ครูสปป.ลาวชี้การจัดเรียนรู้ในปี 2021 การปรับตัวสู่อนาคต (เสวนาครูอาเซียน:ลาว-เวียดนาม ตอน 1)

เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีได้จัดให้มีการเสวนา “ความท้าทายของการจัดการเรียนรู้ในปี 2021 ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 : ประสบการณ์จากครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีประเทศสปป.ลาว และเวียดนาม” ครั้งที่ 2 ขึ้น โดยมีครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี (PMCA) จากประเทศสปป.ลาว ได้แก่ ครูคำซ้อย วงสัมพัน PMCA 2015  ที่ปรึกษาโรงเรียนมัธยมศึกษาสมบูรณ์ นครหลวงเวียงจันทน์ ครูคุนวิไล เคนกิติสัก  PMCA 2017 ครูใหญ่   โรงเรียนประถมศึกษาทองคัง นครหลวงเวียงจันทน์ ครูไพสะนิด ปันยาสะหวัด PMCA 2019 โรงเรียนมัธยมศึกษาสันติภาพ แขวงหลวงพระบาง ร่วมด้วยครูจากประเทศเวียดนาม ได้แก่ ครูตรัน ถิ ถี่ ยุง PMCA 2015  ผู้อำนวยการสำนักงานศึกษาธิการ จังหวัดหล่าวกาย ครูฟาน ถิ หนือ PMCA 2017  ที่ปรึกษาโรงเรียนมัธยมศึกษาความสามารถพิเศษ เจียน เล กวี๋ โดน จังหวัดดานัง ครูเลอ ทัน เลียม PMCA 2019 ครูสอนวิทยาศาสตร์ โรงเรียนมัธยมชนเผ่า ฮิมลาม จังหวัดเฮ่ายาง และอาจารย์ เหื่อง  (Nguyễn Xuân Hường) ผู้เชี่ยวชาญสำนักงานการศึกษา จังหวัด หล่าว กาย โดยมีครูเฉลิมพร พงศ์ธีระวรรณ PMCA 2015 ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดกระบวนการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ที่ปรึกษาโรงเรียนสุราษฎร์พิทยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ร่วมแลกเปลี่ยนสะท้อนคิด มีนายสรรชัย หนองตรุด ดำเนินรายการ คุณสุรชัย ดิ่งสวัสดิ์ คณะทำงานภาคพื้นที่สปป.ลาว-เวียดนามเป็นล่ามภาษาเวียดนาม โดยมีดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานมูลนิธิฯ กล่าวเปิดวงเสวนา พร้อมด้วยคณะทำงานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี สถาบันรามจิตติ และเครือข่ายครูในมูลนิธิฯ เข้าร่วมประชุมออนไลน์กว่า 50 ท่าน  

ทั้งนี้ บทเรียนร่วมจากประสบการณ์จากครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ประเทศ สปป.ลาว และเวียดนามในการจัดการเรียนรู้ในปี 2021 นั้นชี้ว่า จากจุดตั้งต้นของการจัดการเรียนรู้ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 คือการคำนึงถึงการเข้าถึงการเรียนรู้และสาระการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นสำคัญ เห็นจากความหลากหลายของวิธีการต่างๆ ที่ให้กับผู้เรียนที่แตกต่างกัน ผ่านการสนับสนุนเครื่องมือและสื่อการเรียนรู้ รวมไปถึงการสนับสนุนคุณภาพในการเตรียมการสอนออนไลน์ของครู โดยมีประเด็นที่น่าสนใจจากกรณีบทเรียนจากสปป.ลาว

