ความท้าทายในการจัดการเรียนรู้ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 : ประสบการณ์จากครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีประเทศไทย

มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีได้จัดให้มีการเสวนาเรื่อง “ความท้าทายของครูกับการจัดการเรียนรู้ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 : ประสบการณ์จากครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2564 โดยมีวิทยากรได้แก่ ครูจิรัฏฐ์  แจ่มสว่าง ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ปี 2560  ที่ปรึกษาโรงเรียนสาธิตสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ จ.นนทบุรี ครูสุเทพ  เท่งประกิจ ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ปี 2562 โรงเรียนบ้านคลองน้ำใส จ.ยะลา ครูประทิน เลี่ยนจำรูญ ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ปี 2564  วิทยาลัยเทคนิคพังงา จ.พังงา ครูกล่อมจิต ดอนภิรมย์ รางวัลคุณากร ปี 2564  โรงเรียนกมลาไสย จ.กาฬสินธุ์  ครูสุมิตรา กลิ่นบุบผา รางวัลคุณากร โรงเรียนบ้านหนองแดน สาขาบ้านโละโคะ จ.กำแพงเพชร ดำเนินรายการโดย นายสรรชัย  หนองตรุด สถาบันรามจิตติ พร้อมด้วยคณะทำงานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี มีดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร เป็นประธาน และดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า ผู้จัดการมูลนิธิฯ ร่วมวง โดยมีครูไทยจากพื้นที่ต่างๆ เข้าร่วมเวทีเสวนาออนไลน์ผ่านโปรแกรม zoom 74 ท่าน

ทั้งนี้ ในการเสวนาดังกล่าว วิทยากรครู แต่ละท่านได้เล่าถึงประสบการณ์การทำงานในพื้นที่ของตนเอง ซึ่งมีจุดเด่นและประเด็นร่วมที่น่าสนใจ คือ สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 คือความท้าทายสำคัญที่กระทบต่อวิถีชีวิตของเด็กเยาวชนและชุมชน ในหลายพื้นที่การแพร่ระบาดไม่ได้กระทบต่อด้านสุขภาพหรือสังคมเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อชีวิตการเรียนรู้ของเด็กๆ และวิธีการจัดการเรียนการสอนของครูอย่างมาก

ครูสุเทพ  เท่งประกิจ ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ปี 2562 โรงเรียนบ้านคลองน้ำใส จ.ยะลา

ครูสุเทพ  เท่งประกิจ ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ปี 2562 โรงเรียนบ้านคลองน้ำใส จ.ยะลา  ซึ่งดูแลการจัดการเรียนการสอนสำหรับเด็กปฐมวัยและโรงเรียนประถมศึกษา ชี้ว่าความท้าทายที่ครูต้องเผชิญคือการอยู่ในพื้นที่ที่ขาดความพร้อมด้านเทคโนโลยี แต่โรงเรียนให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพอนามัยของเด็กที่ยังต้องควบคู่ไปกับการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับสภาพความพร้อมของครอบครัวเด็ก โดยการเตรียมการจัดการเรียนการสอน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่มีความพร้อมในเทคโนโลยี “หนูอยู่บ้าน อย่านิ่งเดียวดาย นั่งเรียนออนไลน์ เสริมสร้างปัญญา” มีครูคอยจัดการเรียนการสอนออนไลน์โดยได้รับข้อมูลจากเขตพื้นที่ และได้มากระจายกับผู้เรียน กลุ่มที่สองนักเรียนที่ไม่มีความพร้อมในเครื่องมือสื่อสารแต่อาศัยอยู่กับพ่อแม่ ครูได้จัดทำใบงานแจกจ่ายให้กับผู้เรียนเพื่อกลับไปทำที่บ้านโดยมีพ่อแม่เป็นผู้สอน และกลุ่มสุดท้าย กลุ่มนักเรียนที่อยู่กับปู่ ย่า ตา ยาย ซึ่งกลุ่มนี้จะจัดการเรียนการสอนที่โรงเรียน โดยมีมาตรการเรียนห้องละไม่เกิน 20 คนต่อห้อง และสลับวันเรียน ทั้งนี้ยังเน้นการจัดการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับธรรมชาติวัยของเด็ก ดังเช่นสิ่งที่ครูสุเทพได้ดำเนินการและเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดเทอมคือการให้เด็กอนุบาลชั้นปีที่ 1 โรงเรียนบ้านคลองน้ำใสยังสามารถมาเรียนรู้ผ่านกระบวนการเล่นให้ได้รับพัฒนาการทั้ง 4 ด้านตามวัยอย่างเต็มที่ ขณะที่อนุบาลที่ 2-3 ให้ได้รับการส่งเสริมพัฒนาการผ่านการเลี้ยงดูและการเล่นโดยความร่วมมือกับพ่อแม่ และเน้นย้ำทักษะชีวิตสำหรับเด็กประถมรวมถึงดึงพลังชุมชนมาร่วมขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้

