะปฏิบัติ นักเรียนได้ attitude ที่ดี สิ่งที่จะตามมาก็คือนักเรียนจะได้ผลงาน ได้ผลผลิต เกิดการเรียนรู้ที่มีความหมาย

รศ.ดร.พิมพันธ์ เดชะคุปต์
ผู้เชี่ยวชาญด้านหลักสูตรและการสอน
อดีตหัวหน้าสาขาวิชาหลักสูตรและการสอน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในตอนท้ายของการเสวนายังได้มีประเด็นคำถามอีกมากมายและข้อเสนอให้มีการขับเคลื่อนสนับสนุนการทำงานของครูอย่างต่อเนื่องผ่านช่องทางต่างๆ ซึ่งสำหรับการจัดเสวนาเสวนาการจัดการเรียนรู้เพื่อผู้เรียนยุคใหม่ : ตัวแบบและบทเรียนจากครูเครือข่ายรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีในประเทศไทยจะจัดให้มีขึ้นในทุกเดือน ซึ่งผู้สนใจสามารถติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่เว็บไซต์มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี https://www.pmca.or.th ต่อไป

ชมย้อนหลัง

ประมวลภาพ