คณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี พิจารณาเห็นชอบการคัดเลือกครูผู้สมควรได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 4 ปี 2564 ‘ประทิน เลี่ยนจำรูญ’ ครูอาชีวะหญิง ผู้บุกเบิกนวัตกรรมการเรียนรู้ฐานวิทย์ ผู้อุทิศการทำงานเพื่อสร้างโอกาสแก่ลูกศิษย์และชุมชน

ที่มา: ข่าวในพระราชสำนัก สํานักข่าวไทย TNAMCOT วันอังคารที่ 27 เมษายน พ.ศ.2564

เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2564 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้มีการประชุมออนไลน์คณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี โดยมีวาระการประชุมที่สำคัญคือ การพิจารณาให้ความเห็นชอบรายชื่อครูผู้สมควรได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ซึ่งเป็นรางวัลนานาชาติ
ที่จัดมอบทุกๆ 2 ปี ในประเทศอาเซียนและติมอร์-เลสเต ประเทศละ 1 คน สำหรับ ครั้งที่ 4 ปี 2564 นี้ มีครูที่ได้รับการคัดเลือกจาก 11 ประเทศ โดยมีคุณสมบัติสำคัญคือ เป็นครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในชีวิตลูกศิษย์และมีคุณูปการต่อวงการศึกษา และมีกำหนดพิธีพระราชทานรางวัล ในวันที่ 29 ตุลาคมนี้

ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี คนที่ 4 ของประเทศไทย มาจากการเสนอชื่อของศิษย์เก่าคือ น.ส.ประทิน เลี่ยนจำรูญ ครูอาชีวศึกษาผู้บุกเบิกนวัตกรรมการเรียนรู้ฐานวิทย์ ผู้อุทิศการทำงานเพื่อสร้างโอกาสแก่ลูกศิษย์และชุมชน“”

เป็นครูผู้สอนวิชาการตลาดและเศรษฐศาสตร์ ระดับ ปวช. วิทยาลัยเทคนิคพังงา ผู้ร่วมบุกเบิกการเรียนรู้อาชีวศึกษาแนวใหม่ด้วยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ เป็นผู้สร้างหลักสูตรนวัตกรรมบูรณาการการเรียนสายวิทยาศาสตร์ สายศิลป์ และสายอาชีพ โดยใช้ Project-Based Learning เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญ นำนวัตกรรมที่ได้ไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ หรือการเป็นเจ้าของกิจการ และนำองค์ความรู้ลงสู่ชุมชนเพื่อจัดทำแผน “ชุมชนบางพัฒน์โฮมสเตย์” ทำให้ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิสามารถพลิกฟื้นความเป็นอยู่อย่างยั่งยืน และเป็นโมเดลขยายผลไปยังชุมชนอื่นๆ รวมถึงแสวงหาโอกาสให้กับลูกศิษย์อยู่เสมอ เช่น เมื่อได้รับมอบหมายให้ดูแลโครงการทุนการศึกษา ก็ได้ลงพื้นที่เพื่อค้นหาเด็กที่ขาดโอกาสให้ได้เรียนต่อสายอาชีพทั้งใน จ.พังงาและจังหวัดใกล้เคียง ทำให้ตลอดระยะเวลา 31 ปีของความเป็นครูผู้ทุ่มเททุกลมหายใจเพื่อลูกศิษย์ จึงมีลูกศิษย์ประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพมารุ่นแล้วรุ่นเล่า

สำหรับครูที่ได้รับรางวัลคุณากร ปี 2564 จำนวน 3 ราย คือ น.ส.กล่อมจิต ดอนภิรมย์ ร.ร.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ ครูผู้เติมเต็มศักยภาพให้แก่ลูกศิษย์ที่หลากหลายวิธี โดยเชื่อว่าทุกคนเป็นดาวเด่นในตัวเอง  นายสิทธิชัย จันทร์คลาย ร.ร.บ้านไทยสามัคคี จ.สระแก้ว ครูผู้ใช้ศิลปะเพื่อปลุกความคิดสร้างสรรค์สู่การพัฒนาความถนัดของผู้เรียน และ นางสุมิตรา กลิ่นบุปผา ร.ร.บ้านหนองแดน สาขาบ้านโละโคะ จ.กำแพงเพชร แม่ครูที่ทำให้เด็กกลุ่มชาติพันธุ์อ่านออกเขียนได้ และไม่เคยทอดทิ้งนักเรียนและชุมชน

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการนำเสนอโครงการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาการเรียนรู้เด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร โครงการพูดอ่านเขียนไทย โรงเรียนในโครงการตามพระราชดำริ นำร่องในพื้นที่ จังหวัดน่าน และจังหวัดราชบุรี โดยการประสานของสภากาชาดไทย มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา สถาบันอุดมศึกษา และหน่วยงานรัฐและเอกชน เพื่อให้ความสำคัญแก่นักเรียนที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ คิดเลขไม่ได้ ซึ่งจะเริ่มดำเนินการนำร่องในพื้นที่ จ.น่าน และราชบุรี เพื่อสนับสนุนให้ครูในโรงเรียนสามารถสอนภาษาไทยได้ดีขึ้น โดยมีเครือข่ายครูมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีและครูอาสาสมัครในพื้นที่ให้การหนุนเสริมผ่านสื่อการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับบริบท ควบคู่กับการพัฒนาสื่อการเรียนรู้และวิธีการสอนใหม่ๆ เพิ่มเติมร่วมกับสถาบันอุดมศึกษา มุ่งช่วยให้นักเรียนที่ใช้ภาษาถิ่นเรียนรู้ภาษาไทยได้ดี นักเรียนที่เรียนรู้ช้า ได้รับการพัฒนาโปรแกรมการเรียนภาษาไทยได้ดีขึ้นทั้งทางวิทยุ โทรทัศน์ และสื่อดิจิตัลมีเดียอีกด้วย