กรณีประเทศสปป.ลาว สถานการณ์โควิด-19 ในสปป.ลาวก่อนช่วงสงกรานต์ปี 2021 ประเทศลาวถือได้ว่าเป็นประเทศ  “ปลอดโควิด-19” แห่งเดียวในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง แต่แม้จะเกิดการระบาดระลอกใหม่ในเดือนเมษายน 2021 ในพื้นที่นครเวียงจันทร์ และมีแนวโน้มผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ปลายเดือนเมษายน รัฐบาลสปป.ลาวประกาศล็อกดาวน์นครหลวงเวียงจันทร์ 14 วัน และหลายพื้นที่มีประกาศการปิดโรงเรียน ซึ่งส่งผลกระทบต่อครูและนักเรียนจำนวนมาก ทั้งครูคำซ้อย วงสัมพัน  ครูคุนวิไล เคนกิติสัก และครูไพสะนิด ปันยาสะหวัด แม้จะอยู่ต่างบริบทและพื้นที่ แต่ก็ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ครูทั้ง 3 ท่านมีจุดร่วมในการจัดการคือ โรงเรียนของครูได้มีการวางแผนร่วมกันอย่างเป็นระบบในการจัดการเรียนรู้เพื่อให้เหมาะกับสถานการณ์ทั้งในระดับชาติและระดับเมือง 

ปัจจุบัน เดือนมิถุนายน 2021 โรงเรียนสามารถกลับมาเปิดเรียนได้ในบางพื้นที่ โดยที่ผ่านมา รัฐบาลได้สนับสนุนให้ครูทุกคนได้รับวัคซีน (เข็มที่ 1) อย่างทั่วถึง ซึ่งมึวัคซีนให้เลือกหลายยี่ห้อโดยการจัดสรรของรัฐบาล ทำให้ครูปลอดภัยสามารถมาโรงเรียนได้ และจัดการเรียนการสอนได้ แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังการแพร่ระบาดในพื้นที่ และดูแลความปลอดภัยด้านสุขอนามัยในโรงเรียน เพื่อให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับนักเรียน 

กรณีของครูคุนวิไล เคนกิติสัก ซึ่งเป็นครูใหญ่ที่ดูแลโรงเรียนประถมศึกษาคุณภาพ เน้นการดูแลเด็กปฐมวัยโดยเด็กเตรียมประถมสามารถมาโรงเรียนได้ มีการจัดชั้นเรียนแบบสลับช่วงวัย (ชั้นเด็กเล็กและประถมศึกษา ป.1 ป.2 มาเรียนได้) และการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนที่มีจำนวนนักเรียนขนาดเล็ก เน้นการเรียนคุณภาพ ระดับประถมศึกษาปลายจัดการเรียนการสอนผ่านออนไลน์เรียนฐานที่บ้าน การสร้างทักษะพื้นฐานด้านการอ่านและคิดคำนวณและทักษะสำคัญสำหรับเด็กประถมศึกษาโดยเฉพาะทักษะชีวิต รวมถึงส่งเสริมให้พ่อแม่ผู้ปกครองมาร่วมทำงานกับโรงเรียนในการสนับสนุนการเรียนรู้ผ่านการสอนออนแฮนด์ อีกทั้งยังมีการสอนออนไลน์และผ่านออนแอร์ที่ครูเข้าไปมีบทบาทจัดทำบทเรียนออนแอร์ระดับประถมในระดับชาติให้ และยังเน้นการสนับสนุนบุคลากรใหมีทรัพยากรที่พร้อมในการดูแลนักเรียน เช่น สนับสนุนค่าโทรศัพท์ ค่าคอมพิวเตอร์โน้ตบุคและอินเทอร์เน็ตให้กับครูทั้งโรงเรียน สนับสนุนแท็บเล็ตสำหรับนักเรียนประถมศึกษาตอนปลาย (ยืม-คืนเครื่องมือ) ให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ผ่าน ผ่านแอปพลิเคชั่นต่างๆ และแอปคลังปัญญาลาว โดยร่วมมือกับองค์กรเทคโนโลยีและองค์กรเอชนในการสนับสนุนอุปกรณ์  เป็นต้น รวมถึงยังพัฒนาหลักสูตรและบทเรียนร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการและกีฬา สปป.ลาว 

