ครูเวียดนามชี้ “ยุทธศาสตร์การศึกษายืดหยุ่นเท่าทัน โรงเรียนปิดแต่การเรียนรู้ต้องไม่ปิด” (กั้น) ปี 2021 (เสวนาครูอาเซียน:ลาว-เวียดนาม ตอน 2)


เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีได้จัดให้มีการเสวนา “ความท้าทายของการจัดการเรียนรู้ในปี 2021 ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 : ประสบการณ์จากครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีประเทศสปป.ลาวและเวียดนาม” ครั้งที่ 2 ขึ้น โดยมีครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี (PMCA) จากประเทศ สปป.ลาว ได้แก่ ครูคำซ้อย วงสัมพัน PMCA 2015  ที่ปรึกษาโรงเรียนมัธยมศึกษาสมบูรณ์ นครหลวงเวียงจันทน์ ครูคุนวิไล เคนกิติสัก  PMCA 2017 ครูใหญ่   โรงเรียนประถมศึกษาทองคัง นครหลวงเวียงจันทน์ ครูไพสะนิด ปันยาสะหวัด PMCA 2019 โรงเรียนมัธยมศึกษาสันติภาพ แขวงหลวงพระบาง ร่วมด้วยครูจากประเทศเวียดนาม ได้แก่ ครูฟาน ถิ หนือ PMCA 2017  ที่ปรึกษาโรงเรียนมัธยมศึกษาความสามารถพิเศษ เจียน เล กวี๋ โดน จังหวัดดานัง ครูเลอ ทัน เลียม PMCA 2019 ครูสอนวิทยาศาสตร์ โรงเรียนมัธยมชนเผ่า ฮิมลาม จังหวัดเฮ่ายาง และอาจารย์ เหื่อง  (Nguyễn Xuân Hường) ผู้เชี่ยวชาญสำนักงานการศึกษา จังหวัด หล่าว กาย โดยมีครูเฉลิมพร พงศ์ธีระวรรณ PMCA 2015 ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดกระบวนการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ที่ปรึกษาโรงเรียนสุราษฎร์พิทยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ร่วมแลกเปลี่ยนสะท้อนคิด มีนายสรรชัย หนองตรุด ดำเนินรายการ คุณสุรชัย ดิ่งสวัสดิ์ คณะทำงานภาคพื้นที่สปป.ลาว-เวียดนามเป็นล่ามภาษาเวียดนาม โดยมี ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานมูลนิธิฯ กล่าวเปิดวงเสวนา พร้อมด้วยคณะทำงานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี สถาบันรามจิตติ และเครือข่ายครูในมูลนิธิฯ เข้าร่วมประชุมออนไลน์กว่า 50 ท่าน  

ทั้งนี้ บทเรียนที่สำคัญจากกรณีประเทศเวียดนาม ชี้ว่า กระทรวงศึกษาธิการและฝึกอบรมเป็นหน่วยงานระดับชาติที่มีนโยบายส่งเสริมการจัดการศึกษาในสถานการณ์โควิด-19 ท่ามกลางบริบทและพื้นที่ โดยจุดเน้นในปี 2020 มีนโยบายสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้ปกครองว่า เด็กๆ จะปลอดภัยเมื่อโรงเรียน ลดโหลดเนื้อหาและเวลาในการจัดการเรียนการสอน โดยให้ลำดับความสำคัญของการเรียนรู้ตามหลักสูตร เน้นให้เรียนรู้ทางไกล เรียนรู้ด้วยตนเอง ส่วนในปี 2564 นโยบายเน้นความหยืดหยุ่นของการจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตร แม้โรงเรียนปิดแต่การเรียนรู้ต้องไม่ปิดหรือหยุดนิ่ง การเปิดสถานศึกษาแต่ละแห้งให้ประเมินสถานการณ์และความพร้อมบนฐานข้อมูลและภายใต้บริบทที่หลากหลาย สนับสนุนการจัดการเรียนรู้ออนไลน์ ให้มีเทคโนโลยีเข้าช่วยในการเรียนรู้ โดยมีการประสานความร่วมมือกับองค์กรเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาสนับสนุนการจัดการศึกษา 

ทั้งนี้ความท้าทายที่ประเทศเวียดนามเผชิญคือ มีครูและนักเรียนได้รับผลกระทบมาก ครูและนักเรียนต้องเผชิญกับการจัดการเรียนการสอนผ่านทางออนไลน์ สร้างความลำบากให้กับครูและนักเรียนในการเรื่องอุปกรณ์ แต่สิ่งที่ท้าทายประการแรกคือ คุณภาพของการศึกษา ตัวอย่างเช่นกรณีจังหวัดหล่าวกายที่อยู่ตอนเหนือของประเทศเวียดนาม มีนักเรียนประมาณ 2,000 กว่าคน และใน 2,000 คนนั้นเป็นเด็กชนเผ่า เป็นนักเรียนที่ขาดในด้านอุปกรณ์การเรียนรู้ ซึ่งขณะที่เมืองเกินเทอ ตอนใต้ของเวียดนาม ครูเลอทันเลียมก็พบความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงเทคโนโลยีโดยเฉพาะกับเด็กชนเผ่า วิธีการจัดการจึงต้องอาศัยการสอนออนแฮนด์และการมอบหมายกิจกรรมเชิงปฏิบัติและการติดตามผลเพื่อป้องกันการตกหล่นของนักเรียน  

