
ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เปิดเผยถึงโครงการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาการเรียนรู้เด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ฯ ว่าเริ่มดำเนินการในปี พ.ศ. 2563 โดยสำนักงานบริหารกิจการเหล่ากาชาด เพื่อสนองพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี องค์อุปนายิกา สภากาชาดไทย
โครงการดังกล่าว เน้นการแก้ไขปัญหาเด็กนักเรียนในถิ่นทุรกันดารที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ให้มีทักษะพื้นฐานเพิ่มเติมจากห้องเรียน เพื่อให้ตระหนักรู้และรักการอ่านเสริมสร้างประสบการณ์ ซึ่งเป็นตัวอย่างงานเชิงบูรณาการของภารกิจกาชาด โดยมีหน่วยงานที่ร่วมดำเนินการ ได้แก่ สำนักงานบริหารกิจการเหล่ากาชาด สำนักงานอาสากาชาด สำนักงานยุวกาชาด เหล่ากาชาดจังหวัด ภาคเอกชนและประชาชนในจังหวัด ตลอดจนองค์กรภายนอก เช่น มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สถาบันอุดมศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล
ดร.กฤษณพงศ์ กล่าวถึง
“พื้นที่โรงเรียนตามโครงการพระราชดำริ ฯ ว่ากำหนดไว้ประมาณ 748 โรงเรียน 50 จังหวัดทั่วประเทศ แต่จะเลือกโรงเรียนนำร่องประมาณ 188 โรงเรียนในพื้นที่ 10 จังหวัด ซึ่งเป็นโรงเรียนที่อยู่ในความดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ประกอบด้วย จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดราชบุรี จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดตาก จังหวัดน่าน จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดพะเยา และจังหวัดแม่ฮ่องสอน“
ดร.กฤษณพงศ์ ระบุว่า ขณะนี้เตรียมการคณะทำงานลงพื้นที่ 2 จังหวัด 13 โรงเรียน ศึกษาปัญหาการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ สภาพโรงเรียน ครู นักเรียน เพื่อทำแผนพัฒนารายโรงเรียน ทำแผนพัฒนาสุขภาพอนามัย โครงสร้างเพื่อการเรียนรู้ ระดมอาสาสมัครเพื่อพัฒนาครูในโรงเรียนเพื่อเพิ่มความสามารถในการสอนภาษาไทย พัฒนาอาสาสมัครที่รู้ภาษาถิ่นช่วยสอนภาษาไทย และจัดทำสื่อการเรียนการสอน โดยเน้นกลุ่มนักเรียนประถมศึกษาชั้นปีที่ 1 ถึงประถมศึกษาชั้นปีที่ 6