ครูสุมิตรา กลิ่นบุบผา รางวัลคุณากร
โรงเรียนบ้านหนองแดน สาขาบ้านโละโคะ จ.กำแพงเพชร

เช่นเดียวกับครูสุมิตรา กลิ่นบุบผา รางวัลคุณากร โรงเรียนบ้านหนองแดน สาขาบ้านโละโคะ จ.กำแพงเพชร ที่อยู่ในพื้นที่สูงห่างไกลและด้อยโอกาส มีเด็กนักเรียนชนเผ่าม้งกับกระเหรี่ยงที่พูดภาษาไทยไม่ได้ พื้นที่ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีหรือขาดสัญญาอินเตอร์เน็ต การดำเนินงานจึงเน้นการสร้างโรงเรียนปลอดภัยและการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ โดยครูจะเข้าถึงผู้เรียนรายครอบครัวและส่งเสริมการเรียนรู้โดยใช้สภาพแวดล้อมเป็นบริบท รูปแบบการเรียนการสอนเป็นแบบ On hand เป็นหลัก การเข้าถึงนักเรียน คุณครูต้องปลอดภัย สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ให้เข้าใจว่าคุณครูมีการป้องกันตนเอง มีการปฏิบัติตามมาตรการของสาธารณะสุข  มุ่งเน้นบูรณาการจัดการเรียนรู้ทักษะการใช้ชีวิตและวิชาการให้กับนักเรียน ให้เรียนรู้จากพฤติกรรม กิจวัตรประจำวัน และมีการเสริมด้านการเรียนศัพท์ภาษาไทย เพื่อให้นักเรียนสามารถสื่อสารกับครูได้ สามารถเข้าสังคมพูดคุยสื่อสารได้ เน้นเรื่องพัฒนาการทางภาษาและภาษาไทยที่เป็นทักษะพื้นฐานสำคัญของการเรียนรู้ รวมถึงการดูแลครอบครัวนักเรียน “ความท้าทายของการสอนในพื้นที่ที่โละโคะ คือ วิธีการที่จะทำให้คนในชุมชนชาวเขาไว้ใจ เคารพในการตัดสินใจ”

ครูกล่อมจิต ดอนภิรมย์ รางวัลคุณากร ปี 2564  โรงเรียนกมลาไสย จ.กาฬสินธุ์

ครูกล่อมจิต ดอนภิรมย์ รางวัลคุณากร ปี 2564  โรงเรียนกมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ ชี้ว่าความท้าทายที่ครูต้องเผชิญคือ 1. การเผชิญผลกระทบสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลต่อปัญหาสังคม ปัญหาวัยรุ่น ปัญหาการเรียนรู้ของเด็กนักเรียน 2. ความท้าทายต่อการจัดการเรียนการและกระบวนการเรียนรู้ 3. ความท้าทายต่อการเตรียมครูรุ่นใหม่ ที่พบว่า เด็กเยาวชนกำลังเผชิญกับปัญหาวัยรุ่น และผลกระทบต่อการตกหล่นด้านความรู้จากการเรียนรู้ที่ไม่เต็มที่อย่างที่เคยเป็นอันเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 สิ่งที่ครูทำคือ 1) จัดการเรียนรู้ ทำทุกรูปแบบให้เหมาะสมกับผู้เรียนและปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า เตรียมความพร้อมให้กับครู รวมถึงปรับกระบวนการประเมิน 2) ทำให้ห้องเรียนเปลี่ยนไป มีการผสมผสานให้เหมาะกับผู้เรียน ทุกพื้นที่เป็นห้องเรียน ซึ่งครูกล่อมจิต ได้เน้นในเรื่องภูมิปัญญาชุมชน เรียนรู้สู่วิถีใหม่ 3) ปรับเปลี่ยนวิธีสอน โดยได้ทำรูปแบบการเรียนการสอนไว้ 5 รูปแบบ ตามบริบท และความเหมาะสม คือ (1) ON-AIR (2) ONLINE (3) ON–DEMAND (4) ON-HAND และ (5) ON–SITE และสิ่งสำคัญที่เป็นความท้าทายอย่างยิ่งต่อจากนี้ที่ครูต้องเตรียมคือ การเตรียมความพร้อมครูในยุคโควิด-19 โดยได้มีการจัดทีม ครูเก่าที่มีมากประสบการณ์ได้เรียนรู้ในวิถีใหม่ ครูรุ่นใหม่ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีฝึกอบรม เรียนรู้ร่วมกัน มีการบูรณาการเพื่อผลสัมฤทธิ์ที่ดีที่สุดกับผู้เรียน นอกจากนี้มีการปรับการประเมินอีกด้วย

