มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดบรรยายพิเศษหัวข้อ “แลกเปลี่ยนประสบการณ์ รับมือโควิด-19 ในต่างประเทศ สู่แนวทางการประยุกต์ใช้กับการศึกษาไทย”

แลกเปลี่ยนประสบการณ์ รับมือโควิด-19 ในต่างประเทศสู่แนวทางการประยุกต์ใช้กับการศึกษาไทย

ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กล่าวถึงการจัดการบรรยายครั้งนี้ เพราะประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี (ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร) มีดำริว่าต้องการให้ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีและครูเครือข่ายทั้งหมด รวมถึงเครือข่ายครูในพระบรมราชานุเคราะห์ ได้ทราบสถานการณ์ของโควิด-19 ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อจะเป็นประโยชน์สำหรับครูที่จะได้นำไปปรับใช้ในโรงเรียน และการจัดครั้งนี้ ครูแต่ละท่านจะได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่อกันด้วย

ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค กล่าวถึงประสบการณ์จากประเทศต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา เยอรมัน อังกฤษ ออสเตรเลีย เวลส์ ฝรั่งเศส แคนาดา ไอซ์แลนด์ อิตาลี ฟินแลนด์ สิงคโปร์ เวียดนาม ในการรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ในด้านการศึกษา ว่าเรื่องของโควิดมีผลกระทบหลายอย่าง อาจพูดได้ว่าสิ่งหนึ่งที่สำคัญกับวงการศึกษาก็คือในเรื่องของความรู้ของนักเรียนที่จะหายไป ในช่วงที่เด็กต้องอยู่บ้านนานตั้งแต่หนึ่งถึงสองเดือน ซึ่งเป็นเรื่องที่ครูมีความกังวล รวมถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อครัวเรือนที่เกิดจากครอบครัวของนักเรียน เพราะพ่อแม่ของนักเรียนมีรายได้น้อยลงหรือว่าตกงาน รวมถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพจิตของนักเรียน ครู และผู้ปกครอง

ในช่วงก่อนโควิด ประเทศไทยหรือประเทศอื่น ๆ ก็มีปัญหาของการเรียนรู้อยู่แล้ว อย่างเช่นธนาคารโลกได้มีการทำดัชนีทุนมนุษย์พบว่า ประเทศไทยก่อนเกิดโควิด เด็กอายุสิบขวบมีความยากจนของการเรียนรู้ คือเป็นเด็กที่อ่านไม่ออกเขียนไม่คล่องมีถึง 23 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับประเทศฟินแลนด์ สิงค์โปร์ เวียดนาม ซึ่งมีแค่ 2 เปอร์เซ็นต์ถึง 3 เปอร์เซ็นต์ อันนี้ก็ถือว่าประเทศไทยก็มีปัญหาอยู่แล้วค่อนข้างมาก

เมื่อเกิดโควิดขึ้นมา ปัญหาที่เกิดขึ้นคือปัญหาความรู้ของเด็กที่หายไป เป็นปัญหาที่ใหญ่ และนักเศรษฐศาสตร์หรือว่านักการศึกษาต่าง ๆ ก็ค่อนข้างมีความกังวลว่าจะส่งผลเสียไปในเรื่องอื่นด้วย จากความรู้ที่หายไปก็นำไปสู่ผลเสียทางเศรษฐกิจ ผลเสียทางสังคม การเจริญเติบโตของประเทศ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของชาติ ซึ่งประเทศไทยก็มีการทำโมเดลต่าง ๆ ว่าช่วงโควิดทำให้ผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนลดลงไปพอสมควร นอกจากนั้นก็อาจจะทำให้เด็กหลุดออกจากนอกระบบมากขึ้นด้วย

สำหรับผลสำรวจประเทศไทยในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา พบว่าเด็กในกลุ่มที่ได้รับทุนเสมอภาคจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ซึ่งเป็นกลุ่มเด็กค่อนข้างยากจน พบว่ารายได้ครัวเรือนของเด็กลดลง ครัวเรือนที่ว่างงานมากขึ้นจาก 44 เปอร์เซ็นต์ เป็น 73 เปอร์เซ็นต์ รายได้ลดลงเฉลี่ยต่อคนต่อเดือนจากประมาณ 1,159 บาท เหลือประมาณ 1,077 บาท แต่ตัวเลขจริงก็อาจจะลดมากกว่านี้ ตัวเลขนี้เป็นเพียงสำรวจกลุ่มตัวอย่างเท่านั้น ไม่ใช่เป็นการสำรวจอย่างทั่วถึง ยิ่งปีนี้สถานการณ์โควิดยาวนานขึ้น ทำให้ภาระพึ่งพิงของครอบครัวก็จะรุนแรงขึ้น

