มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ผนึกกำลังหน่วยงานเครือข่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษา โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน จังหวัดราชบุรี

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กรรมการสภากาชาดไทย กรรมการมูลนิธิสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน และในฐานะนายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำทีม กรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ผู้บริหารสถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และศูนย์นานาชาติสิรินธรเพื่อการวิจัยพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี ร่วมกับหน่วยงานหลายภาคส่วน อาทิ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฎหมู่บ้านจอมบึง จังหวัดราชบุรี ลงพื้นที่ ณ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนตะโกปิดทอง และโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านถ้ำหิน อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี เพื่อศึกษาสภาพพื้นที่ เตรียมการจัดเก็บข้อมูล และร่วมประชุมวางแผนกับ นายกฤษฎา บุญราช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารกิจการเหล่ากาชาด สภากาชาดไทย และเหล่ากาชาดจังหวัด ในการดำเนิน “โครงการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาการเรียนรู้เด็กนักเรียนและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร” ตามพระราชกระแสรับสั่งของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย ในการแก้ไขปัญหาเด็กนักเรียนและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารหรืออาศัยอยู่ในพื้นที่ชายแดน ได้มีความรู้เพิ่มเติมจากการเรียนในห้องเรียนหรือสถานศึกษา ให้สามารถอ่านออกและเขียนได้หรือมีความรู้ในการดำรงชีพเบื้องต้น

ทั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก นายรณภพ เหลืองไพโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ให้การต้อนรับและร่วมประชุมพร้อมนำเสนอแนวทางในการดำเนินงานร่วมกัน เมื่อวันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 ณ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนตะโกปิดทอง และโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านถ้ำหิน อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งท่านได้มีข้อเสนอและข้อสังเกตชี้แจงกับกลุ่มผู้ร่วมประชุม คือ เด็กนักเรียนจะขาดครูผู้สอนที่มีความเชี่ยวชาญด้านภาษาไทยโดยตรง และเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา เด็กนักเรียนส่วนใหญ่ได้กลับไปบ้านของตัวเอง ทำให้เด็กนักเรียนบางส่วนไม่สามารถกลับมาเรียนหนังสือได้ตามปกติ และในส่วนของอุปกรณ์การเรียนการสอนทางโรงเรียนมีให้พร้อม แต่จะทำอย่างไรที่จะให้เด็กนักเรียนใช้อุปกรณ์เป็น และต้องการให้ทุกภาคส่วนดำเนินโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง ต้องมีการติดตาม ประเมินผลในทุก​1-2 เดือน

โดยครูใหญ่ของโรงเรียนตระเวนชายแดนในแต่ละพื้นที่ ได้รายงานสรุปถึงประเด็นปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานที่ผ่านมา ซึ่งปัญหาหลักส่วนใหญ่ คือ สืบเนื่องจากสถานการณ์ของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดความยากลำบากในการรวมกลุ่มเด็ก ซึ่งเป็นผลให้ไม่สามารถดำเนินโครงการฯ ได้ตามโครงการร้อยละ 100 รวมถึงครูอาสา เป็นครูในโรงเรียนซึ่งไม่จบเอกทางภาษาไทยโดยตรง อีกทั้ง ระยะเวลาการดำเนินการอยู่ในระยะสั้น ทำให้ไม่เห็นผลเท่าที่ควร

ทางด้านนายกฤษฎา บุญราช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารกิจการเหล่ากาชาด ได้กล่าวว่า​ โครงการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาการเรียนรู้เด็กนักเรียนและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร​ อยู่ในความรับผิดชอบของเหล่ากาชาดจังหวัด 76 จังหวัด ในการเชื่อมโยงผู้ที่เกี่ยวข้องหรือผู้ที่มีจิตอาสาเสียสละในการรับสนองพระราชดำริตามโครงการ ในการช่วยเหลือด้านการสอนหนังสือให้กับเด็กที่อ่านหนังสือไม่ออก เขียนไม่ได้ หรือครูอาสาในพื้นที่ที่ขาดความรู้ ขาดหลักสูตร ขาดอุปกรณ์การเรียน-การสอน ทางเหล่ากาชาดในพื้นที่มีหน้าที่รับสมัครอาสาสมัครมาช่วยเหลือ หรือหาสถาบันการศึกษาหลักเข้ามาช่วยสนับสนุน โดยแจ้งว่าเด็กนักเรียนที่อยู่ในพื้นที่ชายขอบ จะแบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ 1) กลุ่มเด็กชาติพันธุ์ เด็กกลุ่มนี้จะเป็นเด็กที่อ่านหนังสือภาษาไทยไม่ออกและเขียนไม่ได้ 2) กลุ่มเด็กที่ใช้ภาษาอัตลักษณ์ท้องถิ่น เช่น ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา ซึ่งสามารถถอ่านภาษาไทยและฟังได้บ้าง 3) กลุ่มเด็กที่มีพัฒนาการทางสมองช้า (Learning Disorder) ซึ่งเป็นเด็กที่มีความผิดปกติของกระบวนการเรียนรู้ทางด้านการอ่าน การเขียนสะกดคำ ที่เกิดจากการทำงานผิดปกติของสมอง ทำให้ผลการเรียนของเด็กต่ำกว่าศักยภาพที่แท้จริง ดังนั้น ทางโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน จึงควรรีบพัฒนาการศึกษาของเด็กในถิ่นทุรกันดาร เพื่อเป็นการสนองพระราชดำริต่อไป

ทางด้าน ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี และกรรมการสภากาชาดไทย กรรมการมูลนิธิสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน และในฐานะนายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ชี้แจงว่า

“ได้ระดมบุคลากรทางด้านการศึกษา จากหลากหลายหน่วยงานมาช่วยขับเคลื่อนและขยายผลโครงการ อาทิ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะเป็นผู้ดูแลทางด้านส่งเสริม สนับสนุน การผลิตสื่อการเรียนการสอน ในด้านของสถานีวิทยุ ม.ก. จะเป็นผู้ร่วมการผลิตและเป็นช่องทางในการสื่อสารเผยแพร่และเป็นสื่อการเรียนการสอน เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนและของเด็กนักเรียนในถิ่นทุรกันดารต่อไป”

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กล่าว