ครูประทิน เลี่ยนจำรูญ ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ปี 2564 วิทยาลัยเทคนิคพังงา จ.พังงา

ด้านครูประทิน เลี่ยนจำรูญ ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ปี 2564 วิทยาลัยเทคนิคพังงา จ.พังงา ซึ่งจัดการเรียนการสอนในระดับอาชีวศึกษา

เป้าหมายในการผลิตผู้เรียนในระดับอาชีวศึกษาในยุคปัจจุบัน คือ การจัดการศึกษาเพื่อผลิตเด็กทำงานในสถานประกอบการทั้งภาคอุตสาหกรรมและบริการ แต่ปัจจุบันเราผลิตเพื่อไปทำงานกับผู้ประกอบการเพียงอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องมีการผลิตให้นักเรียนเป็นผู้ประกอบการ และเพื่อตอบสนองความสนใจของผู้เรียน หาสิ่งที่ใช่สำหรับเขา ไม่ใช่สิ่งที่ผู้ปกครองและครูอยากให้เป็น วิทยาลัยเทคนิคพังงาได้ใช้ steam โดยให้ผู้เรียนมีทักษะทั้ง soft skill และ half skill เพื่อรับมือในวันข้างหน้า ทั้งการทำงานและการใช้ชีวิต ซึ่งวิทยาลัยเทคนิคพังงาได้มีการวางแผนเพื่อเปิดหลักสูตรสาขาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ร่วมกับสถานประกอบการและอนามัย เพราะเราเชื่อว่าการท่องเที่ยวที่ปลอดภัยจะทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามาในจังหวัดของเรามากขึ้นและสามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับนักศึกษามากขึ้น จุดเน้นคือสร้างทักษะอนาคตให้กับเด็ก ทั้งนี้มองว่า ความท้าทายของครูในสถานการณ์โควิดกับรูปแบบการสอนออนไลน์คือสิ่งที่ครูต้องมีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ครูต้องมีการเตรียมตัวเองให้มีความพร้อมในการใช้เทคโนโลยี สามารถปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ได้ มีความยืดหยุ่นตามสถานการณ์ ตามเหตุการณ์ตลอดเวลา

ครูจิรัฏฐ์  แจ่มสว่าง ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ปี 2560
ที่ปรึกษาโรงเรียนสาธิตสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ จ.นนทบุรี

ส่วนครูจิรัฏฐ์  แจ่มสว่าง ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ปี 2560 ที่ปรึกษาโรงเรียนสาธิตสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ จ.นนทบุรี มองว่า ความเคลื่อนไหวทางการศึกษาที่เกิดขึ้นเพราะ“เทคโนโลยีเปลี่ยนไป การศึกษาเปลี่ยนแปลง โควิดมาแรง เปลี่ยนแปลงการศึกษา” การจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า 19 (1) ON–SITE เรียนที่โรงเรียน (2) ON-AIR เรียนโดย DLTV ซึ่งรูปแบบนี้ต้องมีการศึกษาบริบทพื้นที่ (3) ONLINE เรียนผ่านอินเตอร์เน็ต (4) ON–DEMAND เรียนผ่านแอพลิเคชั่น (5) ON-HAND เรียนที่บ้านโดยหนังสือเรียน แบบฝึกหัด ด้วยรูปแบบข้างต้น คุณครูจะต้องเอารูปแบบต่างๆ นี้มาใช้ แต่การที่จะหยิบเอารูปแบบใดรูปแบบหนึ่งมาใช้นั้น คุณครูต้องมีการศึกษาและมองถึงบริบททั้งครูและผู้เรียน ส่วนการสอนออนไลน์ คือการบูรณาการเทคโนโลยีกับความรู้ด้านการสอนและเนื้อหาวิชาเฉพาะ ซึ่งรูปแบบนี้ได้เกิดขึ้นมานานแล้วและถูกใช้ในปัจจุบัน เนื่องจากผู้เรียนไม่สามารถมาเรียนที่โรงเรียนได้ เมื่อการเรียนรู้ถูกเปลี่ยนไปเป็นที่บ้าน คุณครูต้องนำความรู้ด้านการสอนมาใช้ให้มากขึ้น โดยครูต้องรู้ให้ได้ว่า เรื่องที่ครูสอน “นักเรียนรู้มากน้อยแค่ไหน” เพื่อออกแบบวิธีสอน เนื้อหาร และกระบวนการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับลีลาการเรียนรู้ของนักเรียน สิ่งที่ท้าทายสำหรับครูต่อไปนี้ไม่ว่าจะสอน ON ใดๆ ทั้งหมดอยู่ที่ ON ครู ดังนั้น “อนาคตที่มองหา อยู่ที่ครูที่มองเห็น”

ชมย้อนหลัง

ภาพข่าว