ครูและโรงเรียนต้องมีการปรับตัวให้เหมาะสมกับสถานการณ์ การทำงานร่วมกันระหว่างโรงเรียน ครู ผู้ปกครอง ชุมชน เพราะเป็นหัวใจสำคัญของการจัดการเรียนการสอนในช่วงโควิด และการประเมินผลเพื่อการพัฒนาโดยผู้สอนตลอดเวลา เพื่อลดช่องว่างการเรียนสำหรับนักเรียนที่ตามบทเรียนไม่ทัน ใส่ใจสุขภาพกาย สุขภาพจิต อารมณ์สังคมของนักเรียน รวมถึงผู้สอน ผู้ปกครอง รวมถึงภาครัฐ ภาคสังคม ประชาชนควรให้ความใส่ใจเป็นพิเศษต่อนักเรียนในกลุ่มด้อยโอกาส กลุ่มเปราะบาง กลุ่มผู้พิการ ผู้ต้องการการศึกษาแบบพิเศษ และผู้ยากไร้

ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค

ดร.นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร กล่าวถึงประสบการณ์และบทเรียนจากการดำเนินงานพัฒนาผู้เรียนในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ว่าในช่วงของโควิด-19 แพร่ระบาดในรอบแรก ได้คิดค่อนข้างมากว่าจะนำวิธีการทางนวัตกรรมรูปแบบไหนที่จะนำมาใช้กับนักเรียนในโรงเรียน ในช่วงเวลานั้น คิดว่าเมื่อนักเรียนมาโรงเรียนไม่ได้ ก็คิดถึงการเรียนแบบออนไลน์เป็นหลัก แต่ว่าในความเป็นจริง ด้วยบริบทของชุมชนของนักเรียนกับเรื่องของอายุ จึงต้องพิจารณาถึงเรื่องของนวัตกรรมที่จะนำไปใช้ว่ามีอะไรบ้าง การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต อุปกรณ์ที่นักเรียนมี เช่น โทรศัพท์มือถือ แทบเล็ต คอมพิวเตอร์ ดังนั้น ลักษณะการจัดการเรียนการสอนผ่านออนไลน์ก็ต้องต่างกัน เพราะวิธีการใช้ต่างกัน และยังต้องพิจารณาด้วยว่าหากลักษณะการเรียนรู้ของนักเรียนเป็นนักเรียนที่ชอบลงมือทำ ชอบอ่าน ชอบเขียน ชอบฟัง วิธีการสอนของโรงเรียนควรเป็นแบบไหน รวมถึงการสนับสนุนจากผู้ปกครองด้วย จึงต้องพิจารณาจุดนี้ก่อน แล้วจึงพิจารณาถึงเครื่องมือที่จะนำมาใช้

หลังจากที่เราได้คิดแล้วก็ได้ 4 แนวทาง คือ เรื่องแรก กล่องการเรียนรู้ อย่างที่สองคือการลงสู่ชุมชน ไม่ว่าจะเป็นครูของโรงเรียน หรืออาสาสมัครที่อยู่ในชุมชน เพราะว่าบางพื้นที่ เราไม่สามารถเข้าถึงได้ จึงคิดว่าจะเข้าถึงผู้เรียนได้อย่างไร อย่างที่สามคือแบบการวิเคราะห์ประเมินผล และอย่างที่สี่คือเส้นทางการสื่อสารระหว่างกัน เช่น กลุ่มไลน์ เพื่อสนับสนุนครูได้ รวมทั้งต้องพิจารณาถึงข้อจำกัดความไม่พร้อมของนักเรียน

ดร.นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร

ที่โรงเรียนบ้านปลาดาว เราจัดทำแบบบูรณาการ มีกิจกรรมที่เลือกพื้นที่ในการเปิดโอกาสให้กับนักเรียนได้เรียนรู้และได้ทำงานหรือทำในสิ่งที่เขาอยากจะทำ เป็นสิ่งที่เขาค้นหาและความชอบ ภายใต้ศักยภาพของตนเอง วิธีการจัดการเรียนแบบกล่องการเรียนรู้นี้ก็ต้องมีความจำเป็นที่จะต้องออกแบบให้เหมาะสมกับบริบทที่นักเรียนเคยทำอยู่แล้วในโรงเรียน บนกล่องการเรียนรู้ก็มีกิจกรรมที่นักเรียนสามารถที่จะทำได้ โดยเป็นสิ่งที่เขาคุ้นเคยที่โรงเรียนมาก่อน แบ่งเป็นระดับชั้นประถมและชั้นอนุบาล ซึ่งจะมีความแตกต่างกัน