ส่วนในระดับมัธยม ครูไพสะนิด ปันยาสะหวัด สอนภาษา สังคมและวรรณกรรมลาว และครูคำซ้อย วงสัมพัน ที่ปรึกษาด้านการสอนภาษาฝรั่งเศส ต่างเน้นการสอนทักษะด้านภาษาและการสื่อสารโดยนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และสื่อเทคโนโลยีมาช่วยในการสอนภาษา ต่างก็เน้นการใช้โปรแกรมในการจัดการเรียนรู้แบบออนไลน์ผ่าน “คลังปัญญาลาว” ที่ได้รวบรวมวิดีโอสื่อการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง และโรงเรียนสามารถนำไปใช้ประกอบการสอน รวมถึงเฟสบุคส์ ยูทูป และสื่อต่างๆ โดยจุดเน้นคือให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างมีคุณภาพมีทักษะสำคัญที่พร้อมจะไปเรียนต่อระดับสูงได้ 

ครูไพสะนิด ปันยาสะหวัด

ทั้งนี้ ครูไพสะนิด ปันยาสะหวัดยังเน้นเตรียมนักเรียนสำหรับสอบมาตรฐานระดับชาติ (ม.4/ม.7 สอบเส็ง) รวมถึงการติดตามช่วยเหลือนักเรียนถึงบ้านในกรณีนักเรียนที่ประสบความยากลำบากทางการเรียนหรือยากจน ส่วนครูคำซ้อย วงสัมพัน ยังเน้นการส่งเสริมโอกาสและยกระดับคุณภาพการศึกษา โดยโรงเรียนเป็นโรงเรียนใหญ่ที่ให้ความสำคัญกับห้องเรียน 2 ภาษา  โดยได้รับความช่วยเหลือจากกระทรวงต่างประเทศในการพัฒนาครูสอนภาษาฝรั่งเศสและการสนับสนุนการสอน นอกจากนี้ได้รับเครื่องโปรเจกเตอร์ คอมพิวเตอร์ เพื่อใช้ในการเรียนการสอนให้กับนักเรียน ทำให้สามารถสนับสนุนให้นักเรียนมีโอกาสสอบชิงทุนเพื่อศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาระดับปริญญาตรีในต่างประเทศได้  

อย่างไรก็ตาม ครูทั้ง 3 ท่านต่างมีจุดร่วมคือ วิธีการจัดการให้นักเรียนที่มีความสามารถในการเข้าถึงการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน ใช้ช่องทางการสื่อสารที่เหมาะสมในการสร้างความสัมพันธ์กับนักเรียนและผู้ปกครอง นักเรียนที่มีอุปกรณ์และเข้าถึงการเรียนในรูปแบบออนไลน์ได้ และนักเรียนที่ไม่สามารถเข้าถึงการเรียนรู้ออนไลน์ สามารถเรียนรู้จากคลังปัญญาลาว และครูจัดทำเอกสารบทเรียนและแบบฝึกหัดเพื่อให้เข้าถึงการเรียนรู้ นอกจากนี้ ครูได้จัดวงเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้สำหรับครูเพื่อสะท้อนความสำเร็จและข้อติดขัด รวมถึงสื่อสารความคิดเห็นจากนักเรียนและผู้ปกครองเพื่อพัฒนาแนวทางการจัดการเรียนรู้ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 

นอกจากนี้ในภาพรวม ครูสปป.ลาวส่วนใหญ่ ยังได้รับการสนับสนุนให้มีกิจกรรมพัฒนาตนเองในด้านทักษะการใช้เทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอนควบคู่ไปกับความสามารถในการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับบริบทของผู้เรียนและช่วงวัยของนักเรียน รวมถึงการทำงานเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ผู้ปกครองมาช่วยในการดูแลเด็กในกระบวนการเรียนการสอนด้วยโดยเฉพาะนักเรียนที่อยู่ในช่วงปฐมวัยและระดับประถมศึกษาเพื่อให้มีพื้นฐานการศึกษาที่ดี และเรียนรู้ต่อเนื่องตามระดับของการศึกษาขั้นพื้นฐาน และต่อยอดในระดับที่สูงขึ้น