เรื่องที่ 2 ในความท้าทายในการจัดการคือการจัดแพล็ตฟอร์มต่างๆ ในการเรียนออนไลน์ และการจัดทำคู่มือการเรียนให้กับนักเรียนที่ไม่สามารถเข้าถึงการเรียนออนไลน์ได้ ลดระดับของเนื้อหาสาระ ปรับหลักสูตรให้เหมาะสมกับการเรียนรู้ของเด็ก และประการสำคัญคือการปรับวิธีการสอน ปรับเนื้อหา ปรับเครื่องมือ ปรับมายเซ็ตของครูให้เท่าทันต่อสถานการณ์และลำดับความสำคัญของการจัดการในสถานการณ์วิกฤต ตัวอย่างเช่น กรณีจังหวัดหล่าวกายได้เซ็นต์สัญญากับองค์กรเทคโนโลยีเพื่อนำแพล็ตฟอร์มมาใช้ในด้านการศึกษา และได้รับนักเรียนเข้าศึกษาในปี 2021-2022 ด้วยแบบฟอร์มออนไลน์ และได้พัฒนาระบบดิจิตัลดีขึ้น นอกจากนี้ยังมีการอบรมทักษะการใช้แอพลิเคชั่นออนไลน์ให้กับครูทุกกลุ่ม ทุกสาขา และบางโรงเรียนได้ปรับเนื้อหาลดลงเพื่อให้เหมาะกับสถานการณ์ 

หรือกรณีของครูฟานถิหนือ ที่โรงเรียนมัธยมศึกษาความสามารถพิเศษ เจียน เล กวี๋ โดน จังหวัดดานัง ตอนกลางของเวียดนาม ได้ร่วมกับบริษัทไมโครซอฟในประเทศเวียดนามในการสนับสนุนอุปกรณ์และการฝึกอบรมให้กับบุคลากรทางการศึกษา ให้สามารถเข้าถึงระบบ software และ office 365 โดยครูไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพื่อใช้ในการเตรียมการจัดการเรียนรู้ออนไลน์ ซึ่งโรงเรียนสนับสนุนค่าใช้จ่ายสัญญาณอินเทอร์เน็ต เพื่อใช้ในการทำงานและสอนออนไลน์ และจุดเด่นในการจัดการเรียนการสอนในปี 2021 คือมีการจัดการเรียนการสอนบนแพล็ตฟอร์มไมโครซอฟ 365 สามารถบริหารการจัดการเป็นระบบทางวิทยาศาสตร์ มีประสิทธิภาพและค่าใช้จ่ายน้อย และโรงเรียนมีทักษะการจัดการระบบครูและนักเรียน มีการประเมินที่เหมาะกับความสามารถของนักเรียน นอกจากนี้ยังมีการวางแบบฝึกหัดให้กับนักเรียนเพื่อทำในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งครูหลายๆ ท่านมีการพัฒนามากยิ่งขึ้น และยังมีความยืดหยุ่นในการเรียนการสอน ทั้งครูและนักเรียนสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้ตลอดเวลา

ขณะที่ครูเลอทันเลียมเล่าว่า ด้วยการเผชิญหน้ากับสถานการณ์โควิดในระลอก 4 ในปี 2021 นี้ แต่ภาพรวมด้วยนโยบายการศึกษาที่ว่าถึงแม้โรงเรียนจะหยุด แต่การเรียนรู้ของนักเรียนไม่ได้หยุดนิ่ง คุณครูได้จัดการเรียนรู้ในแบบที่นักเรียนสามารถจัดการเองได้ เช่น การออนไลน์ การเรียนจากโทรทัศน์ และการเรียนรู้จากบทเรียน ซึ่งครูต้องทำการบ้านเพื่อหาความต้องการในการเข้าถึงการเรียนรู้ของนักเรียน มีการปรับลดมาตรฐานการเรียนรู้ และเนื้อหาสาระให้เหมาะสมกับการเรียนรู้ของนักเรียน บทเรียนสำคัญจากการจัดการเรียนการสอนในปี 2021 นี้ พบว่า การจัดการเรียนการสอนต้องออกแบบให้สมดุลระหว่างเนื้อหา วิธีการสอน และจิตวิทยาการเรียนรู้ที่ต้องเข้าใจธรรมชาติการเรียนรู้ของนักเรียนมัธยมซึ่งเป็นเด็กวัยรุ่น การจัดการเรียนการสอนที่มีบรรยากาศน่าเรียน ลดความกดดันในการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยการให้อิสระในการเรียนรู้ ไม่มีผู้ปกครองควบคุมการเรียนรู้ เพิ่มความวางใจในการเรียนรู้เพื่อให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง กิจกรรมที่กระตุ้นการเรียนรู้ เช่น กิจกรรมเชิงปฏิบัติหรือการให้แข่งขันเชิงมิตรภาพให้ผู้เรียนเกิดแรงขับและเรียนรู้ได้ และได้สร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับนักเรียน และผู้ปกครองผ่านการสื่อสารในช่องทางต่างๆ อีกด้วย

นอกจาก นี้ในการจัดการศึกษาทั้งระดับชาติและระดับพื้นที่ยังสนับสนุนการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษาในการได้รับการฝึกอบรมต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องการใช้เทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ รวมถึงการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 และแนวโน้มอนาคตอีกด้วย