ดร.นรรธพร กล่าวถึงการจัดทำโปสเตอร์ว่าเป็นกระบวนการออกแบบเพื่อช่วยนักเรียนในการพัฒนาทักษะ เพื่อฝึกให้นักเรียนมีกระบวนการเรียนรู้ สามารถที่จะทำงานได้เองที่บ้าน แต่ตัวโปสเตอร์ที่ให้ไปก็เพื่อที่จะให้นักเรียนสามารถติดเอาไว้ในมุมการทำงานของเขา ตรงนี้จึงต้องให้ผู้ปกครองแบ่งพื้นที่สำหรับนักเรียนสามารถทำกิจกรรมได้ด้วย โดยมีคู่มือที่ไม่เน้นวิชาการมาก แต่เน้นเรื่องการอ่านออกเขียนได้ คิดเลขเป็น และการทำกิจกรรม เพื่อให้ผู้ปกครองมีความยืดหยุ่นที่สามารถเลือกที่จะทำกิจกรรมกับลูกของเขาได้ ตามเวลาหรือตามศักยภาพของผู้ปกครอง แต่ขอไว้ว่าในหนึ่งสัปดาห์ให้ทำ 5 กิจกรรม กิจกรรมหนึ่งใช้เวลาประมาณ 30-50 นาที ผลที่ได้มาหลังจากที่ใช้กล่องการเรียนรู้ ปรากฏว่าครอบครัวและผู้ปกครองทำกิจกรรมจำนวนมากเกินความต้องการที่กำหนดไว้ แต่ด้วยความที่วางความต้องการค่อนข้างน้อยก็ทำให้ผู้ปกครองรู้สึกไม่ท้อถอย และนักเรียนก็ไม่รู้สึกเคลียสและเป็นภาระเกินไป อันนี้เป็นวิธีการออกแบบกิจกรรมที่พยายามทำให้มีความสอดคล้องกับบริบทชุมชน ทันสมัย เน้นผู้เรียนเป็นสิ่งสำคัญที่นักเรียนสนใจที่จะลงมือทำ และอุปกรณ์ที่สามารถหาได้จากที่บ้าน ส่วนเรื่องของการประมิน อย่างแรกคือเรื่องของการวัดความรู้ ได้ให้ผู้ปกครองประเมินด้วยตัวเอง เพราะว่าช่วงนั้นมองว่าผู้ปกครองเหมือนครูคนหนึ่ง และผลประเมินการเรียนรู้ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีและปานกลางจากที่ได้เก็บข้อมูลมารอบแรก

ดร.นรรธพร กล่าวว่า นอกเหนือจากโรงเรียนบ้านปลาดาว ก็มีโรงเรียนในเครือข่าย TSQP ที่เราช่วยสนับสนุนในการจัดการเรียนการสอน เรามีการจัดกิจกรรมเชิงปฏิบัติการแบบออนไลน์เพื่อพัฒนาครู ขณะนั้นเริ่มหัดใช้ zoom ทั้ง 59 โรงเรียนด้วยการนำกล่องการเรียนรู้เป็นต้นแบบ เพื่อให้โรงเรียนเข้าใจถึงวิธีการออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอายุนักเรียน เรื่องของอุปกรณ์ความพร้อมในการใช้อินเทอร์เน็ต เรื่องของชุมชน ตรงนี้พยายามช่วยโรงเรียนในการออกแบบของตนเอง ซึ่งมีการออกแบบหลากหลายด้วยกัน ดังนั้นคำว่าต้นแบบคือไม่ใช่เหมือนกัน แต่ว่านำไปปรับใช้ตามสภาพของโรงเรียนต่าง ๆ และยังนำตัวอย่างการออกแบบของแต่ละโรงเรียนมาแลกเปลี่ยนระหว่างกันเพื่อให้เกิดแนวคิดที่จะนำไปปรับใช้ในโรงเรียนของตนเองด้วย และกล่องการเรียนรู้นี้ เมื่อโรงเรียนเปิดเรียนปกติแล้วก็ยังสามารถนำมาใช้ได้อีก เพราะสามารถนำไปเรียนรู้ที่ไหนก็ได้ ไม่ได้ใช้เฉพาะที่บ้าน และมีบางโรงเรียนก็นำไปปรับเป็น ถุงการเรียนรู้ (Learning bag) อีกด้วย

ภาพประกอบการบรรยาย (บางส่วน)